|

Double A Book Tower สวนอักษรของหนอนหนังสือชาวกรุงเทพฯ
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับคนกรุงเทพฯ ในวันเสาร์และอาทิตย์บางครอบครัวอาจเลือกที่จะนอนดูทีวีอยู่กับบ้าน บางบ้านอาจยกครอบครัวไปใช้เวลาอยู่ในห้างและเพลิดเพลินกับการชอปปิ้ง แต่จะดีแค่ไหนหากชาวกรุงเทพฯ จะมีอีกสถานที่ที่เป็นแหล่ง hang-out สำหรับครอบครัว ที่พ่อแม่จะได้จูงมือลูกหลานมาใช้เวลาว่างหาหนังสืออ่านและอ่านหนังสือร่วมกัน
มานั่งนึกถึงสถิติการอ่านหนังสือเทียบกับเพื่อนบ้านจากสำนักงานสถิติฯ ที่ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 2 เล่ม/คน/ปี ขณะที่คนสิงคโปร์อ่านหนังสือเฉลี่ยถึง 40-50 เล่ม/คน/ปี ส่วนคนเวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ยมากถึง 60 เล่ม/คน/ปี ... กับภาพที่เห็นคือ เด็กตัวเล็กตัวน้อยนั่งอ่านยืนอ่านนอนอ่านหนังสือแทรกตัวอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัยเต็มพื้นที่ออดิทอเรียมของศูนย์ประชุมสิริกิติ์ในเทศกาลสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา อาจพอเรียกได้ว่าเป็นภาพหนึ่งที่น่ายินดีไม่น้อยสำหรับสังคมไทย
แต่ก็ทำให้สงสัยว่าหลังจากงานสัปดาห์หนังสือฯ พวกเขาจะไปหาสถานที่เช่นนี้ได้ที่ไหนอีก!?!
ภาพคุณพ่อจูงมือลูกเล็กๆ พร้อมกับชี้ชวนดูหนังสือภาพ เด็กน้อยนอนเอกเขนกอ่านการ์ตูนบนเก้าอี้บุตัวใหญ่ ผู้ใหญ่บางคนยืนอ่านนิตยสารที่ชั้นวางหนังสือ กลุ่มวัยรุ่นนั่งล้อมวงดูตำราเรียนบนโต๊ะกลม ขาโจ๋เพลินอยู่กับการเลือกวรรณกรรมเล่มโปรด ขณะที่คุณแม่บางคนสาละวนอยู่กับตำราอาหารที่ถูกใจ
...ไม่ต้องรองานสัปดาห์หนังสือครั้งต่อไป ภาพ "หนอนหนังสือ" รวมตัวกันอย่างมีความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นได้ทุกวันที่ "Double A Book Tower" ร้านหนังสือสแตนด์อะโลนของยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจกระดาษที่ชื่อ Double A
"เป้าหมายของเราในการเปิดร้านหนังสือขนาดใหญ่อย่างนี้ก็เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์การอ่านให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งที่ครอบครัว ได้มาใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกันแทนที่จะไปอยู่แต่ห้างหรือโรงหนัง" ชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง Double A บอกถึงเจตนารมณ์แรกเริ่มของตึกบุ๊กทาวเวอร์แห่งนี้
แน่นอนว่า ผลพลอยได้สำคัญที่ Double A จะได้เมื่อคนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น ก็ซื้อหนังสือกันมากขึ้น เมื่อหนังสือขายออกมากขึ้น การบริโภคกระดาษก็เพิ่มขึ้น... อาจเรียกว่าบุ๊กทาวเวอร์เป็นอีกช่องทางส่งเสริมการขายของ Double A แต่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้สังคมมีผลประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน
ก่อนการเปิดตัวบุ๊กทาวเวอร์แห่งนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ผู้คนที่คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือและสำนักพิมพ์ถูกระดมมาเป็นที่ปรึกษาและใช้เวลาถกปัญหาในวงการและพูดคุยคอนเซ็ปต์กันอยู่นาน จนกลายเป็น "เมืองหนังสือ" ขนาดใหญ่ที่มีถึง 9 ชั้น เป็นพื้นที่ร่วม 6,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนที่สำนักพิมพ์เช่าพื้นที่ตกแต่งร้านเอง และส่วนที่สำนักพิมพ์ส่งหนังสือมาฝากขาย
จากตึกออฟฟิศเดิม Double A ลงทุนหลักร้อยล้านแปลงโฉมตึกให้ดูเป็นร้านหนังสือที่ดูทันสมัยและมีบรรยากาศสบายๆ เหมาะแก่การอ่านหนังสือ รวมถึงลงทุนติดตั้ง wi-fi เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ (ต้องใช้รหัสผ่าน แต่สมาชิกขอรหัสฟรีได้ที่เคาน์เตอร์)
แต่ละชั้นแบ่งเป็นโซนตามประเภทหนังสือ ชั้น 1 เป็น Top Hit Zone รวบรวมหนังสือขายดี หนังสือแนะนำจากทุกสำนักพิมพ์และนิตยสาร เหมาะกับคนที่มีเวลาจำกัด อีกชั้นที่ลูกค้าเยอะที่สุดคือ Kids Zone ชั้น 4 ซึ่งตกแต่งอย่างน่ารักสดใสสมกับเป็นชั้นเด็กเล็ก เป็นชั้น ที่รวบรวมหนังสือแม่และเด็ก พร้อมสื่อการเรียนการสอน และหนังสือสำหรับครอบครัว ส่วนหนังสือการ์ตูนและนวนิยายวัยรุ่นอยู่ที่ชั้น 6 Lively Zone หรืออยากจะหาหนังสือต่างประเทศก็ขึ้นไปชั้น 7 International Book Zone เป็นต้น
