เหล็กเส้น ยิ่งนานยิ่งร้อน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปีนี้เรื่องเหล็กจะร้อนกวาปีที่แล้ว" ดุลยกร ภิญโญสินวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคนใหม่ ที่เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้วเปรียบเปรยคาดคะเนสถานการณ์ทางด้านเหล็กเส้นที่กำลังระอุร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิของดินฟ้าอากาศยามนี้

ยิ่งร้อนเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระของดุลยกรที่จะต้องหาทางปัดเป่าให้คลี่คลายลง ในฐานะผู้นำองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างที่เป็นผู้ใช้เหล็กเส้นรายใหญ่ในบ้านเรา

ส่วนวิธีการ รูปแบบที่จะบรรเท่าความร้อนรุ่มของผู้รับเหมาจะดุเดือดแหลมคมถึงขั้นสำแดงกำลังเหมือนครั้งมิถุนายนก่อนหรือไม่นั้น ดุลยกรบอกว่า อย่าเพิ่งให้พูดตอนนี้เลย รอดูกันต่อไปก็แล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร

ปัญหาของผู้รับเหมาในเรื่องเหล็กเส้นซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหลักตัวหนึ่งก็คือ ความขาดแคลนและมีราคาแพง

ผู้ผลิตเหล็กเส้นในเมืองไทยทั้งรายใหญ่รายน้อย 50 กว่า รายมีกำลังการผลิตรวมกันแล้วเท่ากับหนึ่งล้านสองแสนตันต่อปีในขณะที่การขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างทำให้ความต้องการใช้มีสูงถึงหนึ่งล้านห้าแสนตัน ส่วนที่ขาดอยู่นั้นคือความหนักอกของผู้รับเหมาที่ไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามเวลาเพราะหาเหล็กไม่ได้ แม้จะกำเงินสด ๆ ไปซื้อถึงหน้าโรงงานก็ยังหาซื้อไม่ได้

ส่วนที่พอจะหาได้นั้นก็มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเฉลี่ย 20 % ตามกฎเกณฑ์ธรรมดาที่เมื่อใดของซื้อมีมากกว่าของขาย ก็เป็นโอกาสของผู้ขายที่จะเขยิบราคาขึ้นไปได้ ประกอบกับเศษเหล็กแห่งที่น่ำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นมีราคาสูงขึ้นด้วย ผู้ผลิตเลยถือเป็นเหตุในการขึ้นราคาด้วย

ราคาเหล็กเส้นที่สูงขึ้นทำให้ผู้รับเหมาต้องขาดทุน่จากงานที่ได้มีการกำหนดราคากัน่ไว้ล่วงหน้าก่อนที่เหล็กเส้นจะขึ้นราคา

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2530 ลู่ทางที่พอจะมีอยู่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าคือ การสั่งเหล็กเส้นเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ไปติดอยู่ที่ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเหล็กเส้น และกำแพงภาษีที่กระทรวงการคลังตั้งเอาไว้ เป็นปราการสกัดกั้นถึงสองชั้นตามสูตรสำเร็จของการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ ที่ใช้กันมาแต่ไหนแต่ไร

ภาษีนำเข้าเหล็กเส้นนั้นตั้งกันไว้ที่ 25% เมื่อบวกกับภาษีการค้าและกำไรมาตรฐาน 27% แล้วทำให้อัตราภาษีสูงลิ่วถึง 38.5% สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งตอนนั้น สมบัติ เพชรตระกูล ยังเป็นนายกอยู่ต้องออกโรงปกป้องผลประโยชน์ของมวลสมาชิกด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามนำเข้า และลดภาษีลงให้เหลือเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์

ข้อเรียกร้องนี้ยืดเยื้อมาเป็นเวลามานถึงหกเดือนโดย ไม่มีท่าทีตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด กระทรวงพาณิชย์นั้นยอมยกเลิกการห้ามนำเข้า แต่กระทรวงการคลังเจ้าของกำแพงภาษีไม่ยอมลดภาษี เพราะเกรงว่าจะสูญเสียรายได้ และทำให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศได้รับผลกระทบจากมุมมองของตนเอง จนกระทั่งสถานการณ์ความขาดแคลนทรุดหนักลงยิ่งขึ้นจากการเปิดโรงงานของจีเอส สตีล และเตาหลอมของบริษัทกรุงเทพผลิตเหล็กระเบิดต้องหยุดการผลิตบางส่วน ทั้งสองรายนี้เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่ ที่ทำให้ปริมาณเหล็กร่วมหมื่นกว่าต้นต้องหายไปจากท้องตลาด บวกกันเข้ากับการเร่งเร้าที่กระชั้นยิ่งขึ้นของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้กระทรวงการคลังยอมลดภาษีนำเข้าเหล็กเส้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 จากอัตรา 25% เหลือเพียง 20%

