สงครามยึดแบงก์สหธนาคาร

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

เกมการช่วงชิงอำนาจบริหารที่สหธนาคารเริ่มปะทุมาตั้งแต่เมื่อต้นปี 2528 แต่เหตุการณ์ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นแตกหัก ทั้งนี้เพราะได้มีการประนีประนอมจัดสรรแบ่งอำนาจกันได้ระดับหนึ่ง แต่นับจากวันนั้นเรื่อยมาทุกฝ่ายก็รู้กันเป็นนัยว่า ในไม่ช้าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นเป็นแน่ 29 มีนาคม 2532 เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พันธมิตร เพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร - เอบีซี ก็เปิดฉากด้วยมาตรการแบบ HOSTILE - TAKE OVER เสนอปลดบรรเจิด - ปิยะบุตร ออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารฯ แต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดความขัดข้องทางเทคนิคเสียก่อน และจากวินาทีนั้นมา ก็เท่ากับว่าพันธมิตรเพ็ญชาติฯ ประกาศสงครามยึดแบงก์อย่างเปิดเผย !!

การทำรัฐประหารกลางที่ประชุมใหญ่ของสหธนาคารเมื่อ 29 มีนาคม 2532 บ่งชี้สถานการณ์ขั้นแตกหักของกลุ่มผู้ถือหุ้น ซึ่งฝังรากลึกมาเป็นระยะเวลายาวนาน

โดยพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติ - อัศวิน - วิจิตร - เอบีซี เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีด้วยการใช้ช่องโหว่เสนอปลดกรรมการบริหารที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 คนออกทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้ยอมรับว่า จะให้ 4 คนนี้กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ตามที่ฝ่ายชลวิจารณ์เสนอ

ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายชลวิจารณ์คาดไม่ถึง เพราะมัวแต่คิดว่าได้มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วในการประชุมคณะกรรมการจึงไม่คิดว่าจะมีการพลิกโผ

กอบกับนึกไม่ถึงว่าเอบีซีและอัศวิน วิจิตร จะกล้าประกาศสงครามกับตนอย่างโจ่มแจ้งเช่นนี้ โดยชลวิจารณ์มัวแต่มองเห็นศัตรูอยู่เพียงฝ่ายเดียว คือ เพ็ญชาติ ซึ่งถือหุ้นอยู่ในสหธนาคารเพียงเล็กน้อย อีกทั้งไม่ได้มีตำแหน่งการบริหารใด ๆ ในธนาคารเลย

อย่างไรก็ดี แม้ชลวิจารณ์จะตกตะลึงพรึงเพริดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเกือบจะสูญเสียอำนาจการบริหารที่ฝ่ายตนครอบครองมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี การณ์กลับปรากฏว่า มีอัศวินม้าขาวมาช่วยไว้ได้ทัน

ทำให้ชลวิจารณ์สามารถรักษาอำนาจของฝ่ายตนในธนาคารไว้ได้อย่างหวุดหวิด

แต่กระนั้น นับจากนี้ไปชลวิจารณ์ย่อมนอนสะดุ้งทุกเพลาค่าที่รู้ตัวดีว่า ต้องคอยรับศึกหนักอีกพักใหญ่ ๆ และยังไม่รู้ว่า จะหาอัศวินม้าขาวจากไหนมาช่วยได้อีกทั้งขุนพลฝ่ายตนนั้นก็ไม่ได้ช่ำชองเกมการรบเหมือนฝ่ายตรงข้าม

ชลวิจารณ์ถูกข้อกล่าวหาเรื่องความเป็นมืออาชีพและการรวบอำนาจบริหารสำคัญ ๆ ไว้โดยไม่ยอมจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นอื่นอย่างเหมาะสม

ฝ่ายพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ถูกชลวิจารณ์ตอบโต้ตรงจุดอ่อนของกลุ่ม คือ เอบีซี ซึ่งเป็นธนาคารต่างชาติ

ชลวิจารณ์ตั้งข้อหากลับว่า แบงก์ต่างชาติจะยึดแบงก์ไทย

และประกาศถึงความเป็นมืออาชีพของฝ่ายตนอย่างเหนียวแน่น

ด้วยข้ออ้างการบริหารงานธนาคารมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่เคยข้องแวะบริหารธุรกิจอื่นใด

การตอบโต้กลับของฝ่ายชลวิจารณ์กระทำผ่านสื่อมวลชนหลายฉบับ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล

ฉากการต่อสู้เกิดขึ้นหลายด้าน และในทุกด้านนั้นดูเหมือนฝ่ายชลวิจารณ์จะอยู่ในฐานะตั้งรับตลอดสงครามผ่านไป 1 เดือนเต็ม ชลวิจารณ์ก้าวมาอยู่ตรงจุดของการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบรรเจิด โดยขอให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งคนกลางเข้ามาดำรงแทน

ฝ่ายพันธมิตรเพ็ญชาติฯ ยังคงซุ่มเงียบไม่แสดงทีท่าผ่อนปรน ยอมรับหรือปฏิเสธ

สงครามยังดำเนินต่อไป !

การประนีประนอมเหมือนเมื่อปี 2528 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพ็ญชาติเท่านั้นที่รู้ดี !

หากชลวิจารณ์เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ได้เข้าครองอำนาจการบริหารธนาคาร พวกเขาจะสามารถก้าวพ้นข้อหาที่พวกเขาเคยตั้งป้อมกล่าวกับฝ่ายชลวิจารณ์ได้หรือ ?

ฝ่ายชลวิจารณ์เล่า จะยอมเดินตามรอย สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แห่งธนาคารแหลมทองหรือ ?

ประวัติศาสตร์การบริหารธุรกิจแบบครอบครัวจะปิดฉากลงอีกหน้าหนึ่งหรืออย่างไร ?

ประกาศสงคราม HOSTILE TAKE OVER

การ TAKE OVER ในประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจบ้านเราเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่โดยส่วนมากเป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ในวงการธนาคารเราก็ได้เห็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างสุระ จันทร์ศรีชวาลา กับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เพื่อเข้ายึดธนาคารแหลมทอง ระหว่างปี 2528 - 2530

ซึ่งในที่สุด ฝ่ายแรกก็ทำได้สำเร็จ และในภายหลังได้เป็นที่เปิดเผยกันโดยทั่วไปว่า กุนซือสำคัญของสุระ ชื่อ เศรณี เพ็ญชาติ ผู้ซึ่งวันนี้กำลังวางแผนเดินเกมของตัวเองอย่างขะมักเขม้น

ยุทธวิธีการยึดธนาคารแหลมทองครั้งนั้นก็คือ การพยายามกว้านซื้อหุ้นจำนวนมากไว้ในครอบครองแล้วขอเปิดประชุมวิสามัญในวาระถอดถอนกรรมการ

เพื่อขับไล่กรรมการชุดเก่าและเสนอกรรมการชุดใหม่เข้าดำรงตำแหน่งแทน

ยุทธวิธีนี้เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว และกำลังถูกใช้อีกที่สหธนาคาร

ไม่ใช่การเทคโอเวอร์ธรรมดาฯ แต่เป็นการประกาศสงครามอย่างโจ๋งครึ่มหรือที่ใช้ศัพท์เรียกว่า HOSTILE TAKE OVER

หากแผนรัฐประหารครั้งนี้ไม่เกิดการผิดพลาดทางเทคนิคที่ฝ่ายรัฐประหารคาดไม่ถึงเสียก่อน เชื่อว่า นี่คงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์การเทคโอเวอร์ในธุรกิจของไทยทีเดียว

โดยผู้ที่ถูกทำรัฐประหารเป็นบุคคลคนเดียวกับเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คือ "บรรเจิด ชลวิจารณ์" ที่หลุดออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยในปี 2525 เพราะถูกกลุ่มผู้ถือหุ้นที่กุมเสียข้างมากได้ลงมติไม่รับรองงบดุล โดยอ้างระเบียบปฏิบัติที่ไม่เคยปฏิบัติกันมาเลย คือ จะต้องมีการเสนองบดุลก่อนการประชุมหนึ่งเดือน

ลูกเล่นที่ทำให้บรรเจิดกระเด็นออกจากวงการน้ำตาลในปีนั้น ได้ถูกนำมาใช้ปกป้องไม่ให้เขาต้องหลุดออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสหธนาคารในวันนี้ ด้วยฝีมือของทนายความที่เปรียบเหมือนอัศวินม้าขาวโดยแท้…เขา คือ อมรชัย กสิยพงศ์ อดีตลูกน้อยทนายประธาน ดวงรัตน์

เศรณี เพ็ญชาติ ผู้นำการรัฐประหาร ซึ่งล้มเหลวในวันนั้นกล่าวด้วยความรู้สึกเชื่อมั่นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไอ้เรื่องแค่นี้มันต้องมีแพ้มีชนะ นี่ไม่ใช่เราแพ้แบบไม่มีมาดเลย แต่เราแพ้เทคนิค แพ้ฟาล์วต่างหาก"

ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหารล้มเหลวกลางที่ประชุมใหญ่สหธนาคารเมื่อ 29 มีนาคม 2532 แผนการรัฐประหารได้ก่อรูปขึ้นตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศเพิ่มทุนอีก 100 ล้านบาท และเป็นปีที่เพ็ญชาติขายหุ้นให้เอบีซี 25%

เพ็ญชาติเริ่มแผนการขายหุ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2529 ซึ่งมีผู้แสดงความจำนงขอซื้อหลายราย คือ กฤษณ์ อัสสกุล เฟิร์ส แปซิฟิค ของหลิมซิวเหลียง มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียและอาหรับ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (เอบีซี) ธนาคารจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

