เจาะแผน โลว์คอสต์ ชิงใจลูกค้า ปรับตัวสู้วิกฤตน้ำมันแพง!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สงครามราคาน้ำมันเดือด กดดันให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์ต่างปรับกลยุทธ์และเริ่มเปลี่ยนเกมรบใหม่ทันทีเมื่อผู้เล่นหลัก 3 ค่าย ทั้งนกแอร์ วันทูโก และไทยแอร์เอเชีย พร้อมใจกันปรับแนวทางการสื่อสารใหม่ หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันมาตลอดเกินร้อยเหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเริ่มพ่นพิษใส่ธุรกิจสายการบินอย่างชัดเจนเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงนั้นถือเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจการบิน คิดเป็นสัดส่วน 25-30%

แม้ส่วนใหญ่สายการบินจะทำการประกันความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาน้ำมันเอาไว้แต่จากการน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นตลอดอย่างไม่มีใครคาดคิด และไม่รู้ว่าจะหาจุดจบตรงไหน ทำให้การประกันความเสี่ยงทำได้ยากและต้นทุนของสายการบินทุกสายเพิ่มขึ้นอย่างหนัก

ด้วยสภาพการแข่งขันในธุรกิจการบินสำหรับทุกค่ายแล้วมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้แต่ละค่ายต้องทยอยอกมาทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นแบรนด์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทางออกของสายการบินจึงหันไปปรับค่า ฟิวเซอร์ชาร์จ หรือค่าธรรมเนียมน้ำมันแทนการขึ้นราคาตั๋ว เพื่อหวังจะทดแทนภาระต้นทุนพลังงานที่พุ่งขึ้นได้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะครอบคลุมได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ในทางปฏิบัติ สายการบินก็ยังขาดทุนอยู่ดี เพียงแต่ลดปัญหาการขาดทุนให้ทุเลาเบาบางลงเท่านั้น

สายการบินบางสายได้หันมาหาทางออกด้วยการเรียกเก็บค่าสัมภาระใต้ท้องเครื่องใบละ 50 บาทแทนการขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันล่าสุด ไทยแอร์เอเชียสายการบินโลว์คอสต์เพิ่งประกาศนโยบายคิดค่าโหลดกระเป๋าที่จองผ่านเน็ตใบละ30 บาท หากแต่ถ้าโหลดที่สนามบินคิด 50 บาทต่อผู้โดยสาร 1คน และที่สำคัญต้องมีสัมภาระไม่เกิน 3 ใบ โดยเริ่มแล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาทั้งเส้นทางบินในและนอกประเทศ

นับเป็นเป็นทางเลือกของสายการบินต้นทุนต่ำที่ถูกนำมาใช้และก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ดูได้จากกรณีของการเก็บค่าสัมภาระใต้ท้องเครื่องของสายการบิน มาเลเซียนแอร์ไลน์สในประเทศมาเลเซียที่มีปัญหา ก็เคยใช้กลยุทธ์แบบนี้หาทางออกของบริษัท และเป็นการเพิ่มรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าจากผู้โดยสารโดยแบ่งคอมมิสชั่นให้กับพนักงาน ส่งผลให้ มาเลเซียนแอร์ไลน์สรอดพ้นวิกฤติสามารถฟื้นธุรกิจได้แม้รายได้ส่วนนี้จะไม่มากนักก็ตามแต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกู้วิกฤติที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น

ขณะที่สายการบินวันทูโก มองว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการบินเพิ่มสูงขึ้นตามโดยเฉลี่ยเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ ผ่านไปแล้วไตรมาสแรก ค่าใช้จ่ายด้านการบิน เพิ่มขึ้นไปกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านั้นมีการปรับขึ้นราคาไปแล้วแต่ก็ยังอยู่ไม่ได้

สิ่งที่สายการบินวันทูโกเร่งแก้ไขคือการปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดใหม่ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการผูกพันธมิตรร่วมกับโรงแรมต่างๆ หวังเพื่อขายตั๋วให้กับลูกค้าที่เข้าพักโดยจัดแพคเกจตั๋วเครื่องบินใหม่ เช่นซื้อตั๋วเที่ยวบินไป-กลับของ วันทูโก 1 คืน จะได้ห้องพักในราคาพิเศษ 99 บาท หรือการออกตั๋วโดยสารราคาพิเศษให้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อดึงลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันได้ส่วนหนึ่ง และ ทำให้สายการบินสามารถอยู่รอดได้

ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างสายการบินไทย ก็หนีไม่พ้นเจอพิษของต้นทุนราคาน้ำมันเข้าไปด้วยเช่นกันจากที่เคยประเมินไว้ที่ราคา 220 ยูเอสเซ็นต์ต่อแกลลอน แต่ราคาน้ำมันกลับพุ่งมาเป็น 300 ยูเอสเซ็นต์ต่อแกลลอน ส่งผลให้แผนปรับกลยุทธ์ของการบินไทยจึงหันไปเน้นเรื่องของการเก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สามารถครอบคลุมต้นทุนได้แค่เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น อย่างไรก็ตามแผนการต่อไปว่ากันว่าฝ่ายบริหารจัดการเล็งที่จะขึ้นค่าตั๋วด้วยเช่นกัน

ขณะที่สายการบินโลว์คอสต์ต่างๆเริ่มเคลื่อนไหวปรับค่าเซอร์ชาร์ทต่างๆ แต่สายการบินนกแอร์ คงเป็นสายการบินเดียวที่ยังสงวนท่าที และเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การสร้างสมาชิกเพิ่มโดยอาศัยสิทธิพิเศษมากมายมาเป็นจุดขายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุกๆ 15 เที่ยวบิน ผู้โดยสารสามารถแลกเที่ยวบินได้ฟรี จำนวน 1 เที่ยวบิน, สามารถเพิ่มน้ำหนักสัมภาระที่ต้องการบรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน ได้อีก 5 กิโลกรัม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม, รับสิทธิในการซื้อโปรโมชั่นต่างๆก่อนใคร รวมถึงสิทธิพิเศษในการรับส่วนลดจากพันธมิตรธุรกิจมากมาย และยังสามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวในเว็บไซต์ของนกแอร์ได้อีกด้วย

และช่วงหลายปีที่ผ่านมาการแข่งขันของแต่ละค่ายโลว์คอสต์แอร์ไลน์ยังคงเป็นไปในลักษณะต่างแข่งกันโต โดยใช้แคมเปญสงครามราคาถูกเป็นตัวกระตุ้นให้กับตลาดผู้ใช้บริการ ส่งผลให้สมรภูมิการแข่งขันในปีนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งเพราะต่อแต่นี้ไปสงครามด้านราคาในธุรกิจการบินต้นทุนต่ำอาจจะเป็นเพียงฉากบังหน้าที่สร้างขึ้นมาให้คนสนใจเท่านั้น เนื่องจากวิกฤตราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไม่หยุดนิ่งนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.