BBLเล็งปรับดอกเบี้ยกู้หวั่นเสียส่วนแบ่งตลาด


ผู้จัดการรายวัน(26 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กรุงเทพ ระบุประเทศไทยยังอยู่ในกระแสเงินฝืดและการแข่งขันที่กดดันให้ ดอกเบี้ยลดลง เตรียมพิจารณาปรับดอกเบี้ยตามแบงก์อื่นรักษา มาร์เกตแชร์ "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" หวังให้แบงก์พาณิชย์มีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศ หลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ มองแบงก์ไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนไถ่เข้าจุดสมดุล

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพกำลังพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบันปรับลดลงต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ทั่วไป เป็นไปตามการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่เป็นเรื่องของราคา

"ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะต้องพิจารณาและศึกษาถึงแนวทางการแข่งขัน หากไม่สามารถ สู้ราคาได้ก็จะต้องหากลยุทธ์อื่นๆ เข้ามาแข่งขันเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับธนาคารนานที่สุด"

สำหรับธนาคารกรุงเทพนั้น ธนาคารยังคงมีเวลาในการศึกษาถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะ พิจารณาปัจจัยต่างๆ ในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่าง เดียว โดยจะต้องพิจารณาเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการให้บริการด้านอื่นๆ ประกอบด้วย

"แบงก์กรุงเทพ ใฝ่ฝันที่จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้าง อย่างมาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับปรุงเกือบที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าในปี 2546 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น"

นายโฆสิต กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงถือว่าเป็นอัตราอ้างอิงกลางๆ เท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องมีการพิจารณาหลายๆด้านประกอบกัน เช่น คุณภาพของลูกค้า โครงการ หรือธุรกิจแต่ละประเภท ที่เป็นการพิจารณาในแต่ละกรณีที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละครั้งจะต้องมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารนั้นๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ตามโครงสร้างของแต่ละแห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่ยังคงมีปัญหาแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังเป็นภาระอยู่ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับลดดอกเบี้ย

"การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละครั้ง จะทำ ให้มาร์จิ้นดอกเบี้ยของแบงก์แคบลง ซึ่งเป็นเรื่อง ของทางบัญชี ในความเป็นจริงจะต้องมีหลายๆ ปัจจัยเข้ามาประกอบการคำนวณรายได้ แบงก์กำลังศึกษาถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ก็คงจะได้ทราบความชัดเจนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งถ้าหากจะมีการปรับจะต้องปรับลดลงในอัตราเท่าใด โดยปกติการลดดอกเบี้ยจะต้องปรับลดลงทั้ง 2 ด้านคือ ทั้งเงินฝากและเงินกู้"

ปัจจุบันการที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงต่ำ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเติบโต เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยและของโลกได้รับผลกระทบจากภาวะกดดันของภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นเพียงแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเท่านั้น ไม่ใช่การเกิดภาวะเงินฝืดอย่างแท้จริง ที่มีกำลังการผลิตเหลือเกิน สภาพคล่องจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ ที่เป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทุกๆ ประเทศทั่วโลกต้องรับไว้อีกนานจนกว่าสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ

จากกระแสกดดันดังกล่าว ทุกประเทศพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายเรื่องของดอกเบี้ยที่จะมีการปรับลดลงอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเตรียมทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลระดับหนึ่งและมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา

"การใช้นโยบายการเงิน-การคลังเป็นระยะ เวลานาน จะเกิดความเสี่ยงได้ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังด้วย"

สำหรับประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ ลดลงนั้น เป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เร่งดำเนินการอยู่แล้ว โดยเอ็นพีแอลถือว่าเป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการ แก้ไขไปส่วนหนึ่งแล้วและประสบความสำเร็จ ใน ส่วนที่เหลืออยู่เกือบทั้งหมดเป็นเอ็นพีแอลที่ธนาคารหมดโอกาสที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะ ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของศาล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.