|
โฉมหน้าใหม่ของความหิวโหย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกคนประหลาดใจ คำถามคือ เราควรจะทำอย่างไรต่อไป
พ่อค้าข้าวตลาดชานเมืองในประเทศโกตดิวัวร์ ชี้ให้ดูชามที่บรรจุเต็มไปด้วยข้าวหักที่มาจากไทย ซึ่งเขาขายในราคา 400 ฟรังค์ CFA (ประมาณ 1 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ว่าเป็นข้าวที่ขายดีมากที่สุด ในวันที่ขายดีๆ เขาเคยขายข้าวชนิดนี้ได้ถึง 150 กิโลกรัม
แต่ตอนนี้ถ้าโชคดีก็อาจจะขายได้แค่ครึ่งหนึ่งของวันที่เคยขายดีที่สุด ส่วนใหญ่มีแต่คนถามราคา แล้วเดินจากไปโดยไม่ซื้อ แต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านในประเทศแอฟริกาแห่งนี้ ไม่เพียงแต่เดินจากไปโดยไม่ซื้อเท่านั้น แต่ยังก่อจลาจล และ 2 วันหลังจากนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลโกตดิวัวร์ถึงกับต้องประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
Joachim von Braun แห่งสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (IFPRI) ในกรุงวอชิงตันชี้ว่า เกษตรกรรมของโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไร้ความยั่งยืนและเสี่ยงทาง การเมือง เห็นได้จากการก่อจลาจลเนื่องจาก ประชาชนไม่พอใจราคาอาหารแพงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมๆ กัน
การประท้วงราคาอาหารในเฮติทำให้ นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องลาออก มีผู้เสียชีวิต 24 คนในการจลาจลราคาอาหารแพงที่แคเมอรูน ขณะที่ประธานาธิบดีอียิปต์สั่งให้กองทัพเริ่มทำขนมปังเองเพื่อประหยัดเงิน การกักตุนข้าวในฟิลิปปินส์มีโทษถึงขั้นจำคุก ตลอดชีวิต ส่วน Jean-Louise Billon ประธานหอการค้าโกตดิวัวร์วิตกว่า สถาน การณ์ที่อันตรายขณะนี้กำลังคุกคามเสถียร ภาพทางการเมือง
ปีที่แล้ว ราคาข้าวสาลีแพงขึ้นถึง 77% ส่วนราคาข้าวเจ้าแพงขึ้น 16% ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้น และในปีนี้ยังคาดว่า ราคาข้าวจะยิ่งพุ่งกระฉูดอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ราคาข้าวเจ้าพุ่งทะยานขึ้นไปแล้วถึง 141% ในขณะที่ราคาข้าวสาลีพันธุ์หนึ่งพุ่งสูงถึง 25% ในวันเดียว เกษตรกรในเมือง Abidjan ในโกตดิวัวร์ ซึ่งปลูกมันฝรั่งเศส กระเจี๊ยบ และข้าวโพด แต่ต้องเสียเงินซื้อข้าวกิน บ่นว่าข้าวราคาแพงเหลือใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
ราคาข้าวและอาหารที่แพงขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ สะท้อนการเพิ่ม ขึ้นของความต้องการบริโภค (demand) มากกว่าจะสะท้อนถึงปัญหา ในด้านการผลิต (supply) ที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตลดลง คนจีน และอินเดียบริโภคข้าวและเนื้อสัตว์มากขึ้นเนื่องจากร่ำรวยขึ้น ส่วนการ ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากธัญพืชก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในชาติตะวันตก
ในปีนี้สัดส่วนของข้าวโพดที่นำไปใช้ผลิตเป็นเอทานอลในอเมริกา เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ตั้งเป้าหมายการผลิต เชื้อเพลิงชีวภาพของตัวเอง ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ยังมีอีกหลายสิ่งที่ซ้ำเติมสภาพตลาดธัญพืช นั่นคือ การที่ประเทศผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ จำกัดโควตาส่งออก ข่าวลือของการแย่งกันซื้อข้าวของชาติที่นำเข้าข้าว และการที่เม็ดเงินมหาศาลจากกองทุนเก็งกำไรกำลังมองหาตลาด ที่น่าเข้าไปลงทุน
