การเบนความสนใจของ "นักธุรกิจ" ทั้งหลาย ให้หันเหไปสู่ "ธุรกิจ"
ที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือ "ธุรกิจ" ที่ยังไม่เห็นอนาคต ไม่ใช่เรื่องง่าย
หากแต่บางเรื่อง ที่มีอนาคต นัยว่าจะสดใสก็กลับถูกมองข้ามไป ผู้ที่ใส่ใจส่วนใหญ่ก็เป็นเฉพาะคนในวงการเท่านั้น
ธุรกิจพาณิชยนาวี เป็นธุรกิจที่มีมานานแล้วในบ้านเราแต่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่รู้จักก็เมื่อไม่กี่ปีมานี้
นโยบายของรัฐที่เน้นการส่งออก ผนวกกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนของธุรกิจพาณิชยนาวีในบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
(BALANCE OF PAYMENT) เป็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตามตัวเลขจากรายงานประจำเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยจากปี
2529 มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2530 มีมูลค่าประมาณ 39,859
ล้านบาท นั่นคือสาเหตุ ที่ทำให้ธุรกิจพาณิชยนาวีตกอยู่ในความสนใจของคนหลายกลุ่ม
มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
วันนี้ เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมากมากในวงการพาณิชย์นาวีการเคลื่อนไหวปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางอออกของปัญหาตั้งแต่การบริการ
การนำเทคนิคเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ หรือแม่แต่การวางแผนพัฒนาเพื่ออนาคตกำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างเงียบ
ๆ
"ปรากฏว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างมาก การนำเข้าส่งออกในท่าเรือคลองเตยจึงเกิดความแออัดบริษัทเรือที่มองเห็นปัญหา
จึงมุ่งเน้นไปใช้ท่าเรือที่สัตหีบ เพราะในเวลานี้ มีท่าเรือสัตหีบเท่านั้นที่เหมาะสม"
วชิระ สมัคคามัย OPERATION MANAGER ของบริษัทเรือ อเมริกันเพรสซิเค้นท์ไลน์
หรือ APL กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงปัญหาที่ประสบ และหนทางการแก้ไข
รวมทั้งแรงจูงใจอย่างสั้น ๆ
บริษัทเรือที่มองเห็นปัญหาตามที่วชิระกล่าว นั่นก็คือบริษัท AMERICAN PRESIDENT
LINE หรือที่รู้จักกันในวงการว่า "APL" บริษัทที่วัชระร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันถึง
9 ปีเต็ม ๆ
APL เป็นบริษัทเรือในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกองเรือใหญ่มากรายหนึ่งของโลกและมีเอเยนต์กระจายอยู่ทั่วโลกเป็นสายการเดินเรือชื่อดังทั้งในและนอกประเทศ
เมื่อประมาณ 13 ปีก่อน APL ก็เคยเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยอยู่พักหนึ่ง
ประมาณปีสองปีเห็นจะได้ แต่คงเป็นเพราะ "จุดไม่คุ้มทุน" เป็นต้นเหตุทำให้
APL ต้องถอนทัพกลับไป ซึ่งก็เป็นเรื่องธรราดาของธุรกิจเมื่อเกิดการขาดทุน
ก็ต้องร้างลามือประกอบกับสมัยก่อน ตลาดเป็นของผู้ใช้บริการ ปริมาณการขนส่งสินค้า-การซื้อขายระหว่างประเทศก็ไม่มีมากมายอย่างทุกวันนี้
อีกประมาณ 2 ปีถัดมา APL กลับเข้ามาอีกครั้ง พร้อมกับฝังรากลึกมากจนทุกวันนี้
9 ปีเต็ม ๆ และตลาดตอนนี้ก็เปลี่ยนไปกลายเป็น ตลาดของผู้ให้บริการคือบริษัทเรือนั่นเอง
