ขยับขยาย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์กรที่ปรึกษาอิสระผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์และบริการเทคโนโลยีที่ชื่อ “Ovum” เคยจัดอันดับประเทศที่มีการเติบโตของตลาดบรอดแบนด์สูงสุด พบว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ร่วมกับอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รัสเซีย กรีซ ไอร์แลนด์ ตุรกี และยูเครน ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้แบรนด์วิธที่มากขึ้น และการกำหนดราคาค่าบริการต่อแพ็กเกจ

ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความหวังให้กับผู้เล่นหลักในตลาดอินเทอร์เน็ตไทยอย่างทรู ทีโอที แต่ยังสร้างความหวังให้กับทีทีแอนด์ทีด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีทีแอนด์ทีมี "Maxnet" เป็นเครื่องหมายการค้าในการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของตนมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยตั้งทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ดูแลกิจการบรอดแบนด์ ในวันที่ทีทีแอนด์ทีพบว่ารายได้ของโทรศัพท์บ้านซึ่งทีทีแอนด์ทีมีอยู่ในมือถึง 1.5 ล้านราย ไม่เพียงแต่จะลดลงแต่ยังไม่เพิ่มได้อีกแล้วนับจากนี้เป็นต้นไป

คาดการณ์กันว่า รายได้ของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของทีทีแอนด์ทีจะแซงหน้ารายได้ของโทรศัพท์บ้านในปีนี้เป็นครั้งแรก นั่นเป็นสัญญาณบอกได้อย่างหนึ่งว่า ธุรกิจบรอดแบนด์นั้นสำคัญแค่ไหนสำหรับทีทีแอนด์ที

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีทีแอนด์ทีมีต้นทุนสำคัญคือการมีลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์บ้านในต่างจังหวัดนับล้านราย และล้วนแล้วแต่ใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดให้ผู้คนเหล่านั้นเลือกใช้อินเทอร์เน็ตได้ในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ ทีทีแอนด์ทีจึงตัดสินใจตอบแทนผู้ใช้บริการที่ใช้บริการ Maxnet ด้วยการปรับความเร็วที่ต่ำกว่าทั้งหมดเป็น 1 Mbps สำหรับลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ที่เพิ่งจดทะเบียนใช้งาน โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดการใช้บริการ 1 ปี และไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากลูกค้า

ล่าสุดตัดสินใจทุ่มเงินไปกับการขยายแบนด์วิธต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 1.9 Gbps. เป็น 3.88 Gbps. และเลือกตั้งเครือข่ายในประเทศที่แตกต่างกันออกไป เพื่อหวังกระจายความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติที่ไม่น่าคาดฝันอย่างที่เคยปรากฏมาก่อนกับผู้ให้บริการบางรายในช่วงปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เครือข่ายไปยังเขตปกครองพิเศษอย่างฮ่องกง ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสิงคโปร์ ให้ประเทศเหล่านี้ในการต่อเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังประเทศใกล้เคียงต่อไป

แม้จะต้องทำงานหนักกว่าที่เคย ต้องเพิ่มเงินลงทุนไปกับการขยายแบนด์วิธซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจอีกมากมายสักแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าทีทีแอนด์ทีจะไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่าการปักธงทำธุรกิจบรอดแบนด์ในเวลานี้อีกแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.