Letter From Australia...แก้โลกร้อนแบบออสซี่

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่เคยมีฝนตกมาก่อนในช่วงต้นปีที่โกลด์โคสต์ เมืองชายฝั่งทะเลในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย แต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาฝนกลับเทลงมาอย่างหนักถึงสองวัน

การที่ฝนตกลงมาโดยไม่มีอะไรเป็นสัญญาณบอกล่วงหน้า ไม่สามารถบอกว่าเป็น "ฝนหลงฤดู" เพราะนักวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ อันเนื่องจาก "ภาวะโลกร้อน"

ก่อนหน้านี้กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ World Wide Fund for Nature (WWF) เคยระบุในรายงานลีฟวิ่ง แพลนเน็ตประจำปี 2549 ว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเข้าข่ายใช้ทรัพยากรมากที่สุดในเอเชีย

ชาวออสซี่ใช้ทรัพยากรโลกเฉลี่ยคนละ 41.25 ไร่ มากเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและแคนาดา และมากกว่าอังกฤษ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น

กองทุนสัตว์ป่าโลกยังระบุด้วยว่าการที่ออสเตรเลียประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุดอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคทรัพยากรมากเกินไป

ออสเตรเลียเคยแก้ปัญหาความแห้งแล้งเฉพาะหน้าด้วยการรณรงค์ให้ครัวเรือนสร้างที่รองรับน้ำฝนบนหลังคาหรือในอาณาบริเวณบ้าน แล้วใช้น้ำฝนที่กักเก็บไว้มาใช้ในกิจกรรมบางอย่างเช่นการซักล้าง ล้างรถหรือแม้แต่การรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้าน แทนการใช้น้ำประปา

แม้ว่า ก่อนหน้านี้ออสเตรเลียจะพยายามให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงภาวะโลกร้อน เพื่อหวังผลในระยะยาว และหนึ่งในนั้นก็คือรณรงค์ให้หันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และร้านค้าบางแห่งเริ่มนโยบายสนองตอบรัฐบาล โดยให้ลูกค้าจ่ายเพิ่มสำหรับการเรียกขอถุงพลาสติก

แต่การผลักภาระมาให้กับผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นแล้วโปรโมตว่าเพื่อลดโลกร้อน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า นี่คือการแก้ปัญหาแบบทุนนิยมซึ่งหวังผลอะไรได้ไม่มากนัก

ขณะที่ฝนตกในโกลด์โคสต์ เมืองซึ่งเคยเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว เพราะมีการโปรโมตว่าแสงแดดนั้นส่องแสงมากถึง 300 วันต่อปี อีกทั้งยังมีหาดยาว 70 กิโลเมตร หลายคนยกให้ที่นี่เป็น "สวรรค์ของนักเล่นกระดานโต้คลื่น" ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเริ่มกังวลมากขึ้นถึงสิ่งที่จะตามมาในอนาคต

หากว่าฝนตกที่โกลด์โคสต์แม้เพียง 1 วันหรือมากกว่านั้น คำโฆษณาที่ว่านั้นก็แทบจะใช้ไม่ได้เหมือนอย่างที่ผ่านมา และนี่คือความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักซึ่งทำเงินให้กับที่นี่หรือแม้แต่ออสเตรเลียเป็นกอบเป็นกำ

แม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้น และรณรงค์ให้คนตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาจจะเป็น การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดมากนัก

ภาครัฐควรให้ความสำคัญทั้งในระดับประเทศและแสดงท่าทีชัดเจนในเวทีแก้ปัญหาโลกร้อนระดับโลก และที่ผ่านมาจอห์น เฮาเวิร์ด ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียมายาวนานหลายปีก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยอมลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

จนกระทั่ง เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียเพิ่งจะตัดสินใจลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หลังจากใช้เวลาตัดสินใจกว่าสิบปี

การเปลี่ยนท่าทีของออสเตรเลียนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เควิน รัดด์ ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ออสเตรเลียแทนจอห์น เฮาเวิร์ด เควิน รัดด์ ไม่เพียงแต่จะดำเนินนโยบายในทางตรงกันข้ามกับนายกฯ คนก่อนหน้า โดยเฉพาะการสั่งถอนกำลังพลทหารสัญชาติออสเตรเลียออกจากสงครามอิรักเท่านั้น แต่เขายังลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโตทันทีตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเกียวโต

สหรัฐฯ เองเคยออกมาโต้กลับนานาประเทศว่า เหตุที่สหรัฐฯ ไม่ยอมลงสัตยาบันทั้งๆ ที่ถูกกดดันอย่างหนัก นั่นเป็นเพราะว่าประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตเอง ก็ยังตอบข้อสงสัยสหรัฐฯ ไม่ได้ว่า ความยุติธรรมในการปฏิบัติกับประเทศสมาชิกที่จะร่วมลงนามหรือสัตยาบันนั้นอยู่ตรงไหน โดยบุชยกตัวอย่างของอินเดียและจีนที่ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ทำไมลงสัตยาบันแต่ได้รับข้อยกเว้นในการลดอัตราของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพียง เพราะอ้างเหตุผลว่าประเทศของตนกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรม

แม้กระทั่งประเด็น "ตลาดค้าคาร์บอน เครดิต" เพราะในรายละเอียดของพิธีสารเกียวโตตอนหนึ่งระบุว่าประเทศหรือบริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่กำหนดเอาไว้ ก็สมควรจะต้องซื้อโควตาส่วนที่เกินไปนั้นจากประเทศอื่น คือ ต้องยอมจ่ายเงินให้กับประเทศที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่า

ในทางกลับกันประเทศที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่าก็ต้องได้รับเงินจากประเทศที่ปล่อยก๊าซมากกว่า โดยบุชตั้งคำถามเอาไว้หลายครั้งว่าต้องหาข้อสรุปและจุดกึ่งกลางที่ดีให้ได้เสียก่อนแล้วค่อยกลับมาย้อนถามว่าเมื่อใดสหรัฐฯ จึงจะร่วมลงสัตยาบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกมาโต้กลับของ บุช โดยเฉพาะเรื่องของตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ทำให้ในเวลาต่อมา หลายบริษัทในหลายประเทศเริ่มมองย้อนกลับว่าหากเป็นเช่นนั้นตนก็เพียงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ยังปล่อยก๊าซน้อยกว่า และประเทศ นั้นก็เป็นคนจ่ายต้นทุนของการปล่อยก๊าซแทน และทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงภาระรับผิดชอบให้กับประเทศต้นสังกัดของตนได้ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานต่ำ และยังมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่สูงนัก หรือแม้จะสูงมากแต่ก็ได้รับการยกเว้น อย่างเช่นจีน

ขณะที่จีนเริ่มแสดงท่าทีแนวคิดที่ว่า และเริ่มออกมาวิพากษ์กลับว่า หากเป็นเช่นนั้นจีนก็น่าจะสามารถเรียกร้องให้เจ้าของบริษัทที่มาลงทุนและตั้งฐานการผลิตใหม่ในจีนต้องร่วมรับผิดชอบกับการจ่ายค่าการตลาด คาร์บอนเครดิตด้วย นอกจากนี้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าราคาถูกผลิตจากจีน ก็ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าการตลาดนี้ด้วย เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยทางอ้อม

จนถึงเวลานี้ความวุ่นวายในการหาข้อ ยุติที่ยอมรับกันได้ทั้งหมดทุกฝ่ายยังไม่สิ้นสุด ขณะที่เวทีประชุมโลกร้อนครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นในบาหลีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาก็ยังหาจุดกึ่งกลางของความพอดีในการแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้

มีบางคนพูดว่า ตราบใดที่ยังหาข้อตกลงที่ทุกคนพอใจไม่ได้ งานนี้ต่อให้คนในออสเตรเลีย หรือคนทั้งโลกหันมาใช้ถุงผ้าใส่ของแทนถุงพลาสติกกันหมด ก็คงจะไม่ได้ช่วยทำให้โลกร้อนน้อยลงแต่อย่างใด

ส่วนออสเตรเลียนั้นถึงแม้จะลงสัตยาบันพิธีสารเกียวโตไปแล้ว และอยู่ในระหว่างการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แต่ก็เชื่อกันว่าปีหน้าฝนที่โกลด์โคสต์อาจจะตกในเดือนมีนาคม ออสเตรเลียก็ยังจะประสบปัญหาภาวะแห้งแล้งในบางพื้นที่

นั่นเป็นเพราะระยะเวลาที่ออสเตรเลีย ร่วมลงสัตยาบันป้องกันโลกร้อน ช่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับเวลาที่ออสเตรเลียเคยใช้ไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.