|
"เสี่ยเจริญ"ลบภาพนักธุรกิจน้ำเมา ลุย"เกษตร-พลังงาน"เข้าตลาดหุ้น!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 เมษายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหารกองทุนพลังงาน ชี้ 2 ยักษ์ใหญ่ "ซีพี-เจริญ"โดดเข้าสู่ธุรกิจพืชพลังงานส่งผลให้ไทยเป็นเบอร์ 3 ด้านพลังงานทดแทนของเอเชีย ด้าน"สุรเธียร"อดีตผู้บริหารเอสซีวิเคราะห์ศึกชนช้างแค่บริหารที่ดินให้เกิดประโยชน์-พร้อมต่อยอดธุรกิจ ขณะที่ "ซีพี" เชื่อการรุกของกลุ่มเจริญ ไม่กระทบเพราะธุรกิจในเครือเข้มแข็งทุกตัว ด้านวงการธุรกิจเชื่อการรุกของเสี่ยเจริญหวังลบภาพเจ้าพ่อน้ำเมาและดันธุรกิจใหม่เข้าตลาดฯในอนาคต
ธุรกิจพลังงานทดแทนแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เพราะจากสภาวะราคาน้ำมันโลกที่นับวันที่พุ่งทะยานขึ้นต่อไปอีกทำให้หลายบริษัทหันมาสนใจธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งรายเล็ก-รายใหญ่หนึ่งในยักษ์ใหญ่ที่ว่าคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่ได้ประกาศเดินหน้าโครงการผลิตไบโอดีเซลไปก่อนหน้านี้
ขณะที่เอกชนรายใหม่ที่มีทุนหนาพอๆกันกำลังจะมาท้าทายนั่นคือกลุ่มของ "เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี" แห่งไทยเบฟหรือ "เบียร์ช้าง"นั่นเอง โดย "เสี่ยเจริญ"หวังจะให้บริษัททีซีซีอะโกรเป็นหัวหอกทะลวงฟันรุกธุรกิจเกษตรอย่างเต็มตัว
โดยแนวคิดของ "กลุ่มเสี่ยเจริญ" นั้นจะมุ่งไปที่พืชพลังงานอาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ที่จะผลผลิตป้อนโรงงานสุรา ขณะที่เดียวก็กำลังคิดจะตั้งโรงงานน้ำตาลอีกด้วย ส่วนกากใยที่เหลือสามารถนำมาสู่ไลน์การผลิตเอทานอล หรือ ไบโอดีเซลได้อีกทาง
ไม่เพียงเท่านี้ยิ่งกระแสราคาข้าวที่ส่งออกสูงถึง 30,000บาท/ตันทำให้ "กลุ่มเสี่ยเจริญ" ประกาศออกมาแล้วว่าพร้อมจะเข้าสู่ธุรกิจข้าวในบ้านเราร การเข้ามาของกลุ่ม "เสี่ยเจริญ" ครั้งนี้ได้รับการจับตาอย่างพิเศษเพราะธุรกิจการเกษตรในบ้านเรามีเบอร์หนึ่งอย่าง"ซีพี" ครอบครองอยู่ก่อนแล้วหรือนี่อาจเป็นสงครามระหว่างยักษ์ชนยักษ์ก็ได้
ไทยขึ้นที่ 3 พลังงานแห่งอาเซียน
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟ ซี จำกัด (มหาชน) มองว่าว่า การเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อวงการธุรกิจพลังงานทดแทน รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ดีของประเทศ
"การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อวงการธุรกิจพลังงานของไทยในอนาคตอาจจะโตเป็นที่ 3 ของเซาท์อีสเอเชียรองจากอินโดนีเซียและมาเลเซียก็เป็นได้"
ปัจจุบันอินโดนีเซียและมาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มจำนวนมาก ซึ่งหากกลุ่มซีพี และกลุ่มเจริญ เข้ามาจะทำให้เกิดการแข่งขันปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะทั้ง2 ยักษ์ใหญ่มีที่ดินในมือจำนวนมาก อีกทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังมีธุรกิจในรูปของคอนแทรกฟาร์มมิ่งในกลุ่มประเทศอินโดจีนมากมาย จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาธุรกิจต่อจากนี้จำเป็นที่จะมีการพัฒนาสายพันธ์พืช การเพาะปลูกการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบ มีความจำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการพัฒนาธุรกิจพลังงาน
หนุนการปลูกพืชพลังงานสู่ "นโยบายชาติ"
เขาย้ำว่า การรุกสู่ธุรกิจของยักษ์ใหญ่ยิ่งจะทำให้ ภาคธุรกิจพลังงานมีความมั่นคง โดยเฉพาะกองทุนพลังงานที่มี "เจริญ" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมีความตื่นตัวและมั่นคง กระนั้นหากต้องการสร้างความตื่นตัวอย่างแท้จริง รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการผลักดันนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเป็น "นโยบายระดับชาติ" เพิ่มเติมจากที่ผลักดันเพียงพืชอาหารเท่านั้น
ในการจัดทำเป็นนโยบายระดับชาตินั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกพืชพลังงานเพื่อสร้างรายได้ โดยภาครัฐต้องรับประกันราคารับซื้อซึ่งน่าจะเกิดแรงจูงใจในการปลูกเพราะปัจจุบันราคาขายปาล์มสดในบ้านเรากิโลกรัมละ6 บาท เมื่อเปรียบเทียบราคากับปีที่แล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทกว่าๆเท่านั้นซึ่งถือว่าสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
