|
‘โตโยต้า’ติดกับดักส่งออกเผย 3 กลยุทธ์สู้ค่าเงินบาท
ผู้จัดการรายวัน(24 เมษายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ติดกับดักส่งออก ครั้งแรกตัวเลขพุ่งเกินครึ่งของยอดผลิตในไทย แต่เจอพิษค่าเงินบาทแข็งส่งผลกระทบ จนส่อแววกำไรลดวูบ ขณะที่ภาครัฐปลอบต้องทำใจ ไม่มีมาตรการทำให้คงที่ได้ เลยต้องดิ้นช่วยเหลือตัวเอง เผย 3 กลยุทธ์ลดต้นทุนรักษากำไร ให้คงอยู่ได้ในอัตราค่าเงิน 33 บาทต่อดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 3 ปี
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของโตโยต้าในช่วงครึ่งปีแรก ประสบความสำเร็จทั้งตลาดในประเทศและส่งออก มีตัวเลขการเติบโตในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่โตโยต้าประเทศส่งออกเกินครึ่งของ หรือประมาณ 51% กำลังการผลิตทั้งหมดในไทย แต่การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโตโยต้าพอสมควร
“หากเราไม่ทำอะไรอาจจะเกิดปัญหาขายได้มาก แต่กำไรลดลงก็ได้ ถึงแม้เราจะคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว และจากการได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีมาตรการอะไรควบคุมให้คงที่ได้ เพียงแต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นสิ่งสำคัญเราเองจึงต้องมีมาตรการรับมือปัญหาเงินบาทแข็งค่าภายใน 3 ปี โดยสามารถสร้างผลกำไร แม้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33 บาทก็ตาม”
ทั้งนี้แผนการที่จะแก้ปัญหากำไรลดลง จากผลกระทบของเงินบาทแข็งค่า วิธีที่ดีที่สุดคือการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นให้มากที่สุด แม้แต่ปิกอัพโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ที่ได้มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศถึง 93% แต่ชิ้นส่วนดังกล่าวบางตัวก็มีส่วนประกอบหลายชิ้นรวมกัน บางชิ้นที่ซ่อนอยู่ซัพพลายเออร์อาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศก็ได้ ตรงนี้โตโยต้าจะพยายามให้ซัพพลายเออร์ลดการนำเข้าลง
นายโซโนดะกล่าวว่า โดยวิธีที่โตโยต้าจะนำมาใช้ในการลดต้นทุน ได้เตรียมดำเนินการ 3 สิ่งด้วยกัน คือ อันดับแรกชิ้นส่วนตัวไหนที่ยังนำเข้าอยู่ ตรงนี้โตโยต้าจะพยายามขอร้องซัพพลายเออร์เทียร์ 1 ให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีมายังไทย ดังเช่นเดนโซ่เร็วๆ นี้ จะเปิดศูนย์พัฒนาและวิจัย (R&D) ในไทย และต่อมาโตโยต้าจะเข้าไปสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับเทียร์ 2 และ 3 ที่มีจำนวนมากกว่า 1,800 ราย ให้มีศักยภาพระดับสูงขึ้น โดยโตโยต้าได้ร่วมมือกับภาครัฐ ผ่านโครงการพัฒนาบุคลากรที่ดำเนินงานโดยสถาบันยานยนต์
สุดท้ายปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะราคาของเหล็กคุณภาพสูงที่นำมาผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น แต่ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และบริษัทเจเอฟอี กำลังจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ซึ่งอนาคตจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้
ส่วนผลกระทบที่โตโยต้ากำลังจับตาอีกอย่าง คือปัญหาซับไพร์บ แม้ปัจจุบันจะยังไม่ส่งผลชัดเจนในประเทศไทย แต่การส่งออกที่มากขึ้นของโตโยต้า หากปัญหานี้มีผลต่อประเทศที่ส่งออก ย่อมส่งผลกระทบต่อโตโยต้าได้ ฉะนั้นช่วงครึ่งปีหลังจึงต้องจับอย่างใกล้ชิด
“สำหรับการส่งออกช่วงไตรมาสแรกกำไรลดลงเล็กน้อย แต่เรายังเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงสิ้นปีโตโยต้าจะมีผลประกอบการส่งออก 1.72 แสนล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 22.29% แบ่งเป็นส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปกว่า 2.98 แสนคัน คิดเป็นมูลค่า 1.26 แสนล้านบาท เติบโต 19.3% ชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่ทดแทนมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 17%”
นายโซโนดะกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของโตโยต้าโดยรวมช่วงไตรมาสแรก หากเทียบกับปีที่ผ่านมายังมีอัตราการเติบโต แม้ตลาดส่งออกจะมีกำไรลดลง แต่ตลาดในประเทศที่ขยายตัวชัดเจน ทำให้รายได้ของโตโยต้าเติบโตเป็นที่น่าพอใจ
โดยยอดขายรถยนต์โตโยต้าในช่วงไตรมาสแรก ทำได้ทั้งสิ้น 6.7 หมื่นคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน 17.6% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 2.55 หมื่นคัน เติบโต 35% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 4.1 หมื่นคัน เติบโต 8% จากตัวเลขรวมของโตโยต้า ถือว่าเป็นยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของโตโยต้า เพราะช่วงตลาดรถยนต์ในไทยสูงสุด 7 แสนคัน ในปี 2005 ยังทำได้เพียง 6.5 หมื่นคัน
ขณะที่ตลาดรถยนต์รวมทุกยี่ห้อช่วงไตรมาสแรก มีจำนวนทั้งหมด 1.6 แสนคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน 16% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 5.2 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 39% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 1.08 แสนคัน เติบโตจากปีที่แล้ว 7% ส่วนสาเหตุที่ตลาดรถยนต์เติบโต โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง ที่เติบโตสูงมาก เนื่องจากการแนะนำรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 ที่มีราคาลดลง และการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ขณะที่ปิกอัพก็มียอดขายเติบโตเช่นกันถึงจะไม่สูงมากนักก็ตาม
“จากตัวเลขดังกล่าวทำให้โตโยต้ายังยืนยัน ตัวเลขการขายรถยนต์รวมในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 7 แสนคัน เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 6.3 แสนคัน มีอัตราการเติบโต 11% เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเติบโตต่อเนื่องตลอด 6 เดือน และตัวเลขจีดีพีที่ประกาศออกมายังโตถึง 6.5%”นายโซโนดะกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|