เป็นอัตราที่ผู้รับเหมาเห็นว่ายังสูงอยู่ดี แถมเป็นการลดภาษีให้เฉพาะเหล็กเส้นชนิดกลม ส่วนเหล็กข้ออ้อยซึ่งใช้กันมากถึง 30% ของเหล็กเส้นทั้งหมดยังต้องเสียภาษีในอัตรา 25% เหมือนเดิมและการลดครั้งนี้ยังได้ลดภาษีเหล็กแท่งซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นจาก 25% เหลือ 15% จึงดูเหมือนว่าผู้ได้ประโยชน์จะเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้รับเหมา

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างจึงเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่จากเดิมที่ใช้เพียงการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลเป็นระยะ ๆ หันมาเล่นลูกแรงขึ้นด้วยการระดมกรรมกรในสังกัดสมาชิกสมาคมมาชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนมิถุนยน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกภาษีเหล็กเส้นทุกประเภท เป็นการชั่วคราวแทนการลดภาษีตามข้อเรียกร้องเดิม สำทับส่งท้ายไปกับข้อเรียกร้องก็คือหากไม่ได้ตามต้องการแล้ว ผู้รับเหมาทั่วประเทศ่จะผละงานที่ทำอยู่ทั้งหมด

แกนกลางของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นก็คือ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเหล็กเส้นของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งตัวประธานอนุกรรมการไม่ใช่ใครที่ไหนคือดุลยกรนี่เอง

โดนเข้าไม้นี้ กระทรวงการคลังต้องทบทวนการตัดสินใจใหม่ และยอมลดภาษีลงมาอีกจาก 20% เหลือ 15% สำหรับเหล็กเส้นทุกประเภท แต่เป็นการลดแบบชั่วคราวเพียงหากเดือนเท่านั้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 15 ธันวาคม 2531

แม้จะเป็นแค่การลดภาษีไม่ใช่การเลิก แต่การสนองตอบจากรัฐบาลในข้อเรียกร้องอื่นคือ การยืดเวลาการส่งมอบงานก่อสร้างในภาครัฐบาลออกไปอีก 120 วัน และการชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้ยให้กับผู้รับเหมาก็พอที่จะทำให้ความร้อนรุ่มของผู้รับเหมาบรรเทาลงไปได้บ้าง ประจวบกับย่างเข้าหน้าฝน งานก่อสร้างเริ่มลด่น้อยลงและสองโรงงานใหญ่ที่หยุดการผลิตไปเริ่มเดินเครื่องใหม่ปัญหาการขาดแคลนเหล็กเส้นจึงคลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง

วิกฤตการณ์เหล็กเส้นยกที่หนึ่งที่ยืดเยื้อถึงแปดเดือนจึงยุติลงแต่ก็เป็นเพียงการพักชั่วคราวระหว่างยกเท่านั้น ความเป็นจริงของสถานการณ์การก่อสร้างก็คือการเฟื่องฟูอย่างขีดสุดของการสร้างบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในช่วงสองสามปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะที่การผลิตเหล็กเส้นถูกคุมกำเนิดไว้ด้วยข้อห้ามการตั้ง หรือขยายโรงงานใหม่ เพื่อคุ้มรองผู้ผลิตที่มีอยู่แล้วกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่งจะผ่อนผันให้มีการขยายกำลังการผลิตได้เมื่อปลายปีที่แล้ว ปมเงื่อนของปัญหาเหล็กเส้นนี้จึงอยู่ที่ภาคการผลิตไม่ทันการขยายตัวของการบริโภค เพราะการดำเนินนโยบายคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศที่ไม่สอดคล้องและปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนของตลาดผู้ใช้

สัญญาณเตือนของวิกฤตการเหล็กเส้นที่ยกที่สองดังขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอยืดเวลาการลดภาษีนำเข้าเหล็กเส้นออกไปอีกปีหนึ่ง เพื่อตรึงราคาให้อยู่ในระดับหมื่นกว่าบาทต่อตัน และเพื่อเป็นหลักประกันวาจะมีเหล็กเส้นเพียงพอเพราะทางสมาคมเองก็ไม่แน่ใจว่าผู้ผลิตในประเทศจะสามารถผลิตได้พอหรือไม่

แต่จนแล้วจนรอดกระทรวงการคลังก็ยืนยันไม่ต่ออายุการลดภาษีให้ หลังวันที่ 15 ธันวาคม 2531 อัตราภาษีเหล็กเส้นจึงขึ้นไปยืนอยู่ที่ 25% เหมือนเดิม และวงจรเก่า ๆ ที่ซ้ำรอยกับวิกฤตการณ์เมื่อปีที่แล้วก็เริ่มต้นใหม่คือเหล็กเส้นไม่พอและมีราคาแพง

