ไววุฒิ ธเนศวรกุลกับ PTSC และสิทธิบัตรยา"ตัวอย่างการพึ่งตนเองของหมอยาไทย"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรดานายแพทย์ที่หันมาเอาดีทางธุรกิจนอกวงการแพทย์จนมีชื่อเสียงทางธุรกิจมากยิ่งกว่าทางการแพทย์นั้นก็มีอยู่มากมายหลายคน แต่คนที่เป็นทั้งแพทย์และนักธุรกิจพร้อม ๆ กันไปคงจะมีไม่มากนัก

และหนึ่งในบรรดาจำนวนไม่มากนัก คือ หมอไววุฒิ ธเนศวรกุล

ในช่วงเช้าของทุก ๆ วัน ไววุฒิจะปฏิบัติหน้าที่แพทย์ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในตำแหน่งหัวหน้าสูตินารี ครั้นตกบ่ายก็อาจจะมานั่งยังสำนักงานของบริษัทไบโอแลป จำกัด ที่ซอยพร้อมพงศ์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ หรือมิฉะนั้นก็เดินทางไปดูโรงงานที่ถนนร่มเกล้า มีนบุรี

ไววุฒิ บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ชีวิตของเขาเดินทางอยู่บนท้องถนนมากกว่าจะประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ทั้งนี้เพราะเขามีกิจธุรกิจที่จะต้องเดินทางไปโน่นนี่อยู่ตลอดเวลา

ยิ่งตอนนี้ ไบโอแลปกำลังจะก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่บางปู ไววุฒิก็ต้องเพิ่มจุดหมายปลายทางในการเดินทางมากแห่งขึ้นไปอีก

ไววุฒิคลุกคลีกับเรื่องหยูกยามาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะที่บ้านเขาประกอบกิจการร้านขายยา ซึ่งนี่เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ชักนำเขาเข้าสู่วงการ เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาจับธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ และเพราะคลุกคลีอยู่มากเกินไป เขาจึงต้องถูกรีไทร์เมื่อเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราช

แต่ถึงกระนั้น เขาก็สู้อุตส่าห์ข้ามน้ำข้าทะเลไปคว้าปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากเกาะฟิลิปปินส์กลับมาจนได้

แล้วก็กลับมาดำเนินกิจการของครอบครัวต่อ โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การจัดการสมัยใหม่จากร้านขายยาของคนรุ่นพ่อ กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาชั้นนำแห่งหนึ่งภายในประเทศ เมื่อเข้าสู่คนรุ่นลูก

ขณะที่ธุรกิจของครอบครัวกำลังก้าวหน้าไปด้วยดีโดยฝีมือบริหารของไววุฒิและน้องชายนั้น ไววุฒิก็ตัดสินใจโดดเข้ามาร่วมงานกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TYMA) เพราะได้มองเห็นว่า ทิศทางการดำเนินงานของสมาคมฯ เท่าที่ผ่านมานั้น ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เป้าหมายของไววุฒิคือต้องการให้สมาคมฯ ทำงานด้านบริการให้มากขึ้น

TPMA เป็นสมาคมของบริษัทและโรงงานยาที่เป็นของคนไทย มียอดสมาชิกเกือบ 200 ราย ไววุฒิเข้าร่วมงานกับทีพีเอ็มเอ เมื่อ 3 ปีที่แล้วด้วยตำแหน่งเลขาสมาคมฯ จนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งนายกสมาคมฯ

นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานสาขาอุตสาหกรรมผลิตยาในสภาอุตสาหกรรมไทยชุดปัจจุบันด้วย

จากการคลุกคลีกับวงการยาตั้งแต่ระดับผู้ค้ารายย่อยจนกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทในการสมาคมยาดังกล่าว ไววุฒิได้ออกโรงคัดค้านการให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาในนามของ TYPMA มาตลอด

ตอนนี้เขาไม่ได้จ้องแต่จะค้านท่าเดียว แต่ได้พยายามที่จะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการปรับปรุงโรงงานยาให้ได้มาตรฐานตามแบบสากลด้วย