แต่การผลิตธัญพืชไม่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันความต้องการบริโภคที่พุ่งพรวดขึ้น เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้เวลาพักใหญ่ในการตอบสนองต่อราคา นอกจากนี้ยังเป็นเพราะรัฐบาลยังบิดเบือนด้วยการพยายามผ่อนคลายผลกระทบของราคาอาหารแพง ซึ่งกลายเป็นการอุดกั้นสัญญาณที่จะกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกธัญพืชเพิ่ม เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยใน 58 ประเทศที่ธนาคาร โลกเฝ้าติดตามดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากวิกฤติอาหารแพง มีถึง 48 ประเทศที่รัฐบาลใช้การควบคุมราคา อุดหนุนราคาเพื่อช่วยผู้บริโภค จำกัดการส่งออก หรือลดภาษีนำเข้า
แม้วิกฤติอาหารในปีนี้จะรุนแรงอย่างมาก แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงอาการหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่มากไปกว่านั้น วิกฤติราคาอาหาร แพงครั้งนี้นับเป็นการสิ้นสุดยุคของอาหารราคาถูกที่ดำเนินมานาน 30 ปีลงอย่างสิ้นเชิง อันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการอุดหนุนสินค้าเกษตรในชาติร่ำรวย และการที่ภาครัฐบิดเบือนตลาดอาหารโลกอย่างรุนแรง ในที่สุดแล้ว ชาวนาก็จะตอบสนองต่อราคาอาหารที่สูงขึ้นโดยเพิ่มการ เพาะปลูก และสุดท้ายก็จะเกิดดุลยภาพใหม่ต่อไป
หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี อาหารจะกลับมามีราคาที่สามารถซื้อหาได้อีกครั้งโดยไม่ต้องการการอุดหนุน ทุ่มตลาดหรือบิดเบือนตลาด เหมือนในยุคที่ผ่านมาอีกต่อไป แต่ในช่วงเวลานี้ การเกษตรของโลกกำลังเข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ยุคของอาหารราคาถูกได้จบสิ้นลง แต่ช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ดุลยภาพใหม่นี้จะทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมาก และจะยาวนานยืดเยื้อรวมทั้งสร้างความเจ็บปวดให้แก่พวกเรามากเกินกว่าที่ทุกคนจะคาดคิดไปถึง
Josette Sheeran แห่งโครงการอาหารโลกแห่งสหประชา ชาติ (WFP) หน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำหน้าที่ช่วยแจกจ่ายอาหาร ให้แก่คนจนทั่วโลกชี้ว่า ตามปกติแล้ว วิกฤติอาหารเท่าที่ผ่านมามักจะมีสาเหตุที่เห็นได้ชัดเจนและเกิดเฉพาะที่ โดยสาเหตุมักเกิดจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวตกต่ำ และส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากสงครามหรือการสู้รบขัดแย้ง ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มักจะตก หนักที่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดเท่านั้น แต่วิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นครั้งนี้กลับแตกต่างไปกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ซ้ำยังส่งผลกระทบ กับกลุ่มคนที่ปกติไม่เคยได้รับผลกระทบ จากความอดอยากมาก่อน
Sheeran ชี้ว่า วิกฤติอาหารครั้งนี้ทำให้ ชนชั้นกลางต้องตัดลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลง เพื่อนำไปจ่ายค่าอาหารที่สูงขึ้น คนที่มีรายได้ 2 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องลดเนื้อสัตว์และให้ลูกๆ ออกจากโรงเรียน ส่วนคนที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ ต้องลดทั้งเนื้อสัตว์และผัก และกิน แต่ธัญพืชเพียงอย่างเดียว สำหรับคนที่มีรายได้ เพียง 50 เซ็นต์ต่อวัน ก็คือกลุ่มคนที่เดือดร้อน หนักที่สุด พวกเขาถึงกับต้องขายสัตว์ที่มีอยู่ เครื่องมือหากิน แม้กระทั่งหลังคาบ้านที่คุ้มหัว เพื่อความอยู่รอด
เนื่องจากวิกฤติอาหารเพิ่งเกิดขึ้น และประเทศต่างๆ ยังไม่ทันจะเก็บข้อมูลตัวเลขความเดือดร้อนทั้งหมด ทำให้ยากที่จะประเมิน ความรุนแรงของผลกระทบวิกฤติอาหารครั้งนี้ได้ในขณะนี้ ผลกระทบที่เกิดกับคนจนจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาเป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายอาหารสุทธิ หากเป็นผู้ซื้อสุทธิราคา อาหารที่แพงขึ้นอาจมากพอจะเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นผู้ขายในอนาคต
