เต็ดตราฯชี้คนไทย Switch Brand สูงงัดนวัตกรรม มัดใจผู้บริโภค


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีการแปรรูปและบรรจุอาหาร เผย ผลการสำรวจทั่วโลกที่จัดขึ้นโดยโรเพอร์ (Roper Study) เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่สามารถแบ่งเป็น 7 กลุ่ม โดยใช้ไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตเป็นตัวจำแนก ดังนี้

1. Stimulation Seekers กลุ่มที่ชอบการทดลอง แสวงหาความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

2. Food Adventurers กลุ่มที่ชอบแสวงหาอาหารที่มีรูปแบบการนำเสนอและรสชาติใหม่ แตกต่างแต่คุ้มค่าคุ้มราคา

3. Sociable Gourmets นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ที่ตกแต่งสวยสไตล์โมเดิร์น เน้นเพื่อสังสรรค์เฮฮาและสร้างสายสัมพันธ์ในเชิงสังคมเป็นประจำ

4. Family Caretakers มีพฤติกรรมรักครอบครัว ให้เวลากับการใส่ใจครอบครัวมากเป็นพิเศษ

5. Health & Natural Balance ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และ ธรรมชาติบำบัด

6. Habit Keepers ยึดมั่นในค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิตแบบเดิมที่เคยเป็นมาอย่างเหนียวแน่น

7. Mobile Urbans เป็นกลุ่มที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ จึงต้องการสิ่งที่ด่วน และสะดวกสบาย

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนไทย แอนเดอร์ส เพอร์นควิสท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค กล่าวว่า จะมีความเด่นชัดใน 2 ประเภทแรกมากสุด คือ Stimulation Seekers และ Food Adventurers โดยจะเป็นกลุ่มที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาถึงเรื่องอาหารการกิน รวมทั้งการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่กลุ่ม Mobile Urbans หรือกลุ่มที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบ ต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบายจะเด่นชัดมากในกลุ่มสังคมอเมริกัน

ทว่า พฤติกรรมหลักของผู้บริโภคชาวไทยทั้ง 2 กลุ่ม กลับแสดงให้เห็นว่า โอกาสการ Switch Brand ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ชัดเจนและสูงขึ้น และเพื่อรองรับพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรดักส์ของตนเองทุกขั้นตอน ควบคู่กับการวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อรักษาและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในกลุ่มลูกค้าเก่า พร้อมอุดช่องว่างการหันไปทดลองสินค้ารายอื่น ขณะเดียวกันต้องรุกขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วย

สำหรับ บรรจุภัณฑ์ นับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่มีผลต่อการเลือก และตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคเช่นกัน ฉะนั้น ทางเต็ดตรา แพ้ค ที่อยู่ในฐานะผู้นำธุรกิจดังกล่าว จึงทำการทุ่มงบสนับสนุนงานวิจัยราว 4-5% ของรายได้ทั่วโลกต่อปี เพื่อนำมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ภายใต้เทคโนโลยีการผลิตและบรรจุแบบปลอดเชื้อ (Aseptic Technology) และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยตอบโจทย์และเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์ทรงแปดเหลี่ยม ที่ออกแบบเพื่อให้สินค้าดูพรีเมียม สะดุดตาเมื่ออยู่บนชั้นจำหน่าย พร้อมเพิ่มความสะดวกในการหยิบจับ โดยปัจจุบันได้รับเลือกจากผู้ประกอบการมาใช้บรรจุสินค้าบางประเภท เช่น น้ำผลไม้มาลี ชาเขียวโออิชิ ขนาด 1 ลิตร

หรือ การพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปทรงของบรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยม ให้บรรจุของเหลวในปริมาตรที่สูงขึ้นในขนาด 330 มล. สอดคล้องกับการตลาดของแบรนด์ “ไวตามิ้ลค์ ทูโก” ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ล่าสุด “เต็ดตรา รีคาร์ท” รูปทรงสี่เหลี่ยมกะทัดรัด ที่เพิ่มคุณสมบัติทนต่อความร้อนให้สามารถบรรจุอาหารที่ต้องบรรจุโดยผ่านความร้อนได้เช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์กระป๋อง แต่ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งจากน้ำหนักที่เบากว่า และยังลดพื้นที่ชั้นวางให้น้อยลงอีกด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก ส่วนประกอบประมาณ 75% ของบรรจุภัณฑ์เต็ดตรา แพ้ค ผลิตจากกระดาษที่มาจากพื้นที่ป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการรับรองจากหน่วยงานอิสระและมีการปลูกทดแทนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นรายละเอียดสำคัญของตัวสินค้า นอกเหนือไปจากแบรนด์ รสชาติ และความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตตัวสินค้า โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มยุโรปและอเมริกา ดังนั้น ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์จึงถูกพัฒนาให้ทำหน้าที่ได้มากกว่าการ “บรรจุ” ที่ต้องตอบรับกับชีวิตของผู้บริโภค และเอื้อต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ถือเป็นปราการด่านแรกในการเข้าหาผู้บริโภคดังกล่าว เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการมัดใจผู้บริโภคกลุ่มเก่า และเข้าถึงกลุ่มใหม่ได้ไม่ยาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.