ในปัจจุบันมีกระแสข่าวเรื่องการฟ้องร้องและละเมิดสิทธิ์เครื่องหมายการค้าอยู่เป็นระยะ
จนมีเสียงพูดกันว่า พระราชบัญัติเครื่องหมายการค้ามีความล้าหลังและมีช่องโหว่ให้บริษัทคู่แข่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้า
จนเกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมานั้น
ในความเห็นของผมที่สอนวิชาเครื่องหมายการค้าและศึกษามา ผมไม่รู้สึกว่ามันล้าหลัง
ในแง่ที่ว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มันใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ผมพิสูจน์มาแล้วอย่างนั้น เราไม่ได้พูดว่ามันล้าหลังในแง่ที่มันไม่เหมือนเมืองนอก
คือ มันต้องเขียนตามบริบทของสังคมไทย มันเป็นอย่างนี้มันก็เหมาะอยู่อย่างนี้
มันมีความแตกต่างอยู่บ้างซึ่งผมจะยกให้ดู แต่เท่าที่มันมีอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ล้าหลังเพราะเรารับรองผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้เลย
คือ ในแง่ความเป็นธรรม เราทำได้ ในแง่คุ้มครองสิทธิ์เจ้าของเครื่องหมายการค้า
เราก็ได้พิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง เจ้าของเครื่องหมายการค้าเขาพอใจ ในแง่คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคว่า
ทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนหลงผิดไหม ผมว่าเราก็รับรองได้
แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีมาตั้งแต่ 2474 และมีการแก้ไขบ้างเล็กน้อยประมาณ
2 ครั้งเท่านั้นเอง คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้มันมาจากกฎหมายอังกฤษ ลอกกันมาเลยส่วนใหญ่
แล้วมันก็ไม่ล้าสมัย เหตุที่มันไม่ล้าสมัยเพราะมันไม่ได้ห้ามโน่นห้ามนี่
เช่น มีคนบอกว่าล้าสมัยเพราะมันไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการ LICENSE เครื่องหมายการค้า
หรือเรียกว่า อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แต่เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้กฎหมายจะไม่พูดถึงเราก็ทำกันอยู่แล้ว
ซึ่งมันทำได้กฎหมายไม่ได้ห้าม เพราะฉะนั้นในจุดนั้น มันไม่มีความล้าหลัง
และมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ว่ากันไปตามสัญญาทั่วไป ที่กฎหมายเราก็มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว
นอกจากนั้น พัฒนาการของมันที่เห็นในระยะหลัง บางทีบางมาตราเขาไม่เคยหยิบยกขึ้นมาใช้
แต่ว่ามันใช้ได้ และใช้ได้ผลดีด้วย เดิมทีถ้ามองผิวเผิน บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า
ตรงนั้นกฎหมายก็ไม่บัญญัติไว้ ตรงนี้กฎหมายก็ไม่บัญญัติไว้แต่โดยอาศัยเทคนิคทางกฎหมาย
การตีความทางกฎหมายมันใช้ได้
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เรื่องหนึ่งเครื่องหมายการค้าไซโก้ นาฬิกาที่เราใส่นี่
ก็มีบริษัทญี่ปุ่นมาจด "ไซโก้" ไว้ พอตอนหลังก็มีคนเอาเครื่องหมายการค้าไซโก้ไปจดทะเบียนเหมือนกัน
แต่กับสินค้าอีกประเภทหนึ่ง คือ จำพวกหนึ่งเลยนายทะเบียนก็ไม่ยอมให้จด เดิมทีนายทะเบียนอาจจะยอมให้จดเพราะมันคนละจำพวกกัน