ผู้ที่เป็นตัวกลางในการเจรจาติดต่อให้เอบีซีเข้ามาซื้อหุ้นสหธนาคารจากเพ็ญชาติครั้งนี้ คือ ฝ่ายอัศวินวิจิตร นั่นเอง และเศรณีก็มอบหมายให้กรพจน์ อัศวินวิจิตร เป็นผู้มีอำนาจการเจรจาขายหุ้นจำนวน 25% ของตัวให้แก่เอบีซีในสนนราคาหุ้นละไม่ต่ำกว่า 250 บาท

ในปี 2530 นั้น ไม่มีใครถามว่า ทำไมเพ็ญชาติเลือกขายหุ้นให้เอบีซี และเมื่อถึงปี 2532 คำตอบก็เปิดเผยตัวเองออมาโดยปริยายเมื่อเอบีซีร่วมเป็นพันธมิตรในกลุ่มเพ็ญชาติ

เอบีซีเป็นธนาคารที่เกิดจากการร่วมทุนขอปงระเทศผู้ผลิตน้ำมัน 3 ประเทศ คือ ลิเบีย คูเวต และอาบูดาบี ตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 มีสินทรัพย์หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีความชำนาญด้านบริหารการเงิน และมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก

กรพจน์ ซึ่งเป็นคนกลางในการเจรจาครั้งนี้ รู้จักกับเอบีซีได้เพราะบริษัทแสงทองค้าข้าวของตระกูลเขานั้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ให้ประเทศแถบตะวันออกกลาง อีกทั้งอวยชัย บิดาของเขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์โอมานประจำประเทศไทยด้วย

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า อัศวินวิจิตรมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศในตะวันออกกลางมากเพียงใด

เอบีซีแม้จะเป็นธนาคารของรัฐแต่ลักษณะการดำเนินงานมีความฉับไวแข็งกร้าวเสมือนหนึ่งกิจการของเอกชน โดยในปี 2530 ได้ทำการซื้อกิจการธนาคารซันฮุงไกในฮ่องกง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ เอเชีย กับทั้งมีการซื้อกิจการอีกหลายอย่างในสเปนและบราซิล

ลักษณะการดำเนินงานเช่นนี้ได้ถูกนำมาเป็นข้อโจมตีในเลาต่อมาเมื่อเอบีซีกลายเป็นพันธมิตรในกลุ่มเพ็ญชาติเพื่อร่วมโค่นอำนาจชลวิจารณ์

อย่างไรก็ดี หากจะมองกันให้จะจะแล้ว การเลือกเอบีซีของเพ็ญชาติ - อัศวิน - วิจิตร ในปี 2530 นับว่ามีคุณูปการแก่พวกเขาอย่างมากนั่นคือ หนึ่ง เป็นฐานการเงินที่พร้อมจะสนับสนุนการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสหธนาคารตลอดเวลา สอง สามารถถ่ายทอดความรู้ความชำนาญในด้านการบริหารธุรกิจธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งสหธนาคารยังไม่มี สาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชลวิจารณ์คาดหวังเมื่อยอมยกตำแหน่งกรรมการให้แก่เอบีซีจะดึงเครือข่ายลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากย่านตะวันออกกลางให้มาใช้บริการต่าง ๆ ของธนาคาร รวมทั้งให้ความร่วมมือในการสนับสนุนการส่งออก หรืออุตสาหกรรมก่อสร้างในตะวันออกกลาง ซึ่งมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

และ ประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญพอสมควร คือ เอบีซีไม่มีฐานทางธุรกิจอื่นใดในไทย และยังเป็นนักลงทุนหน้าใหม่สำหรับวงธุรกิจเมืองไทย

ดังนั้น จึงเชื่อได้แน่ว่า สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ประกอบกับภูมิหลังดังกล่าว ย่อมเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับการร่วมเป็นพันธมิตรกับเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร

และดีกว่าแน่ ๆ เมื่อเทียบกับกฤษณ์ อัสสกุล ซึ่งคุ้นเคยแต่กิจการธุรกิจประกันภัยประกันชีวิต และยังมีเงื่อนไขมากเกินไป รวมทั้งเฟิร์ส แปซิฟิค ซึ่งเป็นนักซื้อกิจการตัวยงคนหนึ่งของย่านธุรกิจเอเชีย - แปซิฟิก

เมื่อเอบีซีเข้าร่วมถือหุ้นด้วย 25% ชลวิจารณ์ก็จำเป็นที่จะต้องแบ่งตำแหน่งกรรมการธนาคารให้ 3 ตำแหน่ง โดยระยะแรก เอบีซีส่งนายแซมมวล ปีเตอร์ ชูเลอร์ นายเดล อัลดัล ดอล และนายจ๊อฟฟรีย์ มิลตั้น มาดำรงตำแหน่ง ส่วนในระดับกรรมการบริหาร มีนายเดล อัลดัล ดอล ควบ 2 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การแบ่งตำแหน่งกรรมการให้เอบีซีนั้นคงเป็นไปตามสิทธิ์ที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้เหมือนกับที่อัศวินวิจิตรเรียกร้อง เพราะตระกูลของตนถือหุ้นอยู่ 11% ซึ่งในที่สุดบรรเจิดได้ยอมให้อวยชัยเข้ามาเป็นกรรมการ

แต่การแบ่งตำแหน่งให้ไม่ได้ หมายถึง การแบ่งสรรอำนาจบริหารให้ตามไปด้วย และนี่เองคือจุดร่วมของการเป็นพันธมิตรระหว่างเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร - เอบีซี ในการทำรัฐประหารเมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

เพ็ญชาตินั้นอึดอัดมานานกับการครองอำนาจบริหารธนาคารแต่ฝ่ายเดียวของชลวิจารณ์มาเป็นเวลานานถึง 20 ปีเต็ม (2512 - 2532) เศรณี เพ็ญชาติ พยายามที่จะโค่นอำนาจการบริหารนี้ เพื่อที่จะได้นำมาจัดสรรแบ่งปันกันใหม่ให้ถูกต้องตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริงตั้งแต่ปี 2528 แต่ความพยายามของเขาก็ถูกขัดขวางจากทุก ๆ ฝ่าย แม้กระทั่งบิดาของตนเอง ชำนาญ เพ็ญชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องฝืนทนยอมรับการแบ่งสรรอำนาจบริหารอันไม่เป็นธรรมนั้นโดยตรง

นับแต่ปี 2512 ที่ชำนาญขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้กรรมการรองผู้จัดการสหธนาคาร เขาก็ไม่เคยได้เลื่อนตำแหน่งอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 2531

เมื่อสิ้นชำนาญผู้บิดาแล้ว มือที่จะมาคอยเหนี่ยวรั้งมิให้เศรณีดำเนินการรัฐประหาร เพื่อการแบ่งสรรที่ยุติธรรมก็สูญสิ้นตามไปด้วย

เศรณีเคยกล่าวครั้งหนึ่งว่า เขาทำรัฐประหารครั้งนี้ก็เพื่อศักดิ์ศรีของตระกูล เขาไม่ต้องการได้อำนาจการบริหารใด ๆ ในสหธนาคารอีกต่อไป และเวลานี้เขาก็ไม่ได้สนใจธุรกิจธนาคารแล้ว เพราะเขาได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจคอนโดมิเนียมอย่างเต็มตัว เขาเป็นเรียลเอสเตท ดีเวลล้อปเปอร์ ไม่ใช่แบงเกอร์อีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนหุ้นในสหธนาคารที่เขามีอยู่ราว 6% นั้นก็เป็นสิ่งที่เขาจะยังคงรักษาไว้ต่อไป เพราะถือเป็นมรดกของตระกูล

ผู้ที่รู้จักเศรณีดีคงจะเข้าใจคำพูดของอดีตนักการทหารชั้นยศร้อยเอกแห่งกรมข่าวกรอง กองบัญชาการทหารสูงสุดผู้นี้อย่างแจ่มชัด

แผนการยึดสหธนาคารของเศรณีก่อรูปขึ้นตั้งแต่ปี 2530 ก็จริง แต่ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพ็ญชาติเริ่มจากจับมือกับอัศวินวิจิตรก่อนที่จะได้เอบีซีเข้าร่วมเป็นพันธมิตร

คนหนุ่มต่อคนหนุ่มเมื่อมาเจอกันนั้น ย่อมเจรจาค้าความกันได้ง่ายกว่าคนต่างวัย ยิ่งเป็นคนหนุ่มที่มีทัศนะทางธุรกิจคล้ายคลึงกันด้วยแล้ว อะไร ๆ ก็ดูราบรื่นไปได้โดยง่าย

อัศวินวิจิตรนั้น เติบโตผงาดขึ้นมาด้วยธุรกิจค้าข้าวและข้าวโพด ครั้นเมื่อรุ่นลูกเติบโตขึ้นและผ่านการศึกษาสมัยใหม่ ก็เริ่มมองช่องทางการขยายตัวแตกแขนงไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเป้าหมายของกรพจน์ก็คือ ธุรกิจประกันภัยหรือประกันชีวิต และธนาคาร

ปี 2526 อัศวินวิจิตรกระโดดเข้าวงการประกันชีวิต พร้อมกับแทรกตัวเข้าสู่วงการธนาคารในแหลมทองและสหธนาคาร ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย

กรพจน์เข้าร่วมมือกับเศรณีก็เมื่อเศรณีตัดสินใจช่วยสุระ จันทร์ศรีชวาลา รุกคืบยึดธนาคารแหลมทอง โดยเศรณีต้องช่วยกว้านซื้อหุ้นให้สุระตามแผน และนั่นเองเป็นจุดที่เขาต้องเจรจากับกรพจน์เพื่อขอซื้อหุ้นแหลมทองที่กรพจน์ครองอยู่ส่วนหนึ่ง

ผลของการเจรจาครั้งนี้ก็คือ กรพจน์ยอมขายหุ้นแหลมทองให้เศรณี แลกเปลี่ยนกับการที่เศรณียอมขายหุ้นสหธนาคารให้กรพจน์ ซึ่งทำให้กรพจน์ครองหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 11%

และในการเจรจาซื้อขายครั้งนี้ เพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร ได้ทำข้อตกลงแนวร่วมว่า จะต้องมีการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้ร่วมกัน

แบบแผนของข้อตกลงนี้ได้นำไปใช้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการขายหุ้นให้เอบีซี ซึ่งทำให้เกิดพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร - เอบีซี ภายใต้ข้อตกลงในเรื่องการตัดสินใจร่วมกันและจุดมุ่งหมายเดียวกัน

เมื่อเศรณีตัดสินใจทำรัฐประหารกลางที่ประชุมใหญ่สหธนาคารนั้น ปรากฏว่า พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร - เอบีซี ถือหุ้นร่วมกันประมาณ 43% โดยแบ่งออกเป็น 6% ของเพ็ญชาติ 11% ของอัศวินวิจิตร และ 25% ของเอบีซี

ขณะที่ทางฝ่ายชลวิจารณ์นั้นถือได้เพียง 36% แต่ถือในนามของลูกค้าซึ่งมอบอำนาจให้ถือเข้าประชุมได้แต่ไหนแต่ไรมาอีก 6.2% ซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 42.2%

ส่วนตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรณีมั่นใจว่า การทำรัฐประหารของเขาต้องไม่ผิดพลาดแน่นอนก็คือ กระทรวงการคลังซึ่งได้ถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้มานานแล้วจำนวน 6.6%

ที่เหลือนอกนั้นเป็นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

แต่เดิมในปี 2530 กระทรวงการคลังยังไม่มีท่าทีเปิดไฟเขียวให้เศรณี โดยในปีนั้นกระทรวงการคลังก็ออกเสียงให้การสนับสนุนฝ่ายชลวิจารณ์

ครั้น 2 ปีผ่านไป บรรยากาศทางการเมือง คณะรัฐบาล นโยบายและตัวบุคคลล้วนเปลี่ยนไปหมด นอกจากกระทรวงการคลังไฟเขียวให้เศรณีแล้ว ยังได้ลงคะแนนออกเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐประหารนี้ด้วย

ทั้งนี้ ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า นโยบายของกระทรวงฯ ก็คือ ให้ใช้มืออาชีพเข้ามาบริหารธนาคาร

"ผมว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในสหธนาคาร เป็นนโยบายของกระทรวงเอง ผมเห็นว่าเขา (ฝ่ายชลวิจารณ์) บริหารมาแล้วนานถึง 30 ปี ทำไมธนาคารจึงโตช้าเหลือเกิน เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เขาน่าจะแบ่งการบริหารงานกัน ไม่ใช่เป็นการไล่คุณบรรเจิดออกไป" ประมวลกล่าวกับนักข่าวหลังจากที่เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของกระทรวงการคลังในสหธนาคารอย่างกว้างขวาง

ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้สร้างความตะลึงพรึงเพริดแก่ชลวิจารณ์ไม่ใช่น้อย

พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน และไม่คิดว่าเหตุการณ์จะพลิกกลับเช่นนี้ได้

ไม่ใช่แต่ชลวิจารณ์ฝ่ายเดียว สาธารณชนก็นึกไม่ถึงด้วยเหมือนกัน

แต่การแปรเปลี่ยนท่าทีของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับฝ่ายรัฐประหารกลับทำไม่สำเร็จ เพราะทนายความคนหนึ่งงัดลูกเล่นระเบียบปฏิบัติของธนาคารที่ไม่เคยมีการปฏิบัติกันมาก่อนเลยนั้น เอาออกมาใช้

อมรชัย กสิยพงศ์ ทนายความหนุ่มวัยไม่เกิน 40 ปี คือ อัศวินม้าขาวคนนั้น !

เขาเป็นคนหนึ่งในกรรมการนับคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริหารธนาคาร

ลูกเล่นที่เขาใช้ในวันนั้นเป็นลูกเล่นประเภทเดียวกับที่เคยทำให้บรรเจิดหลุดออกจากบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศ โดยเขาตั้งประเด็นว่าหนังสือมอบอำนาจของกระทรวงการคลังเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงให้กระทรวงการคลังได้

วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นใจให้กับฝ่ายพันธมิตรเพ็ญชาติฯ เริ่มแสดงความลังเลไม่มั่นใจ เขาขอดูข้อบังคับของธนาคารในเรื่องหนังสือมอบอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีก จนในที่สุดก็ต้องขอถอนตัวออกมา

ว่ากันว่าหากวิโรจน์ยืนยันที่จะให้คะแนนเสียงของตัวมีผลในทางปฏิบัติก็เป็นสิ่ที่ทำได้ เพราะหากยึดถือตามสิ่งที่ปฏิบัติกันมานับสิบปีก็คือ ไม่เคยมีการเรียกหนังสือมอบอำนาจมาดูกันอย่างนี้ แต่ทะเบียนผู้ถือหุ้นจะปรากฏออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และในทุกครั้งนั้น กระทรวงการคลังก็ทำเพียงแค่การออกหนังสือตราครุฑรับรองการมอบอำนาจของผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยไม่ต้องมีการลงนาม

เมื่อวิโรจน์ถอนตัว ทั้ง ๆ ที่ในใบลงคะแนนของเขาเทเสียงให้กับพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ก็เลยทำให้คะแนนเสียงเอนกลับไปทางฝ่ายชลวิจารณ์ และพวกเขาก็ฝ่าด่านกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารได้อีกครั้งอย่างหวุดหงิด

อมรชัย กสิยพงศ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในเวลาต่อมาว่า เหตุที่เขาเข้าช่วยฝ่ายชลวิจารณ์นั้นเป็นเพราะเขารู้สึก "สงสาร"

แต่ตัวเขาเองปฏิเสธว่า ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหธนาคาร เขาเพียงแต่มีหุ้นอยู่ 500 หุ้น โดยถือมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมาตั้งสำนักงานอมรชัย กสิยพงศ์ โดยใช้บ้านเป็นสำนักงานนั้น เขาเคยฝึกงานกับสำนักงานทนายความประธาน ดวงรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการธนาคารเวลานี้ และหุ้นของสหธนาคารที่เขามีอยู่ในครอบครองนั้นก็มาจากทางประธาน ดวงรัตน์ เพื่อนของบิดาที่เขาให้ความเคารพนับถือเสมอมานั่นเอง

อมรชัย เล่าทวนภาพเหตุการณ์วันประชุมใหญ่สหธนาคารว่า แผนรัฐประหารทั้งหมดนั้นถูกตระเตรียมมาเป็นอย่างดี เพราะมีการส่งลูกรับลูกกันอย่างสอดคล้อง

พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ใช้ทนายความจากสำนักงานเบเกอร์ แอนด์ แมคเค็นซี่ โดยมีอธึก อัศวานันท์ เป็นหัวหอกนำทนายความมาร่วมการประชุมเพียบ

อธึกเป็นทนายที่ช่ำชองคดีความทางด้านธนาคารและสถาบันการเงินมากที่สุดผู้หนึ่ง ทั้งนี้ ลูกความใหญ่ ๆ ของเบเกอร์ฯ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ แบงก์อเมริกา ซิตี้แบงก์ มิตซุย อินโดสุเอซแบงก์ และดอยท์ชแบงก์ เป็นต้น

คดีที่ทำให้ชื่อเสียงของเบเกอร์ฯ โดดเด่นเอามาก ๆ ในปลายปี 2531 ก็คือ คดีมาบุญครอง โดยเบเกอร์ฯ เป็นทนายฝ่ายเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารต่างชาติทั้งหลาย

แต่ที่น่าสนใจกว่า ทว่าเป็นการดำเนินการอย่างเงียบ ๆ คือ เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายโอนหุ้นจำนวน 25% จากเพ็ญชาติให้เอบีซีเมื่อปี 2530

ความเป็นลูกค้ากันมาแต่ในอดีตทำให้อธึกมาปรากฏตัวอีกครั้งกลางที่ประชุมใหญ่สหธนาคาร ทนายความของเขาที่ทำหน้าที่เสนอปลดกรรมการบริหารล้วนเป็นส่วนหนึ่งในแผนการที่วาดไว้ล่วงหน้าแล้ว

การเผชิญหน้าทางธุรกิจโดยใช้กลไกของศาลเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในประวัติศาสตร์ธุรกิจสมัยใหม่ของไทย คดีแล้วคดีเล่าที่ทนายความเป็นผู้ดำเนินการแทนลูกค้านักธุรกิจ

ไม่ใช่เฉพาะทำหน้าที่ในศาลเท่านั้น

แต่ได้ก้าวมาทำหน้าที่ในที่ประชุมใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการเจรจาทางธุรกิจแทนลูกค้า

โดยหลังการประชุมใหญ่ผ่านพ้นไปพร้อมกับการพ่ายแพ้ทางเทคนิคของคณะรัฐประหาร ผู้แทนเอบีซีในสหธนาคารก็เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับแต่งตั้งให้อธึกเป็นผู้มีอำนาจเจรจาแทนในกิจการที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่ไม่ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ

การกระทำนี้ แม้จะปรากฏในเวลาต่อมาว่า เป็นแผนการของเศรณี แต่ก็นับว่า เป็นการเปิดบทบาทของทนายให้กว้างมากขึ้น

และเป็นแผนล่ออันหนึ่งที่ใช้ได้ผลไม่น้อยของพันธมิตรของกลุ่มเพ็ญชาติฯ !