ขณะที่ชั้นที่ 9 เป็นห้องประชุมและห้องออดิทอเรียมสำหรับจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เปิดตัวหนังสือ งานเสวนา และอีเวนต์ต่างๆ อีกทั้งยังเปิดให้นักธุรกิจเช่าพื้นที่ประชุม ส่วนชั้น 8 เตรียมจะเปิดเป็น Education Zone สำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ
ระหว่างเลือกหาหรือนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ หากท้องหิวขึ้นมา ก็มีมุมอาหารให้ได้รองท้อง หรือพักสายตาด้วยการจิบกาแฟแกล้มขนม ก็ได้ที่ชั้น 1 และชั้น 7 (กำลังจะแบ่งพื้นที่เปิดเป็นร้านอาหารเร็วๆ นี้)
ด้วยจำนวนหนังสือวางขายที่มีมากกว่าล้านเล่ม อีกทั้งยังมีสำนักพิมพ์มารวมตัวกันมากกว่าพันแห่ง เมืองหนังสือแห่งนี้จึงเลือกใช้สโลแกนที่เป็นประหนึ่งสัญญาประชาคมว่า "อยากรู้ ได้รู้" มาพร้อมกับโลโกของผู้ใฝ่รู้อย่าง "นกฮูก"
ถึงแม้จะมีหนังสือจำนวนมากบนพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่การค้นหาหนังสือที่ร้านหนังสือนี้ก็ไม่ได้ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะที่นี่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับค้นหาหนังสือ (search engine) ไว้ให้ลูกค้าอยู่ทุกชั้น โดยข้อมูลที่ได้จากการค้นหาไม่ใช่เพียงชั้น โซน และตำแหน่งบนชั้นวาง แต่เครื่องยังแสดงพิกัดบนแผนที่ให้ดูได้ด้วย
แต่ถ้ายังหาไม่เจออีกหรือหนังสือขาด ก็ยังสามารถฝากชื่อหนังสือให้เจ้าหน้าที่ช่วยค้นหาและเก็บไว้ให้ก็ได้ โดยเมื่อหนังสือเข้าหรือหาเจอแล้ว เจ้าหน้าที่ก็โทรแจ้งวันนัดมารับสินค้า
ชาญวิทย์เชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นเมืองหนังสือที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนหนังสือฝากขายและสำนักพิมพ์มากที่สุดในประเทศ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความภูมิใจให้แก่ผู้บริหาร Double A ได้มากเท่ากับโอกาสที่ได้ต่อลมหายใจให้กับหนังสือดีๆ และสำนักพิมพ์เล็กๆ ให้ "มีชีวิต" อยู่บนชั้นหนังสือได้นานขึ้น
"ร้านหนังสือตามห้างส่วนใหญ่จะมีพื้นที่จำกัด แต่ทุกวันนี้มีหนังสือใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ทางร้านก็ต้องเปลี่ยนหนังสือเก่าออกไปเร็ว ทำให้หนังสือดีๆ บางเล่มโชว์ได้แค่สันปกและได้อยู่บนชั้นหนังสือแค่ระยะสั้นๆ เหมือนกับหนังดีๆ แต่เข้าฉายได้แค่อาทิตย์เดียวก็ต้องออกแล้ว คนก็ไม่ทันได้ดู แต่ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ หนังสือดีๆ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็เลยพอจะมีช่องทางหายใจที่นี่" สีหน้าของเขาแสดงออกถึงความภูมิใจอย่างชัดเจน
กว่า 1 ปี ร้านหนังสือแห่งนี้มีฐานสมาชิกที่ทำบัตรกับทางร้านมากกว่า 65,000 คน ส่วนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกของ Double A Rewards บางส่วนเป็นกลุ่มนักเรียนที่มาเยี่ยมชมในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ
แต่ก็มีจำนวนอีกไม่น้อยเป็นลูกค้าที่บังเอิญเดินเข้ามารอรับบุตรหลานจากโรงเรียนฝรั่งบนถนนสาทรและสีลม บ้างก็เป็นนักเรียนมารอ
ผู้ปกครองที่ทำงานออฟฟิศย่านสาทรรับกลับบ้าน แล้วเกิดติดใจจนต้องสมัครเป็นสมาชิก และแวะเวียนจนเป็นกิจวัตรทุกเช้าเย็น โดยร้านหนังสือ แห่งนี้เปิดบริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม
สำหรับชาญวิทย์ ยอดขายไม่ได้สำคัญไปกว่าจำนวนลูกค้าที่เข้ามาอ่านหนังสือ และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งสังสรรค์ช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกเรียนของครอบครัวและกลุ่มเพื่อนฝูง โดยทุกวันนี้ จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่นี่เฉลี่ยสูงกว่าพันคนในวันธรรมดา และมากถึงสองพันคน ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
แต่ดูเหมือนยังห่างไกลจากความฝันของเขาที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาเข้าคิวแน่นอยู่หน้าประตูเพื่อรอร้านหนังสือแห่งนี้เปิด... แทนที่จะเป็นภาพเด็กนักเรียนและวัยรุ่นยืนออรอห้างเปิดอย่างทุกวันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|