นอกจากนี้หากส่งเสริมให้ประชาชนขยายพื้นที่ปลูกได้จำนวนมากจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนได้อีกทางด้วย
"ตรงนี้ภาครัฐควรจะมีแผนส่งเสริมอย่างจริงจังในแผน 3-5 ปีว่าปีแรกควรจะขยายพื้นปลูกได้เท่าไหร่ ปีถัดไปเท่าไหร่ ทั้งหมดได้เท่าไหร่ แล้วมาคำนวณต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลทั้งระบบจะทำให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงานสำรองอีกด้วย"
ชี้"2ยักษ์ใหญ่"บริหารที่ดินสู่เกษตรฯ
อย่างไรก็ตามโอกาสด้านธุรกิจพลังงานที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นอนาคตเช่นกัน จนกระทั่ง 2 ทุนยักษ์ใหญ่ก็กระโดดลงมาเล่นในเกมนี้ด้วย เนื่องจากมีจุดแข็งที่สำคัญก็คือ การมีที่ดินอยู่ในมือค่อนข้างมากโดยเฉพาะ"เสี่ยเจริญ"ที่จากการประเมินพบว่ามีอยู่ประมาณ1แสนไร่ซึ่ง"สุรเธียร จักธรานนท์" ประธานกรรมการบริษัท อี-เอสเทอร์ จำกัด อดีตผู้บริหารคนสำคัญแห่งค่ายเอสซีเอสเสท ผู้เชี่ยวชาญในวงการอสังหาริมทรัพย์มองว่า การรุกเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวของ 2 ยักษ์ใหญ่ทั้งซีพีและทีซีซีนั้นเนื่องจากต้องการใช้ที่ดินที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ ซึ่งประเหมาะกับช่วงที่กระแสพลังงานทดแทนมีความน่าสนใจค่อนข้างมาก
"การโดยเข้าธุรกิจพลังงาน คงมีที่มาจากต้องการใช้ที่ดินที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์มากกว่า เพราะช่วงนี้กระแสพลังงานทดแทนมาแรงมาก รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย"
นี่อาจเป็นเพียงการต่อยอดทางธุรกิจของทั้งคู่ ซึ่งซี.พี.และ ทีซีซี เนื่องจากทั้งคู่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจเช่นกัน เนื่องด้วยซี.พี.เองก็มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านพืชอาหารอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ ทีซีซี ก็สามารถไปต่อยอดในขั้นตอนของในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีอยู่ได้ แต่จุดอ่อนที่ทั้งคู่ มีเหมือนๆกันก็คือ เทคโนโลยีด้านการแปรรูปวัตถุดิบและบุคลากรที่อยู่ในช่วงแสวงหาเนื่องจากเป็นมือใหม่ในวงการนี้ทั้งคู่
ต่อยอดธุรกิจสร้าง "เงิน"มหาศาล
ดังนั้นในแง่มุมของการต่อยอดธุรกิจ สิ่งที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จากการประกอบการธุรกิจพลังงานก็คือ การขาย "คาร์บอนเครดิต"จากข้อตกลงการพัฒนาที่สะอาด (clean development mechanism หรือ CDM) ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเข้ามาดำเนินโครงการลด/เลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ และให้นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้เป็น "คาร์บอนเครดิต" โดยไปหักออกจากจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่มีพันธกรณีจะต้องลดลงในประเทศของตัวเอง ซึ่งจุดนี้ ถือว่าเป็นการต่อยอดที่คุ้มค่าอย่างมาก
"การจัดตั้งโรงงานแปรรูปพืชพลังงานทดแทน แล้วต่อยอดด้วยการขายเครดิตคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการรายอื่นก็เป็นการต่อยอดที่มีผลตอบแทนที่คุ้มค่าเช่นกัน"
โดยสิ่งที่ค่อนข้างเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อการปลูกพืชพลังงานก็คือ ปัญหาจากภาวะโลกร้อน ที่อาจจะส่งผลให้พืชที่ปลูกมีผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายทำให้มีความผันแปรและเป็นเรื่องยากแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แต่ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมปัจจัยดินฟ้าอากาศได้ ดังนั้น การมองว่ายักษ์ใหญ่เข้ามาในธุรกิจนี้จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจดังกล่าวนั้น สุรเธียรมองว่าไม่สามารถที่จะทำได้เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกนั้นมีมาก และอยากที่ใครจะเป็นผู้ควบคุมได้เพียงเจ้าเดียว
ดังนั้น ปัญหาที่น่ากลัวก็คือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลให้ผลผลิตที่ตั้งเป้าไว้ไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งไม่ว่าจะรายใหญ่รายเล็กก็ต้องประสบกับเรื่องนี้เช่นกัน และนี่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างน่ากลัวสำหรับผู้ลงประกอบการทุกราย
