ศึกกระป๋องเมตัลบ๊อกซ์ VS บางกอกแคนส์

โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากจะเป็นผู้ผลิตกระป๋องบรรจุอาหารและผลไม้รายใหญ่ของเมืงอไทยแล้ว เมตัลบ๊อกซ์ยังเป็นผู้นำเข้ากระป๋องบรรจุน้ำอัดลมจากสิงคโปร์เพื่อมาขายให้กับ บริษัทเสริมสุข และไทยน้ำทิพย์ด้วย โดยสั่งเข้ามาจากเมตัลบ๊อกซ์ สิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2529 ในปริมาณปีละ 40 ล้านกระป๋อง

แต่สั่งเข้ามาได้ปีเดียวก็เริ่มมีปัญหาระหว่างปี 2530 - 2531 ว่า เมตัลบ๊อกซ์ สิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2529 ในปริมาณปีละ 40 ล้านกระป๋อง

แต่สั่งเข้ามาได้ปีเดียวก็เริ่มมีปัญหาระหว่างปี 2530 - 2531 ว่า เมตัลบ๊อกซ์ สิงคโปร์ ไม่มีกระป๋องพอที่จะส่งให้ได้ตามความต้องการ ทำให้ลูกค้ารายใหญ่อย่างโค้กและเป๊กซี่เกิดความหงุดหงิดในอารมณ์ที่สั่งของไปแล้วได้ไม่ครบ

ช่วงก่อนปี 2530 เป็นระยะที่ตลาดน้ำอัดลมในสิงคโปร์ตก เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับในช่วงหน้าหนาวของยุโรปและออสเตรเลียทุก ๆ ปี ยอดขายน้ำอัดลมจะตก มีกระป๋องเหลือมาก ผู้ผลิตน้ำอัดลมกระป๋องในสิงคโปร์จะสั่งกระป๋องเข้ามาจากสองทวีปนี้ เพราะมีราคาถูกกว่าทำเอง เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า สิงคโปร์จึงมีกระป๋องส่วนเกินมากพอที่จะส่งมาขายในไทยได้

หลังจากนั้น ตลาดผู้ดื่มในสิงคโปร์กระเตื้องขึ้น และญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาค่าเงินเยนสูงเลยหันมาใช้กระป๋องจากสิงคโปร์ ทำให้ส่งให้เมตัลบ๊อกซ์ ประเทศไทย ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนก่อน ทางเมตัลบ๊อกซ์ เวิลด์ ไวด์ บริษัทแม่เลยมีความคิดที่จะตั้งโรงานผลิตเองในประทเศไทยหลังจากที่ศึกษาดูตลาดน้ำอัดลมกระป๋องแล้ว เห็นว่า จะเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตแน่นอน

เมตัลบ๊อกซ์ เวิลด์ไวด์ ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ เมตัลบ๊อกซ์ เอเชียแปซิฟิค เพื่อลงทุนในโครงการผลิตกระป๋องน้ำอัดลมนี้ และชักชวนผู้ใช้รายใหญ่ในเมืองไทย คือ บริษัทเสริมสุข ไทยน้ำทิพย์ กรีสปอต และบุญรอดบริวเวอรี่ที่มีโครงการจะผลิตเบียร์กระป๋องมาถือหุ้นด้วย

การเจรจาทำท่าว่าจะไปได้สวย แม้ว่าการเจรจายังไม่ลงเอยเรียบร้อย แต่เมตัลบ๊อกซ์ก็ประกาศตัวออกมาเมื่อต้นปี 2531 ว่า เอาแน่กับโครงการนี้ โดยจะลงทุนเป็นเงิน 600 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตกระป๋องที่มีกำลังการผลิตปีละ 250 ล้านใบ โดยได้ซื้อที่ดิน 17 ไร่ที่นวนคร เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานเรียบร้อยแล้ว

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความหวังที่เมตัลบ๊อกซ์จะได้ผู้ใช้มาร่วมหุ้นเพื่อเป็นหลักประกันในด้านตลาดให้อุ่นใจไว้ชั้นหนึ่งก่อนก็สลายหายไป เมื่อผู้ผลิตน้ำอัดลมทั้งสามรายและบุญรอดบริวเวอรี่ปฏิเสธที่จะร่วมกับเมตัลบ๊อกซ์ เพราะได้ตกลงร่วมกับทางบริษัทฝาจีบและกลุ่มโตโยไซกังของญี่ปุ่นสร้างโรงงานทำกระป๋องอีกโรงหนึ่ง คือ บริษัทบางกอกแคนส์