ยุทธวิธีการเปิดแนวรบทุกด้านเพื่อยึดแบงก์ได้เกิดขึ้นแล้ว !

หลังจากถูกปรับแพ้ฟาล์วในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 29 มีนาคม 2532 แล้ว เศรณีซึ่งเป็นกุนซือสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้ย่อท้อใจเลย

อดีตความเป็นนักการทหารของเขา และการคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่งอการเทคโอเวอร์ที่เขาได้ฝึกปรือวิทยายุทธ์อย่างดีเยี่ยมมาจากธนาคารแหลมทอง สอนให้เขามองดูเกมสงครามครั้งนี้ด้วยสายตายาวไกล

เขาไม่เพียงแต่ยอมรับความผิดพลาดทางเทคนิคที่เกิดขึ้น แต่ยังได้พยายามที่จะต่อสู้ "เพื่อศักดิ์ศรี" ต่อไปด้วยแผนการเปิดแนวรบทุกด้าน

เศรณี กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ถ้าพูดกันจริง ๆ นี่ เรามีความมั่นใจว่า สัดส่วนหุ้นตอนนี้เราเกินแล้ว แต่ผมคิดว่า การทำศึกนี่ ตอนนี้เขาคาดหมายว่า เราจะครองสัดส่วนหุ้นข้างมากจังหวะเวลาตอนนี้จึงยังไม่เหมาะ"

"เรื่องที่จะเกิน 30 วันหรือไม่นั้น หมายความว่า 30 วันนับตั้งแต่วันที่เรายื่นซึ่งการประชุมวิสามัญนี่จะยื่นได้ทุกเมื่อตลอดทั้งปีเลย แบบเดียวกันกับคุณสุระ เพราะการประชุมวิสามัญนี่เรามีอยู่ในวาระเพียงวาระเดียว เสนอถอดถอนกรรมการ…แต่ว่า ทุกอย่างเวลานี้มันร้อนมาก เราก็เลยอยากปล่อยให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป"

แผนการครองสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนมากนั้น เป็นแผนสำคัญและเป็นหัวใจของการทำศึกของเศรณี แต่ก่อนหน้าที่จะเปิดฉากด้านนี้นั้น เศรณีก็เปิดฉากด้านอื่น ๆ มาเป็นระยะ ๆ แล้ว

เศรณีอุดช่องโหว่ของฝ่ายตนในเรื่องเอบีซีด้วยการขอให้ผู้แทนของเอบีซีเดินทางออกไปนอกประเทศ แล้วมอบหมายให้อธึกเป็นตัวแทนดำเนินการเจรจา

ราวกับรู้อยู่ว่าช่องโหว่นี้ต้องถูกฝ่ายชลวิจารณ์หยิบมาโจมตีอย่างหนักหน่วง

ฝ่ายชลวิจารณ์เปิดฉากด้วยการเปิดแถลงข่าวแสดงความรู้สึกเสียใจอย่างที่สุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับการกระทำของเอบีซี

พร้อมกันนั้นก็แถลงปกป้องความเป็นมืออาชีพของฝ่ายตน ซึ่งบริหารงานธนาคารมาหลายสิบปีผนวกกับแสดงตัวเลขผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ๆ แม้จะไม่อยู่ในอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม

หลังจากเปิดแถลงข่าวไม่นานนัก ก็ปรากฏประกาศแจ้งความโฆษณาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นสหธนาคารเนื้อหากล่าวปกป้องกลุ่มผู้บริหารเดิม คือ ฝ่ายชลวิจารณ์ และตั้งปัญหาต่อเจตนารมณ์การเข้าร่วมในฝ่ายรัฐประหารของเอบีซี อันเป็นที่มาของกระแส "แบงก์ต่างชาติยึดแบงก์ไทย"

ประกาศแจ้งความนี้ไม่เพียงแต่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในประเทศเท่านั้น แต่ยังปรากฎในหนังสือพิมพ์รายวัน ดิเอเชียน วอลสตรีท เจอร์นัล ซึ่งตีพิมพ์ในฮ่องกง และจำหน่ายเผยแพร่ทั่วเอเชียด้วย

ว่ากันว่า การตอบโต้ทางสื่อมวลชนเช่นนี้เป็นฝีมือของอดีตคอลัมนิสต์ผู้หนึ่งแห่ง นสพ.บางกอกโพสต์ ซึ่งละวางการไปเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านการโฆษณา ชือ่ โรเบิร์ต โรเมโร

ฝ่ายพันธมิตรเพ็ญชาติฯ ไม่ได้ทำการตอบโต้กลับด้วยสื่อมวลชน ทั้งนี้เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การปลุกกระแสชาตินิยมของฝ่ายชลวิจารณ์คลึกโครมก็เพียงในระยะแรกเท่านั้น ถึงหากจะสู้กันในประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่แน่ว่าชลวิจารณ์อาจจะตกหลุมพรางที่ตัวขุดขึ้นมาเอง

เพราะปัญหาสหธนาคารเป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ถือหุ้นที่ต่างก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

เป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจการบริหารตามสัดส่วนการถือหุ้นที่จะต้องทำการตกลงกันเองในบรรดาผู้ถือหุ้น

คนวงในให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความคิดเบื้องหลังยุทธวิธีนี้ของฝ่ายชลวิจารณ์ก็คือ ต้องการขู่เอบีซีให้ถอนตัวออกไป ไม่ใช่ว่าต้องการทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจอะไร ถึงประชาชนเกิดความไม่พอใจ แต่จะทำอะไรได้ "มันเป็นบริษัทเอกชน"

ยุทธวิธีที่พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ใช้โต้กลับในประเด็นนี้ คือ หาช่องโอกาสเข้าไปเจรจาต้าอวยอธิบายสถานภาพที่แท้จริงของเอบีซีให้นายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทราบ

สั้น ๆ ง่าย ๆ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โดยสายตรงที่ฝ่ายรัฐประหารใช้ก็คือ ดร.สุวิทย์ ยอดมณี โฆษกคณะรัฐบาล ซึ่งนับญาติไม่ห่างกันนักกับเศรณี เพ็ญชาติ

แม้ประเด็นที่ฝ่ายชลวิจารณ์พยายามเฟ้นหา คือ เรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของนิติบุคคลบนเกาะเจอร์ซีย์ที่ไม่สามารถถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ นอกประเทศได้เกิน 5%

เรื่องนี้ อธึกแห่งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเบเกอร์ฯ ก็จัดการไว้เรียบร้อยแล้วโดยจัดการตั้งบริษัทขึ้นมา 5 แห่งที่เลขที่ 44 เอสปานาด เซนต์เฮริเออร์เจอร์ซีย์ แชนเนล ไอร์แลนด์

ให้บริษัททั้ง 5 เข้ามาถือหุ้นสหธนาคารแห่งละ 5%

ประเด็นเรื่อง "แบงก์ต่างชาติยึดแบงก์ไทย" เป็นกระแสข่าวอยู่พักหนึ่ง ประกอบกับมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในทางสนับสนุนกระแสชาตินิยมนี้ด้วย

เศรณีจึงคิดแผนการอีกทางหนึ่งเพื่อ "กันเหนียว"

ราเคซ ซาเซนา กรรมการผู้จัดการบริษัทเวนเจอร์ แคปิตอล จำกัด และที่ปรึกษาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ใจของหลาย ๆ ฝ่ายด้วยการยื่นข้อเสนอเจรจากับเอบีซี เพื่อขอซื้อหุ้นทั้งหมดของเอบีซีที่มีอยู่ในสหธนาคารจำนวน 25%

พร้อมกันนั้นก็เคลื่อนไหวกับทางแบงก์ชาติเสนอแผนระยะยาวเพื่อปรับปรุงกิจการสหธนาคารเสนอขออยู่ในตำแหน่งปฏิบัติการบางตำแหน่ง ไม่ดำรงตำแหน่งบริหาร มีเป้าหมายที่จะผลักดันธนาคารไปสู่การเป็นอินเวสเม้นท์ แบงกิ้ง ปรับปรุงด้านสินเชื่อเพื่อการเคหะ ฝ่ายต่างประเทศ ฯลฯ

ราเคซ ไม่ยอมเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มนักลงทุนที่ต้องการซื้อหุ้นโดยให้เขาเป็นนายหน้านั้นคือใคร เขากล่าวแต่เพียงว่ามีกลุ่มเอกชนบางรายและสถาบันการเงินบางแห่งที่ต้องการลงทุนถือหุ้นในสหธนาคารระยะหนึ่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสหธนาคารในระยะยาว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นแล้ว กลุ่มนักลงทุนนี้ก็จะนำหุ้นในส่วนของตนออกขาย

วิธีนี้เป็นแนวคิดของพวกเวนเจอร์แคปิตอลหรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า ธนสถาปนา

