จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี จากเยาวราชถึงซูริคกับบทเรียนจากโมคัตตา


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรพบุรุษของจิตต์ ตั้งสิทธิ์ภักดี ทำมาค้าขายเรื่องทองคำมาหลายชั่วคน ตัวจิตติเองเป็นลูกจ้างในร้านทองของพี่ชายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาเรียนไม่สูง แต่ประสบการณ์เรื่องค้าทองกว่า 30 ปีทำให้เขากลาเยป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าทองอย่างหาตัวจับยาก

8 ปีก่อน เขาเปิดกิจการห้างค้าทองของตนเองขึ้นใจกลางย่านเยาวราช ชื่อ "ห้างขายทองจินฮั้วเฮง" ไม่กี่ปีเขาเปิดสาขาที่สองไม่ห่างจากร้านแรก ไม่ถึงป้ายรถเมล์ ปี 2526 เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมค้าทงอคำ และปัจจุบันเขาก็เป็นอุปนายกอยู่ในสมาคมดังกล่าว

มีไม่กี่คนที่รู้ว่า จิตติเป็นหนึ่งในสองคนที่กำหนดและชี้ชะตาราคาทองคำร้านค้าทองในแต่ละวัน อีกคนคือ ปราโมทย์ พสวงศ์ แห่งห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง ซึ่งเป็นนายกสมาคมเดียวกับจิตต์

"เช้า ๆ เราจะติดตามราคาตลาดต่างประเทศว่า มันขึ้นลงอย่างไรแล้วเราก็ปรับตัว ราคาที่เปิดออกมาต้องผ่านการพิจารณาว่ายุติธรรม ให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการซื้อขายกัน จะถูกเกินไปหรือแพงเกินไปไม่ได้ต้องให้พอดี ๆ หากราคาเคลื่อนไหวมากก็ต้องเปลี่ยนแปลงทุกวัน หรือบางครั้งครึ่งวันก็เปลี่ยน" จิตติ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ราคาทองที่กำหนดนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการค้าทองคำ ซึ่งเป็นการรวมตัวกัน ห้างขายทองยักษ์ใหญ่ย่านเยาวราช เช่น ฮั่วเซ่งเฮง โต๊ะกังเยาวราช เล่งหงษ์ ยู่หลงกิมกี่ บ้วนฮั่วล้ง เลี่ยงเซ่งเฮง และจินฮั้วเฮง ซึ่งล้วนแต่เป็นห้างที่มีอิทธิพลต่อตลาดค้าทองบ้านเรา

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนทองคำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นทองรูปพรรณในไทย และมีการลักลอบนำทองคำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายมากมายผิดสังเกต จิตติและสมาคมค้าทองคำ ได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับกระทรวงการคลังรวมทั้งสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ

รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสมบูรณ์ ได้ออกกฎหมายควบคุมไม่ให้นำเข้าหรือส่งออกทองคำโดยเสรีมาตั้งแต่ปี 2494 เพราะทองคำเป็นสินค้าที่ใช้แทนเงินได้ง่าย เหมาะสำหรับการเก็งกำไร หากปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี รัฐบาลเกรงว่าจะควบคุมลำบาก และถ้าเกิดมีการตุนทองคำเพื่อเก็งกำไรมาก ๆ จะส่งผลกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อการสั่งทองคำจากต่างประเทศเข้ามาจะต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ

แต่มาตรการนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก เพราะปริมาณทองคำในเมืองไทยเพียงพอต่อการเป็นวัตถุดิบสกัดเป็นทองแท่งและทองรูปพรรณ และคนไทยก็ชอบ "เล่นทอง" ซื้อง่ายขายคล่อง ทองรูปพรรณก็จะแปรเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่

มาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ปริมาณทองคำเริ่มลดลง กระทรวงการคลังจึงอนุมัติให้มีการประมูลบริษัทนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ ให้เวลาในการนำเข้างวดละ 2 ปีต่อหนึ่งบริษัท แต่ทำไปได้ไม่กี่ปีก็ไม่มีใครอยากนำเข้าอีก เพระาเอามาแล้วขายไม่ค่อยออก ขาดทุนกันทุกบริษัท เนื่องเพราะกฎระเรียบการซื้อขายที่หยุมหยิมเกินไป และความต้องการทองคำก็ยังไม่ได้รุนแรงมากมาเมื่อ 2-3 ปีมานี้เองที่ปริมาณทองคำไม่เพียงพอ และทองเถื่อนก็ทะลักมาจากสิงคโปร์ ฮ่องกงอยู่เรื่อย ๆ มีคดีจับกุมผู้ลักลอบนำทองคำเข้าไม่ขาดระยะหลายสิบคดี