โครงการหนึ่งที่ไววุฒิเป็นตัวตั้งตัวตีอย่างแข็งขันและน่าสนใจยิ่งก็คือ ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม (PHARMACEUTICAL TECHNOLOGY SERVICE CENTER = PTSC) โดยผู้ริเริ่มโครงการ คือ UNIDO (UNITED NATIONS INDUSTRIAL DEVELOPMENT ORGANIZATION) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมของสหประชาชาติ

โดยทั่วไป UNIDO ให้ความสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในด้านของเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญแก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย โดยให้ความช่วยเหลือผ่านทางภาครัฐบาล

ในครั้งนี้ UNIDO ต้องการทดลองผ่านความช่วยเหลือมาทางภาคเอกชน โดยผ่านเรื่องมาทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อปลายปี 2529 ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยอมรับขอความช่วยเหลือนี้ 2 กลุ่ม โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมยารวมอยู่ด้วย

แน่นอน ไววุฒิรีบคว้ารับโครงการความช่วยเหลือของ UNIDO เอาไว้ทันที เพราะมันสอดคลองกับเป้าหมายของเขาในการที่จะสร้างศูนย์บริการเช่นนี้อยู่แล้ว

เพราะสิ่งที่วงการอุตสาหกรรมยาต้องการอย่างมากก็คือ การยกระดับกระบวนการผลิตยาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงงานยาเป็นจำนวนมาก ต้องมีการสร้างโรงงานยาใหม่ตามมาตรฐานแบบใหม่ คือ ให้ถูกต้องตามหลัก GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTICE) รวมทั้งต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่พนักงานในโรงแรมทุกแผนกและทุกระดับชั้น

"จุดหมาย คือ ต้องการ REORIENTED ให้เข้าใจระบบใหม่ คือ เรายังอยู่ในเรื่องมาตรฐานของช่วงเวลาเดิม ทีนี้เมื่อ CONCEPT มันเปลี่ยน เราต้อง REORIENTED ให้เขารับรู้ CONCEPT ใหม่ เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างราบรื่น แทนที่จะเป็นการบังคับกัน"

นอกจากนี้ ไววุฒิยังมองว่า การตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรมเป็นกลไกอันหนึ่งที่ใช้ต่อสู้ในเรื่อง พ.ร.บ.สิทธิบัตรยาได้ด้วย

"เราจะตะโกนสู้แล้วไม่หันมามองตัวเองไม่ได้ เราอยู่ในขีดความสามารถที่จะสู้กับเขาในระยะยาวได้ ผมถึงพยายามดิ้นรนเพื่อให้เกิดศูนย์ขึ้นมา มันเป็นแผนการต่อสู้ระยะยาวด้วยการพึ่งตนเองทางด้านเทคโนโลยี"

ศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ จะเป็นศูนย์ถาวรที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการต่าง ๆ เช่น การสัมมนา ฝึกอบรม ให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์และวิจัยพัฒนา โดยยุนิโดจะให้ความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่ารวม 14 ล้านบาท เป็นค่าเครื่องมืออุปกรณ์ 30 % และค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 70%

เนื่องจากความช่วยเหลือของ UNIDO โดยส่วนมากจะเน้นไปในเรื่องการส่งผู้เชี่ยวชาญออกมาประจำตามโครงการต่าง ๆ ดังนั้นในช่วง 18 เดือนแรกจะมีผู้เชี่ยวชาญมารวมทั้งสิ้น 6 คนโดย UNIDO จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ประกอบไปด้วยวิศวกรเคมี เพื่อมาช่วยด้านดีไซน์โรงงาน การสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถทำเองได้ นอกจากนี้ ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาดูทางด้านการจัดคลื่นรูม เป็นต้น

แต่ความช่วยเหลือที่คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทนี้ จะไม่มีการส่งมาเป็นเม็ดเงินแม้แต่บาทเดียว ศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ จะได้รับในรูปของเครื่องมือและบุคลากร