และหมากของเศรณีตานี้ก็นับว่า เดินไม่พลาด

หลายคน คิดว่า ราเคซต้องเป็นตัวแทนจากฝ่ายชลวิจารณ์ เมื่อราเคซปฏิเสธและในวันต่อมา ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองเดียวกันกับราเคซ คือ ขอซื้อหุ้นในส่วนของเอบีซี ข่าวเริ่มสับสน

มีแต่ชลวิจารณ์เท่านั้นที่รู้ว่าราเคซไม่ได้ทำเพื่อชลวิจารณ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำทำไม

เศรณีได้อธิบายแนวรบด้านนี้ของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟังในเวลาต่อมาว่า "ถ้าสมมุติเรื่องเอบีซีนี่ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เราก็กะว่าจะสลับหุ้นเวนเจอร์ แคปิตอล เข้าไปซื้อแทน ถือแทน แล้วกลายเป็นผู้ถือหุ้นไทยกัดกันเอง อันนี้มันก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็โอเค เราตัดสินใจแล้วว่า เอบีซีมาถึงขั้นนี้แล้วมันไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้ถือไว้และเดินหน้าต่อไป"

ขณะที่หมากเหล่านี้ค่อยถูกหยิบวางอย่างสุขุม กรพจน์ก็เดินหน้าเป็นหัวหอกในการเจรจากับฝ่ายชลวิจารณ์ในนามของพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร - เอบีซี

แรก ๆ นั้น ปิยะบุตรดื้อแพ่งไม่ยอมที่จะเจรจาด้วย เพราะมีเป้าหมายในใจที่จะเผด็จศึกด้านเอบีซีให้แหลกละเอียด ซึ่งหากพันธมิตรเพ็ญชาติขาดเอบีซีเสียแล้ว หุ้นที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ถืออยู่ก็ไม่มีความหมาย

แต่แล้วความหวังจากการโหมกระหน่ำตีเอบีซกลับไร้ผล ปิยะบุตรยอมร่วมเจรจากับกรพจน์โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเป็นท้าวมาลีราชไกล่เกลี่ยให้

การเจรจาระยะแรกเป็นไปด้วยความรุนแรง โต้แย้ง ไม่ยอมประนีประนอมและไม่ยอมลงให้แก่กัน

แหล่งข่าวระดับสูงในแบงก์ชาติถึงกับออกปากว่า พวกเขาคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเท่านั้น ช่างไม่นึกถึงความเสียหายที่จะเกิดกับธนาคารเลย

ดังนั้นแม้จะมีการกำหนดเส้นตายวันแล้ววันเล่า การเจรจาโดยมีแบงก์ชาติเป็นคนกลางก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหนเสียที

ต่อประเด็นนี้ เศรณีขยายความในภายหลังว่า "ฉากที่คุณกรพจน์ไปเจรจาก็ต้องให้ทำไปเรื่อย ให้เป็นไปอย่างนั้น เดี๋ยวผู้ใหญ่เขาจะหาว่าเราพวกนักเลง ชวนชกชวนต่อย ทางแบงก์ชาติก็ดโทรฯ มาให้ผมไป แต่ผมไม่ไป ผมไม่ใช่นายแบงก์ครับ ผมเป็นเรียลเอสเตท ดีเวลล้อปเปอร์"

อย่างไรก็ดี ในการเจรจาโดยมีแบงก์ชาตินั่งเป็นคนกลางนี้ ทางฝ่ายพันธมิตรเพ็ญชาติฯ และฝ่ายชลวิจารณ์ ได้มีการเสนอแผนปรับปรุงธนาคารต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้ส่งให้แบงก์ชาติพิจารณาทันทีที่ได้รับแผนฯ

เศรณี กล่าวดักคอผลการพิจารณาของแบงก์ชาติในเรื่องนี้ว่า "สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างฝ่ายผมกับฝ่ายเขามันก็เท่า ๆ กัน ถ้าท่านผู้ว่าฯ กำจรบอกว่าโอเค เปลี่ยนตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งประธานกรรมกาบริหารนี่แล้ว ท่านจะยังคิดว่ามันบาลานซ์ไหม"

ปลายเดือนเมษายน ปิยะบุตร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ผลการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายดำเนินไปด้วยดีหลังจากนั้นไม่นานนัก บรรเจิดประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารทันทีที่กระทรวงการคลังสามารถแต่งตั้งคนกลางเข้ามารับตำแหน่งได้อย่างเหมาะสม

แต่ถึงกระนั้น เขายังคงสงวนตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารไว้สำหรับตัวเอง และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการให้ลูกชาย

เศรณี กล่าวว่า "มันอยู่แล้ว" ยังไงก็ไม่สมดุล แล้วจะให้เรารับหรืออย่างไร เราก็ว่าเรารับไม่ได้ แต่ว่าท่านผู้ว่าฯ จะทำอย่างไรก็โอเค ผู้ว่าฯ ว่าไปก็แล้วกัน ตามที่ท่านเห็นชอบ แต่ถ้าถามว่าเราเห็นด้วยไหม เราบอกเราไม่เห็นด้วย"

ดังนั้น เมื่อการเจรจาไม่อาจยุติลงได้ในความขัดแย้ง แนวรบก็ต้องชี้ขาดกันที่ตลาดหุ้น !

คนที่รู้จักอดีตนายธนาคารอย่างเศรณีดีย่อมรู้ว่า ทุกแนวรบที่เศรณีเปิดฉากต่อสู้นั้น แนวรบใดสำคัญที่สุด

หลังการประชุมใหญ่สหธนาคารเสร็จสิ้นลงในวันที่ 29 มีนาคม 2532 ราคาหุ้นสหธนาคารในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษ

มูลเหตุหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมชาติของราคาหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงมากกว่าปกติ เมื่อมี "ข่าว" เกี่ยวกับบริษัทเจ้าของหุ้น

แต่อีกเหตุหนึ่งที่เป็นที่รู้กันดีในวงการซื้อขายหุ้นก็คือ เวทีตลาดหุ้นก็เป็นฉากสุดท้ายในการเผด็จศึกปัญหาความขัดแย้งในหมู่ผู้ถือหุ้นมานักต่อนักแล้ว

ชั่วระยะเวลาเพียงเดือนเดียว (3 - 28 เมษายน 2532) ราคาหุ้นสหธนาคารเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นถึง 462 บาท และเคยขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อ 26 เมษายนที่ราคา 774 บาท ทั้งที่เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นมีราคาเพียง 312 บาทเท่านั้น

ราคาหุ้นที่พุ่งกระฉูดขึ้นอย่างนี้เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ทั้งพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ และฝ่ายชลวิจารณ์ต่างหันหัวเรือเข้ามาประจันหน้ากันในเวทีตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าสถานการณ์ตอนนี้อยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นตัวนั้นจะเป็นตัวแปรแน่นอน หุ้นสหธนาคารที่ออกมาในตลาดฯ เวลานี้ออกมา 2% กว่าแล้ว คือ ราว 150,000 หุ้น

เศรณี กล่าวว่า เขาต้องการหุ้นสหธนาคารอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เขาก็สามารถยื่นเปิดประชุมวิสามัญได้แล้ว ทั้งนี้ พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ มีหุ้นอยู่ในมือทั้งหมดราว 43% ดังนั้น จึงต้องมีการกว้านซื้อหุ้นอีกจำนวนหนึ่งโดยผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดฯ

ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ สั่งซื้อผ่านโบรกเกอร์หลายเบอร์ รวมทั้งสหธนกิจไทยด้วย เศรณี กล่าวเปิดใจว่า "สถานการณ์ตอนนี้ก็ระดมกันน่าดู แต่ว่าเราได้เปรียบเพราะว่าเราเป็นผู้ระดมก่อน พวกเขาได้ไปนิดหน่อยไม่มาก เพิ่งจะมีเมื่อวานนี้ (24 เมษาฯ) ที่เขาจ่ายสด ของเรานี่จ่ายสดมาตลอด"

"ตอนนี้ โบรกเกอร์ในตลาดนั่งจ้องกระดานยูบี (สหธนาคาร) อย่างเดียว ใครเสนอขายปั๊บ คว้าโทรศัพท์กันอุตลุดเลย แล้วของเรานี่สั่งซื้อเข้าพอร์ทด้วย พอเรื่องมันซา เราก็ซื้อกลับ"

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหุ้นสหธนาคารถูกปล่อยอกมาซื้อขายในตลาดจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีที่อื่นกันไว้ราย ๆ หนึ่งเป็นหมื่น ๆ หุ้นก็มี โดยพวกที่มีเป็นหมื่นหุ้นนั้น ส่วนมากเขารู้ว่าแนวโน้มมันจะขึ้น ๆ ไปอีก ก็กักกันไว้ และพวกนี้เป็นพวกที่ไม่ร้อนเงิน เงินเย็นอยู่แล้ว รอให้ราคาหุ้นขึ้นถึงพันบาทจึงจะมีการปล่อยออกมาขาย

ส่วนอีกพวกหนึ่งที่เข้าซื้อหุ้นนอกเหนือไปฝ่ายชลวิจารณ์และพันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ที่มีความต้องการอย่างแท้จริงแล้วก็คือ บรรดานักเล่นหุ้นเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น คนกลุ่มนี้ และบรรดาโบรกเกอร์ที่ซื้อเข้าพอร์ทตัวเองมีสิทธิ์เจ็บตัว หากชลวิจารณ์หรือเพ็ญชาติมีหุ้นพอเพียงแก่ความต้องการแล้ว