เพราะตามกฎหมายเขาบอกว่าใครจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกไหนก็คุ้มครองเฉพาะจำพวกนั้น
ในเมื่อไซโก้จดไว้สำหรับประเภทเครื่องบอกเวลาก็คุมไม่ถึงจำพวกอื่น คู่แข่งก็อาจจะไปจดกับอีกจำพวกหนึ่งใช้คำว่าไซโก้เหมือนกันหรือเซโก้ทำนองนี้
มันอาจจะต่างกันตรงกรอบวงกลมเหลี่ยมบ้าง นายทะเบียนเขาก็ให้จด กฎหมายไม่ห้าม
แต่พอต่อ ๆ มา พอชั้นอุทธรณ์ถึงคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เขาก็ไปหยิบกฎหมายมาตราอันหนึ่งมาใช้ซึ่งมันแก้ปัญหาได้ดีมากเลย
กล่าวคือว่า กฎหมายบอกว่า ถ้าหากว่ามีผู้มาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คือเอาของคนอื่นเขามาใช้โดยไม่มีใบมอบอำนาจ ห้ามไม่ให้จดกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้
ซึ่งก็เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะกรณีที่ตัวแทนมาจด อย่างเช่น ที่สำนักงานกฎหมายมาจดก็มีใบมอบอำนาจมา
คณะกรรมการก็เลยเอากฎหมายนี้มาใช้ว่าเครื่องหมายไซโก้นี่มันเห็นอยู่ชัด ๆ
มันเขียนเหมือนกับมันเป็นของบริษัทนั้นซึ่งเขาจดไว้แล้ว เพราะฉะนั้น รายหลังจะมาจดในจำพวกอื่นก็ต้องมีใบมอบอำนาจจากเจ้าของเดิมซึ่งเขาเคยจดไว้แล้ว
และคนทั่วไปก็รู้จักดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่มาขอจดใหม่ที่ไม่มีใบมอบอำนาจที่ว่านี้ก็จดไม่ได้
ผลก็คือว่า ประการที่หนึ่ง คุ้มครองเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมไหม ตอบว่าคุ้มครอง
เพราะบางทีสินค้ามันจดคนละจำพวกก็จริง แต่มันใกล้เคียงกันพอที่ผู้คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นผู้ผลิตรายเดียวกันจนเกิดสับสนหลงผิดได้
มันก็ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คือ ทางเจ้าของเอง ผู้บริโภค เพราะฉะนั้น
ตรงนี้ผมจึงมักจะปกป้อง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าได้เสมอว่า ถ้าอ่านเผิน ๆ
คุณอาจจะเห็นว่ามันไม่ได้คุมจุดนั้นจุดนี้ แต่ถ้าหากใช้กฎหมายให้เป็นแล้ว
มันก็มีกฎหมายบางมาตราที่ให้ความเป็นธรรมได้ เพราะกฎหมายมันจะเขียนเข้มงวดทุกตัวอักษรไม่ได้
มันต้องมีการปรับตามยุคตามสมัย ไอ้ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งที่ผู้ใช้กฎหมายรู้จักหยิบกฎหมายมาใช้และมันได้ผลที่ดีด้วย
หนึ่งมันเป็นธรรม สองมันก็กระตุ้นทางด้านการค้าให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
ส่วนที่ว่าขาดบทลงโทษนั้น มันเป็นอย่างนี้ คือ อาจจะเป็นความเข้าใจผิดสักนิดใน
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าไม่ได้ลงโทษก็จริง เพราะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้ามีกฎหมายที่มีสภาพเป็นกฎหมายอาญาเพียงมาตราเดียว
คือ เอาผิดกับคนที่ไปแอบอ้างว่า เครื่องหมายการค้านั้นจดทะเบียนทั้ง ๆ ที่ยังไม่จดทะเบียนและก็มีบทลงโทษ
แต่นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย สิ่งที่มันเกิดขึ้นบ่อย คือ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า
