China Threat Theory

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังเกิดโศกนาฏกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ.2001) จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิม หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็เกิดกระแส Islamophobia ขึ้น

Islamophobia ซึ่งมีผู้ถอดความเป็นภาษาไทยไว้ว่า "ความหวาดกลัวมุสลิม" หรือ "โรคหวาดกลัวอิสลาม" คือหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถทำสงครามในอัฟกานิสถาน อิรัก และกับโลกมุสลิมได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน กอปรกับภาวะของการก่อการร้ายโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมที่ได้แผ่ขยาย วงกว้างไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก

ตรงกันข้าม หลังเหตุการณ์ 9/11 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สองชาติยักษ์ใหญ่จากคนละซีกโลกกลับมีความมั่นคงและแน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ ที่โลกานุวัตรได้บีบรัดให้ทั้งสองประเทศต้องพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักการทูตสายเหยี่ยวของชาติตะวันตกแล้ว ความสัมพันธ์อันราบรื่นของสหรัฐฯ และจีน กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ค่อยอยากเห็นนัก เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น อีกนัยหนึ่งกลับมีความหมายว่า ขั้วอำนาจของโลกกำลังมีการเคลื่อนตัวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลง

ขณะเดียวกัน ในหมู่นักวิเคราะห์การต่างประเทศของจีนก็มองว่า บรรดานักการทูตสายเหยี่ยวของตะวันตกกลุ่มนี้นี่เอง ที่เป็นผู้ที่ปั่นกระแสให้เกิดความเชื่อและทฤษฎีในแง่ลบต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีน เริ่มต้นด้วยทฤษฎีความล่มสลายของจีน (The Theory of China Collapse) ที่ถูกปลุกขึ้นมาในช่วงหลังการเสียชีวิตของเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำรุ่นที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ทั้งนี้ทฤษฎีดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อหลายแขนง โดยหลักฐานที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบันก็อย่างเช่น หนังสือ The Coming Collapse of China เขียนโดย Gordon G. Chang ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2544 โดยสำนักพิมพ์ Random House

โดยในท่อนหนึ่งของ The Coming Collapse of China ผู้เขียนระบุถึงความเชื่อว่า รัฐบาลจีนมีเวลาเพียง 5 ปีในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ก่อนที่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้จะเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงิน โดยในตอนนั้น Chang ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่สามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเท่าเทียมกับระดับโลกได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการกับรัฐวิสาหกิจ ที่ไร้ความสามารถในการแข่งขันและก่อให้เกิดหนี้เสียกองอยู่ในธนาคารของรัฐเต็มไปหมด ซึ่ง Chang มองว่า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็จะล้มครืน ซึ่งนั่นหมายความว่า สังคมจีนจะเกิดภาวะการว่างงานครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากการเลิกจ้างของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง มากกว่านั้น Chang ยังทำนายไว้ด้วยว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็จะเกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นขึ้นอย่างกว้างขวาง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะสูญเสียอำนาจในการนำและปกครองประชาชน

ณ วันนี้ หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิง เสียชีวิต ไปได้สิบกว่าปี (เติ้งถึงแก่มรณกรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540) หลังจากที่ The Coming Collapse of China ตีพิมพ์ได้ 7 ปี จีนก็ยังคงมีผู้นำที่มีความเข้มแข็งติดต่อกันมาอีกสองรุ่นคือ ผู้นำรุ่นที่ 3 รุ่นของเจียง เจ๋อหมิน และผู้นำรุ่นที่ 4 รุ่นของหู จิ่นเทา ขณะที่เศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเจริญเติบโต แม้ช่วงการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพารัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชนจะประสบปัญหาบ้าง แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่มีการคาดเดาว่าจะก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงจนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสูญเสียอำนาจในการปกครอง

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีน ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายปีหลังมานี้ ทำให้ทฤษฎีความล่มสลายของจีนถูกลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ที่ปลุกปั่นทฤษฎีดังกล่าวก็เงียบเสียงไปเกือบหมด อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสังเกตได้ว่า ในหมู่นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักธุรกิจ รวมไปถึงสื่อมวลชนตะวันตก โดยเฉพาะชาวอเมริกันได้มีการหยิบยกเอาทฤษฎีอื่นขึ้นมาโจมตีจีนต่ออีก นั่นคือ ทฤษฎีภัยจีน (China threat theory)

แท้จริงแล้ว "ทฤษฎีภัยจีน" นั้นกินความกว้างมาก ตั้งแต่ในเรื่องการเมือง การทหาร เศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ประเด็นทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลกไปแล้ว ทำให้ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากจีนนั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยที่สุด