นอกจากสั่งให้โบรกเกอร์นับสิบรายซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เศรณีก็พยายามเจรจาหาซื้อหุ้นนอกตลาดฯ ด้วยโดยเฉพาะหุ้นอีก 15% ที่อยู่ในมือของลูกค้าธนาคาร และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ

ทั้งนี้ ฝ่ายชลวิจารณ์มีหุ้นของตัวเองจริง ๆ เพียง 36% แต่ถือโดยลูกค้ามอบความไว้วางใจอีกหลายเปอร์เซ็นต์ เช่น กลุ่มของสุรีย์ อัษฎาธร หรือเถ้าแก่หลิ่น ซึ่งโยงใยกันมาแต่ดึกดำบรรพ์สมัยที่บรรเจิดยังอยู่ในวงการค้าน้ำมัน โดยเถ้าแก่หลิ่นมีหุ้นอยู่ประมาณ 127,000 หุ้นหรือ 2.12%

หรืออย่างกลุ่มของสุกรี โพธิรัตนังกูร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 90,000 หุ้นคิดเป็น 1.5% ส่วนของหมอชัยยุทธ กรรณสูต อีกประมาณเกือบ 2% เป็นต้น

เศรณีได้ติดต่อขอซื้อหุ้นเหล่านี้ เขาใช้ความเพียรพยายามอย่างสูงในการเจรจากับสุกรี แม้ว่าจะต้องเทียวไปเทียวมาเพื่อพบสุกรีครั้งหนึ่ง พบลูกชายสุกรีอีกครั้งหนึ่งต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม

หรืออย่างกรณีหุ้นของเถ้าแก่หลิ่นก็มีคนกลางช่วยเจรจาติดต่อให้เขา ซึ่งคนกลางผู้นี้ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ อดีตโหรประจำตัวของบรรเจิดที่ชื่อ ถาวร นิสัยสรการ นั่นเอง

นอกจากหุ้นของเถ้าแก่หลิ่นแล้ว ถาวรยังพาคนมาขายหุ้นให้เศรณีอีกหลายราย

พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ สามารถกว้านซื้อหุ้นได้ด้วยราคาที่ไม่อั้น เพราะมีฐานการเงินสนับสนุนจากหลายด้าน ไม่ว่าจำเป็นอัศวินวิจิตร หรือเอบีซีก็ตาม ขณะที่ฝ่ายชลวิจารณ์มีขีดจำกัด

ข่าววงในเริ่มแพลมออกมาเป็นระยะ ๆ ถึงปัญหาแหล่งที่มาทางการเงินของฝ่ายชลวิจารณ์ เพราะนอกเหนือจากกิจการสหธนาคารที่เป็นแหล่งรายได้แหล่งทำมาหากินเพียงแหล่งเดียวแล้ว ชลวิจารณ์ไม่มีกิจการอื่นใดอีก

ดังนั้น เมื่อหุ้นสหธนาคารอัดกันอยู่ในราคา 700 - 800 บาททุกวัน ก็เท่ากับว่า ชลวิจารณ์ต้องหาเงินมาเป็นจำนวนมหาศาลเหมือนกับที่พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ ต้องหามา

แต่เมื่อชลวิจารณ์ไม่มีฐานทางการเงินอื่น เงินจำนวนมากมายขนาดนี้ ชลวิจารณ์จะหามาจากไหน ?

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงที่มาของเงินเป็นกะตัก ๆ ของฝ่ายชลวิจารณ์ว่า คงหนีไม่พ้นแหล่งรายได้เพียงแห่งเดียวของตระกูล พร้อมกับชี้ให้ "ผู้จัดการ" ไปสอบถามเอาจากสหธนาคารสาขาทองหล่อ

หากมีการอนุมัติเงินกู้กันอย่างไม่ชอบมาพากล แบงก์ชาติก็ควรจะเข้ามาควบคุมตรวจสอบโดยเคร่งครัดได้แล้ว โดยเฉพาะในกรณีแหล่งที่มาทางการเงินของแต่ละฝ่ายที่นำมาใช้ในการกว้านซื้อหุ้นครั้งนี้

หลังจากราคาหุ้นสหธนาคารพุ่งขึ้นสูงสุดในวันที่ 26 ที่ 774 บาทแล้ว ราคาก็เริ่มลดลงสถานการณ์ในเวลานี้ยังไม่แจ่มชัดว่า พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ จะหยุดซื้อที่ราคาใด

เกมการต่อสู้เวลานี้ พันธมิตรกลุ่มเพ็ญชาติฯ เริ่มจะเป็นต่อ เพราะนอกจากเปิดแนวรบได้ทุกด้าน กว้านซื้อหุ้นไว้ได้มากพอสมควรแล้ว พวกเขายังวางตัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมเต็มที่ที่จะเข้าไปปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดธนาคาร และพาก้าวเดินไปสู่การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

เศรณี กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า เขาเคยเสนอทางเลือกให้กับฝ่ายชลวิจารณ์ "ผมรู้ว่าเหตุผลนี่ มันไม่ใช่ว่าเขาไม่มีงานทำหรอกนะ ผมรู้ว่าเหตุผลสำคัญที่เขาปล่อยไม่ได้ก็เพราะว่าเขานั่งทับอะไรไว้ เพราะฉะนั้นนี่ให้มาประนีประนอมกัน ให้พวกเขาออกไปแต่โดยดี เรื่องทั้งหลายที่ทำไว้ที่แบงก์นี่เราจะไม่เอามาพูดกันหมายความว่า สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไปเลย…"

ทั้งนี้และทั้งนั้น สิ่งที่ฝ่ายชลวิจารณ์นั่งทับเอาไว้คืออะไร การต่อสู้ในบอร์ดรูม เนื่องจากความขัดแย้งในผลประโยชน์ด้านอำนาจ ย่อมเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของแบงก์อย่างช่วยไม่ได้

สหธนาคารได้ประกาศผลการดำเนินงานแก่ผู้ถือหุ้น ปี 2529, 30 และ 31 ว่าผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 1.87% ในปี '29 เป็น 14.28% ในปี '30 และตกลง 1 เท่าตัว เหลือ 7.92% ในปี '31 ขณะเดียวกันการผันแปรของผลดำเนินงานต่อสินทรัพย์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ปี '29 ตก 0.08% และเพิ่มขึ้นเป็น 0.86% ในปี '30 และตกลงมาเท่าตัวเหลือ 0.48% ในปี '31

เมื่อเทียบกับแบงก์ไทยทนุ ซึ่งมีขนาดเงินกองทุนใกล้เคียงกันกับปรากฏผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกัน คือ จาก 4.29% ในปี '29 เป็น 6.94% ในปี '30 และ 11.37% ในปี '31 ส่วนด้านผลตอบแทนจาสินทรัพย์ก็เช่นกัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.30% ในปี '29 เป็น 0.55% ในปี '30 และ 0.73% ในปี '31

ข้อสังเกตของผลประกอบตามข้อมูลข้างต้น แสดงว่าสหธนาคารมีผลประกอบการที่วัดจากเส้นวัดประสิทธิภาพในการทำกำไรต่ำกว่าไทยทุนอยู่มาก

มองกันในแง่เชิงบัญชีงบดุลก็ต้องบอกกันว่า สหธนาคารมีปัญหาการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะการอำนวยสินเชื่อ !

ปี '29 สหธนาคารปล่อยสินเชื่อไปเกือบ 9,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 11,557 ล้านบาท ในปี '30 ธนาคารตั้งหนี้สูญปี '30 ไว้เพียง 87 ล้านบาท และตั้งเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอีก 13 ล้านบาท รวมเป็นการตั้งหนี้สูญและสงสัยสูญ 100 ล้านบาทพอดี

ปี '31 สหธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มจาก ปี '30 เป็น 14,132 ล้านบาท ตั้งหนี้สูญและสงสัยจะสูญไว้ 126 ล้านบาท

สหธนาคารตกอยู่ภายใต้การบริหารของคนในครอบครัว "ชลวิจารณ์" ที่มีบรรเจิดเป็นประธานกรรมการ ปิยะบุตร ลูกชายเป็นกรรมการผู้จัดการ รังสัน สืบแสง ลูกเขยเป็นกรรมการผู้คุมสายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ ลาลีวรรณ กาญจนจารี ลูกสาวที่แต่งงานกับพรเสก กาญจนจารี บิ๊กบอสส์ของซิว-เนชั่นแนล เป็นผู้อำนวยการคุมงานสินเชื่อและหลักทรัพย์

เรียกว่าสายงานธุรกิจที่เป็นหัวใจการทำธุรกิจของแบงก์ ตกอยู่ภายใต้การปฏิบัติและควบคุมจากคนในตระกูลชลวิจารณ์ทั้งสิ้น

"การดำเนินธุรกิจธนาคารโดยไม่มีการคานอำนาจกัน ย่อมล่อแหลมต่อประสิทธิภาพ และคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยออกไป" ประศาสน์ ตั้งมติธรรม อดีตนักวิจัยสถาบันการเงิน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในเชิงตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์งานวิจัยกลุ่มทรัสต์ 4 เมษาฯ

บรรเจิด เป็นเสาหลักของครอบครัวชลวิจารณ์ เขามีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับแบงก์สหธนาคารมาตั้งแต่ปี 2500 และกับธุรกิจค้าน้ำตาลในนามบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ธุรกิจด้านน้ำตาลเขาจะลาออกมาแล้วตั้งแต่ปี 2525 และเหลือทิ้งไว้แต่สหธนาคารที่เขายังควบคุมดูแลอยู่ และ "จะคุมดูแลแบงก์นี้ตลอดไป ตราบใดที่เขายังไม่ตาย" บรรเจิดย้ำถึงเจตนารมณ์นี้เมื่อปี 2528