โตโยไซกังนั้น คือ ผู้ผลิตกระป๋องอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นและอันดับสองของโลก เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างทั้งกระป๋องและกล่อง และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฝาจีบโดยมีหุ้นอยู่ 34.43 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเสริมสุข ไทยน้ำทิพย์ และบุณรอดบริวเวอรี่ ต่างก็มีหุ้นอยู่ในฝาจีบด้วยเหมือนกัน โตโยไซกังจึงมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ใช้กระป๋องน้ำอัดลมมาก่อนในลักษณะนี้

ความจริงแล้ว โตโยไซกังเองมีโครงการที่จะตั้งโรงงานทำกระป๋องน้ำอัดลมนี้มาก่อนหน้านี้ มีการเจรจากับผู้ใช้ทางฝ่ายไทยกับบริษัทฝาจีบมาก่อน และเชิญไปดูโรงงานที่ญี่ปุ่นด้วย แต่เก็บเงียบเอาไว้ ไม่แพร่งพรายออกมาก่อนตามสไตล์ของญี่ปุ่นที่จะประกาศตัวต่อเมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพแล้ว

ต่อเมื่อทางเมตัลบ๊อกซ์ประกาศตัวออกมา ทางโตโยไซกังจึงต้องเผยโฉมบ้าง และดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทบางกอกแคนส์ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2531 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 75 ล้านบาท เป็นหุ้นของโตโยไซกัง 50 ล้านบาทที่เหลือแบ่งกันระหว่างไทยน้ำทิพย์ ฝาจีบ เสริมสุข กรีนสปอต และบุญรอดบริวเวอรี่ รายละ 5 ล้านบาท

โรงงานของบางกอกแคนส์อยู่ที่รังสิต คลอง 2 ในเนื้อที่ 40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของฝาจีบ โรงงานนี้มีกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านกระป๋อง หรือปีละประมาณ 350 ล้านกระป๋อง ใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าโรงงานของเมตัลบ๊อกซ์ เพราะว่าใช้เครื่องจักรเก่าที่ผ่อนถ่ายมาจากโรงงานของโตโยไซกังที่ญี่ปุ่น

ทั้งเมตัลบ๊อกซ์และโตโยไซกังนั้น มีความร่วมมือกันทางเทคโนโลยีอยู่บ้าง และถึงแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยปะทะกันโดยตรง เพราะทั้งคู่ต่างมีตลาดคนละภูมิภาค เมตัลบ๊อกซ์ครอบครองตลาดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในขณะที่โตโยไซกังเป็นเจ้าตลาดในญี่ปุ่น

ครั้งนี้จึงเป็นการปะทะกันโดยตรง โดยมีตลาดกระป๋องน้ำอัดลมในประเทศไทยเป็นเดิมพัน !!

เมตัลบ๊อกซ์นั้นเมื่อถูกปฏิเสธจากผู้ใช้กระป๋องก็จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป "ถ้าเราไม่ทำก็จะสูญเสียโอกาสในตลาดนี้ไป"

โครงการผลิตกระป๋องน้ำอัดลมของเมตัลบ๊อกซ์จึงเป็นการลงทุนของเมตัลบ๊อกซ์เองล้วน ๆ ในชื่อบริษัท เมตัลบ๊อกซ์ เบเวอร์เรจ แคนส์ (ประเทศไทย) มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เมตัลบ๊อกซ์ ประเทศไทย ถือหุ้น 40% อีก 60% ที่เหลือเป็นส่วนของเมตัลบ๊อกซ์ เเชียแปซิฟิค มีโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี่ หลังจากเจอปัญหาเรื่องข้อกำหนดน้ำเสียจนต้องย้ายโรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

ตลาดกระป๋องบรรจุน้ำอัดลมในประเทศไทย มีความต้องการปีละ 60 - 70 ล้านใบ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20% ในขณะที่กำลังการผลิตทั้งสองโรงงานรวมกันแล้วเท่ากับ 600 ล้านกระป๋องต่อปี แม้ว่าในขั้นแรกนี้ทั้งสองฝ่ายจะผลิตไม่เต็มกำลัง คือ เมตัลบ๊อกซ์จะผลิตเพียง 100 ล้านกระป๋อง และบางกอกแคนส์ผลิต 200 ล้านกระป๋องต่อปี รวมกันแล้วยังมีส่วนเกินอีกกว่า 200 ล้านกระป๋อง

ใครจะต้องเป็นฝ่ายเจ็บตัวในสงครามแย่งตลาดครั้งนี้ ??