"ราคาเหล็กเส้นตามตัวเลขของกรมการค้าภายใน คือ 10,800 บาทต่อตัน แต่ราคาห้องตลาดเท่ากับ 13,500 บาทต่อตันแถมยังหาซื้อไม่ได้ด้วย" ดุลยกรพูดถึงสถานการณ์เหล็กเส้นในตอนนี้ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาวะการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

คราวนี้สมาคมอุตสาหกรรมการก่อสร้างเรียกร้องให้ลดภาษีลดลงเหลือเพียง 5% เพราะว่าเหล็กเส้นจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ถ้าลดลงมาเป็น 15% เหมือนครั้งที่แล้วจะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าแพงมาก

กระทรวงการคลังนั้นยืนยันว่าถ้าจะให้ลดก็ลดแค่ 5% เหลือเพียง 20% เท่านั้น ถ้าลดมากกว่านี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และเชื่อว่าปริมาณเหล็กเส้นที่ขาดอยู่สองแสนตันในตอนนี้ ถ้าโรงงานขยายเวลาการผลิตก็จะสามารถผลิตได้พอเพียงต่อความต้องการ

"ตอนนี้โรงงานเขาทำกันทั้งวันทั้งคืนก็ยังไม่พอ" ดุลยกรโต้ความเห็นของกระทรวงการคลังซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเชื่อว่าเหล็กเส้นขาดแคลนจริง

รูปธรรมที่เกิดขึ้นจากปัญหาาการขาดแคลนเหล็กเส้นที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ การก่อสร้างในภาครัฐ่บาลต้องชะงัก เนื่องจากผู้รับเหมาไม่กล้าประมูลงานเพราะกลัวขาดทุนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ โครงการก่อสร้างอขงหน่วยงานสำคัญ ๆ ทางราชการ 12 หน่วยที่มีจำนวนรวมกัน 206 โครงการคิดเป็นมูลค่า 2,121 ล้านบาทเปิดประมูลได้เพียง 86 โครงการซึ่งทุกโครงการเป็นการประมูลที่มีวงเงินเกินงบประมาณที่ตั้งเอาไว้รวมกันแล้วเป็นเงินที่เกิน 163 ล้านบาทหรือ 21.32 % ของงบประมาณ

อีก 55 โครงการไม่มีผู้รับเหมารายใดมาซื้อแบบเพราะคิดแล้วไม่คุ้มแน่อีก 74 โครงการมีผู้รับเหมาหลวมตัวมาซื้อแบบ แต่พอคำนวณราคาแล้วไม่กล้ายื่นประมูลเพราะเสี่ยงต่อราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นทุกที ๆ

รวมแล้วในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้มีโครงการที่ไม่สามารถว่าจ้างได้ 129 โครงการคิดเป็นงบประมาณ 463 ล้านบา "ผมอยากจะรู้ว่า ถ้ายังเป็นอย่างนี้ โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคชะงักเป็นร้อย ๆ โครงการ ตอนสิ้นปี่งบประมาณ รัฐบาลจะไปตอบสภาว่าอย่างไร" ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา เลขาธิการสมาคมชี้ให้เห็นผลต่อเนื่องที่จะตามมาจากปัญหานี้

ส่วนการก่อสร้างในภาคเอกชนซึ่งได้แก่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเป็นส่วนใหญ่นั้น ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือ ต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นเกือบ 30% ตามราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากเหล็กเส้นแล้ว ทั้งปูน หิน ทราย ไม้ก็พร้อมใจกันขึ้นราคาเหมือน ๆ กัน ส่วนที่ขึ้นมานี้ผู้ซื้อบ้านต้องเป็นฝ่ายควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น

รูปแบบการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงดึงเอาสมาคมบ้านจัดสรร และสมาคมการค้าอาคารชุดเข้ามาเป็นแนวร่วมยื่นข้อเรียกรอ้งต่อรัฐบาลให้ยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กเส้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เห็นด้วยเพียงแค่ให้ลดภาษีจาก 25% เหลือเพียง 10% และลดให้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น

"ลดลงมาเหลือ 10% ก็ยังสูงอยู่ดี เพราะขณะนี้เหล็กนอกแพงมาก" ดุลยกรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับยืนยันความต้องการของผู้รับเหมาว่า ต้องการให้เลิกภาษี ไม่ใช่ลดภาษี

กาลดภาษีของกระทรวงการคลังในครั้งนี้จึงเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ชะลอปัญหาออกไปก่อนเหมือนการตัดสินใจเมื่อปีที่แล้ว

ถึงตอนนี้ เรื่องของเหล็กเส้นไม่ใช่ปัญหาที่จำกัดวงอยู่แค่ผลประโยชน์ของผู้รับเหมาหรือการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศแล้ว แต่ได้ขยายวงออไปถึงภาระของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น และกระทบกระเทือนถึงธุรกิจบ้านจัดสรรกับคอนโดมิเนียม ที่เป็นเครื่องชี้ความเติบโตในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของรัฐบาลคณะที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรในเรื่องนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.