EDIFACT ล่ามสมองกล


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ความแตกต่างในด้านภาษาที่มนุษย์ใช้พูดจากันเคยได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่า เป็นปัญหาสำหรับการสื่อสารของพลโลก จนถึงกับมีการคิดสร้างภาษากลางที่มนุาย์ทุกเผ่าพันธุ์ใช้เป็นสื่อพูดกันรู้เรื่อง เรียกกันว่า ภาษา "เอสพรอรันโด้" ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษผสมกับภาษาสเปน แต่ก็ไม่สำเร็จ

คอมพิวเตอร์ก็มีปัญหาเหมือนกันว่าเครื่องที่ทำงานด้วยระบบคำสั่งแตกต่างกันก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เวลาจะเชื่อมคอมพิวเตอร์สองเครื่องเข้าด้วยกัน จึงต้องเสียเวลาในการปรับระบบวิธีการทำงานให้เข้ากันเสียก่อน

จนถึงทศวรรษ 1960 ทางสหประชาชาติเริ่มคิดว่า ในเรื่องภาษาคนนั้น คงเป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้ทุก ๆ คนพูดภาษาเดียวกัน อีกทั้งภาษาอังกฤษก็เริ่มมีบทบาทเป็นภาษากลางมากขึ้นทุกวัน ๆ ความคิดที่จะต้องมีภาษากลางสำหรับมนุษย์อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป สู้เอาเวลามาคิดทำในเรื่องที่จำเป็นและเป็นประโยชน์มากกว่านี้จะดีกว่า

เรื่องนั้นก็คือ ปัญหาในการสื่อสารข้อมูล เพราะโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่การเชื่อมต่อส่งผ่านข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังมีบทบาทสำคัญสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่มีระบบการทำงานแตกต่างกัน มีโครงการของระบบข้อมูลที่ไม่เหมือนกันสามารถคุยกันได้โดยสะดวก

จุดเริ่มต้นก็คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในสหรัฐอเมริกาชุดหนึ่งชื่อว่า JEDI (JOINT ELECTRONIC DATA INTERCHANGE) อีกชุดหนึ่งอยู่ในยุโรปเรียกว่า GTDI (GUIDELINE FOR TRADE DATA INTERCHANGE) ทั้งสองชุดนี้จะทำหน้าที่ในการสร้าง และพัฒนากฎเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้เป็นโครงสร้างของสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์

ต้นปี 1970 ความพยายามของคณะกรรมการทั้งสองชุดก็เป็นรูปเป็นร่างออกมา โดยสามารถสร้างมาตรฐานสากลอันหนึ่งเรียกว่า EDIFACT (ELECTRONIC DATA INTERCHANGE FOR ADMINISTRATION, COMMERCE AND TRASPORT) กำหนดกฎเกณฑ์โครงสร้างของระบบข้อมูลให้เป็น "สื่อสากล" ระหว่างคอมพิวเตอร์ทั่วโลกให้เชื่อมโยงกันได้มาตรฐานนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มมหึมาที่ชื่อว่า "DATA DICTIONARY" เป็นหลักพื้นฐานที่ครอบคลุมถึงระบบข้อมูลที่ใช้ในธุรกิจการค้าการจัดการและการขนส่ง

EDIFACT เป็นเพียงกฎเกณฑ์พื้นฐานเท่านั้น ถ้าจะนำไปใช้ในทางปฏิบัติแล้ว จะต้องมีการพัฒนา EDIFACT นี้ต่อไปตามลักษณะของงานที่นำไปใช้

โครงการ EDIFACT ที่การบินไทยร่วมกับสายการบินแควนตัสประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนากฎเกณฑ์พื้นฐานอันนี้ขึ้นมาใช้ในธุรกิจการบิน เพื่อเชื่อมโยงระบบข้อมูลของทั้งสองสายการบินเข้าด้วยกัน

"เราทำสำเร็จเป็นรายแรกของโลก เป็นสิ่งที่วงการสายการบินตื่นเต้นมาก" ประทิน บูรณบรรพต ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการบินของการบินไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ด้วยความภาคภูมิใจ

ความจำเป็นที่สายการบินจะต้องมีการเชื่อมระบบข้อมูลการสำรองที่นั่งเข้าด้วยกัน ก็เพราะว่าการจองตั๋วเครื่องบินในปัจจุบันไม่ได้ทำกันได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนที่ตลาดเป็นของผู้โดยสารจะจองเมื่อไรก็ได้ แต่ในทุกวันนี้ผู้โดยสารต้องแย่งกันจอง แย่งกันเลือกเที่ยวบินที่ดีที่สุด สายการบินต้องทำหน้าที่บริการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

ข้อมูลที่เสนอไม่จำกัดอยู่เฉพาะสายการบินของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องรวมเอาของสายการบินอื่น ๆ เข้ามาด้วยให้เหมือนกับว่าข้อมูลนั้นมาจากจอคอมพิวเตอร์ของสายการบินเจ้าของข้อมูลด้วย วิธีที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น คือ การเชื่อมระบบสำรองที่นั่งของสายการบินนั้นเข้ากับคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

"เหมือนอย่างที่การบินไทยเชื่อมกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และคาเธ่ย์ แปซิฟิค ในตอนนี้" นพพร บุญพารอด หัวหน้าแผนกระบบข้อมูลบริการผู้โดยสารยกตัวอย่าง