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Financial Times (FT) ระบุว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของชาว ยุโรป 5 ประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2551 โดย FT/Harris พบว่า ในสายตาชาวยุโรปแล้ว ณ วันนี้ประเทศจีนได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของโลก โดยชาวยุโรปราวร้อยละ 35 มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ที่สำคัญที่สุดต่อเสถียรภาพของโลก เหนือสหรัฐฯ อิหร่าน รวมไปถึงเกาหลีเหนือ [1]

ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ทำให้ชาวยุโรปมองจีนในแง่ลบได้แก่ การที่รัฐบาลจีนเข้าไปมีเอี่ยวในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน การใช้ความรุนแรงเพื่อการยุติการเรียกร้องขอแยกตัวเป็นอิสระของชาวทิเบต รวมไปถึงประเด็นทางการค้าและการตรึงค่าเงินหยวนไว้ในระดับต่ำกว่าที่ควร โดยที่ผ่านมาชาติตะวันตกมองว่า การที่รัฐบาลจีนตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อน สินค้าและแรงงานราคาถูกจากจีน ถือเป็นส่วนสำคัญ ทำให้คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกงาน

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวของ FT ก็ได้สัมภาษณ์ทัศนะของ Mark Leonard ผู้เขียนหนังสือเรื่อง จีนคิดอะไร? (What Does China Think?) ถึงผลการสำรวจดังกล่าวว่า เหตุใดจีนถึงแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นประเทศที่ชาวยุโรป คิดว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อเสถียรภาพของโลกได้ ซึ่ง Leonard ก็ตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับชาวยุโรปที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาวอเมริกันมามาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปส่วนใหญ่รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหกเดือนหลังมานี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับจีน ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่องนั้น กลับเป็นข่าวในเชิงลบ เช่น จีนกับปัญหาดาร์ฟูร์ จีนกับปัญหาทิเบต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าพิสมัยทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผู้นำสหรัฐฯ อย่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชาวยุโรปเหม็นขี้หน้าก็ใกล้หมดวาระแล้ว โดยสองปัจจัยนี้น่าจะส่งผลสำคัญต่อผลการสำรวจ

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องจากสื่อ (โดยเฉพาะสื่อตะวันตกที่ครอบโลกอยู่ในปัจจุบัน) ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 แจ็ค แคฟเฟอร์ตี (Jack Cafferty) นักวิเคราะห์ข่าวชั้นครูแห่งรายการ The Situation Room ทางสถานีโทรทัศน์เอียงข้างรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างซีเอ็นเอ็น จะหลุดปากพูดออกอากาศด่าสินค้าจีนว่าเป็น "ขยะ (Junk)" พร้อมกับดูหมิ่นรัฐบาลจีน (และอาจจะรวมถึงชาวจีน) ด้วยว่าเป็น "อันธพาลกวนเมือง (Goons and Thugs)" จนก่อให้เกิดการประท้วงจากชาวจีนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรปที่กดดันให้ผู้บริหารซีเอ็นเอ็น ไล่แคฟเฟอร์ตีออก [2]

ในประเทศไทยเอง แม้ว่ากระแสการพูดถึง "ภัยจีน" จะยังอยู่ในภาวะที่เงียบเชียบ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการพัฒนาของจีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเปิดเสรีทางการค้าที่ทำให้เกษตรกรไทยต้องสูญเสียอาชีพ การไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน รวมไปถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างเช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตจากการแย่งกันใช้ทรัพยากรจากลำน้ำโขง ที่ในช่วงหลังกลายเป็นเรื่องใหญ่จนผู้นำในภูมิภาคนี้ต้องจัดประชุมสุดยอดกันทุกปี

จริงๆ แล้วประเด็นและเรื่องราวเกี่ยวกับภัยจีนและการปั่นกระแสทฤษฎีภัยจีนที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงนั้นมีอีกมาก แม้ที่ผ่านมาผมก็เคยกล่าวถึงมาบ้างแล้วผ่านคอลัมน์นี้ ทว่าด้วยสถานการณ์โลกและสถานการณ์ข่าวสารในปัจจุบัน ผมคิดว่าโอกาสต่อๆ ไปน่าจะมีประเด็นให้พูดถึงเรื่องนี้บ่อยครั้งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม

[1] Financial Times, China seen as biggest threat to stability, 14 เมษายน 2551
[2] ผู้จัดการออนไลน์, มังกรเค้นคำขอโทษจาก CNN กรณีหมิ่นจีนมีแต่สินค้าขยะ, อันธพาล, 16 เมษายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.