ถ้าเอ่ยชื่อ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล นักกฎหมายระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส
ขุนคลังหลายสมัยของรัฐบาลยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 และกรรมการธ.กรุงเทพ ผู้มีหุ้นอยู่แต่ไหนแต่ไรมาเพียง
100 หุ้น ที่นายห้างชินจัดสรรให้มาเมื่อหลายปีก่อน หลายคนคงจำได้ดีว่า ดร.เสริม
เป็นขุนคลังคู่บารมีของจอมพลถนอม และกรรมการที่สนิทชิดเชื้อที่สุดของายห้างชิน
โสภณพนิช
แต่ถ้าบอกว่า ดร.เสริม (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) มีบุตรชายคนเล็กสุดชื่อ
วิวัฒน์ วินิจฉัยกุล แบงก์เกอร์ระดับสูงมาก ๆ คนหนึ่งของค่าย ธ.นครหลวง ผู้เจริญรอยตามบิดา
หลายคนอาจไม่รู้จัก
วิวัฒน์อยู่กับวงการธนาคารมานานแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี นับตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยโอไฮโอ
สาขาสังคมศาสตร์ ความที่บิดารู้จักมักคุ้นดีกับสุวิทย์ หวั่งหลี พอจบจากโอไฮโอมาก็เข้าทำงานที่
ธ.หวั่งหลี (นครธน) ตั้งแต่สมัยที่ซิตี้แบงก์มีหุ้นอยู่ใน ธ.หวั่งหลีอยู่
40% และที่ ธ.หวั่งหลีนี้เองที่วิวัฒน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
ได้รับความรู้ด้านการเงินการธนาคารสมัยใหม่จนเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้
เหตุเพราะระบบการฝึกฝนอบรมกระทำโดยซิตี้แบงก์ ซึ่งวิวัฒน์บอกว่า เฉียบขาดมาก
โดยเฉพาะด้านการบริหารเงินและค้าเงินตรา
ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่ ธ.หวั่งหลี แม้จะเป็นธนาคารเล็ก แต่ก็ทำรายได้ด้าน
TRADE FINANCE ได้ไม่แพ้แบงก์ใหญ่ ๆ
และที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตนักการธนาคารมืออาชีพให้กับตลาดการเงินในบ้านเราอย่างแท้จริง
วิวัฒน์อยู่กับ ธ.หวั่งหลี ประมาณ 7 ปีก็ออกมาอยู่กับ WELL FARGO BANK ในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานตัวแทนประจำประเทศไทย
มีหน้าที่เป็นหูเป็นตาดูแลโครงการที่สาขาในสิงคโปร์ ฮ่องกง ปล่อยเงินกู้มาให้กับหน่วยงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจมากกว่าเอกชน
วิวัฒน์อยู่กับ WELL FARGO BANK ได้ 2 ปีก็ต้องออก เพราะสำนักงานใหญ่มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานตัวแทนในกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุผลที่วิวัฒน์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทาง WELL FARGO กำลังประสบปัญหาการดำเนินกิจการ
เนื่องจากวิกฤตการณ์หนี้สินของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ที่รัฐบาลของประเทศในกลุ่มนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ
WELL FARGO
การแก้ปัญหาของธนาคารก็เลยออกมาในรูปของการปรับฐาน (CONSOLIDATION) ปิดกิจการสาขานอกสหรัฐฯ
ที่ไม่ทำกำไรและไม่เป็นประโยชน์เอื้ออำนวยต่อธุรกิจแบงก์ในสหรัฐฯ หรือสำนักงานตัวแทนที่หมดความจำเป็น
เมื่อธุรกิจถูกดึงกลับตามนโยบายสำนักงานใหญ่ ความจำเป็นที่จะมีสำนักงานตัวแทนในกรุงเทพฯ
ก็หมดไป
ขณะที่วิวัฒน์กำลังมึนอยู่ว่า จะทำอะไรดี ชาตรี โสภณพนิช จากแบงก์กรุงเทพก็มาทาบทาม
แต่วิวัฒน์ไม่ไปเพราะ "มันใหญ่เกินไป"
ก็พอดี สมชัย วนาวิทย์ เพื่อนซี้ที่คุมผ่านสินเชื่อ ธ.นครหลวง มาชวนให้ไปทำแบงก์นครหลวงด้วยกัน
สมัยนั้น ธ.นครหลวงอยู่ในมือของกลุ่มมหาดำรงค์กุล โดยมีบุญชู โรจนเสถียร
เป็นหน้าเสื่อบริหารงานให้
วิวัฒน์เข้าไปทำงานบริหารเงินที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนสมัยที่ ธ.หวั่งหลี
ซึ่งพอดีขณะนั้นแบงก์นี้กำลังขาดแม่ทัพคุมงานด้านบริหารเงิน
อยู่ ธ.นครหลวง แม้จะมีตำแหน่งระดับสูงขั้น VICE PRESIDENT แต่ความที่เป็นคนชอบอยู่หลังฉาก
จึงออกจะไม่เป็นที่รู้จักนักว่าเขาเป็นใคร ?
