LG ปลุกตลาดพลาสม่า โหมกิจกรรม เอ็ดดูเคตผู้บริโภค


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

LG ส่งพลาสม่า 32 นิ้ว ชิงตลาดแอลซีดีทีวี ทุ่ม 60 ล้านบาท เดินสายโรดโชว์ จัดกิจกรรมให้ความรู้ เปรียบเทียบเทคโนโลยีพลาสม่าและแอลซีดีทีวี ยืดอายุตลาดพลาสม่าที่แอลจีครองความเป็นผู้นำอยู่ในปัจจุบัน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้เป็นมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์และมีช่องต่อ USB Port ขยายตลาดสู่โลกไซเบอร์ โดยเน้นกลยุทธ์ราคาต่ำกว่าแอลซีดี 10-20%

ตลาดจอแบนบางหรือ Flat Panel Display ที่ประกอบด้วย พลาสม่าทีวี และ แอลซีดีทีวี เป็นตลาดที่มีอัตรการเติบโตที่สูง โดย 3-4 ปีที่แล้ว เป็นยุคเริ่มต้นของตลาดจอแบนบาง ซึ่งพลาสม่าเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าเนื่องจากมีราคาถูกกว่าแอลซีดีทีวี 2-3 เท่า แต่เมื่อหลายค่ายหันมาให้ความสำคัญกับแอลซีดีทีวี จึงมีกระแสโปรโมต สร้างการรับรู้จนผู้บริโภคหันมาให้ความเชื่อถือเทคโนโลยีแอลซีดีทีวี จนเกิด Economy of Scale ทำให้สินค้ามีราคาที่ถูกลง จนมีสัดส่วนในตลาดสูงกว่าพลาสม่าทีวี

โดยแอลซีดีทีวี 32 นิ้วถือเป็นตัวพลิกตลาดแฟลตพาแนลทีวีจากยุคของพลาสม่ามาสู่ยุคของแอลซีดีทีวี อีกทั้งแอลซีดีทีวียังสามารถลบข้อจำกัดทางเทคโนโลยีด้วยการผลิตหน้าจอขนาดใหญ่มาชนกับพลาสม่า ส่งผลให้เส้นแบ่งทางเทคโนโลยีที่เคยถูกจำกัดอยู่ที่หน้าจอขนาด 37 นิ้ว ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50 นิ้ว ซึ่งปัจจุบันแอลซีดีทีวีที่มีขนาดเกิน 50 นิ้วจะมีราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวีค่อนข้างมากกว่าเมื่อเทียบกับช่องว่างของราคาที่หน้าจอขนาดเล็ก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่ายผู้ผลิตพลาสม่าส่วนใหญ่ขยับขึ้นไปผลิตจอที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 นิ้ว ซึ่งจะเป็นการยากที่จะเข้าถึงตลาดโฮมยูสเนื่องจากมีราคาที่แพง ดังนั้นที่หน้าจอขนาดใหญ่จึงต้องมีการโฟกัสตลาดเป็นพิเศษ เช่นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม กลุ่มลูกค้าองค์กรอย่างสถาบันการศึกษา หรือโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งก็จะถูกไล่ล่าโดยแอลซีดีต่อไป

ดังนั้นแอลจีจึงหันมาพัฒนาหน้าจอพลาสม่าทีวีขนาด 32 นิ้วเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เนื่องจากปริมาณความต้องการในตลาดแฟลตพาแนลทีวีกว่า 65% เป็นหน้าจอขนาด 32 นิ้ว ส่วน 42 นิ้ว มีความต้องการ 20%

โดย LG มีการซอยเซกเมนต์กลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มมินิมอล ซึ่งเน้นสินค้าราคาถูก กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มแวลูแมกซิไมเซอร์ เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มสไตลิสต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าที่เลือกซื้อ และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มพรีเมียมซีกเกอร์ ที่เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย โดยทั้ง 4 กลุ่มมีสัดส่วนในตลาด 10%, 40%, 25% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งแอลจีจะให้ความสำคัญกับผู้บริโภค 2 กลุ่มหลัง เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและมีรสนิยมในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ จึงไม่ไหวเอนไปกับสงครามราคา อีกทั้งยังสอดคล้องกับแบรนด์โพสิชันที่มุ่งไปสู่ Stylish Design & Smart Technology

ขณะเดียวกันก็ยังมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มแวลูแมกซิไมเซอร์ด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุด อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะทำให้ฐานลูกค้าเหล่านี้ยกระดับวิถีชีวิตตัวเองให้สูงขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น

