สึนามิเงียบ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ราคาอาหารที่แพงลิบลิ่วกำลังสร้างความอดอยากยากแค้นและความปั่นป่วนไปทั่วโลก และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างถึงราก

วิกฤติความอดอยากในอดีตมักเกิดจากการเก็บเกี่ยวพืชผลตกต่ำเนื่องจากสงครามหรือความรุนแรง และมักจำกัดอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่ง โดยจะส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อคนที่ยากจนที่สุดเท่านั้น แต่ภาพของความหิวโหยในวันนี้แตกต่างไป โครงการอาหารโลก (WFP) หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติชี้ว่า นี่คือ "สึนามิเงียบ" เพราะคลื่นแห่งปัญหาราคาอาหารแพงได้โหมกระหน่ำไปทั่วโลก ก่อให้เกิดการจลาจลและถึงขั้นสั่นสะเทือนรัฐบาล นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่การประท้วงราคาอาหารแพงเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศพร้อมกัน

ในอดีตความอดอยากหมายถึงการไม่มีอาหารกิน แต่มาตรวัดความอดอยากของวิกฤตอาหารในวันนี้ คือ ความเดือดร้อน และการได้รับอาหารไม่ครบโภชนาการ ชนชั้นกลางในประเทศยากจนกำลังตัดรายจ่ายด้านสุขภาพและอาหารเนื้อสัตว์ เพื่อจะให้มีกินครบ 3 มื้อเช่นเดิม คนจนปานกลาง คือผู้ที่มีรายได้ 2 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียนและเลิกซื้อผัก เพื่อให้มีเงินพอซื้อข้าว ส่วนคนจนกว่าคือมีรายได้ 1 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องตัดทั้งเนื้อ ผัก หรือแม้กระทั่งอาหารอีกหนึ่งหรือสองมื้อ เพียงเพื่อจะให้มีข้าวกินวันละชาม แต่คนที่จนที่สุดคือมีรายได้เพียง 50 เซ็นต์ต่อวัน กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

มีคนประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก ที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนที่ยากจนโดยสิ้นเชิง หากค่าอาหารเพิ่มขึ้น 20% คนจนกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 100 ล้านคน หลายประเทศพยายามลดความยากจนมานานหลายสิบปี แต่วิกฤติราคาอาหารแพงในครั้งนี้กลับทำให้ความสำเร็จนั้นหายไปในชั่วพริบตา ตลาดอาหารที่ปั่นป่วนวุ่นวาย การก่อจลาจลของชาวบ้านที่เดือดร้อน และการเปิดเสรีการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบ ทำให้วิกฤติอาหารโลกในปีนี้อาจส่งผลกระทบไปถึงโลกาภิวัตน์ด้วย

ประเทศร่ำรวยต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาอาหารแพงเท่าๆ กับการแก้ปัญหาวิกฤติสินเชื่อโลก ธนาคารโลกและสหประชาชาติ เริ่มเรียกร้องให้มี "ข้อตกลงใหม่" ด้านอาหาร แต่การหาทางช่วยเหลือปัญหาวิกฤติอาหารให้ถูกจุดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาหารไม่ใช่ปัญหาที่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว และความช่วยเหลือบางอย่างที่จำเป็นในขณะนี้ อาจเสี่ยงต่อการทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้นในระยะยาว

ราคาอาหารแพงส่งผลกระทบหนักในบางแห่ง ประเทศส่งออกอาหารและประเทศที่เกษตรกรพึ่งตนเองได้ หรือเป็นผู้ขายสุทธิ กลับได้รับประโยชน์จากวิกฤติราคาอาหารครั้งนี้ แต่ประเทศที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตกซึ่งนำเข้าอาหาร หรือประเทศอย่างบังกลาเทศ ซึ่งชาวนาไร้ที่ดินทำกิน คือผู้ที่เดือดร้อนหนัก และเสี่ยงต่อการเกิดจลาจล

การช่วยเหลือขั้นแรกจึงควรต้องปะชุนรูโหว่ของตาข่ายความปลอดภัยของโลก ได้แก่ การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) ซึ่งเป็นผู้แจกจ่ายอาหารช่วยเหลือคนจนรายใหญ่ที่สุดในโลก และนับเป็นปราการที่สำคัญที่สุด ที่ช่วยสกัดกั้นความหิวโหยไม่ให้ลุกลามกลายเป็นความอดอยาก สภาพของ WFP ขณะนี้ไม่ต่างกับครอบครัวที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ในชาติกำลังพัฒนา นั่นคือ อำนาจซื้อลดลงเนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้น ในการจะสามารถแจกจ่ายอาหารช่วยคนจนทั่วโลกให้ได้เท่ากับปีที่แล้วนั้น WFP ต้องการเงินเพิ่มขึ้นอีก 700 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