แต่สำหรับในช่วงเวลานี้ ความทุกข์ยาก ทรมานที่จะเกิดขึ้นกับคนทั่วโลกจากวิกฤติ อาหารครั้งนี้คาดว่าจะใหญ่หลวงนัก คนจนในเอลซัลวาดอร์ขณะนี้ กินอาหารเพียงครึ่งเดียว ของอาหารที่พวกเขาเคยได้รับเมื่อ 1 ปีก่อน ชาวอัฟกานิสถานต้องใช้รายได้ถึงครึ่งหนึ่งกับการซื้ออาหารจากที่เคยใช้เพียง 1 ใน 10 ของรายได้เมื่อปี 2006
คาดว่าราคาอาหารที่แพงขึ้นอาจลดกำลังซื้อของคนจนในเมืองและในชนบทลง 20% มีคน 1 พันล้านคนทั่วโลกที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเกณฑ์รายได้ ที่ใช้วัดความยากจนโดยสิ้นเชิง ส่วนอีก 1.5 พันล้านคนมีรายได้เพียง 1-2 ดอลลาร์ต่อวัน Bob Zoellick ประธานธนาคารโลกคาดว่า ราคาอาหารที่เฟ้ออาจทำให้คนอีกอย่างน้อย 100 ล้านคนต้องกลายเป็นคนยากจน และทำให้ความสำเร็จของหลายประเทศที่ต่อสู้กับปัญหาความยากจนมานานนับสิบปี ต้องมลายหายไปในพริบตา
ในระยะสั้น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โครงการคุ้มครองทางสังคมและ นโยบายการค้าที่รัฐบาลประเทศต่างๆ งัดออกมาใช้แก้ปัญหา จะเป็นตัวตัดสินว่า โลกรับมือกับปัญหาวิกฤติอาหารในครั้งนี้ได้ดีเพียงใด แต่ในระยะกลาง ปัญหาที่ต้องแก้ คือโลกจะหาอาหารได้มากขึ้นจากที่ใด หากได้มาจากชาติเกษตรรายใหญ่ในอเมริกา ยุโรปหรือประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อื่นๆ จุดดุลยภาพใหม่ที่จะเกิดขึ้นอาจกลับไปเหมือนจุดเดิม กล่าวคือ อาหารของโลกจะยังคงขึ้นอยู่กับประเทศผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย และจะยังคงมีการบิดเบือนทางการค้าและการทุ่มตลาดอาหารต่อไป
ขณะนี้เกษตรกรในชาติร่ำรวยเริ่มตอบสนองต่อคำถามนี้แล้ว การปลูกข้าวสาลี ในฤดูหนาวของอเมริกาปีนี้เพิ่มขึ้น 4% และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูใบไม้ผลิก็อาจเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวสาลี ในสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น 13%
แต่น่าจะเป็นการดีกว่า หากการเพิ่ม ขึ้นของผลผลิตอาหารจะมาจากฝั่งเกษตรกร รายย่อยที่มีจำนวนมาก 450 ล้านคนทั่วโลก ในชาติกำลังพัฒนา ซึ่งทำการเกษตรในที่ดินจำนวนเพียงเล็กน้อย หากเกษตรกรรายย่อยสามารถเพาะปลูกเพิ่มขึ้นก็จะช่วยลดความยากจนในชาติกำลังพัฒนา ซึ่ง 3 ใน 4 ของคนที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ อาศัยอยู่ในเขตชนบท และอาศัยพึ่งพาการทำเกษตรของเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้น
การที่เกษตรกรรายย่อยสามารถเพิ่มผลผลิตบนที่ดินจำนวนเท่าเดิม ยังจะเป็นการดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ การเพิ่มผลผลิตข้าวในแอฟริกาจาก 2 ตันต่อเฮกตาร์เป็น 4 ตันนั้น ง่ายกว่าการเพิ่มจาก 8 เป็น 10 ตันสำหรับการปลูกข้าวในยุโรป
โชคร้ายที่ความเป็นจริงกลับเป็นตรงกันข้าม ในแอฟริกาตะวันออก เกษตรกรกลับลดพื้นที่เพาะปลูกเพราะไม่มีเงินพอซื้อปุ๋ย ซึ่งราคาแพงตามน้ำมัน แม้ว่าในอินเดียจะคาดการณ์ผลเก็บเกี่ยวธัญพืชสูงเป็นประวัติการณ์ และแอฟริกาใต้เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 8% ในปีนี้
ตามปกติราคาอาหารที่สูงย่อมจะทำให้ ผลิตอาหารเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากการเกษตรในตลาดเหล่านี้เต็มไปด้วยความล้มเหลวทางการตลาด และไม่ได้ตอบสนองสัญญาณด้านราคา เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ
หากคุณเป็นเจ้าของโรงงานผลิตของเล่นหรือบ่อน้ำมัน เมื่อราคาของเล่นหรือน้ำมัน แพงขึ้น คุณก็แค่เร่งผลิตของเล่นเพิ่มขึ้นทั้งวันทั้งคืน หรือเร่งสูบน้ำมันเต็มที่ แต่การปลูกพืชผลต้องใช้เวลาถึงหนึ่งฤดูกาลเต็มในการเพิ่มผลผลิต จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผลผลิตการ เกษตรจึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ หนืด มาก ไม่ได้สัดส่วนกับราคาที่แพงขึ้น ราคาสินค้าเกษตร ที่เพิ่มขึ้น 10% อาจนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตเพียง 1% และวิกฤติอาหารโลกในปีนี้ชี้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในชาติกำลังพัฒนา อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่หนืดยิ่งกว่านั้น
วิธีที่รวดเร็วที่สุดในการเพิ่มผลผลิตคือการปลูกเพิ่มขึ้น แต่ในระยะสั้น ที่ดินว่างเปล่า ที่สามารถจะนำมาใช้เพาะปลูกเพิ่มขึ้นกลับไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่ายๆ แม้จะมีที่ดินรกร้าง จำนวนมากในบราซิลและรัสเซีย แต่ต้องใช้เวลานับสิบปีหรือกว่านั้น ในการเตรียมที่ดินให้พร้อมสำหรับเพาะปลูก พืชผลบางอย่าง โดยเฉพาะข้าวในเอเชียตะวันออก จำนวนที่ดินคุณภาพดีที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกข้าว กลับลดจำนวนลง เนื่องจากถูกรุกล้ำโดยป่าคอนกรีตของเขตเมืองที่ขยายตัว สรุปแล้ว การจะเพิ่มปริมาณ อาหารในขณะนี้ ไม่อาจอาศัยการเพิ่มจำนวน ที่ดิน แต่จำเป็นต้องอาศัยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเป็นหลัก
การใช้ปุ๋ยให้มากขึ้นหรือซื้อเครื่องจักรกลใหม่อาจมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่การจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากการชลประทานที่ดี และการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า แต่ Bob Zeigler แห่งสถาบันวิจัยข้าว ระหว่างประเทศ (IRRI) ในฟิลิปปินส์ชี้ว่า เวลาที่จะต้องใช้ในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ไปจนถึงขั้นที่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ไปปลูกในเชิงการค้าได้นั้น จะต้องใช้ เวลานาน 10-15 ปี แม้ว่าจะมีชาวนาอาจต้องการจะเริ่มปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ในปีนี้และมีเงินพอที่จะลงทุนได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะงานวิจัยพันธุ์ข้าวชนิดใหม่หยุดชะงักมานานหลายปีแล้ว
การวิจัยด้านการเกษตรส่วนใหญ่ในชาติกำลังพัฒนาจะทำโดย รัฐบาล แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลต่างๆ เริ่มลดงบประมาณที่ใช้จ่ายในการปฏิวัติเขียวลง ซึ่งอาจเป็นเพราะเชื่อว่าปัญหาการขาด แคลนอาหารจบลงไปแล้ว หรืออาจเป็นเพราะต้องการดึงภาคเอกชนเข้ามาแบกภาระการลงทุนด้านการวิจัยแทน แต่ปรากฏว่า บริษัทเอกชนจำนวนมากที่เข้ามาแทนที่รัฐในการวิจัยพันธุ์พืช กลับกลายเป็นพวกผูกขาดที่ดินที่ต้องการแต่รายได้จากค่าเช่าเท่านั้น และในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ชาติร่ำรวยยังนำผลผลิตอาหารส่วนเกินจำนวนมหาศาลมาทุ่มตลาดอีก กดให้ราคาผลผลิตและผลตอบแทนการลงทุนยิ่งลดต่ำลง ส่งผลให้สัดส่วนของการลงทุนพัฒนาด้านการ เกษตร ในงบประมาณการใช้จ่ายสาธารณะทั้งหมดของรัฐบาลชาติกำลังพัฒนา ลดลงถึงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 1980 ถึง 2004
การลดการลงทุนด้านการเกษตรดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างช้าๆ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ก็คล้ายกับการพัฒนาวัคซีน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นแมลงศัตรูพืชและโรคพืชจะลดทอนคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ลงเรื่อยๆ เมื่อครั้งที่เริ่มมีการปลูกข้าวพันธุ์ IR8 เป็นครั้งแรกในปี 1966 ปรากฏว่าสามารถให้ผลผลิตสูง เกือบ 10 ตันต่อเฮกตาร์ แต่ขณะนี้กลับลดลงเหลือไม่ถึง 7 ตัน ในชาติกำลังพัฒนาช่วงทศวรรษ 1960-1980 ผลผลิตของธัญพืช หลักๆ เพิ่มขึ้น 3-6% ต่อปี แต่ขณะนี้อัตราการเติบโตกลับลดลงเหลือ เพียง 1-2% ซึ่งต่ำกว่าการพุ่งสูงขึ้นของความต้องการบริโภค การที่เราต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นในขณะนี้ ที่จริงแล้วเป็นผลพวงมาจากการที่เราละเลยการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวมานานถึง 15 ปี
การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการเกษตรยิ่งซ้ำเติมสภาวะขาดการลงทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ยิ่งขึ้นไปอีก การเกษตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร โดยเริ่มจากบริษัทปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ที่ปลายสุดด้านหนึ่ง ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ปลายสุดอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมา ด้านที่ใกล้กับผู้บริโภคมากที่สุดมีความสำคัญน้อยกว่า นโยบายอาหาร ในอดีต จะหมายถึงเพียงการปรับปรุงข้อต่อที่เชื่อมระหว่างชาวนากับบริษัทปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ เช่นการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ และอุดหนุนราคาปุ๋ย และขณะนี้มาลาวียังคงทำคล้ายๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปลายสุดอีกด้านของห่วงโซ่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เหตุผลหลักที่ทำให้เกษตรกรเคนยาและเอธิโอเปียปลูกพืชผลน้อยลงในปีนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะปุ๋ยแพง แต่เพราะเกษตรกรไม่อาจขอสินเชื่อเพื่อซื้อปุ๋ยได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีความสำคัญต่อเกษตรกรมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพราะขายอาหารเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าของการขายอาหารทั้งหมดในแต่ละประเทศ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตในชาติกำลังพัฒนาหลายชาติด้วย
ในทางทฤษฎี ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของผู้ค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ควรจะทำให้เกษตรกรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยน แปลงของราคาและรสนิยมของผู้บริโภคได้มากขึ้น และก็เป็นเช่นนั้นในบางแห่ง แต่ซูเปอร์ มาร์เก็ตมีการกำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพ ปริมาณขั้นต่ำและมาตรฐานอนามัยที่สูง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยในชาติยากจนไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยสร้างมาตรฐานเหล่านั้นได้ ดังนั้นความสำคัญที่มากขึ้นของผู้ค้าและซูเปอร์ มาร์เก็ต จึงอาจจะเป็นประโยชน์เฉพาะกับเกษตรกรรายใหญ่มากกว่ารายย่อย
สิ่งที่ซ้ำเติมให้แย่ยิ่งขึ้นไปอีกคือ การ ที่เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินทำกินน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายตัวของประชากรและการสูญเสียพื้นที่เกษตร ขนาดของที่ดินทำกินโดยเฉลี่ยของเกษตรกรรายย่อยในจีนและบังกลาเทศ ลดลงจาก 1.5 เฮกตาร์ในทศวรรษ 1970 เหลือไม่ถึง 0.5 ในขณะนี้ ส่วนที่เอธิ โอเปียและมาลาวีก็ลดลงจาก 1.2 เฮกตาร์เหลือ 0.8 ในทศวรรษ 1990 โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งพื้นที่เพาะปลูกเหลือน้อยลงเท่าใด เกษตรกรก็จะยิ่งแบกภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในการทำธุรกิจกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยยังเสียเปรียบในการเข้าถึง สินเชื่อ เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น
สภาพคอขวดและความล้มเหลวทาง การตลาดเช่นนั้น ยิ่งทำให้เกษตรกรรายย่อย ยากที่จะตอบสนองต่อราคาอาหารที่สูงขึ้น ถึงแม้จะไม่มีการบิดเบือนตลาดอาหารโลกหลายซับหลายซ้อนจากภาครัฐอย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็ตาม ทั้งหมดนี้หมายความว่า ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากจุดดุลยภาพเก่าไปสู่ดุลยภาพใหม่จะยืดเยื้อยาวนานและเจ็บปวด แต่ไม่ได้หมายความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม Lennart Bage แห่งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรแห่งสหประชาชาติในกรุงโรม ชี้ว่า หากเกษตรกรสามารถรักษาราคาผลผลิตที่สูงเอาไว้ได้ พวกเขาจะสามารถ เอาชนะปัญหาต่างๆ ที่กลุ้มรุมอยู่ในขณะนี้ได้ในที่สุด เขาชี้ว่า อินเดีย สามารถเลี้ยง 17% ของชาวโลกได้ ด้วยการใช้น้ำน้อยกว่า 5% ของน้ำ ในโลก และใช้เพียง 3% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในอินเดีย เช่นเดียวกับจีน อินเดียจะมีผลผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้นในปีนี้ ความสำเร็จเช่นเดียว กันนี้ยังมีให้เห็นประปรายในที่อื่นๆ ด้วย
อย่างเช่นการที่เอธิโอเปียเพิ่งเปิดตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ของตนเองในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หาได้ยากในทวีปแอฟริกา เอธิโอเปียต้องการจะปรับปรุงตลาดที่เชื่อมระหว่าง เกษตรกรกับผู้ค้า การแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือยังช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตลาดไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย มาลาวีซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการขนส่งข้าวโพดไปและกลับจากตลาดโลกมากเกือบจะเท่าๆ กับปลูกข้าวโพดเสียเองในประเทศ ดังนั้น เกษตรกรมาลาวีจึงแทบจะไม่สามารถส่งออกผลผลิตส่วนเกินได้เลย ทั้งๆ ที่อาหารกำลังได้ราคาดี แต่เผอิญกำลังเกิดวิกฤติทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซิมบับเว ทำให้เกิดตลาดใหม่ขึ้นมาในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ เกษตรกร มาลาวีจึงส่งผลผลิตไปขายภายในภูมิภาค และพลอยได้รับอานิสงส์จากราคาอาหารแพงในครั้งนี้
ที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ กำลังจะมีการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในจุดที่เคยถูกละเลย Zeigler แห่งสถาบันวิจัยข้าว IRRI ในฟิลิปปินส์ คาดว่า IRRI มีความพร้อมพอที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1-2 ตันต่อเฮกตาร์ และถ้าหากประเทศยุโรปเริ่มผ่อนคลายการเป็นปฏิปักษ์ต่อการตัดต่อพันธุกรรมพืช หรือ GMO นักวิทยาศาสตร์ก็อาจ เริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการสังเคราะห์ แสงในพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากถึง 50% หรือมากกว่า
ระหว่างเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ไทยซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่สุดในโลก ส่งออกข้าวมากถึง 1 ล้านตันต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่แม้กระทั่งผู้ผลิตและผู้ค้าบ้างก็ได้รับประโยชน์แต่บ้างก็ไม่ได้รับประโยชน์ ชาวนาบางส่วนขายข้าวไปตั้งแต่ก่อนที่ราคาข้าวจะขึ้น ในขณะที่โรงสีพยายามเก็บข้าวไว้ก่อน เพื่อรอให้ราคาสูงกว่านี้ ส่วนรัฐบาลไทยจำกัดการส่งออกให้ต่ำกว่าระดับการส่งออกของปีที่แล้ว แต่เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวไทยกล่าวต่อสถาบันวิจัยข้าว IRRI ว่า ไม่มีใครรู้ว่า ผลผลิตข้าวของไทยในปีที่แล้วอยู่ที่ระดับไหน ผู้ส่งข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของไทยกล่าวถึงตลาดข้าวไทยว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะตัดสินว่า ใครจะอยู่ใครจะไป
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ดิ อีโคโนมิสต์ 17 เมษายน 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|