เมื่อเป็นเช่นนี้การดำเนินงานในขั้นเริ่มแรก สมาคม TPMA จึงต้องมีการควักกระเป๋าสำรองจ่ายล่วงหน้าจำนวน 400,000 บาท เพ่อใช้ในการตกแต่งสถานที่ การว่าจ้างพนักงานธุรการ และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ โดยศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ จะจ่ายคืนในภายหลัง

กว่าที่โครงการเรื่องศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จนเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือ ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเซ็นสัญญานั้น ไววุฒิก็เหน็ดเหนื่อยมากพอดู

ทั้งนี้ เพราะอุตสาหกรรมยาเป็นเรื่องที่ UNIQUE อย่างมาก ๆ ปัญหาแรกสุดที่เขาพบ คือ ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับโครงการของคนในสภาอุตสาหกรรมฯ ความกลัวที่ว่า หากศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ เกิดมีปัญหากับผู้รับบริการจนเกิดฟ้องร้องขึ้นแล้ว ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่ไววุฒิก็สามารถทำความเข้าใจกับคนในสภาอุตสาหกรรมฯ จนสำเร็จ

ปัญหายังไม่หมดแค่นั้น เขาต้องเจรจาเพื่อหาสถานที่ตั้งศูนย์ฯ และเขาก็เลือกเจรจากับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอันดับแรก

แต่ดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ของเขากับมหิดลภายหลังถูกรีไทร์จากศิริราช จะขาดสะบั้นลงแค่นั้น เภสัชฯ มหิดลฯ ตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า สัญญาโครงการก่อตั้งศูนย์ฯ เป็นสัญญาที่ไม่สามารถจะยอมรับได้ เนื่องจากมหิดลฯ ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก

ดังนั้น แม้โครงการจะดีและมหิดลฯ ก็เห็นชอบด้วย แต่ก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้

ไววุฒิจึงเริ่มวิ่งเข้าทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งรองศาสตราจารย์ บุญอรรถ สายศร คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ก็ได้ยอมรับในหลักการเพื่อเข้าร่วมโครงการไปแล้วรออยู่แต่ให้ฝ่ายนิติการของมหาวิทยาลัยตรวจสอบสัญญา ซึ่งก็ใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร

ทางจุฬาฯ นั้นไม่เพียงแต่เห็นดีเห็นงามกับเรื่องศูนย์บริการฯ แต่ยังมีโครงการจะขยายใหญ่โต ถึงระดับสถาบันเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม

โครงการสถาบันฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว และเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของทบวงมหาวิทยาลัย

บุญอรรถ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการเทคโนโลยีฯ จะเป็นหน่วยหนึ่งในสถาบันฯ

ส่วนไววุฒิไม่ยอมรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด เพราะเมื่อเดินงานมาได้ถึงเพียงนี้แล้วก็เหมือนกับสำเร็จไปได้ครึ่งค่อนทาง

ขณะนี้เขาเริ่มคิดโครงการใหม่ คือ REFERENCE LABORATORY เป็นโครงการต่อเนื่องจากศูนย์บริการฯ

R.LAB. เป็น LAB ที่ต้องได้รับการอนุมัติรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากหากจะพัฒนาด้านการส่งออกยาไปจำหน่ายในต่างประเทศ

ไววุฒิกำลังดำเนินการเจรจาอย่างขะมักเขม้นกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อร่วมกันผลักดันโครงการนี้ ซึ่งเป็นการเจรจาที่ยากยิ่งกว่าโครงการที่ผ่านมาหลายเท่าตัวนัก

แต่หากโครงการนี้สำเร็จก็จะเป็นคุณูปการแก่วงการอุตสาหกรรมยาไม่น้อย เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้ทำการพัฒนากระบวนการผลิตและการจำหน่ายยาทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมาก ๆ

ซึ่งก็หมายความว่า ในระยะยาวแล้ว โครงการที่ไววุฒิทำอยู่ในเวลานี้ เป็นหนทางหนึ่งในการยะระดับคุณภาพการผลิตยาของอุตสาหกรรมยาท้องถิ่น และการพึ่งตนเองในการต่อสู้กับสิทธิบัตรยาของสหรัฐฯ ด้วย

ก็คงต้องรอดูฝีมือของไววุฒิกันต่อไป !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.