สิ่งที่ตามมาก็คือ ระบบคำสั่งและโครงสร้างข้อมูลของแต่ละสายการบินนั้นแตกต่างกันเอากันแค่ระบบวันที่ของเที่ยวบิน ก็มีทั้งที่ขึ้นต้นด้วยวันที่และขึ้นต้นด้วยเดือนหรือขึ้นต้นด้วยปี บางสายการบินใช้ระบบตัวเลขห้าตัว บางสายก็ใช้ระบบตัวเลขเจ็ดตัวที่รวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับปีเอาไว้ด้วย จึงต้องปรับระบบให้สอดคล้องเพื่อที่คอมพิวเตอร์ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ เป็นเรื่องค่อนข้างจะยุ่งยากที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหกเดือนหรือหนึ่งปี

"ถ้าเชื่อมกันแค่สองหรือสามสายก็ไม่ยาก แต่นี่เป็นสิบ ๆ สายที่มีระบบไม่เหมือนกัน ก็เลยยิ่งยุ่งเข้าไปอีก" นพพรอธิบาย

นี่คือที่มาของการพัฒนาคิดค้นโปรแกรมที่เป็น "ภาษากลาง" ให้คอมพิวเตอร์ของแต่ละสายการบินมาเชื่อมต่อกันได้

เดือนตุลาคม 1987 มีการประชุมกันที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ระหว่างผู้แทนจาก OAA (ORIENT AIRLINE ASSOCIATION) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของสายการบินในภาคพื้นตะวันออกกับ AEA (ASSOCIATION OF EUROPEAN AIRLINES) ตัวแทนของสายการบินยุโรปและทีดับบลิวเอ ตัวแทนจากอเมริกาเพื่อาลู่ทางพัฒนา EDIFACT ขึ้นมาใช้กับธุรกิจการบินที่ประชุมมีข้อสรุปให้มีระบบมาตรฐานกลางขึ้นมาเป็นสื่อกลางของระบบคอมพิวเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และเสนอขอความเห็นชอบต่อสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA : INTERNATIONAL AIR TRANSPORT ASSOCIATION) รับรองเพื่อให้เป็นข้อตกลงเอกฉันท์ของสายการบินทั่วโลก

การบินไทยกับแควนตัสถูกคัดเลือกให้เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมนี้ร่วมกัน โดยมีการเซ็นสัญญาเมื่อเดือนมีนาคม 1988 ทั้งสองสายการบินได้ตั้งทีมโปรแกรมเมอร์ขึ้นมา เพื่อสร้าง EDIFACT ออกมา ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีก็สำเร็จออกมา ค่าใช้จ่ายนั้นไม่ได้มีการลงทุนเป็นตัวเงิน เพราะว่าต่างฝ่ายต่างใช้คนที่มีอยู่แล้ว แต่ตีออกมาในรูปของค่าแรงได้เป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท

"คิดออกมาเป็นค่าพัฒนาได้ 5 MAN - YEARS หมายความว่า ใช้คนห้าคนทำงานหนึ่งปี 1 MAN - YEAR เท่ากับ 200 MAN - DAYS ตามมาตรฐานแล้วคิดกันวันละ 800 US ต่อคนทั้งหมดจึงเท่ากับ 800,000 เหรียญ" นพพร อธิบายวิธีการคิดต้นทุนการพัฒนาให้ฟัง

EDIFACT นี้จะเป็นโปรแกรมที่เปลี่ยนข้อมูลของสายการบินหนึ่งให้เป็นระบบมาตรฐานกลาง ซึ่งเมื่อส่งไปเข้าคอมพิวเตอร์ของอีกสายการบินหนึ่ง คอมพิวเตอร์ของสายการบินนั้นจะต้องมี EDIFACT อยู่ด้วย เพื่อแปลข้อมูลให้เป็นภาษาเดียวกับที่เครื่องของตนใช้อยู่โดยไม่ต้องไปแก้ไขโครงสร้างระบบคำสั่งหรือข้อมูล ทำให้ประหยัดเวลา กำลังคน และงบประมาณได้มากมาย

เพราะฉะนั้น สายการบินใดที่ต้องการจะเชื่อมระบบคอมพิวเตอร์ของตนเข้าด้วยกันก็ต้องมี EDIFACT เป็นโปรแกรมเพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากโปรแกรมคำสั่งที่มีอยู่แล้วเพื่อให้คอมพิวเตอร์คุยกันเองได้รู้เรื่อง ซึ่งการบินไทยได้มอบหมายให้ QANTAS INFORMATION TECHNOLOGY LIMITED (QANTEK) บริษัทในเครือของสายการบินแควนตัสเป็นตัวแทนด้านการตลาดขายโปรแกรมให้กับสายการบินที่สนใจ

"ขายได้อยู่แล้ว เพราะไม่ต้องไปเสียเวลา เสียเงินพัฒนาขึ้นมาเอง" ประทิน มั่นใจว่า EDIFACT นี้ขายออกแน่ ๆ และมีแผนที่จะขยายไปใช้กับระบบคาร์โกและระบบควบคุมผู้โดยสารขาออกต่อไปด้วย

ต่อไปนี้ สายการบินใดที่ต้องการจะเชื่อมข้อมูลการสำรองที่นั่งเข้ากับสายการบินอื่น ๆ ก็เพียงแต่ซื้อ EDIFACT มาใช้เป็นโปรแกรมแปลภาษาคอมพิวเตอร์ออกมาเป็นภาษากลาง ซึ่งใช้เวลาเพียงสองสามวันเท่านั้นในการเชื่อมคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.