บรรเจิดมีความเชื่อในส่วนลึกของจิตใจว่า สหธนาคารเป็นของเขา เขาคือสถาบันของแบงก์แห่งนี้ไปแล้ว ตลอดเวลา 32 ปีที่อยู่ในฐานะผู้นำและเสาหลักของแบงก์ เขาเป็นผู้นำแบงก์แห่งนี้ไปสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะยุคที่เขาเรืองอำนาจบารมีสมัยเป็นผู้จัดการที่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ที่นำเอาบริษัทแห่งนี้เข้ามาเป็นลูกค้าด้านตั๋วแพ็คกิ้ง เครดิต น้ำตาลส่งออกต่างประเทศ ที่แทบจะเรียกได้ว่า ผูกขาดอยู่เจ้าเดียวก็ว่าได้

เถ้าแก่หลิ่น หรือสุรีย์ อัษฎาธร เจ้าพ่อวงการโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ลูกค้าชั้นดีของวงการธุรกิจแบงก์ก็เป็นลูกค้าคู่บุญของบรรดเจิดมาตั้งแต่สมัยนั้นจนปัจจุบัน

สุกรี โพธิรัตนังกูร เจ้าพ่อสิ่งทอของโลก ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าชั้นดีของบรรเจิดที่คบค้ากันมาตั้งแต่สมัยยุคต้น ๆ ของปี 2500

หมอชัยยุทธ กรรณสูต แห่งอิตัลไทย ที่เติบโตมาจากงานก่อสร้างสมัยสฤษดิ์ พัฒนาถนนหนทางและเขื่อน ยุคเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศ โดยผ่านบรรเจิดที่สนิทคุ้นเคยกับสีเขียว ค่ายสี่เสาเทเวศร์ ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าชั้นดีของบรรเจิด

ความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งของลูกค้าชั้นดี 3 รายนี้ ถึงขนาดบรรเจิดให้ซื้อหุ้นสหธนาคารไว้เก็บถึง 6.2% โดยบรรเจิดขอเพียงให้หุ้นจำนวนนี้มอบฉันทะสิทธิ์ในการโหวตให้กับบรรเจิดเท่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง หุ้นจำนวน 6.2% ของเถ้าแก่หลิ่น สุกรี และหมอชัยยุทธอยู่ในการควบคุมดูแลของบรรเจิด จนเป็นตัวบล็อกที่หนาแน่นมากของบรรเจิดที่ฝ่ายเพ็ญชาติ และอัศวินวิจิตร ในการตีฝ่าเข้าไปเพื่อ TAKE OVER แบงก์นี้เมื่อ 29 มี.ค. 2532

บรรเจิดและคนใน "ชลวิจารณ์" ดูเบาต่อกระแสโจมตีเขาว่า บริหารแบงก์ครอบครัวเสียแล้ว เพราะสิ่งที่เขายืนยันต่อประชาชนในบางกอกโพสต์และเดอะเนชั่น ภายหลังเหตุการณ์ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 29 มี.ค. 2532 เขาย้ำอย่างหนักแน่นถึงผลการบริหารงานที่เติบโตทั้งด้านสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์

"ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่นเพิ่มขึ้นในปี 2531 เป็น 13,875.2 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2530 ถึง 2,318.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.1% เทียบกับอัตราเพิ่มของสินเชื่อของธนาคารทั้งระบบที่เพิ่ม 26.9%

ทางด้านเงินฝากธนาคารสามารถระดมเงินฝากได้สูงถึง 16,370.8 ล้านบาท ในปี 2531 เพิ่มขึ้น 3,029.9 ล้านบาท จากปี 2530 หรือเพิ่มขึ้น 22.7% เทียบกับ 18.6% ของอัตรเาพิ่มด้านเงินฝากของระบบ ด้านสินทรัพย์ของธนาคารก็เพิ่มขึ้น 22.3% จากปี 2530 เป็น 19,974 ล้านบาท ในปี 2531

ในปี 2531 ด้านกำไรก่อนหักภาษีมีจำนวน 140.3 ล้านบาท เทียบกับ 107.9 ล้านบาท ของปี 2530 หรือเพิ่มขึ้น 32.4 ล้านบาท และธนาคารสามารถจ่ายปันผลได้ 14 บาท/หุ้น

ธนาคารพยายามอย่างยิ่งที่จะบริการลูกค้าอย่างดีที่สุด การเบิกถอนระหว่างสาขาสามารถกระทำได้ครอบคลุม 7 สาขาจากสาขาทั้งหมด 87 สาขาที่มีอยู่

การบริหารงานของธนาคารพยายามพัฒนาแผนงานของธนาคารไปสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศให้ได้

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการของธนาคารชุดปัจจุบันจึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยใจจริง และด้วยความพยายามที่จะผลักดันผลการดำเนินงานของธนาคารก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ธนาคารก็ขอแจ้งให้ทราบในที่นี้อีกว่าสินทรัพย์ของธนาคารสิ้นกุมภาพันธ์ ปี 2532 ได้เข้าถึงจำนวน 20,000 ล้านบาทแล้ว ธนาคารจึงใคร่ขอให้ลูกค้าทุกท่านได้โปรดให้ความมั่นใจและจริงใจต่อการให้บริการของเราตลอดไป" คำประกาศเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบรรเจิดเปิดเผยอย่างหนักแน่นต่อลูกค้าและประชาชนในบางกอกโพสต์ 4 วัน หลังเหตุการณ์ 30 มี.ค. ระบุไว้เช่นนั้น

แหล่งข่าวในวงการการเงินระดับมืออาชีพ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงประเด็นเนื้อหาคำโฆษณาของฝ่ายบรรเจิดว่า เป็นเรื่องเหลวไหล เพราะการกล่าวถึงผลงานโดยดูจากอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ก็ดี เงินฝากก็ดี หรือสินเชื่อก็ดี ไม่สามารถนำมาวัดถึงประสิทธิภาพการบริหารงานที่แท้จริงได้" เขาพูดเหมือนคนบริหารแบงก์แบบมือสมัครเล่นไม่ใช่อาชีพ" แหล่งข่าวกล่าว

ตรงนี้ "ผู้จัดการ" ขอย้อนกลับไปดูผลงานวัดประสิทธิภาพการบริหารอีกครั้งหนึ่ง ตรงประเด็นด้านหนี้สูญและถูกจัดชั้นสงสัยว่าจะสูญ ซึ่งผู้บริหารสหธนาคารชุดปัจจุบันตั้งไว้ที่ 86.8 ล้านบาท ในปี '30 และ 104.1 ล้านในปี '31

ข้อเท็จจริงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการตั้งตัวเลขหนี้สูญและสงสัยจะสูญจำนวนดังกล่าวไม่น่าจะสอดคล้องกับความจริง กล่าวคือ มีหนี้เสียจำนวน 300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้เงินต้นประมาณ 90 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีกจำนวน 200 กว่าล้านบาท ณ สิ้นธันวาคม 2531 ที่เกิดขึ้นมาในสมัยเติมศักดิ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ปล่อยไปให้ลูกค้ากว่า 50 ราย ซึ่งเป็นรายย่อย ๆ

ทั้งบรรเจิดและกรรมการก็รู้ว่า หนี้จำนวนนี้สูญแน่ แต่ไม่ยอมตั้งเป็นหนี้สูญเพื่อตัดเป็นรายจ่ายของธนาคาร โดยบรรเจิดให้เติมศักดิ์นำที่ดินตรงถนนเพชรบุรีตัดใหม่บริเวณทางแยกเข้าถนนพร้อมพงศ์ สุขุมวิท ซึ่งเป็นชื่อของลูกและตัวเติมศักดิ์คนละครึ่งมาจำนองไว้กับธนาคาร เมื่อเรื่องนี้รู้เข้าถึงแบงก์ชาติโดยกรรมการท่านหนึ่งของธนาคารรายงานให้ทราบ แบงก์ชาติก็เข้าไปตรวจสอบและพบว่าเป็นจริง จึงสั่งให้บรรเจิดตั้งเป็นหนี้สงสัยจะสูญ บรรเจิดก็หาทางจะเอาที่ดินของเติมศักดิ์และลูกแปลงนี้ออกขายโดยจะฟ้องยึดทรัพย์ก่อน

"หนี้จำนวนนี้ ทางบรรเจิดคิดดอกเบี้ยรับทุกเดือน ซึ่งเป็นรายได้ไม่จริง" แหล่งข่าวในสหธนาคารเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ดังนั้น เมื่อนำหนี้จำนวน 300 ล้านนี้ ไปรวมกับหนี้สูญที่ตั้งไว้ 104.1 ล้านบาท ในปี 2531 ก็จะเป็นหนี้สูญ 404.1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำไปหักออกจากเงินกองทุน 1,188 ล้านบาท ก็จะเหลือเงินกองทุนมูลค่าแท้จริงเพียง 784 ล้านบาท

เมื่อนำจำนวนหนี้สูญมาเทียบเงินกองทุนจริงจะมีสัดส่วนสูง 52%! ซึ่งในทางมาตรฐานกรบริหารงานธนาคารเพื่อความมั่นคงแล้ว นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง

และถ้าหากว่านำหนี้สูญจำนวน 404 ล้านบาทนี้ ซึ่งเป็นรายจ่ายในบัญชีงบกำไรขาดทุนในปี 2531 ของธนาคารแล้วมาหักออกจากรายได้สุทธิจากดอกเบี้ยที่แจ้งไว้จำนวน 493 ล้านบาทแล้ว จะเหลือรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเพียง 89 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับรายได้จากมิใช่ดอกเบี้ย (ได้แก่ กำไรจากปริวรรต ค่าธรรมเนียม) อีกจำนวน 131 ล้านบาท ก็จะมีรายได้สุทธิทั้งจากดอกเบี้ยและมิใช่ดอกเบี้ยเพียง 220 ล้านบาทเท่านั้น !

