เดลต้าฯ เตรียม คุมบังเหียนใน AES 1 กรกฎาคม นี้ หลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายอย่าง
เป็นทางการกับ ASCOM 28 มิถุนายนนี้ โดยซื้อได้ในราคาเพียง 110 ล้านเหรียญสหรัฐ
เล็งย้ายฐานการผลิต SPS ที่ยุโรป มาผนึกกับโรงงานที่ไทย ยันปีนี้โตตามเป้าหมาย
แม้ภาวะตลาดตกต่ำ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งไม่ส่งผลต่อรายได้ เพราะป้องกันความเสี่ยงแล้ว
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
(มหา ชน) (DELTA ) เปิดเผยความคืบหน้าในการเข้าซื้อกิจการของ ASCOM ENERGY SYSTEM
(AES) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ASCOM ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อันดับ
6 ของโลก ว่า เป็นไปตามความคาดหมายของ ผู้บริหารที่ก่อนหน้านี้ มั่นใจว่าจะซื้อกิจการของ
AES ได้ต่ำกว่ามูลค่า ที่ประเมินไว้เบื้องต้น
หลังจากเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ใน เบื้องต้นแล้ว เดลต้าฯ ได้เข้าตรวจสอบทรัพย์สินและดูจากตัวเลขหนี้สินที่มีอยู่ของกิจการที่จะซื้อแล้ว
และมีตัวเลขและข้อมูลบางอย่างที่ไม่อยากนำเข้ามารวมกับการซื้อกิจการครั้งนี้จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะสูงกว่า
130 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อสรุปแล้วเดลต้าฯซื้อได้ต่ำกว่าที่ราคาประเมิน ไว้พอสมควรเหลือแค่
110 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ขณะนี้เรารอเซ็นสัญญากับ ASCOM วันที่ 28 มิถุนายนนี้เราจะเซ็นแล้ว ถือว่าทุกอย่างเรียบร้อยและเราจะแถลงข่าวความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย"
นายอนุสรณ์กล่าว
สำหรับการซื้อกิจการครั้งนี้ เดลต้าฯ จะใช้เงินจากการกู้ยืมเงินแบบกู้ร่วม (SYNDICATE
LOAN) ซึ่งจะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ และได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาด โดยมีธนาคาร
ต่างประเทศแห่งหนึ่งเป็นผู้ดูแลหาเงินทุนในการกู้ยืมครั้งนี้
สิ่งที่เดลต้าฯ จะได้รับจากการซื้อกิจการดังกล่าวคือ เดลต้าฯ จะเป็นผู้ผลิตสายงานการผลิตชิ้นส่วน
SPS บางส่วน ป้อนให้กับโรงงานของ AES ทั้งหมด ที่ก่อนหน้านี้ AES ว่าจ้าง ให้ผู้ผลิตรายย่อยอื่นผลิตชิ้นส่วนบางอย่างที่ใช้ในการผลิต
SPS ป้อนโรงงานดังกล่าว ซึ่งมีกว่า 100 แบบและมีหลายราย และในอนาคตจะย้ายฐานการผลิตนี้มาผลิตที่เมืองไทยด้วย
เพราะการซื้อกิจการของ AES เป็นลักษณะ เทกโอเวอร์ เพราะซื้อหุ้นและทรัพย์สินทั้ง
100% ของบริษัทดังกล่าว และการซื้อหุ้นครั้งนี้ ทำให้ DELTA จะได้รับหุ้นของบริษัทลูก
6 แห่ง ที่ AES ถืออยู่คือ Ascom Holding, Ascom Holding Inc. Ascom Unternehmensholding
GmbH, Ascom Spain SA และ Ascom UK Limited ในเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,300
ล้านบาท
สำหรับธุรกิจหลักของ AES คือธุรกิจการ ผลิตและพัฒนาสินค้า สวิตชิ่ง เพาเวอร์
ซัปพลาย (SPS)ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม
และด้านเทคโนโลยี สารสนเทศเป็นหลัก และสินค้าดังกล่าวสามารถปรับปรุงและพัฒนาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขนาด
ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ DELTA สามารถเข้าถึงการผลิต SPS ระดับสูงว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเป็นสิ่งที่
DELTA ต้องการเพราะปัจจุบันได้เน้นผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ให้กับธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ได้มาก
ทั้งนี้ SPS ถือว่าเป็นสินค้าตัวที่ทำรายได้หลักให้กับเดลต้าฯ เพราะมาร์จิ้นสูงคือประมาณ
10-20% อีกทั้งความต้องการของตลาดก็ยังเป็นที่ต้องการเสมอมา เดลต้าฯ จึงเน้นการผลิตในส่วนนี้มาก
ขณะที่มอนิเตอร์มาร์จิ้นต่ำ แต่เดลต้าฯ ก็ยังไม่เลิกผลิต เพราะยังมีลูกค้าบางส่วนที่ต้องการใช้สินค้าตัวนี้เช่นกัน
สำหรับปีนี้ เดลต้าฯ ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ประมาณ 10-15% และยืนยันว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ซึ่งผลประกอบการทั้งปีจะมีรายได้สูงกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 4 พันล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่อยู่ในระหว่างปิดงบการเงินนั้นสูงกว่าไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา
นายอนุสรณ์กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่ได้มีผลทางการเงินต่อเดลต้าฯ มากนัก
เนื่องจากบริษัทได้ป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน ไว้ด้วย จึงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาน้อยมาก
ถือว่าเดลต้าฯ มีการบริหารความ เสี่ยงที่ดี
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยอมรับว่าตลาดของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตกต่ำ จากปีก่อนหน้าที่หลาย
ฝ่ายมองว่าธุรกิจนี้ตกต่ำ แต่ยังไม่เท่ากับปีนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามและโรคซาร์ส
ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าตัดสินใจซื้อสินค้า ส่งผลต่อ ออร์เดอร์สินค้าของผู้ผลิตที่หยุดชะงัก
นายอนุสรณ์กล่าวถึงการผลิตชาร์จเจอร์ว่ายืดเยื้อมาระยะหนึ่ง หลังจากที่คาดว่าจะผลิตได้ต้นปีนี้
เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ในระหว่างการดำเนินการตั้งเงื่อนไขและกำหนดรายละเอียดในการขออนุญาต
เพื่อจะได้กำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่อง จากการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวนี้ บีโอไอยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนออกมา
ซึ่งโครงการนี้ เดลต้าฯ ได้ทุ่มงบประมาณเกือบ 1 พันล้านบาทในการลงทุนผลิต และหากได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ
จะทำให้รายได้เพิ่มเข้าสู่เดลต้าฯ อีกทางหนึ่ง