ชี้ อนาคตที่ดิน-พืชราคาพุ่ง
นอกจากนี้สุรเธียร ยังมองถึงอนาคตในธุรกิจพลังงานต่ออีกว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนที่กระแสค่อนข้างมาแรง จะชะลอตัวเมื่อมีการปลูกพืชดังกล่าวมากขึ้นจนมีราคาใกล้เคียงกับพืชอาหารเนื่องจาก รวมถึงราคาที่ดินในการเพาะปลูกจะถีบตัวสูงขึ้น จึงอาจจะต้องหาพืชพลังงานทดแทนชนิดใหม่เข้ามาแทนที่พืชเดิมที่มีอยู่นอกเหนือจาก ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพืชตัวใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัยคือ "สาหร่าย" ที่มีค่าการให้น้ำมันเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดีนอกจากกลุ่มเจริญ จะเข้าสู่ธุรกิจพืชพลังงานแล้ว ยังเข้าสู่วงการข้าวอย่างจริงโดยได้เตรียมที่ดินกว่า 10,000ไร่ไว้รองรับการปลูกข้าวและได้ทดลองปลูก 2,000ไร่ที่จังหวัดหนองคายประเด็นดังกล่าวนี้ได้รับการพูดถึงกันมากเพราะ "เสี่ยเจริญ"เติบโตมาจากธุรกิจน้ำเมาการขยับแต่ละก้าวจึงไม่ธรรมดาและเป็นที่จับตามองของนักธุรกิจต่างๆ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นการล้างภาพธุรกิจ อบายมุขพร้อมแต่งตัวเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้งก็เป็นไปได้
วงการข้าวอ้าแขนรับ "เจ้าสัวเจริญ"
ด้าน"สุเมธ เหล่าโมราพร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัดมองถึงการเข้ามารุกธุรกิจข้าวในช่วงนี้ของกลุ่มทีซีซีอะโกรว่า คงเป็นกระแสที่ทุกคนรู้ดีกว่าช่วงนี้ราคาข้าวสูงขึ้นมากทำให้กลุ่มเสี่ยเจริญที่มีการเตรียมการจะปลูกข้าวอยู่ก่อนแล้วประกาศเดินหน้าโครงการที่เตรียมไว้ ซึ่งแม้กลุ่มนี้จะหันมาปลูกข้าวเพื่อส่งออกจริงๆก็คงไม่กระทบอะไรเพราอย่าลืมว่าในประเทศมีบริษัทส่งออกข้างมากกว่า 100 บริษัทมีโรงสีมากกว่า 100โรงถ้ากลุ่มนี้เข้ามาก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ แม้จะมีการซื้อเพื่อส่งออกก็ตาม
"ไม่มีปัญหาเลยที่หากกลุ่มเสี่ยเจริญจะรุกธุรกิจอื่นๆด้วยนอกจากข้าว เพราะซีพีมีความพร้อมในธุรกิจที่ทำ หากเสี่ยเจริญจะขยายสู่ธุรกิจด้วยยิ่งดีเพราะจะได้สร้างงานให้เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย"
เชื่อส่งออกข้าวไม่กระทบ
ขณะที่ "ชูเกียรติ โอภาสวงค์" นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศเห็นสอดคล้องกันว่าการเข้ามาของกลุ่มทีซีซีอุตสาหกรรมจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจข้าวในประเทศเพราะว่าประเทศไทยปลูกข้าวมากกว่า 60 ล้านไร่ทั่วประเทศหากกลุ่มเสี่ยเจริญจะปลูก 20,000 -30,000ไร่ก็คงไม่มีผลกระทบต่อวงการข้าวแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้จะเน้นไปที่พืชพลังงานและสวนยางพาราที่ลงทุนไปจำนวนมากก่อนหน้านี้
สำหรับการเข้ามารุกในธุรกิจเกษตรของกลุ่มเสี่ยเจริญน่าจะมุ่งไปที่การลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆมากกว่า เช่นผลิตเพื่อป้อนโรงงานสุรา ผลิตเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาล ไม่ใช่จะหันมาทำธุรกิจทุกตัวอย่างที่ซีพีทำจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงแต่อย่างใด
"การส่งออกข้าวปีหนึ่งๆเป็นแสนๆตันหากกลุ่มของเสี่ยเจริญเข้ามาก็แค่ส่วนหนึ่งไม่ได้มากมาย จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงแต่อย่างใด"
ทั้งนี้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมผู้บริหารกลุ่มทีซีซีอะโกรไม่ว่าจะเป็น"ปณต สิริวัฒนาภักดี"ลูกชายหัวแก้วแหวนหรือ "อนันต์ ดาโลดม" MDทีซีซีอะโกรในการเข้ามารุกธุรกิจข้าว และธุรกิจพลังงานในประเทศไทยรวมถึงการลบภาพธุรกิจอบายมุขเพื่อหวนกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยภาพหลักของธุรกิจเกษตร-พลังงานซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่ดีอีกครั้งหลังต้องนำไทยเบฟเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เพราะถูกต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ ไม่ให้เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ได้รับการปฏิเสธให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|