|
แอร์ไลน์เปิดยุทธการ “ครัวลอยฟ้า”จุดขายใหม่ของฝูงบินระยะไกล
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การใช้เวลาอยู่บนเที่ยวบินนานกว่า 8-10 ชั่วโมงในเครื่องบิน โดยไม่มีอะไรทำ นอกจากดูภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือแล้ว อาหารที่เสิรฟบนเครื่องจุดขายที่ทุกสายการบินต่างมีการพัฒนาและปรับปรุงมาอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง ดังนั้นความสำคัญของอาหารบนเครื่องบินจึงเป็นเรื่องที่ผู้โดยสารคาดหวังว่าควรมีคุณภาพดี และมีปริมาณพอเพียงต่อความต้องการของผู้โดยสาร
แน่นอน...ภาพการแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่ใช้อาหารบนเครื่องบินมาเป็นกลยุทธ์ผูกมัดใจผู้โดยสาร จึงต้องมีการสลับสับเปลี่ยนเมนูอยู่ตลอดทุกๆ 3-6 เดือน
ปัจจุบันสายการบินไหนเสิร์ฟอาหารมากกว่า และมีรสชาติของอาหารถูกปากผู้โดยสารทุกชั้นที่นั่ง จะถูกเลือกใช้บริการในอันดับต้นๆก็ว่าได้
ส่งผลให้เวลานี้สายการบินหลายแห่งถึงกับมียุทธศาสตร์ด้านบริการอาหารเป็นจุดขายสร้างอิมเมจให้กับตัวเอง
โดยเฉพาะสายการบินเกาหลี ที่เสิร์ฟอาหารแบบผักอนามัย ให้กับผู้โดยสารบนเครื่องเป็นเมนูหลัก
ขณะที่กลยุทธ์สายการบินเดลต้าที่บินตรงจากสนามบิน JFK ถึงมุมใบ สร้างความเซอร์ไพร์สผู้โดยสารด้วยการเสิร์ฟอาหารโดยพ่อครัวชั้นนำชื่อดังของประเทศขึ้นไปอยู่บนเครื่องด้วย
แม้แต่สายการบินไชน่า เซาเทิร์น ถึงกับจัดเที่ยวบินเทศกาลอาหารบนเครื่องบินถึง 6,000 เที่ยวบิน เรียกว่ากินกันสำราญทุกเที่ยวบิน
ล่าสุด สายการบิน เอมิเรตส์ มีการปรับและยกระดับบริการอาหาร โดยผู้โดยสารที่บินชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจจะได้รับอาหารปรุงโดยพ่อครัวจากโรงแรมชั้นหนึ่งในดูไบมาเซิฟกันถึงที่นั่ง
ขณะเดียวกันผู้โดยสารสายการบิน VLM แห่งเมืองอันสเวิร์บ ประมาณร้อยละ 80 ถูกให้บริการอาหารว่างและอาหารประเภทสแน็ก และแถมด้วยเครื่องดื่มทุกเที่ยวบิน
ไม่เว้นแม้แต่สายการบิน ANA ของญี่ปุ่นที่มองว่าอาหารเป็นเรื่องใหญ่และต้องอร่อยไปพร้อมๆกับความสวยงามของวิธีการจัดมาให้บริการ
นอกเหนือจากเก้าอี้ที่นั่งกับความบันเทิงในจอตู้ หรือ KrisWorld ซึ่งมีรูปแบบที่ดูทันสมัยและหลากหลายมากขึ้นการปรับโฉมใหม่ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ที่ทำให้ผู้โดยสารเซอร์ไพรส์คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของครัวลอยฟ้า
ขณะเดียวกันเมนูทั้งหมดที่ถูกเสิร์ฟบนเครื่องบินลำใหม่ B777-300ER โดยทีมเชฟที่มีประสบการณ์มายาวนานจะคอยเนรมิตอาหารเลิศรสแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้งเที่ยวบินไปและกลับ
