ย้อนหลังไปเมื่อกันยายน ปี '30 เหตุการณ์ในบอร์ดรูมของอาคเนย์ประกันภัย
ดูวุ่นวายไปหมด เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าแก่กลุ่มหนึ่งนำโดย นรฤทธิ์ โชติกเสถียร
ถูกกลุ่มผู้ถือหุ้น ศรีกาญจนา และบุณยรักษ์ นำโดย ดร.ศักดา บุณยรักษ์ เขี่ยออกจากการเป็นกรรมการ
และผู้บริหารในบริษัท
เหตุผลสำคัญเกิดจากกลุ่มนรฤทธิ์ มีสัดส่วนหุ้นน้อยกว่า และไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารรายอื่น
ๆ ในบอร์ดจากกรณีการเข้ามาถือหุ้นส่วนของบริษัทจอห์น แฮนด๊อก มิวชวลไลฟ์
แห่งสหรัฐอเมริกา ที่กลุ่มนรฤทธิ์ ไปชักชวนให้เข้ามา
เป็นเวลาปีเต็ม ๆ ที่กลุ่มนรฤทธิ์ พยายามแสวงหาหนทางกลับเข้าไปมีอำนาจใหม่ในอาคเนย์
แต่ก็ดูล้มเหลว แม้หนทางที่ว่านี้ดูจะใช้ต้นทุนสูงมากก็ตาม
"ผมเสนอซื้อหุ้นจากกลุ่มคุณพายัพในราคาประมาณ 3,000 บาท / หุ้น สูงกว่าราคาหุ้นที่ผมกว้านซื้อมาเมื่อสิงหาคม
ปี '30 ถึง 1 เท่าตัว ตอนแรกผมก็พอมั่นใจว่า ทางฝ่ายพายัพจะขายเพราะราคาที่ผมเสนอมันสูงมาก"
นรฤทธิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการต่อสู้เพื่อกลับคืนสู่บริษัทอาคเนย์ของเขา
เป้าหมายคู่ต่อสู้ของเขาไม่ใช่พายัพ แต่เป็น ดร.ศักดา บุณยรักษ์ ที่เขามั่นใจว่า
เป็นเสนาธิการที่วางแผนเขี่ยกลุ่มเขาออกจากอาคเนย์ฯ เมื่อปีก่อน
ดูเหมือนศักดา บุณยักษ์ ก็รู้ตัวดีว่า เขาคือเป้าหมายที่กลุ่มนรฤทธิ์ประกาศศึกโดยตรงด้วยปลายปี
'31 เขาจึงโน้มน้าวให้พายัพจัดตั้งบริษัทอาคเนย์โฮลดิ้งขึ้น เพื่อปิดประตูแทรกตัวเข้ามาของกลุ่มนรฤทธิ์
อาคเนย์โฮลดิ้ง เป็นบริษัทแม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนถือหุ้นประมาณ 56%
ในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย ผู้ถือหุ้นอาคเนย์โฮลดิ้งก็คือ กลุ่มพันธมิตรพายัพ
ศักดา ทินศักดิ์ และพฤติสาน ชุมพล โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ดร.ศักดา กับพายัพ
นรฤทธิ์ มีความเชื่อว่า ปัจจุบัน ดร.ศักดา มีหุ้นอยู่ในอาคเนย์ประกันภัยเพิ่มขึ้นจากประมาณ
5% เมื่อปี '30 เป็น 31% แล้ว ซึ่งมีความหมายมากต่อฐานะของพายัพ และลูกชายคือ
จุลพยัพในอาคเนย์ฯ
เมื่อหนทางการกลับมาในอาคเนย์ฯ ถูกปิดล้อมด้วยเทคนิคการควบคุมหุ้นส่วน และต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนดอกเบี้ยอีกเกือบปีละ
8 ล้านบาท ที่กลุ่มนรฤทธิ์ไปกู้มาจากสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาติตอนกว้านซื้อหุ้น
ปี '30 เป็นแรงกดดัน 2 ประการที่ทำให้นรฤทธิ์ตัดสินใจขายหุ้นในกลุ่มของตนที่มีอยู่ในอาคเนย์ประกันภัยแก่
เจริญ ศิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อสุราทิพย์
"ผมตกลงกับกลุ่มผมว่า จะขายในราคาประมาณ 1,500 บาท / หุ้น ส่วนหุ้นของผมกับอาทรจะขายออกไปในราคาประมาณ
1,200 บาท / หุ้น" นรฤทธิ์พูดถึงการขายหุ้นแก่เจริญให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
การตกลงซื้อขายหุ้นกันครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว นับว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่มีอดีตอันยาวนาน
เจริญ ศิริวัฒนภักดี ในปี 2 ปีมานี้ เขาซื้อกิจการหลายแห่งเข้ามาในอาณาจักรธุรกิจของเขา
ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ธนาคารมหานคร อินเตอร์ไลฟ์
เขาเป็นคนที่มีสไตล์การทำธุรกิจผสมผสานกัน 2 ลักษณะ คือ ด้านหนึ่งเขาเป็นคนเจรจาธุรกิจที่ตรงไปตรงมา
ไม่อ้อมค้อมแบบคนจีน ที่ถือความจริงใจเป็นที่ตั้ง อีกด้านหนึ่งเขาก็มีสต๊าฟที่ประกอบด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจสมัยใหม่
ในจำนวนมากที่คอยป้อนข้อมูลและหาทางเลือกให้เขาตัดสินใจในธุรกิจ
การซื้อหุ้นจากกลุ่มนรฤทธิ์ในอาคเนย์ฯ เขาใช้เวลาเจรจาเพียง 3 ครั้งก็ตกลงกัน
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอาคเนย์ประกันภัยที่ทอดเวลาไปข้างหน้าอีก 3 ปี
อาจอยู่ในมือของเจริญก็เป็นได้
สไตล์การทำธุรกิจของเขากับ ดร.ศักดา มันต่างกันราวฟ้ากับดิน คนนึ่งเป็นกรรมการที่ชอบแบบถึงลูกถึงคน
ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นนักวิชาการเต็มตัว ใช้วิจารณญาณบนพื้นฐานของข้อมูล และหลักทฤษฎี
ความแตกต่างในสไตล์การบริหารและความคิดเชิงนโยบายของเจริญ กับ ดร.ศักดา ในเช่นนี้
ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จุดแตกหักในความขัดแย้งในบอร์ดรูม จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
คนอย่างเจริญเขาลงทุนในธุรกิจใด ๆ ไม่ชอบมีใครที่เป็นคนอื่นเข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วย…
คอยดูกันต่อไป ละครชีวิตบทใหม่ในอาคเนย์ฯ !