|
Technology Service Provider บริบทใหม่ของสามารถ กรุ๊ป
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กว่าครึ่งศตวรรษที่บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โลดแล่นอยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมาโดยตลอด ทำให้ธุรกิจที่ผ่านมาตกอยู่ในความ "เสี่ยง" แต่จากนี้ไปสามารถกรุ๊ปกำลังดึงตัวเองไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เป็นบริษัทไทยรายแรกที่กระโดดเข้าสู่ตลาดแห่งนี้
ในปี 2535-2539 กลุ่มบริษัทสามารถ เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในฐานะผู้ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคม ที่เกาะกลุ่มไปกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านสื่อสารเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชินวัตรที่มีเอไอเอสเป็นบริษัทลูก กลุ่มยูคอมที่มีบริษัท ดีแทคเป็นบริษัทในเครือ หรือกลุ่มทรู ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีพี่ใหญ่อย่างกลุ่มซีพีสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ตลอด 4 ปีในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าเป็น "ปีทอง" ของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ทุกบริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริการโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต ลงทุนในต่างประเทศ
แต่ในปี 2540 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลประกาศค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม กลุ่มบริษัทสามารถมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที 12,000 ล้านบาท และบางครั้งหนี้สูงถึง 16,000 ล้านบาทตามอัตราค่าแลกเปลี่ยน
ในตอนนั้นทำให้กลุ่มสามารถต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เริ่มมองหามืออาชีพเข้ามาทำงานแทน ทั้งเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร และวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องถอยไปอยู่เบื้องหลัง จากบทบาทที่เป็นแม่ทัพ ประการสำคัญเพื่อต้องการลดทอนภาพความ เป็น "ธุรกิจครอบครัววิไลลักษณ์" ออกไป
ชาญชัย จารุวัฒน์ อดีตผู้บริหารของไอบีเอ็ม ฉัตรชัย บุนนาค สรรพัชญ โสภณ ทอม เครือโสภณ สรรชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้บริหารเหล่านี้ถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา บริหารให้กับกลุ่มสามารถ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานและล่าถอยออกไปทีละคน
ทั้งเจริญรัฐ พี่ชายคนโต และวัฒน์ชัย คนที่สอง ต้องกลับมาเป็นแม่ทัพและอยู่เบื้องหน้าอีกครั้ง จากที่มองแล้วว่า "มืออาชีพ"ไม่ได้ช่วยกลุ่มสามารถฯ มากนัก ในทางกลับ กันกลุ่มพี่น้องยังช่วยบริหารงานเพิ่มมากขึ้น ธนานันท์ วิไลลักษณ์ น้องชายคนสุดท้องช่วยดูแลธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือไอโมบาย ส่วนสุกัญญา วิไลลักษณ์ (วนิชจักรวงศ์)
น้องสาวคนที่ 4 ช่วยงานด้านคอล เซ็นเตอร์ สามารถกรุ๊ปดึงบริษัทเทเลคอม มาเลเซีย (ที่มีรัฐบาลมาเลเซียถือหุ้นใหญ่) เข้ามาถือหุ้น และขายทิ้ง บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในคลื่นความถี่ 1800 เพราะธุรกิจโทรศัพท์มือถือต้องใช้เงินลงทุนสูง และมากกว่านั้นเมื่อรัฐบาลเปิดเสรีโทรคมนาคม โอกาสที่จะต่อกรกับยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ย่อมแพ้มากกว่าชนะ
เหมือนเช่นเดียวกับที่กลุ่มชินขายธุรกิจให้กับกลุ่มเทมาเส็ก สิงคโปร์ ในขณะที่ดีแทค ขายธุรกิจให้กับกลุ่มเทเลนอร์จากนอร์เวย์ เพราะทั้งสองค่ายนี้ตระหนักดีว่าได้เวลาที่จะต้องถอย แม้ว่าจะเป็นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 อยู่ในตลาดไทยก็ตาม
สามารถกรุ๊ปจัดโครงสร้างใหม่ โดยมีเป้าหมายให้บริษัทแม่สลัดภาพในฐานะผู้ให้บริการ ด้านสื่อสารโทรคมนาคมออกไป แต่จะดำรงภาพของความเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) แทน และให้บริษัทลูกดูแลธุรกิจสื่อสาร หรือไอซีที
"ตรงนี้จะสร้างให้เราเติบโตไปอีกทิศทางหนึ่ง ไม่ได้จำกัดโทรคมนาคม อันนี้จะชัดเจนมากขึ้น พยายามเปลี่ยนภาพ ใช้เวลานิดหนึ่ง สามารถฯ ใหญ่จะหลุดออกจากโทรคมนาคม ส่วนไอโมบายดูแลธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และคอนเทนต์ บริษัทสามารถเทลคอม ดูแลไอที งานเอกชน ราชการ" เป็นคำกล่าวของวัฒน์ชัย
เหตุผลที่ทำให้กลุ่มบริษัทสามารถกำหนดบทบาทตัวเองให้เป็นบริษัทเทคโนโลยี อาจเป็นเพราะว่า บริษัทไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง แต่อยู่ในฐานะผู้ซื้อเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งสอดคล้องกับที่วัฒน์ชัยพูดไว้ว่า บริษัทมีความชำนาญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ปัจจุบันบริษัทแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก สายธุรกิจโมบาย-มัลติมีเดีย บริษัทสามารถ ไอโมบาย จำกัด เป็นผู้ดูแล เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท
กลุ่มสอง สายไอซีที โซลูชั่นบริษัทสามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ครอบคลุมทางด้านไอทีและโทรคมนาคม และกลุ่มสาม สายธุรกิจ Technology Related ที่มีบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ จำกัด และบริษัทสามารถ วิศวกรรม จำกัด จำหน่ายเสาอากาศ และจานดาวเทียม
นอกจากนั้นยังมีธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในส่วนของ Technology Related กลุ่มสามารถเข้าไปจัดตั้งบริษัททำธุรกิจในส่วนที่ไม่ใช่คมนาคม และส่วนใหญ่โครงการหลัก จะอยู่ในกัมพูชา อาทิ ก่อตั้งบริษัทแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ จัดตั้งบริษัท Kampot Power Plant ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ และร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อังกอร์ จังหวัดเสียมเรียบ กัมพูชา เปิดให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มในอนาคตจะต้องมีรายได้ที่สมดุลกัน โดยรายได้จะไม่เน้นหนักใน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจากการที่กลุ่มสามารถ รู้จักตัวเองมากขึ้น บริษัทกระจายธุรกิจไปสู่บริการเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เหมือนกับที่พึ่งพาเฉพาะธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมรวมถึง การพึ่งพางานประมูลบริการสื่อสารจากภาครัฐ จนส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ไม่มีความ แน่นอน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพราะรายได้ธุรกิจหลักยังพึ่งพิงโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่
ผลประกอบการปี 2550 ที่ผ่านมาเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่า 3 บริษัทแห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีรายได้ และกำไรลดลงอย่างเห็นได้ชัด บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลงเหลือ 19,649.46 ล้านบาท มีกำไร 573.63 ล้านบาท ในปี 2550 ในขณะที่ปี 2549 มีรายได้ 31,001.65 ล้านบาท มีกำไร 1,990.29 ล้านบาท
บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ปี 2550 มีรายได้ 2,177.52 ล้านบาท มีกำไร 111.92 ล้านบาท ส่วนบริษัทสามารถ ไอโมบาย จำกัด (มหาชน) ปี 2550 มีรายได้ 15,434.28 ล้านบาท มีกำไร 321.11 ล้านบาท ปี 2549 รายได้ 24,600.24 ล้านบาท มีกำไร 488.09 ล้านบาท
"เป้าหมายของกลุ่มสามารถฯ คือมีรายได้ที่สม่ำเสมอในระยะยาว เพื่อหล่อเลี้ยง องค์กรได้อย่างราบรื่น" เป็นคำกล่าวของวัฒน์ชัยที่กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้นเขายังได้วางเป้าหมาย ไว้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2553) บริษัทจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มสามารถ ทุกสายธุรกิจจะใช้กลยุทธ์หลักร่วมกันที่เรียกว่า SMART Strategy ประกอบด้วย Synergy สร้างทีม สร้างพันธมิตร Merging & Acquisition ร่วมธุรกิจกับพันธมิตรและภายในบริษัทด้วยกันเอง Regional สร้างชื่อในระดับภูมิภาค และ Technology การขยายธุรกิจสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ
คำนิยาม Technology Company ของกลุ่มสามารถฯ ที่ตอกย้ำและสื่อสารออกมา ได้ขยายภาพกว้างมากขึ้นในสายธุรกิจ Technology Related ในปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี นิวเคลียร์ ซึ่งกำลังเป็นเป้าหมายใหม่ล่าสุด ที่คาดหวังไว้ว่าจะเป็นธุรกิจดาวเด่นในอนาคต
ธุรกิจนิวเคลียร์ก่อเกิดจากแนวคิดและความสนใจเป็นพิเศษของเจริญรัฐมาค่อนข้างนาน ประจวบกับมีพื้นฐานการศึกษาทางด้านวิศวกรรม รวมไปถึงได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ เมื่อเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.
แนวคิดของเขายังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวถึงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้แต่สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รัฐบาลในปัจจุบันก็กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งการส่งสัญญาณเรื่องนี้ได้มีการกล่าวถึงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้มีการเรียกร้องหาพลังงานทดแทน
ด้านวัฒน์ชัยเองก็ไม่ปฏิเสธว่า ธุรกิจนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเป็นการรองรับนโยบายรัฐบาลส่วนหนึ่ง และเขาเองเชื่อมั่นว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุน ต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนพลังงานด้านอื่นๆ
สิ่งที่บริษัทสามารถกรุ๊ปคาดหวังไว้คือ มีส่วนร่วมในธุรกิจนิวเคลียร์ เพราะมองว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท หากมีส่วนร่วม 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้เป็นหมื่นล้านบาท
แต่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน 13 ปี ใช้เวลาก่อสร้างเสา 7 ปี และสร้างโรงงานอีก 6 ปี แต่สิ่งสำคัญบริษัทเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดเงื่อนไขของกฎหมาย
บริษัทไม่ได้หยุดความคิดนี้แต่ได้หันไปทำธุรกิจนิวเคลียร์ที่เกี่ยวเนื่อง เริ่มต้นจากบริการฉายรังสีเครื่องมือแพทย์ ผลไม้ และอัญมณี
กลุ่มสามารถตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวเมื่อครึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มศึกษารายละเอียดลงลึกและจากการวิจัยตลาดพบว่า เป็นตลาดที่มีคู่แข่งขันเพียง 2 ราย เป็นบริษัท จากต่างประเทศ ไม่มีบริษัทไทยให้บริการแม้แต่รายเดียว ประการสำคัญเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูงและตลาดยังมีความต้องการอีกมาก
ปัญญลักษณ์ อุดมเลิศประเสริฐ ผู้จัด การอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ กลุ่มบริษัทสามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. รับฉายรังสีผลไม้ให้บริษัทเอกชนในราคากิโลกรัมละ 7 บาท จำนวน 3 ล้าน กิโลกรัม สทน..มีรายได้ 21 ล้านบาทภายในเวลา 2 เดือน ในขณะที่ สทน.ให้บริการฉายรังสีอยู่นั้น ลูกค้าอุปกรณ์การแพทย์ต้องรอใช้บริการต่อเมื่องานฉายรังสีผลไม้แล้วเสร็จ
ส่วนบริษัทต่างชาติทั้ง 2 แห่งรองรับลูกค้าต่างชาติที่เป็นลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ อยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางที่เป็นบริษัทไทย หลังจากที่บริษัทมีนโยบายชัดเจนเรื่องบริการฉายรังสีเริ่มหาลูกค้า ปัจจุบันมีลูกค้า 2 รายที่รอใช้บริการอยู่ แม้ว่าโรงงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของกลุ่มสามารถฯ จะให้บริการได้อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้าก็ตาม
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ก่อตั้งบริษัทสามารถ เรดิเทค จำกัด เพื่อให้บริการ ธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยมีมนูญ อร่ามรัตน์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ มานั่งเป็นผู้บริหาร
ธุรกิจนิวเคลียร์เป็นธุรกิจใหม่และเป็นเรื่องใหม่ของกลุ่มสามารถจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีที่ปรึกษา จึงได้ร่วมมือกับ สทน. เพื่อถ่ายทอดความรู้ ขณะเดียวกันยังได้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริษัทในประเทศอินเดียและอังกฤษ เพื่อทำหน้าที่อบรมให้กับพนักงานของบริษัท
การเริ่มต้นธุรกิจให้บริการฉายรังสี บริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีแร่โคบอลต์ 60 เพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ผลไม้ ส่วนเทคโนโลยีได้สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ เป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่คู่แข่งต่างชาติ ใช้อยู่ในปัจจุบัน
กลุ่มบริษัทสามารถใช้งบประมาณสำหรับโครงการนิวเคลียร์จำนวน 450 ล้านบาท เลือกสร้างโรงงานที่จังหวัดระยองและซื้อเทคโนโลยีที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า
ด้านความปลอดภัยในด้านโรงงานอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตทางด้านมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านรังสีจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และมาตรฐานการก่อสร้างจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practices) ส่วนมาตรฐานที่ใช้รองรับผลิตภัณฑ์ อาทิ ISO 9000 ISO 13485 และ 1137
การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้าม เพราะประชาชนยังมีความเชื่อว่านิวเคลียร์เป็นเรื่องที่อันตราย ในส่วนของบริษัทสามารถที่จะร่วมมือกับ สทน. เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอาจต้องใช้เวลา
โคบอลต์ 60 จะสั่งนำเข้าได้จะต้องได้รับอนุญาตจาก สทน.แห่งเดียวเท่านั้น เพื่อให้สามารถรู้ว่าแร่ดังกล่าวกระจายไป ณ จุดใด โคบอลต์ 60 จะจัดถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ปิดและอยู่ในน้ำตลอด
การฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์การแพทย์และผลไม้ เป็นบริการเริ่มต้นเท่านั้น อุตสาหกรรมอัญมณี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังศึกษา
ปัญญลักษณ์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เมื่อนำพลอยมาฉายรังสีแกมมา ราคาจะเปลี่ยนเป็น 3 เท่า กลายเป็นสีฟ้า ลอนดอน บลู ถ้านำไปฉายรังสีอิเล็กตรอนอีกรอบหนึ่ง จะเปลี่ยนเป็นสวีช บลู ซึ่งราคาจะเปลี่ยนไปอีก 10 เท่า ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มสามารถฯ มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้บริการบำบัดน้ำเสีย และโรงงานเตาปฏิกรณ์ ขนพลังงานไปทำไฟฟ้า หรือการนำรังสีรักษาโรคมะเร็งในอนาคต
การก้าวย่างของบริษัทสามารถกรุ๊ป เริ่มเห็นเด่นชัดมากขึ้นในส่วนของธุรกิจใหม่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และในฐานะที่เป็นเอกชน รายแรกที่เริ่มบุกเบิก แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะไม่พึ่งพิงเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นภายในบริษัท หลังจากที่ได้รับบทเรียนจากธุรกิจสื่อสารมาหลายสิบปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|