อย่างไรก็ดีกลุ่มพรีเมียมซีกเกอร์ยังรวมเอากลุ่ม Early Adapter เข้าไว้ด้วย ซึ่งมีไม่ถึง 5% ของผู้บริโภคทั้งหมด เป็นกลุ่มที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พร้อมที่จะรับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น สินค้าประเภททีวีในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงซื้อเครื่องใหม่ แต่กลุ่ม Early Adapter อาจจะเปลี่ยนทีวีเร็วกว่า 5 ปี

“ผู้บริโภคถูกปลุกกระแสให้ซื้อเทคโนโลยีเพื่อรองรับอนาคต แต่เมื่อซื้อไปกลับพบว่าไม่ได้คุณภาพที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น แอลซีดีทีวีซึ่งรองรับสัญญาณสูงกว่าระบบออกอากาศทางทีวีในบ้านเรา ทำให้เกิดเม็ดสัญญาณรบกวน ในขณะที่พลาสม่าทีวีไม่มีปัญหา หรืออย่างกรณี Full HD ก็ดี ถ้ารอซื้อในอีก 5 ปีข้างหน้า ราคาก็จะลงมามากกว่าในปัจจุบัน อีกทั้งระบบส่งสัญญาณทีวีบ้านเราก็อาจจะมีความพร้อมสำหรับสัญญาณ Full HD มากกว่านี้ ซึ่งจะให้สัญญาณภาพที่มีคุณภาพที่ดีและคุ้มค่ามากกว่าการซื้อเพื่อรออนาคต” ฉันท์ชาย พันธุฟัก ผู้จัดการอาวุโสการตลาดผลิตภัณฑ์หมวดจอภาพและเสียง แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว

แอลจีมีการใช้งบการตลาดกว่า 60 ล้านบาทในการรุกตลาดพลาสม่าทีวี โดยแบ่งเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ 30% และงบกิจกรรมการตลาดอีก 70% ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวี ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตแอลซีดีทีวีมีการให้ข้อมูลในด้านบวกของแอลซีดีทีวีจนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าแอลซีดีทีวีเหนือกว่าพลาสม่าทีวี

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 เทคโนโลยีต่างมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน เช่น แอลซีดีให้ความคมชัดของภาพที่ละเอียดกว่า แต่ถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหวเร็วๆหรือภาพยนตร์จะเหมาะกับจอพลาสม่ามากกว่า ส่วนกรณีที่ว่าพลาสม่ามีหน้าจอที่ร้อนกว่านั้น ผู้บริหารแอลจี ชี้ว่าแอลซีดีเองก็มีความร้อน เพียงแต่อยู่ด้านหลังเครื่อง และแม้ว่าพลาสม่าจะมีความร้อนหน้าจอ แต่ที่ระดับหน้าจอ 42 นิ้วขึ้นไป ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนั่งห่างออกไปอย่างน้อย 3.เมตรอยู่แล้วจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันตลาดทีวีโดยรวมมีปริมาณความต้องการ 3.3 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่า 30,770 ล้านบาท โดยตลาดทีวีในกลุ่มจอแบนบางหรือ Flat Panel Display ซึ่งประกอบด้วย พลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวีมีอัตราการเติบโตที่สูง โดยคาดว่าปริมาณความต้องการพลาสม่าทีวีในปีนี้จะอยู่ที่ 60,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 2,477 ล้านบาท ส่วนแอลซีดีทีวีคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการอยู่ที่ 550,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 14,750 ล้านบาท

“สัดส่วนระหว่างพลาสม่าและแอลซีดีทีวีที่เคยอยู่ที่ 80:20 เปลี่ยนมาเป็น 15:85 ซึ่งคาดว่าสัดส่วนจะไม่เปลี่ยนไปจากนี้มากนัก แต่พลาสม่าทีวีก็ยังอยู่ได้และยังมีอัตราการเติบโตที่ดี เพียงแต่โตน้อยกว่าพลาสม่าทีวี ดังนั้นเมื่อมีโอกาสแอลจีก็ยังคงทำตลาดต่อไป โดยเราจะต้องให้ข้อมูลเปรียบเทียบแก่ผู้บริโภค” ฉันท์ชาย กล่าว

