ยูนิเวนเจอร์เทน้ำหนักลงทุนอสังหาฯลุยซื้อโครงการ-เร่งสร้างรายได้ต่อเนื่อง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดแผนยูนิเวนเจอร์ใต้อุ้งมือ “สิริวัฒนภักดี” เดินหน้าลุยลงทุนโครงการอสังหาฯ เต็มสูบ ประเดิมโปรเจ็คยักษ์ โรงแรม-ออฟฟิศ แยกเพลินจิต-วิทยุ เสริมรายได้ระยะยาว ควบคู่เทคโอเวอร์โครงการคอนโดขาดสภาพคล่อง

การรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ในอีกมุมหนึ่งผ่านบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ที่ฐาปนและปณต สิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท อเดลฟอส จำกัด ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51.29% จนเป็นที่ฮือฮาเมื่อปีที่ผ่านมา ณ เวลานี้เส้นทางเดินของ UV ภายใต้ร่มเงาทุนใหม่ที่ยังไว้วางใจให้ทีมผู้บริหารชุดเก่าบริหารงานต่อ เริ่มมองเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นแล้ว และพร้อมที่จะลงสนามอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ UV ตัดสินใจชะลอการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ หันไปให้น้ำหนักกับธุรกิจผงสังกะสีออกไซต์และพลังงานแทนอยู่ระยะหนึ่ง

ความเชี่ยวชาญของยูนิเวนเจอร์ในหยิบโครงการสร้างค้าง หรือโครงการที่เริ่มประสบปัญหาในการดำเนินงาน (Distressed Asset) มาพัฒนาต่อ รวมทั้ง Synergy ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างๆ ผ่านบริษัทร่วมทุนต่างๆ ได้แก่ แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ (UV-แอล.พี.เอ็น.ฯ) และปริญเวนเจอร์ (UV-ปริญสิริ) กลายเป็นจุดเด่นที่สุดที่ทำให้ UV มีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นคำตอบที่ชัดเจนของการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ และพร้อมที่จะใช้ UV เป็นอีกหนึ่งขาธุรกิจในการเดินหน้าลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบเต็มสูบ

สิ่งแรกที่เปลี่ยนที่เพื่อรองรับการเติบโตของ UV ที่จะต้องให้น้ำหนักกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น คือ การดึงกันยารัตน์ โชคอุ่นกิจ มือการเงินจากบริษัท สยาม พารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้บริหารใหม่ในตำแหน่งกรรมการบริหารสายการเงินและอำนวยการ รับผิดชอบในส่วนการเงินและฝ่ายสนับสนุนองค์กรทั้งหมด รวมทั้งการลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอที พร้อมกับการเปลี่ยนโลโก้บริษัทใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น

อรฤดี ณ ระนอง ประธานอำนวยการ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) (UV) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนของบริษัทฯ จะยังเน้นการเข้าไปพัฒนาโครงการที่ประสบปัญหาทางการเงิน และโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จากเดิม 50 ล้านบาทเป็น 600 ล้านบาท และเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60% เพื่อให้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายจากเดิมที่ถือในสัดส่วน 33% เท่ากันระหว่างแอล.พี.เอ็นฯ และกลุ่มเยาววงศ์ ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวจะเน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับกลางทั้งบริเวณในเมืองและนอกเมือง ล่าสุดได้ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมที่ดีเวลลอปเปอร์รายเก่ามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องมาพัฒนาต่อรวม 3 โครงการ จำนวน 700 ยูนิต ในย่านพระราม 4, บางซื่อและวิภาวดีรังสิต ในวงเงินรวม 500 ล้านบาท

ใน 3 โครงการดังกล่าว ธนพล ศิริธนชัย กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมระดับกลาง ราคา 4.5-7 หมื่นบาทต่อ ตร.ม. มูลค่าขายรวม 2,000 ล้านบาท ทยอยเปิดตัวในปีนี้ โดย UV จะเน้นการพัฒนาโครงการขนาดกลาง ทำเลในเมือง เพื่อเจาะตลาดระดับกลาง มากกว่าแอล.พี.เอ็นฯ ที่เน้นโครงการขนาดใหญ่ในทำเลรอบนอกเมืองมากกว่า ซึ่งขณะนี้ยังมองหาที่ดินใหม่ๆ มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดินเปล่าหรือโครงการที่มีปัญหาทางการเงิน โดยอาจจะเป็นทำเลที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า เข้าซอย แต่ไม่ติดถนนใหญ่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้ต้นทุนต่ำลง ทั้งนี้ธนพลยอมรับว่า การดำเนินโครงการประเภท Distressed Asset ยุคนี้ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะบางโครงการเริ่มก่อสร้างและมียอดขายไปแล้ว ทำให้การเจรจางานมีขั้นตอนมากขึ้น ต้องเจรจากับผู้ซื้อและผู้รับเหมาด้วย จากเดิมที่เจรจาเฉพาะสถาบันการเงินและเจ้าของโครงการ

ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว 3 แห่งที่รังสิตและสุวรรณภูมิ ร่วมกับบริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ในนามบริษัท ปรินเวนเจอร์ มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท มียอดขายแล้ว 70% ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ ส่วนสิทธิการเช่า 34 ปี บนที่ดินแยกถนนเพลินจิต-วิทยุ ในนามบริษัทลูก “เลิศรัฐการ”UV มีแผนจะพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานเกรดเอและโรงแรมระดับ 5 ดาว พื้นที่รวม 80,000 ตร.ม. มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ระยะยาวเมื่อโครงการแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้บริหารเองทั้งหมด คาดว่าปีนี้จะมีรายได้รวม 2,500 ล้านบาท ปัจจุบัน UV มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 78% ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผงสังกะสีออกไซต์ 12% ธุรกิจพลังงาน 5% อื่นๆ 2%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.