|
เพื่อนใหม่ที่ชื่อ "ลักษมี เอ็น.มิตตาล"
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ "มร.ลักษมี เอ็น. มิตตาล" มาบ้างแล้ว ในฐานะมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บ แต่บางคนอาจยังไม่คุ้นเคยว่า เศรษฐีผู้นี้เป็นใคร และที่สำคัญเขามาเมืองไทยทำไม!?!
มร.มิตตาล เป็นนักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย เจ้าของ "ดีล" เขย่าวงการเหล็กของโลก เมื่อเขานำบริษัท Mittal Steel บริษัทเหล็กจากประเทศอินเดียเข้าเทกโอเว่อร์บริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของยุโรปที่ชื่อ Arcelor ได้สำเร็จภายในชั่วข้ามคืน บริษัท ArcelorMittal บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมก็กลายผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยกำลังการผลิตที่มีสัดส่วนถึง 10% ของทั้งโลก มีโรงงานผลิตเหล็กอยู่ใน 60 ประเทศ มีพนักงานราว 320,000 คน และมีรายได้รวม 105,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา
หลังดีลประวัติศาสตร์ นิตยสาร Financial Times ก็ยกย่องให้ มร.มิตตาล เป็นบุคคลประจำปี (Man of the Year) และในปีที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ก็จัดให้เขาเป็น 1 ใน 100 ของบุคคลที่มีอิทธิพลสูงสุดของโลก
การมาเยือนไทยเพียงเวลาสั้นๆ ของอภิมหาเศรษฐีคนนี้เป็นไปตามคำเชิญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ยักษ์ใหญ่วงการเหล็กเข้ามาดูลู่ทางลงทุนในเมืองไทย
"ผมได้พบคุณมิตตาลที่อังกฤษ ตอนที่ไปตกทุกข์ได้ยากอยู่ที่นั่น คุยแล้วเป็นคนใจกว้างเลยชวนมาลงทุนในไทย คนระดับนี้ใครก็อยากได้มาลงทุน ประเทศเราก็อยากได้ จึงเชิญมา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน" ทักษิณเกริ่นก่อนที่จะเชิญเพื่อนใหม่คนนี้ขึ้นแสดงปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "สร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจไทย เข้าใจ เข้าถึงธุรกิจโลก" ที่มีมูลนิธิไทยคมเป็นเจ้าภาพจัดงาน
เนื้อหาการบรรยายของ มร.มิตตาล พูดถึงกว่าที่เขาจะมาเป็นบริษัทระดับโลกได้ต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง ประหนึ่งการให้กำลังใจนักธุรกิจไทยให้สู้ต่อไป ขณะที่นักธุรกิจคนไทยที่ร่วมฟังบรรยายส่วนใหญ่พากันตั้งคำถามว่าเขาจะเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อไร และเท่าไร รวมถึงมีพาร์ตเนอร์แล้วหรือยัง??
แม้ มร.มิตตาล จะมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเข้ามาลงทุน แต่ดูเหมือนว่าจนบรรทัดสุดท้ายของการปาฐกถา ก็ยังไม่มีคำตอบยืนยันที่ชัดเจน เพียงแต่พูดว่า "คงต้องใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้" แต่ถ้าเขาเข้ามาลงทุนจริงๆ ก็ไม่ต้องสงสัยว่า 1 ในพาร์ตเนอร์สำคัญของเขาจะเป็นใคร
"ผมอยากจะเป็นเพื่อนกับคุณทักษิณไปตลอด" มร.มิตตาล พูดตั้งแต่ก่อนเริ่มบรรยาย
ถ้าความพยายามในการเชิญมหาเศรษฐีชาวอินเดียมาลงทุนในเมืองไทยของอดีตนายกฯ สำเร็จ นี่ก็หมายถึงว่า "ArcelorMittal" จะเป็นยักษ์ใหญ่จากแดนภารตะตนที่สองที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยยักษ์ตนแรกที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วด้วยเงินลงทุนร่วมกับบริษัทคนไทยราว 1.3 พันล้าน (บริษัทอินเดียถือหุ้น 70%) นั่นก็คือ "ทาทา มอเตอร์" ค่ายรถที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ผู้ผลิตรถโดยสารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก และเป็นผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดกลางใหญ่ เป็นอันดับที่ห้าของโลก
ทาทาฯ เป็นอีกบริษัทอินเดียที่ใช้กลยุทธ์เติบโตด้วยการควบกิจการและร่วมทุนเป็นหลัก เช่น การซื้อกิจการ "แดวู" ของเกาหลีใต้ การร่วมทุนกับบริษัทรถยุโรปอย่าง "เฟียต" และการซื้อกิจการของแบรนด์หรูอย่างจากัวร์และแลนด์โรเวอร์จาก "ฟอร์ด มอเตอร์" ค่ายรถจากอังกฤษ อดีตประเทศเจ้าอาณานิคมของอินเดียที่เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้
แต่ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะซ้ำรอยกับกรณีที่ทักษิณเคยออกข่าวว่า มร.โมฮะหมัด อัลฟาเยด เจ้าของแฮร์รอดจะมาลงทุนในไทย ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แวว ความพยายามครั้งนี้ของทักษิณก็ดูจะไม่สูญเปล่านัก เพราะอย่างน้อยในระหว่างการพิจารณาคดีฉ้อโกงต่างๆ การมาเยือนเมืองไทยของเพื่อนใหม่คนนี้ก็ช่วยเรียกเสียงประชานิยมโดยเฉพาะจากเหล่านักธุรกิจกลับคืนมาได้บ้าง และยังทำให้คำมั่นสัญญาของอดีตนายกฯ ที่ว่า "หากได้เงินที่ถูกอายัดคืนจะตั้งกองทุนลงทุนในเอเชีย" ก็ดูมีน้ำหนักขึ้นมาอีกนิด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|