บางกอกแคนส์เป็นต่ออยู่หลายขุมในตอนนี้ที่การผลิตยังไม่ได้เริ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย ประการแรกนั้น โรงงานของบางกอกแคนส์เดินหน้าไปจนเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะเดินเครื่องผลิตกระป๋องออกมาได้ในหลายปีนี้ ขณะที่ฝ่ายเมตัลบ๊อกซ์ออกตัวช้ากว่ามาก เพราะเจอปัญหาเรื่องย้ายที่ตั้งโรงงาน คาดว่ากว่าจะเสร็จทำการผลิตได้เป็นอย่างเร็วก็กลางปี 2533

ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของบางกอกแคนส์ คือ มีผู้ใช้ในเมืองไทยเข้ามาถือหุ้นด้วย เท่ากับเป็นการดึงตลาดเข้ามาไว้ในมือแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้เดินเครื่องจักรด้วยซ้ำ

แต่ทางเมตัลบ๊อกซ์ก็เชื่อว่า ผู้ใช้ที่เป็นบริษัทน้ำอัดลมและบุญรอดบริวเวอรี่คงไม่ยอมผูกติดกับผู้ผลิตเพียงรายเดียวในเมื่อมีอีกรายหนึ่งให้เลือกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีหุ้นอยู่ในบางกอกแคนส์ด้วย แต่ก็แค่รายละ 5 ล้านบาทเท่านั้น

"ผมไม่คิดว่า ผู้ใช้จะอยู่ในมือเขาทั้งหมด เพราะแต่ละรายถือหุ้นน้อยมาก เงินห้าล้านบาทสำหรับไทยน้ำทิพย์เป็นเรื่องเล็ก ทำไมเขาไม่ลงทุนมากกว่านี้ ถ้าจะใช้กระป๋องของบางกอกแคนส์เต็มที่" ผู้บริหารคนหนึ่งของเมตัลบ๊อกซ์แสดงความมั่นใจว่า สถานะของตนนั้นไม่เป็นรองบางกอกแคนส์แน่ พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีบุญรอดบริวเวอรี่ที่มีหุ้นใหญ่อยู่ในบางกอกกลาส แต่ก็ยังซื้อขวดบรรจุเบียร์จากโรงงานไทยกลาสด้วย

เมตัลบ๊อกซ์ เชื่อว่า คุณภาพ การบริการ การส่งมอบกระป๋องได้ทันตามกำหนด จะเป็นจุดแข็งของตนที่ทำให้ผู้ใช้หันมาใช้กระป๋องของตน รวมทั้งเรื่องราคา ซึ่งเมตัลบ๊อกซ์ เชื่อว่า กระป๋องของตนจะถูกกว่าบางกอกแคนส์ เพราะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด

ต้นทุนของกระป๋องที่สำคัญ คือ แผ่นอะลิมูเนียมมที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เครื่องจักรที่ใหม่ ทันสมัย มีความเที่ยงตรงสูง สามารถทำกระป๋องให้บางลงได้ ทำให้ใช้วัตถุดิบน้อยลง และต้นทุนจะต่ำกว่าคู่แข่ง คือ บางกอกแคนส์ ซึ่งใช้เครื่องจักรเก่าของโตโยไซกัง

จุดที่จะเป็นปัญหาทำให้ผู้ใช้เลือกใช้กระป๋องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปเลย แทนที่จะกระจายการซื้อไปให้ทั้งสองรายก็คือ ตัวฝากระป๋อง ซึ่งแยกผลิตจากตัวกระป๋อง สเป็กฝากระป๋องของทั้งสองโรงงานมีความแตกต่างกัน เมตัลบ๊อกซ์ใช้ฝากระป๋องที่เล็กกว่า บางกว่าฝากระป๋องของบางกอกแคนส์เพื่อลดต้นทุน ถ้าผู้ใช้ซื้อกระป๋องและฝาจากทั้งสองโรงงานจะต้องปรับเครื่องบรรจุทุกครั้งที่เปลี่ยนฝา

จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ผลิตฝาแต่เพียงรายเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการยกธุรกิจส่วนหนึ่งให้กับคู่แข่ง

ปีหน้าเมื่อทั้งสองโรงงานเริ่มเดินเครื่องผลิต สงครามน้ำดำ-น้ำขาว ระหว่างโค้กกับเป๊ปซี่ที่กำลังดุเดือดก็จะมีศึกกระป๋องระหว่างเมตัลบ๊อกซ์ กับบางกอกแคนส์มาเป็นคู่มวยประกอบรายการที่เข้มข้นไม่น้อยไปกว่ากัน !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.