ไตรมาสแรก โฆษณาเฉา สื่อทีวีร่วงฉุดยอดรวมติดลบ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิดไตรมาสแรกไม่สวยอย่างที่นักโฆษณาส่วนใหญ่ตั้งความหวัง สำหรับงบประมาณการใช้เงินในธุรกิจโฆษณาผ่าน 8 สื่อหลักที่ นีลเส็น มีเดีย รีเสริช(ประเทศไทย) สรุปออกมา

ภาคเศรษฐกิจที่ซบเซาตลอดปีที่ผ่านมา ถูกคาดการณ์ว่าการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเข้ามาดูแล ผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า แต่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ภาระสำคัญของรัฐบาลดูจะมุ่งไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการโยกย้ายข้าราชการ ส่วนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ กลับการเป็นการแก้ปัญหามากกว่าการรุกหน้า ทั้งปัญหาราคาข้าว ราคาปุ๋ย จนถึงราคาน้ำมันที่ยังหาทางออกไม่ได้ ปล่อยให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน ผลกระทบที่ส่งมาถึงธุรกิจโฆษณาคือ ความถดถอยของเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ธุรกิจ

ยอดรวมเม็ดเงินโฆษณาในไตรมาแรกของปี 2551 มูลค่า 20,686 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2550 ที่มีมูลค่า 21,475 ล้านบาท อยู่ราว 3.67% โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การถดถอยของการใช้งบโฆษณาทางโทรทัศน์ ตลอด 3 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 11,778 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 12,757 ล้านบาท ประมาณ 7.67%

ด้านสื่อวิทยุที่ตกต่ำมาตลอดปีที่ผ่านมา เริ่มต้นปีนี้อย่างสวยงามต่อเนื่อง 3 เดือน ปิดไตรมาสแรกที่มูลค่า 1,534 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา 1,383 ล้านบาท ถึง 10.92% ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ ได้อานิสงส์ของการเติบโตในเดือนมีนาคม 5.50% ฉุดให้ตัวเลขตลอดไตรมาสแรก เติบโตขึ้น 1.20% โดยทำได้ 3,635 ล้านบาท ส่วนสื่อนิตยสารยังไม่สามารถสลัดพ้นจากความถดถอยได้ เม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่สื่อนี้ 1,245 ล้านบาท ลดลง 8.12% จากไตรมาสแรกของปีก่อนที่ทำได้ 1,355 ล้านบาท

ในกลุ่มสื่อขนาดเล็ก ความร้อนแรงของสื่อในโรงภาพยนตร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เริ่มลดลงเป็นลำดับจนถึงระดับติดลบในเดือนมีนาคม จบไตรมาสแรกที่ 990 ล้านบาท มีตัวเลขการเติบโตเหลือเพียง 4.21% สื่อ ขณะที่สื่อกลางแจ้ง ปัญหาป้ายโฆษณาล้มเป็นอีกปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจากเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ ที่ทำให้ เม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่น้อย ต้องน้อยลงอีก เหลือเพียง 364 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.15% ด้านสื่ออินสโตร์ กลายเป็นสื่อประเภทเดียวที่มีการเติบโตหยุดนิ่งทั้งในเดือนมีนาคม และโดยรวมในไตรมาสแรก มูลค่าตลอด 3 เดือน 46 ล้านบาท เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เอ็ม150 ขึ้นแท่นผู้นำต่อเนื่อง

หันมาดูที่การใช้งบโฆษณาประจำเดือนมีนาคม เครื่องดื่มให้พลังงาน เอ็ม150 จากค่ายโอสถสภา ครองตำแหน่งเจ้าบุญทุ่มใช้งบสูงสุดเป็นเดือนที่ 2 ด้วยมูลค่า 88.7 ล้านบาท ตามด้วย 2 กลุ่มรถยนต์จากโตโยต้า ทั้งรถปิกอัพ และรถยนต์นั่ง ที่ครองตำแหน่งผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุดอันดับ 2 และ 3 ด้วยงบประมาณ 64.9 ล้านบาท และ 60.9 ล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วยค่ายรถยนต์อีซูซุ ที่ดึงเอา 4 นักร้องไทยมาเป็นพรีเซนเตอร์ พลิกรูปแบบงานโฆษณาของอีซูซุเป็นครั้งแรก โหมงบโฆษณาด้วยเม็ดเงินราว 48.2 ล้านบาท

ในส่วนของอดีตผู้นำในการใช้งบโฆษณาตลอดกาล ผลิตภัณฑ์พอนด์ส จากค่ายยูนิลีเวอร์ ตกจากตำแหน่งผู้นำมาอยู่ที่อันดับ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ และยังคงถอยต่อเนื่องในเดือนมีนาคม มาอยู่ในอันดับ 6 ด้วยงบประมาณ 44.5 ล้านบาท ขณะที่ 2 ตำแหน่งท้ายบนตารางท้อป 10 ในเดือนกุมภาพันธ์เคยเป็นของ 2 แบรนด์คู่แข่งในธุรกิจน้ำอัดลม อย่าง โค้ก และเป๊ปซี่ เดือนมีนาคมเปลี่ยนหน้าเป็น 2 แบรนด์คู่แข่งในธุรกิจมือถือระบบพรีเพด แฮปปี้ และวัน-ทู- คอลล์ ที่ลงมาชิงลูกค้ากันดุเดือดด้วยงบโฆษณาใกล้เคียงกันที่ 39 ล้านบาท และ 38.9 ล้านบาท ตามลำดับ

เริ่มต้นในไตรมาสที่ 2 การรับมือปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความตั้งใจในการเดินหน้าสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจของประเทศของรัฐบาล จะเกิดขึ้นหรือไม่ จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการชี้วัดโอกาสการเติบโตของธุรกิจโฆษณาต่อไป เพราะลำพังกลุ่มสินค้าฤดูร้อนที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้ใช้งบโฆษณาสูงในช่วงเดือนเมษายนต่อถึงพฤษภาคม คงไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ธุรกิจโฆษณาเติบโตขึ้นได้แน่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.