การปลอมเครื่องหมายการค้า ซึ่งมันมีแต่มันไปอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา
272, 273, 274, 275 แต่เราอย่าเพิ่งพูดถึงความหนักเบา เพราะกฎหมายเก่าโทษมันก็เบาค่าปรับมันก็ถูกมันเป็นเรื่องธรรมดา
แต่มันมี ไม่ใช่มันไม่มี
ส่วนประเด็นที่ว่ามีการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า มันเป็นเรื่องการแสวงหาประโยชน์เป็นตัวนำ
คือ ไม่มีใครเลียนแบบเครื่องหมายการค้าแล้วคอยไปตรวจดูว่า ไอ้นี่จดทะเบียนไว้แล้วหรือยัง
โดยมากถ้าเราจะตัดสินใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เราเลียนเพราะเครื่องหมายการค้านั้นมันมีชื่อเสียง
มี GOOD WILLS อยู่ในนั้นใช่ไหม เป็นเจตนาที่จะเลียนแบบแสวงหาประโยชน์กันอย่างดื้อ
ๆ เลย มันไม่เกี่ยวกับความล้าหลังของกฎหมาย คนที่เลียนแบบเครื่องหมายการจะเป็นผู้ผลิตอีกระดับหนึ่ง
ซึ่งพวกนี้ไม่ได้สนใจในปัญหากฎหมายพวกที่สนใจกฎหมาย คือ พวกที่บางทีมาแบบตะวันตกซึ่งวัฒนธรรมเป็นอีกแบบ
การเลียนแบบเป็นเรื่องของการแสวงหาประโยชน์ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับความล้าหลัง
ไม่ว่าความล้าหลังจะมีหรือไม่มี ยกตัวอย่างง่าย "ลาคอส" ก็ปลอมกันโครม
ๆ ทุกคนก็รู้ ไม่ได้เกี่ยวเลยกฎหมายล้าหลังหรือไม่
ส่วนที่ว่า บริษัทต่างชาติจะเข้ามาฟ้องร้องและปกป้องสิทธิเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของเขามากขึ้น
อันนี้ผมเห็นว่า แนวโน้มว่ามันจริง แต่ที่มันจริง ไม่ใช่เพราะกฎหมายล้าหลัง
มันเกิดเพราะว่าการค้าในเมืองไทยที่เกิดกับบริษัทต่างชาติมันเยอะขึ้น ไอ้การค้าแบบเสรีทุกวันนี้
การติดต่อค้าขายระหว่างกันมากก็มาก และถ้าสินค้าต่างประเทศเขาถูกปลอมแปลงในประเทศไทยมันมี
เขาก็ต้องเสียหาย เขาก็ต้องหาทางป้องกันโดยทางกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดมันแน่นอนที่มันต้องมากขึ้นได้
แต่ไม่ใช่เพราะเหตุว่าความล้าหลังของกฎหมาย
เราจะเห็นว่า มันมีของปลอม อ้างสิทธิ์กันมากขึ้น เพราะสินค้ามันขายได้ตลาดมันกว้างขึ้น
มันก็ต้องมีการแสวงหาประโยชน์กันแบบนี้ และเจ้าของสินค้าเขาเสียหาย เช่น
ยอดขายเขาตก CLASS ของสินค้าเขาด้อยไป และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สินค้าที่ปลอมมันส่งออกด้วย
ซึ่งการจำหน่ายในเมืองไทยมันไม่มีผลกระทบเท่าไร แต่เวลาส่งออกมันกระทบซึ่งเขาต้องเสียหายจึงต้องมีการดำเนินการเป็นเรื่องธรรมดา
สรุปคือ แม้จะมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งความจริงมันดีอยู่แล้วนี่ มันก็ห้ามการฟ้องร้องกันไม่ได้
ซ้ำร้ายถ้าแก้แล้ว ยิ่งทำให้มีการปลอมมากขึ้น เพราะแฟกเตอร์อื่นมันเพิ่ม
การค้ามันมากขึ้น คนไทยเศรษฐกิจดีขึ้น รสนิยมดีขึ้น มีอำนาจซื้อสูง การซื้อสินค้าปลอมแปลงก็อาจจะมีมากขึ้น
สรุปคือ มันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าก็ไม่ได้ล้าหลัง
การปลอมแปลงก็เป็นการปลอมแปลงที่เป็นธรรมชาติ ของผู้ทำการค้า กฎหมายในอเมริกาซึ่งว่ากันว่า
ทันสมัยมากที่สุดก็มีปัญหาเยอะแยะ มีอะไรให้ลุยกันได้เรื่อยเหมือนกัน