คราวนี้ กระทรวงการคลังแก้ปัญหาโดยการอนุมัติให้บริษัท "โมคัตตา แอนด์ โกลด์สมิท" เป็นผู้นำทองเข้าแต่ผู้เดียวตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นเวลา 1 ปี ปริมาณทองคำที่นำเข้าคือ 7,400 กิโลกรัม มูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ

โมคัตตา เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำธุรกิจค้าทองคำ และโลหะมีค่าทั่วโลกมากกว่า 3 ศตวรรษ ก่อตั้งโดยโมเสส โมคัตตา พ่อค้าชาวโปรตุเกส แต่ไปมีกิจการรุ่งเรืองในอังกฤษ และเคยคุมตลาดทองในมือถือ 3 ใน 4 ของผลผลิตทั่วโลก แต่ในปี 2500 โมคัตตากลับประสบวิกฤตทางการเงิน บรรดาหุ้นส่วนต้องขายกิจการให้กับฮัมโบรส์ แบงก์ พอปี 2516 ฮัมโบรส์ แบงก์ ก็ขายกิจการโมคัตตา ให้กับสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์ แห่งอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบันสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์ ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้น 100% อยู่

ปัจจุบัน โมคัตตา ได้รับการยอมรับว่า เป็นบริษัทค้าโลหะมีค่ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก มีสำนักงานอยู่ในลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง ไทย และอีกหลายประเทศ

แต่ในช่วง 1 ปีที่โมคัตตา เข้ามาทำกิจการในเมืองไทย โมคัตตาขายทองไปได้เป็นจำนวนน้อยมาก คือ 790 กิโลกรัม ปัญหาที่โมคัตตาประสบ คือ เรื่องระเบียบและขั้นตอนที่กระทรวงการคลังกำหนดในการขายทอง ซึ่งทำให้ผู้ค้าทองทั้งในประเทศและส่งออกเข็ดขยาดและหันไปสนใจกับทองเถื่อนที่มาจากสิงคโปร์ ฮ่องกงเหมือนเดิม

"ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ไปซื้อได้ต้องแสดงให้กระทรวงการคลังเขาดูว่า ใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีการซื้อขายทองกันอีกเท่าไร ต้องไปจดทะเบียน "ผู้ค้าทอง" กับกรมสรรพากร ขออนุมัติเสร็จต้องเอาแบงก์ไปการันตีส่วนมากพ่อค้าเขาไม่รู้จักไม่เข้าใจระเบียบพวกนี้ และโมคัตตาก็ไม่ประสานเรื่องนี้กับร้านค้าทอง แต่ละคนเขายังไม่รู้เลยว่า มีโมคัตตาในไทย เรื่องการไปจดทะเบียนกับสรรพากรก็มีผล เพราะบางเจ้าเขาต้องถูกสอบภาษีย้อนหลัง" จิตติยกตัวอย่างของปัญหาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในที่สุด กระทรวงการคลังประนีประนอมตรงที่ให้สมาคมค้าทองคำและสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับตั้งบริษัทตัวแทนขึ้นมาสองบริษัทเป็นผู้นำเข้าทอง โดยได้โควต้าบริษัทละ 6,000 กิโลกรัม ส่วนโมคัตตาได้โควต้าตามเดิมคือ 7,400 กิโลกรัม

จิตติเป็นตัวแทนของสมาคมค้าทองคำที่เข้าไปเจรจาและให้ข้อมูลแก่กระทรวงและเมื่อตั้งบริษัทนำเข้าทอง เขาก็เป็นผู้จัดการของบริษัทแห่งนี้ซึ่งมีชื่อว่า "โกลด์ยูเนี่ยน" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกันระหว่างร้านขายทองที่เป็นสมาชิกของสมาคมจำนวน 20 แห่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

จิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โมคัตตาไปมุ่งเน้นที่ตลาดส่งออก คือ บรรดาสมาชิกของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นผู้ส่งออกทองรูปพรรณรายใหญ่ปีหนึ่ง ๆ มีมูลค่าประมาณเกือบหมื่นล้านบาท แต่แท้ที่จริงบริษัทใหญ่ที่ทำการส่งออกจะมีโรงงานคลังสินค้าทัณฑ์บนเป็นของตนเอง เพื่อนำเข้าทองและส่งออกโดยเฉพาะอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ที่จะสั่งทองจากโมคัตตาน่าจะเป็นผู้ค้าทองเพื่อส่งออกรายย่อย ๆ และบรรดาห้างขายทองตามเยาวราชที่มีโรงงานแปรรูปทองของตนเอง ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อขายในประเทศ

"ตลาดเมืองไทยอยู่ที่นักท่องเที่ยว ทองเมืองไทยมีแบบให้เลือกมากมาย ราคาก็ถูก ส่วนใหญ่พวกนี้เขามาซื้อทีละนิดทีละหน่อย แต่รวม ๆ แล้วมีจำนวนมาก ซึ่งพวกนี้เราไม่มีตัวเลขที่กรมศุลกากรจะมีแต่ตัวเลขส่งออก แล้วคนไทยก็มีการซื้อขายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจดี คนซื้อไปเพื่อเป็นเครื่องประดับกับเก็งกำไร อันนี้แหละที่ทำให้ทองมันไม่พอ" จิตติ แจกแจง

มูลเหตุใหญ่ ๆ สรุปง่าย ๆ ที่ทำให้คนชอบลักลอบทองคำเข้าเมืองไทย แต่นักท่องเที่ยวกลับแห่มาซื้อทองรูปพรรณออกไป เพราะราคาทองเมืองไทยนั้นค่อนข้างตลกไปจากเมืองนอก คือ ไม่ได้ขึ้นลงไปตามภาวะราคาตลาดโลก แต่ขึ้นกับอุปสงค์อุปทานในประเทศเป็นหลัก เพราะความเข้มงวดในการนำทองคำเข้าของกระทรวงและอัตราภาษีการค้า 3.3% จุดนี้ทำให้ทองคำในไทยราคาสูงกว่าทองคำต่างประเทศที่เคยสูงกว่ามากที่สุดนั้น เคยสูงกว่าถึง 7-8% ส่วนปัจจุบันก็ยังสูงกว่าในระดับ 4%

แต่พอนำทองคำไปแปรรูปเป็นทองรูปพรรณขายตามห้างแถวเยาวราช ราคาทองเหล่านี้กลับถูกกว่าทองรูปพรรณในต่างประเทศ เพราะค่าแรงงานของเราถูก ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนก็ถูกกว่า และมีการซื้อขายกันในปริมาณมาก ดังนั้นแม้กำไรต่อหน่วยจะน้อย แต่กำไรทั้งหมดก็มากเอาการ ซึ่งทั้งหมดตรงข้ามกับตลาดทองในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตัวที่จะมาซื้อทองแถวเยาวราชกันมาก แต่คนไทยกลับชอบแอบเหน็บทองแท่งมากับตัวอยู่บ่อย ๆ

แล้วห้างขายทองที่กุมตลาดนี้อยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในเยาวราช ซึ่งล้วนเป็นห้างที่สมาคมค้าทองคำมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งแน่นอนที่ "โกลด์ยูเนียน" จะต้องเป็นผู้ขายทองให้กับห้างขายทองเหล่านี้ เพื่อนำไปแปรรูปต่อ

"ในส่วน 6,000 กิโลกรัม นี่ก็คิดว่า เพียงพอต่อลูกค้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมแล้วที่เราตั้งใจไว้ก็คือ ต้องไม่มีระเบียบหยุมหยิมมาก ใครต้องการไปซื้อก็ได้เลย ไม่ต้องไปขออนุญาต เรื่องเช็คการันตีจากแบงก์ก็ไม่ต้อง มาซื้อก็เอาทองไปทันทีเลย ลูกค้าเรารู้จักกันทั้งนั้น เครดิตแต่ละคนมันก็ดีพอสมควร" จิตติ อธิบายถึงความตั้งใจ แต่ทั้งนี้ข้อเสนอในเรื่องแก้ไขระเบียบยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งจิตติ เชื่อว่า จากการที่ได้ถกเถียงและให้ข้อมูลมาแล้วคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะถ้าขืนยังใช้ระเบียบแบบเดิมอีก เรื่องการตั้งบริษัทก็ไม่มีความหมาย เพราะทำไปก็เจ๊งแน่ ๆ

ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ซัพพลายเออร์ของโกลด์ยูเนียน คือ เครดิตสวิสส์ (หรือเครดิตซุยเซ CREDIT SUISSE) ซึ่งตั้งอยู่ ณ ซูริค สวิตเซอร์แลนด์

เมื่อก่อนนี้ ตลาดซื้อขายทองคำที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดลอนดอนและนิวยอร์ก แต่ทุกวันนี้ ศูนย์กลางการซื้อขายทองคำของโลกกลับไปอยู่ที่ตลาดซูริค ทั้งที่ซูริคไม่มีผู้ค้าทองรายใหญ่สัญชาติสวิสส์อยู่เลย แต่เป็นเพราะสวิสส์ได้เปรียบตลาดแห่งอื่นของโลกตรงที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการค้าทองคำ และมีระบบภาษีที่เอื้ออำนวย ประมาณว่ามูลค่าตลาดที่หมุนเวียนอยู่ในซูริคอยู่ในราว 140 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อไปหรือประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณทองคำทั้งหมด โดยการซื้อขายจะผ่านธนาคารใหญ่ที่สุด 3 แห่งของสวิสส์ คือ CREDIT SUISSE, SWISS BANK CORP. และ UNION BANK OF SWITZERLAND

เดครดิตสวิสส์ก่อตั้งในปี 2399 เป็นธนาคาร 1 ใน 10 ที่อยู่ในขั้น "TRIPLE A" ด้านผลดำเนินงานและความเชื่อถือมั่นคง สามารถถือครองตลาดค้าทองอยู่ในราว 20-30% ของการค้าทองทั่วโลก

"ผมไม่ห่วงเลยเรื่องคุณภาพหรือความมั่นคงในการนำเข้าทองครั้งนี้ เพราะเรามีซัพพลายเออร์ที่ใหญ่และดีมาก" จิตติกล่าวอย่างเชื่อมั่น พร้อมทั้งเสริมว่า สาเหตุที่โกลด์ยูเนียนได้เครดิตสวิสส์มาตั้งนานแล้ว เพื่อป้อนให้กับโรงงานทองที่ทำส่งออก ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย

"ในบรรดาห้างขายทองแถวเยาวราช จินฮั้วเฮงเป็นเจ้าเดียวที่ขายหน้าร้านด้วยกับมีโรงงานแปรรูปทองคำเพื่อส่งออกซึ่งมีตลาดใหญ่ที่อเมริกาเจ้าอื่นเขาไม่เกี่ยวข้อง ใครค้าหน้าร้านก็ค้าไป มีโรงงานรับสั่งตามออร์เดอร์ก็แยกไปอาจถือว่าผมเป็นคนรุ่นใหม่ คือ ผมจัดว่าอายุน้อยในระดับพวกค้าทอง คนอื่นเขาอยู่มาเก่าแก่อายุเกิน 50 ปีไป ผมติดต่อต่างประเทศบ่อย เครดิตสวิสส์เขาเลยให้ผมเป็นเอเย่นต์ให้เขา และเขาหวังว่า สักวันหนึ่ง ผมจะทำเรื่องการนำเข้าทอง ซึ่งเร่องนี้ผมก็เป็นคนดำเนินการมาแต่ต้น" จิตติ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

คาดว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ รายละเอียดและการเซ็นสํญญาอนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อให้บริษัทนำเข้าทองทั้งสามแห่งจะแล้วเสร็จ และเมื่อถึงเวลานั้นโมคัตตาอาจจะต้องเรียนรู้ตลาดทองคำเมืองไทยให้มากขึ้น เพราะอีกสองบริษัทที่เหลือก็จะยึดครองตลาดในกลุ่มของตนไว้อย่างแน่นอน ขณะที่โมคัตตาจะต้องหาตลาดรายย่อยอื่น ๆ ที่กระจัดกระจายด้วยวิธีการที่ง่ายต่อความเข้าใจต่อผู้ค้าทอง ซึ่งก็คงต้องไปทำความเข้าใจและกระตุ้นกระทรวงการคลังกันเหนื่อยหน่อย

แต่สำหรับวันนี้ จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี กำลังทำให้ถนนสายเยาวราชไปบรรจบที่ซูริคอย่างเงียบเชียบและเหลือเชื่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.