ซึ่งต่างจากตัวเลขรายได้สุทธิฯ ที่แจ้งไว้ในงบกำไรขาดทุนจำนวน 623 ล้านบาท ถึงเกือบ 2 เท่าตัวหรือ 183% !

และแน่นอนว่า ย่อมมีผลให้ผลตอบแทนจากเงินกองทุนไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามที่เปิดเผยไว้ เพราะเมื่อเอารายได้สุทธิ 220 ล้านบาทนี้ไปหักออกจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน) 484 ล้านบาท จะขาดทุนทันที 264 ล้านบาท ไม่ใช่กำไร 140 ล้านบาท !

เมื่อมองจากเส้นวัดนี้ แสดงว่าการบริหารงานของแบงก์นี้ภายใต้ระบอบครอบครัว "ชลวิจารณ์" ล้มเหลว ไม่ใช่ประสบผลสำเร็จ

เส้นทางอนาคตของบรรเจิดในวัยหลัง 70 ปี ในแบงก์สหธนาคาร ดูจะมีทางเลือกให้น้อยนัก ลูกชายปิยะบุตร ลูกสาวลีลาวรรณ และลูกเขยรังสัน ที่เป็นวงไพบูลย์ในการร่วมสถาปนาระบอบครอบครัว "ชลวิจารณ์" ในวงการแบงก์พาณิชย์ไทยก็ดูจะมีทางเลือกน้อยนักในอันที่จะใช้ความพยายามดึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ให้ย้อนกลับไปสู่จุดเดิม

ระบอบครอบครัวที่ผูกขาดในวงการธนาคารกำลังกลายเป็นตำนานด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วในชนรุ่น 2 การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและความพยายามในการสถาปนาระบอบใหม่ในสหธนาคารของกลุ่มเพ็ญชาติและอัศวินวิจิตรดูจะมีทางเป็นไปได้มากกว่า เมื่อสิ่งที่เขาเรียกร้องให้กระจายอำนาจในบอร์ดรูมในลักษณะ BALANCE OF POWER ซึ่งกันและกัน ดูจะสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในเชิงการบริหารสมัยใหม่ ที่สถาบันควบคุมแบงก์พาณิชย์ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังก็ดูจะแสดงท่าที่ออกมาเด่นชัดในเชิงสนับสนุน

"การบริหารแบงก์แบบครอบครัว ควรเลิกเสียที" ประมวล สภาวสุ รมต.คลัง กล่าวสรุปชัดเจนภายหลังเหตุการณ์ต่อสู้แย่งชิงอำนาจแบงก์อย่างเปิดเผย

แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ประมวลกับบรรเจิด รู้จักกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยบรรเจิดรุ่งเรืองเป็นนายกสมาคมการค้าและธุรกิจหลายแห่ง มีอยู่คราวหนึ่งสมาคมการค้าที่บรรเจิดเป็นนายกฯ ต้องการสร้างที่ทำการสมาคมฯ บรรเจิดก็เรียกประมวลไปพบเพื่อให้งานก่อสร้าง โดยมีข้อแลกเปลี่ยน คือ หนึ่ง - ประมวลต้องสู้ราคาก่อสร้างที่ถูกมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน และสอง ประมวลต้องไปสร้างสระน้ำให้บ้านบรรเจิดฟรี

เรื่องนี้ว่ากันว่า ประมวลจำไว้จนตาย "ผู้จัดการ" พยายามติดต่อเพื่อพูดคุยกับฝ่าย "ชลวิจารณ์" แต่ไม่ได้รับคำตอบและปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเหตุผลของประมวลในการพิจารณาปัญหาความขัดแย้งในสหธนาคารจะออกมาด้วยเหตุกลใดก็ตาม แต่รากฐานของระบอบครอบครัว "ชลวิจารณ์" ในแบงก์สหธนาคารก็ไม่เป็นที่ยอมรับต่อไป

ทางเลือกของบรรเจิดและคนใน "ชลวิจารณ์" ต่อการดำรงอยู่ในสหธนาคารดูจะมีให้เลือกไม่มากนัก

ทางเลือกแรก - บรรเจิดอาจจะต่อสู้กับฝ่ายเพ็ญชาติ และอัศวินวิจิตรต่อไป โดยทุ่มสุดตัวจนหมดเค้าหน้าตัก โดยอาศัยวิธีการแยบยลผ่องถ่ายเงินจากแหล่งเงินต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อกว้านซื้อหุ้นสหธนาคารในตลาดหุ้นจนสามารถถือหุ้นและควบคุมจำนวนหุ้นไว้เกิน 48% ขึ้นไป แล้วขอเปิดประชุมวิสามัญไล่กรรมการกลุ่มเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตรออกไป เหมือนกับที่กลุ่มพยัพ ศรีกาญจนา กับ ศักดา บุณยรักษ์ กระทำวิธีนี้มาแล้วในการไล่กลุ่ม นรฤทธิ์ โชติกเสถียรฯ ออกไปจากบอร์ดกรรมการอาคเนย์ประกันภัย

ทางเลือกนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะคนอย่างบรรเจิดวัยปูน 70 ปีแล้วนี่ การต่อสู้กับเด็กรุ่นลูกอย่างเศรณี และกรพจน์ ในจิตใต้สำนึกของเขาคงมองเหมือนมวยคนละชั้น

"เขาให้ ปิยะบุตร ลูกชายเป็นตัว เสธ. สั่งกว้านซื้อ และให้รังสิน ลูกเขย เป็นตัวดำเนินการ ประสานงานกับโบรกเกอร์สหธนกิจไทย" แหล่งข่าวในตลาดหุ้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

บรรเจิดมั่นใจในป้อมปราการลูกค้าเก่า สุกรี หมอชัยยุทธ และเถ้าแก่หลิ่น ที่ถืออยู่ 6.2% จะอยู่กับเขา ทางคลังที่ถืออยู่ประมาณ 6% คงวางตัวเป็นกลาง

เขาสู้เพื่อลูกหลาน "ชลวิจารณ์" และศักดิ์ศรีของเขาที่สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าเขาสร้างแบงก์นี้มากับมือ

ทางเลือกที่สอง - บรรเจิดอาจจะถอยออกไปตามข้อเสนอของฝ่ายเพ็ญชาติ - อัศวินวิจิตร ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการเปิดช่องให้ฝ่ายเพ็ญชาติกว้านซื้อหุ้นได้จนชนะ และเปิดประชุมวิสามัญขับไล่เขาออกไป เพราะบรรเจิดรู้ดีว่า งานนี้ฝ่ายเพ็ญชาติและอัศวินวิจิตรมีเงินสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจาก ABC ที่ถือหุ้นอยู่ 25% ในแบงก์ และเป็นพันธมิตรกับเพ็ญชาติและอัศวินวิจิตร การสู้โดยกว้านซื้อหุ้นอย่างบ้าเลือดอาจเป็นภาระแก่เขามากในอนาคต ด้วยเค้าหน้าตักเขามีแต่หดถอยน้อยลงไปทุกที

ทางเลือกนี้ ถ้าบรรเจิดใช้อาจมีประโยชน์อยู่ 2 ทางแก่บรรเจิด คือ หนึ่ง - ภาระจากการกว้านซื้อหุ้นมีน้อยลง สอง - ถอยออกไปเป็นผู้ถือหุ้นธรรมดา แล้วคอยเป็น "หนามตามใจ" พวกกลุ่มเพ็ญชาติและอัศวินวิจิตรต่อไป

แต่ทางเลือกนี้ก็มีผลต่อลูกชายลูกสาวและญาติพี่น้องของเขาในแบงก์อย่างแน่นอน เพราะนั่นหมายถึงการปิดฉากระบอบครอบครัว "ชลวิจารณ์" ในแบงก์นี้อย่างถาวรก็เป็นได้

คำถามมีอยู่ว่า เขาจะกล้าเสี่ยงหรือเปล่าเท่านั้น !

จุดสรุปของเกมแย่งชิงอำนาจในสหธนาคารที่ฝังรากมานานตั้งแต่ปี 2528 ของชนรุ่นลูกเพ็ญชาติและชลวิจารณ์ คงไม่มีหนทางใดที่จะลงตัวในรูปการประนีประนอมเหมือนสมัยชนรุ่นพ่อ เพราะ "เวลานี้คู่กรณีไม่ได้มองถึงตัวสถาบันแล้ว เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงกัน เพื่อศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล ซึ่งแบงก์ชาติทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเฝ้าดู ไม่ให้ผลการต่อสู้ครั้งนี้มีผลกระทบต่อเงินฝากของประชาชนที่อยู่กับแบงก์แห่งนี้เท่านั้น" ผู้บริหารระดับสูงในแบงก์ชาติกล่าวถึงบทสรุปให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างหมดอาลัย

และสิ่งนี้ก็คือ ดอกผลของระบบครอบครัวในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีแต่ความไร้ประสิทธิภาพ และความร้าวฉาน !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.