มันมาแล้ว !ปรากฏการณ์หมายเลข 3


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- อะไรจะเกิดขั้นเมื่อเข้าสู่ยุค 3 จี และเว็บ 3.0 เต็มรูปแบบ
- จับตาวิถีชีวิตของคนไทย และทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป
- การเปิดตัว 3GSM Advance จะปฏิวัติการแข่งขันในธุรกิจสื่อสารไร้สายได้มากน้อยเพียงใด
- ทรูมูฟ – ดีแทค –ฮัทช์ จะแก้เกมเดิมพันสูงนี้อย่างไร

3G ปรากฏการณ์มือถือ พลิกโฉมผู้ให้บริการ-ผู้บริโภค

ปรากฏการณ์เลข 3 ที่กำลังจะพลิกโฉมปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารในประเทศไทย คือการเปิดให้บริการ “3G” ของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังจากประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังกว่าบรรดาเพื่อนบ้านที่ได้ทยอยเปิดให้บริการ 3G ไปก่อนหน้านี้แล้ว

แต่การเกิดขึ้นของการให้บริการ 3G ในประเทศไทย ยังไม่ใช่รูปแบบที่เป็นมาตรฐานที่ประเทศอื่นๆ ใช้กัน ซึ่งเป็นการใช้บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกกะเฮิร์ตซ์ แต่เป็นการพัฒนา 3G บนโครงข่ายเดิมของแต่ละผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น สืบเนื่องจากประเทศไทยโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) ยังไม่ได้มีการอนุมัติเรื่องของไลเซนต์ใหม่ ความพยายามของผู้ให้บริการที่จะก้าวข้ามเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยีใหม่ จึงเป็นการพัฒนาที่อาศัยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า High Speed Packet Access (HSPA) มาไว้บนคลื่นความถี่เดิม

“คลื่นความถี่ใหม่ไม่รู้ว่าชาติหน้าจะได้ใช้หรือเปล่า” เป็นคำกล่าวของ วิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส

เมื่อไลเซนต์ใหม่ไม่เกิด การที่จะเกิดปรากฏการณ์ 3G เพื่อพลิกโฉมผู้ให้บริการและผู้บริโภคผู้ใช้งาน จึงอยู่ที่การแสวงหาช่องทางของผู้ให้บริการ เพื่อให้สามารถที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการมือถือในยุคใหม่ ซึ่งได้เกิดความเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 ที่ผ่านมา เสมือนแผนที่ถูกเขียนไว้ โดยเอไอเอสได้จับมือกับทีโอทีในการเป็นพันธมิตรธุรกิจ และดีแทคเป็นพันธมิตรกับ กสท โทรคมนาคม เพื่ออาศัยเป็นเส้นทางลัดในการเปิดให้บริการ 3G

ทั้ง ทีโอที และ กสท ถือเป็นผู้ให้สัมปทานของเอไอเอสและดีแทค การที่ทั้งเอไอเอสและดีแทค จะพัฒนาอะไรใหม่บนเครือข่ายจึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการยินยอมจากทั้งสองแห่งนี้ก่อน เมื่อแนวทางการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเกิดขึ้น การทดสอบทดลองการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายของทั้งสองก็ได้เริ่มต้นเช่นกัน อยู่ที่ว่าใครจะมีความพร้อมในการเปิดให้บริการเร็วกว่ากัน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา เอไอเอสได้จัดงานแถลงข่าวเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์มือถือเห็นหน้าได้ ด้วยเทคโนโลยี HSPA ครั้งแรกในเมืองไทย หรือเรียกได้ว่าเป็นการเปิดให้บริการ “3G” ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อแบรนด์ “3GSM advance” ที่พร้อมเปิดให้บริการจริงในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก

เอไอเอสได้นำเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นที่ 900 เมกกะเฮิร์ตซมาให้บริการ โดยถือเป็นการทำงานบนสัญญาที่รับสิทธิอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีโอที และเอไอเอส ที่ได้ทำ MOU ร่วมกันในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทย ซึ่งเอไอเอสได้รับสิทธิจากทีโอทีในการปรับปรุงโครงข่ายจากที่ได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่บนความถี่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทีโอทีก็ได้รับอนุญาตจาก กทช ให้ทำการปรับปรุงโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซเรียบร้อยแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมนี้ จะมีประสิทธิภาพได้เทียบเท่ากับการให้บริการ 3G บนความถี่ 2.1 กิกกะเฮิร์ตซหรือไม่ ผู้บริหารของเอไอเอส บอกว่าขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลกได้มีแนวความคิดที่จะพัฒนา 3G บนความถี่เดิม ไม่ว่าจะเป็น 900 หรือ 800 เนื่องจากความถี่ เดิมสามารถครอบคลุมการให้บริการกว้างไกลกว่า ผู้ให้บริการจึงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่บนความถี่เดิม และผสมผสานการให้บริการระหว่างสองคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่เอไอเอสเปิดให้บริการ 3G ภายใต้แบรนด์ 3GSM advance ซึ่งถือเป็นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเจนเนอเรชั่นที่ 3 บนมาตรฐาน WCDMA (Wide Band CDMA) คือความสามารถในการให้บริการรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงขนาด 7200 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งแตกต่างจาก GPRS หรือ EDGE ที่ปัจจุบันให้ความเร็วเพียง 160 กิโลบิทต่อวินาทีหรือต่างกันถึง 45 เท่า

การให้บริการในความเร็วสูงขนาดนี้ คือสิ่งที่ผู้ให้บริการต้องการพัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งคือการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับการให้บริการของแต่ละผู้ให้บริการ และสิ่งที่ตามมาคือรายได้จำนวนมหาศาลจากผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริการ 3G คือตัวช่วยให้คนไทยมีโอกาสและทางเลือกในการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งผ่านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผลที่ตามมาคือ 3G เป็นการช่วยผลักดันอัตราการเติบโตของ Internet penetration โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบรอดแบนด์ให้เติบโตยิ่งขึ้น

จากการสำรวจปริมาณการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต พบว่าตัวเลข penetration rate ของผู้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 13% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีระดับ penetration rate อยู่ที่ 20.6% ประเทศมาเลเซีย 47.6% ส่วนตัวเลขสัดส่วนการใช้งานบรอดแบนด์ของไทยปัจจุบันมีอยู่เพียง 2% เท่านั้น

เมื่อเกิดการให้บริการ 3G เชื่อแน่ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของผู้ใช้ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้งานดาต้าจำนวนมาก เนื่องจาก 3G สามารถให้บริการต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ โทรศัพท์แบบเห็นหน้า หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ลักษณะของวิดีโอคลิป วิดีโอสตรีมมิ่ง มิวสิควิดีโอและอื่นๆ อีกมากมาย

สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส กล่าวว่าการใช้งานโมบายดาต้ามีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่เอไอเอสต้องเปิดให้บริการ 3G ภายใต้แบรนด์ 3GSM advance ถือเป็นการปฏิวัติการสื่อสารไร้สาย และเป็นการเคลื่อนตัวของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปไว้บนโทรศัพท์มือถือ

“เราจะเคลื่อนบริการทั้งหมดของเอไอเอสไปไว้ใน 3GSM advance”

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของเอไอเอสในการเคลื่อนฐานลูกค้าไปสู่ 3GSM advance ในช่วงแรกคือกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานดาต้าสูง โดยจะเปิดให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าโพสต์เพดหรือจีเอสเอ็มแอดวานซ์ก่อน โดยลูกค้าปัจจุบันสามารถเปลี่ยนมาใช้ 3GSM advance ได้โดยใช้เบอร์เดิม เพียงซื้อเครื่องโทรศัพท์และเปลี่ยนเป็นซิม 3GSM advance ในช่วงเริ่มต้นมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถรองรับการงาน ได้แก่ โนเกีย 6121 โฟนวัน 3GM602 โฟนวัน 3GE500 ที่เป็นยูเอสบีโมเด็ม ภายในสิ้นปีนี้จะมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับบริการ 3G ของเอไอเอสไม่ต่ำกว่า 10 รุ่น

สำหรับอัตราค่าใช้บริการของ 3GSM advance นั้น จะคิดอัตราตามโปรโมชั่นที่ใช้งานอยู่ แต่ในส่วนของการใช้งานดาต้าจะคิดตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งานจริง คือ 500 MB อัตราค่าบริการ 100 บาท หากมากกว่า 500 MB คิดอัตราค่าบริการ 10บาท/50 MB และในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการ 3GSM advance ในครั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่จดทะเบียน 3GSM advance ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2551 รับฟรี 500 MBต่อเดือน ภายใน 6 เดือนแรก

ในการเปิดตัวบริการ 3GSM advance ในครั้งนี้เอไอเอสเตรียมงบประมาณในการเปิดให้บริการกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่อยู่ในส่วนของการพัฒนาเครือข่ายปี 2551 ที่เตรียมไว้กว่า 16,000 ล้านบาท โดย 3GSM advance จะเปิดตัวและเริ่มให้บริการที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 จากนั้นจะเริ่มให้บริการในกรุงเทพฯในวันที่ 15 มิถุนายน 2551 ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะมีการทยอยเปิดตัวให้ครบทุกภูมิภาคในสิ้นปีนี้

การเลือกเปิดให้บริการ 3GSM advance ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับแรกเนื่องจากอัตราการใช้งานดาต้าในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการใช้งานสูงและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ ADSL ถือได้ว่าน้อยกว่ากรุงเทพฯมาก แต่มีความต้องการใช้งานสูง การมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายน่าที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี

ทางด้านดีแทคนั้น ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ได้มีการกล่าวไว้ว่าดีแทคมีความพร้อมในการลงทุนอัพเกรดโครงข่ายที่มีอยู่แล้วทันทีทั่วประเทศ โดยได้มีการเตรียมเงินงบประมาณไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

การให้บริการ 3G ของดีแทคบนคลื่นความถี่เดิมนั้นถูกมองว่าจะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น เนื่องจากเครื่องลูกข่ายที่รองรับการใช้งาน HSPA บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซมีมากกว่า ทั้งมีคลื่นเลือกมากกว่า 10 MB ที่ไม่เกี่ยวกับการให้บริการเดิม จึงไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการความถี่ระหว่างบริการเดิมกับบริการที่จะปรับปรุงใหม่

บิสซิเนสโมเดล 3G ระหว่างดีแทค และ กสท น่าจะเป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งในช่วงแรกดีแทคจะเป็นคนตั้งเรื่องนี้ขึ้นมา โดยในแง่ของสัญญาสัมปทานอาจจะต้องตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งหากกฎระเบียบผ่านทุกอย่างผ่านแล้ว ดีแทคสามารถนำบริการออกสู่ตลาดได้ภายในหนึ่งปี แต่หลังจากที่เอไอเอสได้มีการเปิดให้บริการในครั้งนี้ น่าที่จะเป็นตัวเร่งให้ดีแทคต้องเร่งรีบเปิดให้บริการเช่นกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเสียรางวัดให้กับคู่แข่งอันดับหนึ่งอย่างเอไอเอสได้

ส่วนทรูมูฟ อีกหนึ่งค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไทย ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งเอไอเอสและดีแทค เช่นกัน แต่ความเสียเปรียบของทรูมูฟ คือการไม่มีคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตาม กสท น่าจะมีทางออกในเรื่องนี้ ด้วยการนำคลื่นที่ให้กับฮัทช์มาแบ่งปันให้กับทรูมูฟเพื่อเปิดให้บริการ 3G บนความถี่เดิมได้เช่นกัน

เมื่อเกิดปรากฎการณ์ 3G กับวงการมือถือไทยในครั้งนี้ เชื่อแน่ว่าปรากฎการณ์นี้จะพลิกโฉมวงการมือถือไทยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคออนไลน์ทุกที่ทุกเวลาได้อย่างเต็มรูปแบบ และกลายเป็นปฐมบทใหม่ของเมืองไทยที่ก้าวไปสู่โลกไร้สายใหม่ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

เว็บ 3.0 ยุคเปลี่ยนผ่านที่ท้าทายมนุษย์

“อินเทอร์เน็ตกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเว็บ 3.0 ซึ่งจะเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตจะสามารถเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน เป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ท้าทายมากที่สุดของมนุษยชาติ” เรืองโรจน์ พูนผล Quantitative /Product Marketting Manager กูเกิล อิงค์ กล่าว และอธิบายว่า ตอนนี้ที่อเมริกายุคเว็บ 2.0 จะอยู่ในช่วงปลายๆ อีกไม่นานเราจะเดินเข้าสู่ยุคเว็บ 3.0 ยุคที่เมื่อเวลาคุณเสิร์ชหาข้อมูลอะไรบนอินเทอร์เน็ต คุณจะไม่ได้แค่เว็บลิงก์เหมือนวันนี้ แต่เสิร์ชเอ็นจิ้นจะเข้าใจความหมายคำที่คุณเสิร์ชลงไป และดึงข้อมูลที่เป็นเชิงลึกมาให้คุณ พูดง่ายๆ คือ อินเทอร์เน็ตจะเข้าใจภาษาที่เราสื่อสารลงไปบนเน็ตมากขึ้น

ไทม์ ออนไลน์ รายงานว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้เราอาจเห็นหน้าตาของเว็บไซต์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมต่อความเป็นดิจิตอลที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกอุปกรณ์ ทุกรูปแบบ เช่น เว็บไซต์ อีเมล์ หรือไฟล์ต่างๆ ที่ใช้กันอยู่บนพีซีจะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เราต้องการได้

ปัจจุบันมีบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแห่งผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้กันบ้างแล้ว เช่น การผลิตเครื่องใช้ฟ้าของโซนี่ภายใต้แนวยูบิควิตัส (Ubiquitus) หรือภายใต้แนวคิด Anytime Anywhere ของซัมซุง

เมื่อเว็บจะฉลาดขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ต้องฉลาดขึ้นด้วยเช่นกัน เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวกัน แต่วิวัฒนาการของตู้เย็นวันนี้จะสามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งของใดบ้างในตู้เย็นกำลังจะหมดลง มันจะติดต่อไปยังร้านขายของเพื่อให้ส่งสินค้านั้นมาให้

ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หัวใจของเว็บ 3.0 ก็คือ Database Management ชนิดที่เป็น AI (Artificial Intelligence) ทำให้เว็บเป็นเว็บทางความหมาย (Semantic Web) คือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในเว็บต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันทั้งหมดทั่วโลก การจัดการกับฐานข้อมูลนี้จะรองรับการใช้ข้อมูลให้ได้รับความสะดวก และลึกมากยิ่งขึ้น

“พอถึงจุดนี้การตลาดมันจะเปลี่ยนไปแล้ว คุณต้องทำตัวเป็นผู้บริโภคไม่ว่าสินค้าหรือบริการ ปัจจุบนคนชอบนึกจากตัวเองออกไป (inside out) แต่จากเว็บ 3.0 จะต้องดูจากมุมของผู้บริโภค (outside in) ไม่ใช่จะขายอะไรที่ผ่านมาแนวคิดไอเอ็มซีไม่ได้ทำจริงๆ แต่เมื่อ 3.0 เข้ามาคุณต้องจะต้องดูพฤติกรรมของลูกค้า ต้องพัฒนาสินค้าไปตอบสนองแต่ละกลุ่ม”

สำหรับเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับเว็บ 3.0 ได้แก่ ประการแรก AI ทำให้ช่วยในการค้นหาข้อมูลตรงกับความต้องการมากที่สุดในระยะเวลาสั้นที่สุด มีการเชื่อมโยงเนื้อหาและแบ่งปันเนื้อหากัน ที่สำคัญคอมพิวเตอร์จะฉลาด คาดเดา และวิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการของมนุษย์ได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเองได้ โดยอัตโนมัติ และมีความเสมือนจริง ประการที่สอง เว็บ 3 มิติ นำเสนอในรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้น ประการที่สาม Scalable Vector Graphics (SVG) จะมีมาตรฐานในการสร้างรูปและการใช้งานบนเว็บ ทำให้ค้นหาและสร้างได้ง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องความแตกต่าง หรือการใช้งานร่วมกันไม่ว่าไฟล์นั้นจะเป็น JPEG, GIF, PNG เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้งานเว็บ 3.0 สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ภายใต้กรอบ 4 C+P+VS คือ Content, Commerce, Community, Context, Personalization และ Vertical Search ตัวอย่างเช่น นายปุ๋ยเป็นชายวัย 40 ผิวเหลืองร่างท้วม เชื้อจีน สนใจหนัง (Context) ต้องการซื้อหนังแนวตลกให้สาระ (Commerce) มาเก็บไว้ดู ขณะเดียวกันก็ต้องการอัพเดทหนัง (Content) และแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติกับคนคอเดียวกัน (Community) จึงพัฒนา BLOG ของตนเอง และเข้าไปหาข้อมูลในเว็บเพื่อนำมาสร้างเนื้อหาใน BLOG (Personalization, Vertical Search)

งานนี้หากไม่มีเว็บ 3.0 นายปุ๋ยอาจต้องไปตามร้านแถวจตุจักร แผงหนังสือใกล้บ้าน แต่เมื่อมีเว็บ 3.0 ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็น Personal Shopper ของนายปุ๋ยไปโดยปริยาย

Application ในเชิงการตลาด มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์เช่น SOA (Service Oriented Architecture) ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบใหม่ทั้งระดับโครงสร้าง และระดับการให้บริการเฉพาะด้านเพื่อรองรับบริการลูกค้าให้สะดวก รวดเร็ว เข้ากับไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องบริการลูกค้าในหลากหลายลักษณะมีทั้งเอาท์เล็ตในการให้บริการ มีระบบสอบถามข้อมูล คอลล์ เซ็นเตอร์ บริการซ่อม บริการเสริมพิเศษประเภทต่างๆ รวมทั้งการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า CRM (Customer Relationship Management) จึงต้องทำให้บริการได้หลากหลายช่องทาง ไม่ต้องมารับบริการที่สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาเท่านั้น

การทำเช่นนี้ต้องมีการแบ่งปันข้อมูล และแบ่งปันบริการ โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT : Information Technology) ต้องรองรับการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปไม่เพียงพอ จึงต้องมีการจัดโครงสร้างซอฟต์แวร์ขององค์กรทั้งในระดับภาพรวม และระดับบริการย่อยนั่นคือ ประการแรก ต้องมีโครงข่ายสำคัญในการขับเคลื่อน และเชื่อมต่อการใช้งาน ประการที่สอง มีดาต้าเบสกลางในการให้ข้อมูล และนำบริการและควบคุมบริการต่างๆ ประการที่สาม มีตัวจัดการให้บริการต่างๆ ทำงานอย่างสอดคล้องกัน และประการสุดท้าย มีระบบความปลอดภัยที่สูงขึ้น และช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น (ภาษาคอมพิวเตอร์ใช้คำว่า User Friendly มากๆจึงทำให้ถูกโจมตีง่าย)

ส่วนที่สอง ผสมผสานบริการให้รวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเบ็ดเสร็จในตัว เช่น ดึงไฟล์วิดีโอหลายนามสกุล ต่างชนิดกันมารวมกัน ตัดต่อและ write ลงแผ่นซีดีนำไปใช้งานได้ในทุกสภาพการณ์ทันที หรือเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันกับแหล่งข้อมูลต่างๆที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงใจผู้บริโภค การค้นหาง่ายขึ้น เช่น แม้จะใช้คียเวิร์ดกว้างแต่ระบบช่วยจัดการให้แคบ และหาข้อมูลได้ลึกและกว้างหลายทิศทาง

จาก 1.0 ถึง 3.0

คอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้เขียนถึงปรากฏการณ์เว็บ 3.0 ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อพูดถึงเว็บ 1.0 ต้องย้อนกลับไปราวๆ ปี 1992-1999 หลังจากอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายไปทั่ว นักเล่นอินเตอร์เน็ตในยุคนั้นเริ่มใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า เว็บ บราวเซอร์ อย่าง Netscape, IE Opera ผ่านรูปแบบเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการเขียนอย่างภาษา HTML (Hypertext Language) ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมพื้นฐานง่ายๆ โดยใช้โปรแกรม โน้ตแพด ที่มากับวินโดว์ส หรือแม้กระทั้งโปรแกรมเวิร์ดของออฟฟิศก็สามารถเปลี่ยนเป็นนามสกุล html ก็สามารถนำขึ้นเว็บได้แล้ว

หน้าตาเว็บในยุคเว็บ 1.0 นำเสนอเพียงข้อมูลที่ผู้สร้างต้องการจะนำเสนอ ใครอยากรู้อะไรก็คลิกเข้าดู มีลูกเล่นเล็กๆ อย่างภาพเคลื่อนไหวบนเว็บ เล่นเกมผ่านหน้าเว็บ ดาวน์โหลดเพลง โปรแกรม เกม และใช้งานอีเมล การค้นหาเว็บไซต์ใหม่ๆ ของผู้ใช้อาศัยการกดลิงก์ไปยังเว็บอื่นๆ ตามที่มีคนสร้างมีการแลกลิงก์กันระหว่างเว็บ เนื่องจากระบบการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์มากนัก ทำให้โปรแกรมแชตอย่าง เพิร์ช และ ไอซีคิว เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งปี 1999-2004 ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นยุคเว็บ 1.5 ก็ว่าได้ รูปแบบของเว็บไซต์ได้พัฒนามากขึ้น มีการสร้างระบบกระทู้ให้ผู้เข้าใช้บริการได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองขึ้นมา มีบริการสร้างฟรีโฮมเพจส่วนตัว เช่น Lycos และ Geocity เป็นต้น (คล้ายกับเว็บบล็อก แต่ผู้ใช้ต้องเขียนโปรแกรมและออกแบบเองทั้งหมด) เว็บไซต์สามารถนำข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและเสียงสดๆ ขึ้นบนหน้าเว็บได้

เป็นผลพลอยได้ระหว่างการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และผลจากการนำโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาเว็บไซต์อย่าง Java, API, Dreamwaver และอีกมากมาย ซึ่งความเร็วและโปรแกรมเหล่านี้ทำให้หน้าตาของเว็บและการใช้งานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

จนกระทั่งหลังปี 2004 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงจากเว็บ 1.0 เข้าสู่เว็บ 2.0 อย่างแท้จริง บางคนอาจไม่ได้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นก็เพราะว่าบรรดาเว็บไซต์จะเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปมาก่อนปี 2004 โดยเว็บที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือ hotmail.com และวิกิพีเดีย และในประเทศก็คือ Mthai.com

สำหรับฮอทเมล เปลี่ยนแปลงโดยสร้างรูปแบบหน้าจอให้ง่ายต่อการใช้งาน และสนับสนุนการใช้งานผ่านระบบ IM (Instant Message) ให้แพร่หลาย นอกจากนี้ฮอทเมลยังเป็นเว็บแรกๆ ของโลกที่เปลี่ยนมาสู่ยุค 2.0 ก่อนใคร ในขณะที่วิกิพีเดียกลายเป็นคลังข้อมูลดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว ส่วนเอ็มไทยนั้นพัฒนาจากเว็บรวมกระทู้ธรรมดาๆ กลายเป็นชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ ที่มีบริการหลากหลายทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงเพลง รวมทั้งรวบรวมข่าวสารที่น่าสนใจแทบทุกอย่างในประเทศไทย

เว็บ 2.0 จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นชุมชน คือมีการพูดคุยตอบโต้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น การโต้ตอบหรือการติดต่อสื่อสาร 2 ทางนี้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการติดต่อซื้อขายผ่านเว็บไซต์อย่างอีเบย์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเผยแพร่ข้อมูลไม่จำเป็น ต้องเป็นเจ้าของเว็บ อย่าง วิกีพีเดีย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เขียนบทความที่มีสาระเข้าไปอย่างอิสระและมีการตรวจสอบกันเอง รวมทั้งการเกิดเว็บบล็อกก็เป็นแหล่งข้อมูลส่วนตัวของคนใช้อินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างมากขึ้น

เว็บ 2.0 มีความสามารถในการแชร์ไฟล์และข้อมูลร่วมกันมากขึ้น จุดนี้ไม่ได้หมายความถึง Bittorent ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ แต่เป็นการอัพข้อมูลขึ้นบนเว็บและให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาโหลดข้อมูลนี้ไปใช้ ทั้งยังเน้นความสวยงาม ลูกเล่นแพรวพราว สบายตาน่าใช้

ขณะที่เว็บ 3.0 จะเป็นก้าวต่อไปของเว็บไซต์ที่พัฒนาจากเดิมมากมาย อย่างแรกที่บรรดานักออกแบบเว้บไซต์รวมทั้งผู้สร้างโปรแกรมเขียนเว็บได้พัฒนากันไว้คือเรื่องความฉลาดของเว็บโปรแกรมจะมีการโต้ตอบกับผู้ใช้หรือบันทึกสิ่งที่เขาชอบค้นหามากที่สุด จากนั้นมันจะช่วยค้นหาคำที่ต้องการรวมทั้งข้อมูลใกล้เคียงที่สามารถนำไปใช้ได้

มีระบบฐานข้อมูลอย่างละเอียดเช่นในข่าวที่เราค้นหาอาจจะมีชื่อคนที่ไม่คุ้นหู เว็บไซต์จะทำแถบลิงก์ชื่อของคนคนนั้นเพื่อนำไปสู่ข้อมูลบุคคลหรือข่าวที่เคยเกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากความฉลาดและฐานข้อมูลขนาดมหึมาแล้ว กราฟิกของเว็บไซต์จะเป็นไปในรูปแบบ 3 มิติ หน้าตาเว็บไซต์จะไม่ได้ถูกจำกัดแค่การแสดงผลเหมือนหน้ากระดาษเท่านั้น แต่จะกลายเป็นเว็บที่มีมิติให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วคลิกเลือกดูสิ่งสิ่งที่ต้องการได้ คล้ายๆ กับโปรแกรมเกม Second life ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในเวลานี้ โดยเว็บที่เริ่มพัฒนาเข้าข่าย 3.0 แต่ยังไม่เป็นโดยสมบูรณ์ก็มีเช่น google.com, live.com เป็นต้น

ปัจจุบันในต่างประเทศก็เริ่มมีเว็บไซต์แนวนี้กันมากขึ้นและเป็นการส่งสัญญาณแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วว่า คอมพิวเตอร์สเปกต่ำๆ ที่เชื่อกันว่าใช้เล่นอินเตอร์เน็ต พิมพ์งาน รวมทั้งความเร็วในการเชื่อมต่อที่ 56 Kbbp คงไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.