นอกจากจะเป็นการต่อชีพจรให้กับพลาสม่าทีวีแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ในการเป็นผู้นำตลาดเนื่องจากแอลจีครองส่วนแบ่งการตลาดพลาสม่าทีวีเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 35% ในขณะที่พานาโซนิคมี 33% ตามด้วยซัมซุง 25% และไพโอเนียร์ 3% ซึ่งล่าสุดไพโอเนียร์ได้ปิดโรงงานผลิตจอพลาสม่าโดยหันไปซื้อหน้าจอจากผู้ผลิตรายอื่น เพื่อลดต้นทุน ทว่าเทคโนโลยีที่เคยเหนือกว่าคู่แข่งอาจจะด้อยลงไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไพโอเนียร์เคยได้ชื่อว่ามีหน้าจอพลาสม่าที่ให้เฉดสีดำดีที่สุดในตลาด

ในขณะที่พานาโซนิคเริ่มหันมาทำตลาดแอลซีดีทีวีควบคู่ไปด้วย โดยยังคงใช้เส้นแบ่งทางเทคโนโลยีที่ขนาดหน้าจอ 37 นิ้ว แต่ยังคงเน้นพลาสม่าทีวีโดยเน้นที่หน้าจอขนาดใหญ่กว่า 42 นิ้ว ซึ่งในปีนี้จะมีการลอนช์พลาสม่าทีวีรุ่นใหม่ไม่ต่ำกว่า 5-6 รุ่น โดยเกาะไปกับกระแสการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ซึ่งอาจจะมีการทำโรดโชว์พร้อมนำพลาสม่าทีวี 103 นิ้ว Full HD ราคา 3-4 ล้านบาทมาโปรโมตสร้างภาพลักษณ์ เช่นเดียวกับซัมซุงที่มีการทำแคมเปญ เอวีโรดโชว์ ควบคู่ไปกับการทำโปรโมชั่นต่างๆไม่ว่าจะป็นการแถมเครื่องเล่นดีวีดีหรือแคมเปญเงินผ่อน 0% 6 เดือน หรือ 1% 12 เดือน ล่าสุดมีการนำพลาสม่าทีวี 50 นิ้ว ที่สามารถเล่นหนังระบบ 3 มิติได้เมื่อชมด้วยแว่น 3 มิติ มาจำหน่ายในงานเพาเวอร์บายเอ็กซ์โป 2008

ด้วยกระแสแอลซีดีทีวีที่ยังคงมาแรง ประกอบกับสัดส่วนพลาสม่าทีวีที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับแอลซีดี ดังนั้นหลายๆค่ายยังคงต้องใช้เรื่องของราคาที่ต่ำกว่าแอลซีดีในการทำตลาดพลาสม่าทีวี ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีให้แตกต่าง โดยแอลจีใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการรุกตลาดพลาสม่า ซึ่งขนาด 32 นิ้วจะต่ำกว่าแอลซีดี 10% โดยรุ่นถูกสุดของแอลจีมีราคาอยู่ที่ 19,990 บาท ส่วนพลาสม่าจอใหญ่จะมีราคาถูกกว่าแอลซีดี 20% เช่นหน้าจอ 42 นิ้วมีราคาเริ่มต้นที่ 39,000 บาท รุ่น 50 นิ้วราคา 69,000 บาท และรุ่น 60 นิ้วมีราคา 89,000 บาท

นอกจากนี้ยังพัฒนาพลาสม่าให้สามารถใช้เป็นมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ได้ พร้อมกับมีช่องต่อ USB Port เพื่อให้พลาสม่าทีวีสามารถใช้งานเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นได้เหมือนแอลซีดีทีวี ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มไซเบอร์ได้ เพียงแต่แอลจีมิได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายช่องทางจำหน่ายพลาสม่าทีวีสู่ร้านค้าไอที

แอลจีมีการพัฒนา Shop Display ตามจุดขายกว่า 500 แห่ง พร้อมกับเดินสายโรดโชว์ เพื่อเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภครับรู้ถึงจุดเด่นของพลาสม่าทีวี โดยมีการทำแคมเปญ EYE LOVE PLASMA ตลอดทั้งปี เพื่อโปรโมตพลาสม่ารุ่นใหม่ 11 รุ่น โดยมีตั้งแต่รุ่นราคาถูกไปถึงรุ่นพรีเมียมอย่าง EDGE ที่ดีไซน์หน้าจอด้วยกระจกแผ่นเดียว ซ่อนขอบหน้าจอ ซ่อนลำโพง สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวได้ 150 เฮิร์ตซ์ ซึ่งดีกว่าแอลซีดีทีวีที่ส่วนใหญ่ปรับปรุงภาพเคลื่อนไหวได้เพียง 100 เฮิร์ตซ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.