นอกจากนี้ WFP ควรขยายบทบาทจากการเป็นเพียงผู้แจกอาหาร ซึ่งแม้เป็นเรื่องจำเป็นในการช่วยเหลือฉุกเฉิน แต่ในระยะยาวกลับจะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ตลาด ทางแก้ที่ดีกว่าน่าจะเป็นการช่วยทำให้ราคาอาหารลดลง โดยที่ไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเกษตรกร WFP จึงควรเพิ่มบทบาทในการแจกจ่ายเงินด้วย โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการคุ้มครองสังคมและโครงการทำงานแลกอาหารสำหรับคนยากจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการช่วยเหลือคนจนเหล่านั้นต้องเป็นรัฐบาลของแต่ละประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ WFP เพียงแต่ช่วยเสริมเท่านั้น

วิกฤติอาหารโลกในปีนี้ยังเผยให้เห็นความล้มเหลวของตลาดในทุกข้อต่อของห่วงโซ่อาหาร "ข้อตกลงใหม่" ด้านอาหาร ที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาถกในขณะนี้ ควรจะหาทางแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งกำลังถ่วงเกษตรกรให้ก้าวถอยหลังด้วย กล่าวคือ ต่อไปนี้รัฐบาลควรจะเปิดเสรีให้แก่ตลาด ไม่ใช่พยายามจะแทรกแซงตลาดต่อไปอีก ที่ผ่านมา ตลาดอาหารถูกรัฐบาลแทรกแซงแทบทุกจุด ตั้งแต่การให้เงินอุดหนุนแก่โรงสีเพื่อรักษาราคาขนมปังให้ถูก จนถึงการติดสินบนเกษตรกรให้ปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่า ผลของการกำหนดโควต้า เงินอุดหนุนและการควบคุมอาหารของภาครัฐ เป็นการผลักความไม่สมดุลต่างๆ เหล่านั้น ให้เป็นภาระต่อส่วนของห่วงโซ่อาหารที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ นั่นคือ ตลาดโลก

ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การบิดเบือนตลาดอาหารของรัฐบาลกดให้ราคาอาหารในโลกอยู่ในระดับต่ำ และทำให้เกษตรกรที่ยากจนขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มผลผลิต แต่การบิดเบือนตลาดของภาครัฐครั้งล่าสุดกลับให้ผลตรงข้ามกับที่กล่าวมา การอุดหนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในชาติร่ำรวย กลับดันให้ราคาอาหารสูงทะลุเพดาน รัฐบาลหลายชาติยังซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้นอีก ด้วยการกำหนดโควตาส่งออกและตั้งข้อจำกัดทางการค้า ทำให้ราคาอาหารยิ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาภาครัฐมักอ้างว่า การเปิดเสรีการเกษตรจะทำให้ราคาอาหารแพง แต่ขณะนี้ราคาอาหารกำลังแพงลิบลิ่ว จึงกลายเป็นว่าการเปิดเสรีการเกษตรกลับจะลดราคาอาหารลง และทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ภาครัฐจะไม่ควรแทรกแซงตลาดเกษตร แต่ควรมีหน้าที่ในการให้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานแก่เกษตรกร ด้วยการเข้ารับภาระในการจัดทำโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่เกินกำลังของเกษตรกรรายย่อยที่ยากจนจะดำเนินการเองได้ และสนับสนุนทางการเงินแก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อช่วยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่า

ภาคเกษตรกรรมในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง โลกที่อาหารมีราคาถูกได้ผ่านไปแล้ว และกำลังจะเข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่ แต่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจากดุลยภาพเก่าเข้าสู่ดุลยภาพใหม่นั้นกำลังสร้างความเจ็บปวดอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไปถึง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและรัฐบาลควรหาทางผ่อนคลายความเจ็บปวดของการเปลี่ยนแปลงนั้น มากกว่าจะคิดหยุดยั้งกระบวนการดังกล่าว

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง

ดิ อีโคโนมิสต์ 17 เมษายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.