กลยุทธ์ง่ายๆที่ทีมเชฟทั้งหมดนี้จะถูกแบ่งหน้าที่ทำอาหารกันอย่างชัดเจน สำหรับเชฟเอเชียนั้นแต่ละคนจะมีหน้าที่รังสรรค์เมนู Asian Ethic หรืออาหารพื้นบ้านแบบเอเชีย เสิร์ฟแก่ผู้โดยสารในชั้นประหยัดให้ได้อิ่มอร่อย พร้อมกับซึมซับเอาวัฒนธรรมอาหารของชาวเอเชียในขณะกำลังเพลิดเพลินจานเด็ด
ขณะที่ชั้นธุรกิจ ซึ่งจะเสิร์ฟทั้งอาหารเอเชียและยุโรป ก็จะเป็นหน้าที่ของเชฟฝรั่งที่มีความถนัดเฉพาะด้าน ในชั้นนี้มีเมนูที่หลากหลายมากขึ้น เช่นว่า ปลา เนื้อ ไก่ หมู นอกจากนั้นขนาดที่เสิร์ฟก็จะเป็นแบบบิ๊กไซส์อีกนิด เรียกว่าผู้โดยสารที่ตีตั๋วจะต้องอิ่มแปล้กันเห็นๆ
ส่วนชั้นหนึ่ง ความอร่อยจะถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างสุดพิเศษ โดยฝีมือของเอกเซ็กคิวทีฟเชฟชาวฝรั่งเศสและลูกมืออีกหลายคนที่ร่วมกันรังสรรค์ เมนูที่เสิร์ฟในชั้นนี้ค่อนข้างจะดูหรูหรา เพราะเขาจะเน้นอาหารฝรั่งเศสเป็นหลัก ใช้ส่วนผสมตามฤดูกาล อย่างช่วงไหนเป็นฤดูของทรัฟเฟิล ก็ถือเป็นลาภปากผู้โดยสารที่จะได้ลิ้มรส สำหรับการเสิร์ฟอาหารนั้นจะไล่เรียงเป็นคอร์ส มีทั้งหมด 6 คอร์ส เช่น ที่นิยมเสิร์ฟในร้านอาหาร พร้อมด้วยเครื่องดื่มชั้นดีจำพวกไวน์ แชมเปญ ซึ่งถือว่าขาดไม่ได้เลย
ความอร่อยทั้งหมดนี้จะเริ่มให้บริการครั้งแรกใน 2 เที่ยวบิน นั่นคือ สิงคโปร์-ปารีส กับ สิงคโปร์-ซูริค ซึ่งตรงกับวันที่โบอิ้งลำยักษ์จะพาผู้โดยสารเหินฟ้า สำหรับคนไทยที่อยากสัมผัสกับความอลังการแบบนี้เห็นทีจะต้องตีตั๋วไปยุโรป และ/หรือถ้าจะไปเอเชียก็คงจะมีแต่เซี่ยงไฮ้ที่เดียวเท่านั้น ส่วนเที่ยวบิน สิงคโปร์-กรุงเทพฯ คาดว่าคงต้องรอไปก่อน
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากสายการบิน ออสเตรียน แอร์ไลน์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อาหารบนเครื่องบินจะต้องมีความสดใหม่ และทุกสายการบินแทบจะไม่แตกต่างกันเลย อาจจะมีบ้างสำหรับสายการบินบางแห่งที่ยอมซื้อแบรนด์ดังหรือเชฟจากต่างประเทศมาสร้างจุดขายเพื่อสร้างเมนูอาหารให้เป็นที่พอใจสำหรับผู้โดยสารในแต่ละชั้นที่นั่งของผู้โดยสาร
ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเตรียมแผนงานในทุกๆ 6 เดือนเพื่อสร้างเมนูอาหารขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นการใช้เชฟที่มีชื่อเสียงมาเป็นตัวสร้างเมนูอาหารให้กับผู้โดยสารจึงกลายเป็นค่านิยมที่ทุกสายการบินโดยเฉพาะเส้นทางที่ยาวไกลจะนำมาปฏิบัติและนับว่าได้ผลดีทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|