"เนแวน (ไทย) : ไม่มีอะไรในกอไผ่จริง ๆ !?"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อบริษัท เนแวน (ไทย) จำกัด อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของวงการประกันภัยบ้านเราสักเท่าใด แต่หากเอ่ยชื่อกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ เนวิล เมลยูอิช (NEVILLE T. MELLUISH) วงการนายหน้าประกันภัยต้องร้องอ๋อเป็นแน่

เพราะเมลยูอิชไม่ใช่นักธุรกิจหน้าใหม่ที่ไหน เขาอยู่ในวงการนายหน้าประกันภัยไทยมานานพอควร โดยก่อนหน้านี้ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเซดจวิก (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี 2525 เรื่อยมา

จนเมื่อเซดจวิก (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อมาเป็นแนแวน (ไทย) เขาก็ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิมเพียงแต่ย้ายสำนักงาน จากอาคารเคี่ยนหงวนมามีที่ดินและอาคารเป็นของบริษัทเองที่ถนนรัชดาภิเษก

หากจะสืบสวนย้อนรอยเรื่องราวของเนแวน (ไทย) ไปให้ถึงต้นเรื่อง ก็ต้องไปเริ่มเอาตั้งแต่เมื่อปี 2518 เมื่อนายวัย วรรธนะกุล นักธุรกิจอาวุโส ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นกรรมการอยู่ที่บริษัทประกันภัยศรีเมือง จำกัด ได้ยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาสากลธุรกิจ จำกัด (IFCC ADVISERS LIMITED) เพื่อประกอบกิจการนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต โดยมีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 1 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นให้กับบริษัท 10,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท

ในปีเดียวกันนั้น ที่ปรึกษาสากลธุรกิจได้ขายหุ้นจำนวน 3,000 ให้กับบริษัทเช็ควิคฟอร์บส์ เซ้าส์อีส เอเชีย ลิมิเต็ด (SEDGWICK FORBERS SOUTH EAST ASIA LIMITED) หรือคิดเป็นจำนวน 30%

โดยวัยเป็นผู้ที่รู้จักกับประธานใหญ่ของ SEDGWICK GROUP (LONDON) จึงชวนมาลงทุนร่วมกัน

เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทหนึ่งในเครือข่ายของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แบงก์ของอังกฤษ เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยประกันชีวิตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในระยะแรกเซดจวิกกรุ๊ป (ลอนดอน) ยังไม่มีเป้าหมายการขยายตัวมากนัก จึงเพียงแต่ร่วมทุนแล้วปล่อยให้ผู้บริหารชาวไทยดำเนินงานไปเรื่อย ๆ

ปรากฏว่า ปี 2521 ที่ปรึกษาสากลธุรกิจมีผลการดำเนินงานขาดทุน ดังนั้น จึงมีความคิดที่จะเพิ่มทุนจากเดิมจดทะเบียนไว้ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท และเมื่อเพิ่มทุนแล้วก็ปรากฏด้วยว่า เช็ดวิคฟอร์บส์ เพิ่มการถือหุ้นมากขึ้นเป็น 45%

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เช็ดวิคฟอร์บส์ ได้เข้ามารับผิดชอบการบริหารงานมากขึ้น

ปี 2525 เนวิล เมลยูอิช ถูกว่าจ้างให้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยเมลยูอิช อ้างกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทั้งนี้เพราะที่ปรึกษาสากลธุรกิจเริ่มมีปัญหาทางการเงิน เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) จึงต้องการหาตัวแทนเข้ามารับผิดชอบงาน หลังจากที่เคยส่งคนของบริษัทเข้ามาแล้วแต่ไม่สำเร็จ

เมลยูอิชเข้ามาทำที่ปรึกษาสากลธุรกิจ โดยการชักชวนของวัยนั่นเอง

แต่ในปีเดียวกันที่เมลยูอิชเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ ปรากฏว่ามีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น 2 ประการในบริษัท

ประการแรก มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็น เซดจวิก (ประเทศไทย) จำกัด โดยปรากฏเหตุผลในหนังสือบริคณห์สนธิที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่

เหตุผลนั้นก็คือ เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) ได้เข้ามาถือหุ้นที่ปรึกษาสากลธุรกิจมาเป็นเวลานานถึง 5 ปีเต็ม ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนไปใช้ชื่อ เซดจวิก อย่างเต็มตัว และ "เพื่อประโยชน์ในการเชิดชูฐานะของบริษัทในตลาด รวมทั้งให้มีการใช้ตราของกลุ่มบริษัทด้วย"

ประการต่อมา วัย วรรธนะกุล ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้ที่เข้ามาแทนก็คือ เมลยูอิช

อดีตกรรมการเซดจวิก (ประเทศไทย) ซึ่งเคยร่วมงานกับบริษัทนี้มานาน 14 ปี แต่ปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นเนแวน (ไทย) และมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้ย้อนรอยต่อช่วงนี้ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ความเป็นจริงคือวัยซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทได้ถูกบีบให้ลาออก โดยฝีมือของผู้ที่เขาแนะนำให้เข้ามาทำงานนั่นเอง

เนวิล โทมาส เมลยูอิช ปัจจุบันอายุ 48 ปี เป็นชาวอังกฤษ เริ่มต้นชีวิตนักประกันภัยตั้งแต่เมื่ออายุต้น ๆ 20 กับบริษัท GENERAL ACCIDENT FIRE & LIFE ASSURANCE COMPANY (GAFLAC) อยู่เป็นเวลานาน 11 ปีแล้วก็เริ่มเปลี่ยนงานไปอีกหลายแห่ง มีประสบการณ์งานประกันภัยทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

มีภรรยาเป็นชาวไทย และมีบุตรชาย 1 คน

เมื่อได้รับคำชักชวนให้มาทำงานกับเซดจวิกนั้น เมลยูอิช กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะอยากจะอยู่ในเมืองไทย

หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการก็คือ เข้ามาค้นหาปัญหาของบริษัทและแก้ไขให้ได้ สร้างความสำเร็จให้กับเซดจวิก (ประเทศไทย)

เมลยูอิช บอกกับ "ผู้จัดการ" ได้ตรวจสอบกับงบกำไรขาดทุนที่กรมทะเบียนการค้า ปรากฏว่า ในช่วงปี 2527 และ 2528 เซดจวิก (ประเทศไทย) มีการขาดทุนสุทธิ 286,219 บาท และ 1,504,586 บาทตามลำดับ (รอบบัญชีสำหรับปีสิ้นสุด 30 มิถุนายน)

แต่ในปี 2529 ก็สามารถทำกำไรสุทธิขึ้นมาได้ 407,310 บาท (รอบบัญชีสำหรับปีสิ้นสุด 30 มิถุนายน)

ทว่า ก็ยังไม่สามารถกลบการขาดทุนสะสมที่มีมาตั้งแต่ปี 2527 ได้ โดยในปี 2527 มีการขาดทุนสะสม 573,075 บาท ปี 2528 มี 2,077,661 บาท และปี 2529 มี 1,670,351 บาท

จนในปี 2530 (เปลี่ยนรอบบัญชีสำหรับปีเป็น 31 ธันวาคม) มีการทำกำไรสุทธิได้มากขึ้นเป็น 1,640,766 บาท แต่เมื่อหักกลบขาดทุนสะสมแล้ว ก็ยังขาดทุนสะสมอีก 72,872 บาท

จนกระทั่งปี 2531 แหล่งข่าวในเซดจวิก ได้แจ้งให้ "ผู้จัดการ" ทราบว่า เซดจวิก (ประเทศไทย) สามารถทำกำไรได้ 1.2 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการโดยยังไม่ได้มีการตาวจสอบ) และจึงสามารถหักลบการขาดทุนสะสมได้หมด

อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2531 จะเริ่มมีกำไรจริง แต่ปรากฏว่า ในช่วงปลายปี เซดจวิก กรุ๊ป ลอนดอน กลับตัดสินใจถอนหุ้นออกจาก เซดจวิก (ประเทศไทย)

เมลยูอิช เปิดเผยเหตุผลกับ "ผู้จัดการ" ว่า การถอนหุ้นของเซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) นั้น ไม่ได้เกิดเพราะมีปัญหาอะไร แต่เนื่องจากว่า เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) ไม่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนการทำธุรกิจในประเทศไทย กอปรกับเซดจวิก (ประเทศไทย) ก็สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตัวเอง

เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) เสนอขายหุ้นให้เมลยูอิชและภรรยา โดยมีเงื่อนไขว่า หากคนทั้งสองจะเลิกทำกิจการนี้ในอนาคต ห้ามมิให้นำหุ้นไปขายแก่บริษัทคู่แข่งของเซดจวิก แต่ให้ขายคืนแก่เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) ยกเว้นแต่จะขายให้พนักงาน เซดจวิก (ประเทศไทย) เดิมทียังทำงานอยู่กับบริษัทเนแวน (ไทย)

เมลยูอิช กล่าวว่า ปัจจุบันเขาก็ยังคงเป็นผู้แทน (REPRESENTATIVE) ของเซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) และเนแวน (ไทย) ซึ่งมีเขาและภรรยาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ยังคงเป็นตัวแทนของเซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) (AGENT OF SEDGWICK GROUP)

การถอนหุ้นของเซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) ในช่วงที่เซดจวิก (ประเทศไทย) เริ่มทำกำไรได้นั้น จะมาจากเหตุผลใดยังเป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างชัดนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือ แม้เมลยูอิชจะยังคงนั่งในตำแหน่ง บริหารเดิมที่บริษัทใหม่ ด้วยความสามารถและประสบการณ์ความช่ำชองในระดับสากล แต่ในฐานะที่เปลี่ยนไป คือ เป็นเจ้าของกิจการเต็มตัว ไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างของ เซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) อีกต่อไป

และในจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในเซดจวิก (ประเทศไทย) นี้ อดีตกรรมการและเจ้าหน้าที่ตัวแทนนายหน้า ซึ่งเป็นพนักงานที่บทบาทสำคัญในบริษัทก็ได้ถือโอกาสยกขบวนลาออกรวม 7 คน

สองคนในจำนวนนี้ได้คุยกับ "ผู้จัดการ" ในเวลาต่อมาว่า พวกเขาไม่พอใจพฤติกรรมหลายอย่างของเมลยูอิช เพราะมันส่อความไม่ชอบมาพากล

และหลังจากที่คนเหล่านี้ลาออกแล้ว แยกย้ายไปสู่บริษัทนายหน้าอื่น ๆ ปรากฏว่า เนแวน (ไทย) ได้มีจดหมายเวียนไปสู่ลูกค้าบริษัทประกันภัยทั้งหลาย ย้ำว่า คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นพนักงานของเนแวน (ไทย)

เนแวน (ไทย) สมัยที่ยังเป็นเซดจวิก (ประเทศไทย) มีสัดส่วนการตลาดนายหน้าประกันภัยมากน้อยเพียงใด ยังเป็นเรื่องที่สับสน ทั้งนี้ แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อ้างว่า เซดจวิก (ประเทศไทย) ไม่มีบทบาทมากนัก ผลงานที่สำคัญและเป็นชิ้นเป็นอันดูเหมือนจะมีแต่การจัดประกัต่อให้ทีพีไอ ก่อนที่ฮีทฮิวดิก แลงเวล จะมารับช่วงต่อและเกิดเหตุระเบิดขึ้นเท่านั้น

ส่วนเมลยูอิชก็อ้างว่า เซดจวิกมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่มาก ลูกค้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, ไทยออยล์, การบินไทย นอกจากนี้ เซดจวิก (ประเทศไทย) ยังได้เป็นที่ปรึกษาการบริหารความเสี่ยงของโครงการเอ็นพีซีด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้รู้ในวงการ กล่าวว่า ลูกค้าสำคัญ ๆ ที่เมลยูอิชอ้างนั้น ได้ติดต่อโดยตรงกับเซดจวิก กรุ๊ป (ลอนดอน) หาใช่เซดจวิก (ประเทศไทย) ไม่

แต่แน่นอนว่า ผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยผู้หนึ่ง คือ เมลยูอิช

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องใช้เวลาสืบค้นกันอีกระยะหนึ่ง แต่เรื่องของเรื่องในขณะนี้ คือ ไม่มีเซดจวิก (ประเทศไทย) อีกต่อไป และในวาระที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ลูกค้ารายสำคัญของเซดจวิก (ประเทศไทย) ก็ตัดสินใจเลือกบริษัทนายหน้าประกันภัยใหม่

ทิ้งให้เนแวน (ไทย) ของเมลยูอิชนั่งฝันในกอไผ่ต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.