ตอนที่บุญชูกับดิลกกำลังฟาดฟันกันอย่างดุเดือด วิวัฒน์ฉลาดพอที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเหมือนกับ
VICE PRESIDENT บางคน เขาจึงไม่ถูกกระแสลม "หนี้แค้นต้องชำระ"
ฟาดฟันเอา
เมื่อกลุ่มมหาดำรงค์กุลถูกเขี่ยออกไปจากโครงสร้างอำนาจบริหารในธนาคารตามคำสั่งของกระทรวงคลังยุคสมหมาย
- สุธี โดยมี ดร.สม จาตุรศรีพิทักษ์ จากเบอร์ลี่ยุคเกอร์ มากินตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนดิลก
วิวัฒน์ไม่เพียงแต่จะรอดพ้นจากการถูกดองเหมือนกับคนของมหาดำรงค์กุล เช่น
วัฒนา สุทธิธรรมพินิจ ซึ่งกินตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แล้วถูกเตะโด่งขึ้นไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่
ดร.สม หนำซ้ำวิวัฒน์กลับได้โปรโมทขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ดูแลสายงานมากมาย
สินเชื่อต่างประเทศ บริหารเงิน คอมพิวเตอร์ พัฒนาธุรกิจ และควบคุมเงินสด
ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสายงานที่เปรียบดุจเป็นเส้นเลือดใหญ่ของธนาคารทั้งสิ้น
ซึ่งบทบาทหน้าที่นี้กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ย่อมประจักษ์ว่า ในวัยเพียง
39 ปีของวิวัฒน์โอกาสการก้าวสู่ความเป็นใหญ่ในแบงก์นครหลวงไทยลังยุค ดร.สม
ย่อมมีความเป็นไปได้เสมอ
ความไว้วางใจที่ผู้ใหญ่อย่าง ดร.สม มีให้กับวิวัฒน์ย่อมมากมายท่วมท้น เพราะไม่งั้นคงไม่ได้เป็นประธานกรรมการบริหาร
(CEO) ที่ บงล.นครหลวงเครดิตที่วิวัฒน์ฝากผลงานชิ้นโบว์แดงล่าสุด โดยการคว้าที่นั่งโบรกเกอร์มาด้วยราคาแพงด้วย
62 ล้านบาท
แม้เจ้าตัวจะยอมรับว่า ให้ราคาสูงไปนิด แต่เมื่อ ดร.สม ให้นโยบายมาว่า "ต้องคว้าเก้าอี้โบรคเกอร์ให้ได้"
วิวัฒน์ก็เลยไล่ตัวเลขประมูลเข้าไปสูงดังว่าเพื่อปลอดภัยไว้ก่อน
เวลานี้ก็เลยกลายเป็นว่า วิวัฒน์ถูกหวย 2 ใบ ใบหนึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งที่แบงก์ที่มีโอกาสก้าวสู่กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ไม่ยาก
และอีกใบหนึ่งนั่งเป็นใหญ่อยู่ที่นครหลวงเครดิต ที่เพียงเข้าไปได้ปีเดียว
ก็สร้างนครหลวงเครดิตจากสินทรัพย์ 300 กว่าล้านบาท เป็น 1,200 ล้านบาท และลดการขาดทุนสะสมจาก
10 กว่าล้านบาท เหลือเพียง 3 ล้านกว่าบาทในปัจจุบัน
เรื่องของเรื่องเวลานี้ วิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ก็เลยกลายเป็นแหล่งข่าวของนักข่าวไปโดยปริยาย
และกำลังวาดเส้นทางอาชีพสายเดียวกันกับพ่อของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยคิดอยากจะมายึดอาชีพนี้มาก่อนเลย