ตู้สินค้า คอนเทนเนอร์ผ่านเข้าออกท่าเรือคลองเตยปีละหลายแสนตู้ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มกับเพิ่ม
ปัญหาหลายอย่างรวมตัวกัน จนเกิดปัญหาท่าเรือแออัด (CONGESTION) พื้นที่กองตู้สินค้าเปล่า
พื้นที่กองตู้บรรจุสินค้าในท่าไม่เพียงพอ ระบบการลำเลียงตู้สินค้า ทุกอย่างดูเหมือนจะติดขัดล่าช้าไปเสียหมด
นัยว่า APL มองเห็นปัญหานี้จึงได้พยายามเบนเข็ม ไปใช้ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบแทน
ซึ่งเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะมีผู้ประกอบการรายอื่นน้อยมาก "ปัญหาคือ
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือรอบ ๆ กรุงเทพฯ ดังนั้นบริษัทเรือจะต้องทำหน้าที่นำสินค้าจากสัตหีบมาให้ลูกค้าที่กรุงเทพฯ"
วชิระพูดถึงภาระของ APL เมื่อต้องไปใช้ท่าเรือสัตหีบ นั่นคือบริการการลำเลียงตู้สินค้าของ
APL
โดยกรรมวิธีแล้ว เมื่อตู้สินค้าถูกยกลงจากเรือแล้ว จะมีรถเทรเลอร์มารับตู้สินค้านี้
และลำเลียงออกไปซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณี (2 พื้นที่) คือ ซี.วาย. (CONTAINER
YARD) ลูกค้าจะมีความประสงค์ที่จะเอาตู้ไปเปิดที่โกดังสินค้าของตัวเอง ดังนั้นบริษัทเรือจึงไม่ต้องแตะต้องใด
ๆ เลย เพียงแต่นำตู้ไปวางไว้ที่พื้นที่ หนึ่ง ซี.เอฟ.เอส (CONTAINER FREIGHT
STATION) ตู้สินค้าประเภทนี้มักจะมีเจ้าของสินค้าหลายรายต่อหนึ่งตู้ ลูกค้าจะมารับสินค้าจากบริษัทเรือโดยตรง
ดังนั้นบริษัทจะต้องทำการเปิดตู้ แล้วนำสินค้าออกมาเก็บไว้ในโกดังสินค้า
จนกว่าจะมีลูกค้ามารับเอาไป ตู้ประเภทนี้ก็จะถูกกองไว้อีกพื้นที่หนึ่ง ส่วนการลำเลียงสินค้าขาออกก็มีวิธีการอย่างเดียวกัน
นอกจากนั้นก็จะมีการตรวจปล่อยสินค้า การออกของโดยผ่านพิธีทางศุลกากร ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานการท่าเรอบ้าง
ของกรมศุลกากรบ้าง
ผลปรากฎปัจจุบันนี้ ที่ ซี.วาย.และ ซี.เอฟ.เอส. จะมีเจ้าหน้าที่ควบคุม
ที่สามารถให้ความสะดวกแก่เจ้าของสินค้าได้อย่างในท่าเรือคลองเตย เกิดขึ้นแล้วที่
"คลังสินค้าบางซื่อ" อันเป็นพื้นที่ของการรถไฟ ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของ
APL
บริษัทเรือ APL ได้กระโดดเข้ามา ยื่นเรื่องเสนอขอใช้พื้นนั้น ติดต่อทาบทามการรถไฟฯ
ขอความร่วมมือจากกรมศุลากากรที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อทำซี.วาย.และ ซี.เอฟ.เอส โดยใช้คลังเก็บสินค้าที่มีอยู่แล้วของการรถไฟฯ
ให้เป็นประโยชน์ ต่อเนื่องกับเส้นทางรถไฟจากสัตหีบเชื่อมตรงมายังคลังสินค้าที่บางซื่อ
สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหา แต่ปรากฎว่าไม่มีปัญหา สำหรับผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า
ตั้งแต่ความไม่สะดวก ความล่าช้าของขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีศุลกากร ถูกขจัดหมดสิ้นไป
เพราะผู้มาติดต่อขอออกของอันได้แก่ บริษัทชิปปิ้ง มีจำนวนน้อยประการหนึ่ง
ผนวกกับหน่วยงานของศุลกากรถูกรวมไว้ ณ จุดเดียวอีกประการหนึ่งพิธีการตรวจเช็กต่าง
ๆ จึงสะดวกรวดเร็ว ผ่านจากโต๊ะหนึ่ง ไปยังอีกโต๊ะหนึ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งผิดกับที่ท่าเรือคลองเตย
เจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่ง บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ที่โน่น
ชิปปิ้งต้องโดดไปตึก โน้นบ้าง ตึกนี้บ้าง ก็ล่าช้ายุ่งยากพอสมควร แต่ที่นี่ทุกอย่างรวมไว้หมด
ไม่ต้องเดินไปไหนให้เสียเวลา" นั่นคือความสะดวกรวมเร็ว ที่ลูกค้าของ
APL ได้รับในแง่ของขั้นตอนต่าง ๆ แต่ อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องค่าใช้จ่าย
ถึงแม้ APL จะย้ายลานบรรจุตู้สินค้ามาที่บางซื่อ ตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ต้องถูกลากโดยรถไฟเพื่อไปขึ้นเรือที่ท่าเรือสัตหีบแต่
"ลูกค้าเคยเสียอัตราค่าบริการที่คลองเตยเท่าไหร่ ที่นี่ก็เสียเท่านั้น
ค่าลากอะไรก็ไม่ต้องเสีย" วชิระจาก APL พูดถึงบริการให้เปล่าของ APL
ให้ฟัง
แน่นอน ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมความสะดวกรวดเร็วมีมากขึ้นย่อมตกเป็นผลได้ผลดีแก่ผู้ใช้บริการ
วิชิระให้เหตุผลสนับสนุนว่า "…เรามุ่งเน้นไปที่คลังเก็บสินค้า ของรถไฟที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งมันจะได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้ และผู้ใช้บริการ เพราะทางรถไฟสายนี้ที่สร้างไว้
ก็เพื่อให้บริษัทเรือต่าง ๆไปใช้ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบตั้งแต่สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์นั่นแล้ว"
ประจวบเหมาะกันไปหมดปัญหาท่าเรือแออัด เป็นตัวผลักดันให้บริษัทเรือต่าง
ๆ ต้องดิ้นแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ไม่ใช่แต่เฉพาะ APL เท่านั้น หากแต่ APL
นั้นได้มีการบุกเบิกการขนส่งแบบ MULTIMODEL มาตั้งแต่อยู่สหรัฐอเมริกา APL
เป็นสายการเดินเรือสายแรกของโลกที่ขนสินค้าจากแปซิฟิก ไปทางแถบแอตแลนติก
โดยขึ้นท่าเรือแถบอเมริกาตะวันตก แล้วลำเลียงต่อไปทางตะวันออกด้วยรถไฟ ประสบความสำเร็จไปแล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเทคนิคอย่างนั้นมาบุกเบิกในประเทศไทยอีกด้วยหลาย
ๆ อย่างประจวบเหมาะกันเช่นนี้
6 เดือนผ่านมาของคลังสินค้า APL ที่บางซื่อ คงต้องล้มลุกคลุกคลานกันบ้าง
เพราะค่าภาระอันเกิดจากการลำเลียงตู้สินค้า ระยะทางไกลเช่นนั้นรวมไปถึงการลงทุน
ในเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ ที่บางซื่อมากมิใช่น้อย แต่ในระยะ LONG RUN
จะเป็นอย่างไร นั่นคือ จุดมุ่งหมายของบริษัทใหญ่ ๆ ที่คิดจะยิ่งยงอยู่ในธุรกิจ
โดยเฉพาะบริษัทเรืออย่าง APL คุณภาพของงาน กับราคาที่เหมาะสมการมองตลาดระยะยาว
จากเส้นทางในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีแนวโน้มว่า เส้นทางการค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน
ๆ เช่นนี้ก็คือ การมองจุดคุ้มทุนในวันข้างหน้า คงจะไม่ต่างกันนัก
ไม่เกินปลายปีนี้ ฝ่าย OPERATION ของ APL ทั้งหมดจะย้ายจากคลองเตยถิ่นเก่า
ไปลงหลักปักฐาน ณ ถิ่นใหม่ที่บางซื่อ นั่นคือ รูปแบบแห่งการตัดสินใจที่มองไกลของ
APL กับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวงการธุรกิจพาณิชยนาวี