เปิดแนวรบทีวีสาระ โมเดิร์นไนน์ - เอ็นบีที - ไทย พีบีเอส


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- สงครามทีวีสาระความรู้เปิดฉาก หลัง 2 สถานีรัฐถูกยกเครื่องเป็นทีวีสาธารณะ ชิงฐานผู้ชม
- เปิดแนวรบ 3 ช่อง "โมเดิร์นไนน์ - เอ็นบีที - ไทย พีบีเอส" เดินเกมวางผังรายการบี้กันมันหยด

ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของธุรกิจทีวีในปีนี้แปลกไป ที่คู่ต่อกรที่ถูกจับตามอง หาใช่ 2 วิกละครดัง อย่างช่อง 3 และช่อง 7 เหมือนปีก่อน ๆ แต่กลับเป็น 3 ช่องรอง ที่มุ่งแข่งขันกันด้วยรายการสาระความรู้ ข่าวสาร เรื่องราวของคนในระดับรากหญ้า ทั้ง โมเดิร์นไนน์ ทีวี เอ็นบีที หรือช่อง 11 และไทย พีบีเอส อดีตไอทีวีเดิม

มุมหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาสถานีโทรทัศน์เหล่านี้ให้เป็นสถานีที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างปัญหาให้กับผู้ชมมากกว่าการมอมเมาด้วยละครชิงรักหักสวาท หรือเกมโชว์ มิวสิกวิดีโอ ถือเป็นแนวทางที่คนในสังคมไทยต่างต้องการให้เกิดขึ้น แต่ขณะที่ในอีกมุมรายได้ที่จะมาสนับสนุนให้แต่ละสถานีเดินหน้าไปได้ กลายเป็นภาระใหญ่ของ 3 สถานีแห่งนี้ รายการความรู้ที่ไม่สร้างเรตติ้ง สถานีรัฐที่ถูกอิงเข้ากับการเมือง และช่องสาธารณะที่ถูกกำหนดให้ไม่สามารถหารายได้ได้ แต่ผู้บริหารทั้ง 3 สถานีต่างก็มีแผนการในการที่จะนำสถานีสาระความรู้ของตนก้าวสู่เป้าหมายความสำเร็จบนการแข่งขันเวทีใหม่แห่งนี้เช่นกัน

โมเดิร์นไนน์เตรียมปรับทัพ ก.ค.นี้ วางคอนเซปต์ "ช่องความรู้ ดูสนุก"

นับแต่ช่อง 9 อสมท เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภายใต้การบริหารของนักประชาสัมพันธ์มือเยี่ยมจากค่ายรถยนต์โตโยต้า มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ แดนสนธยาแห่งนี้เริ่มกลายภาพเป็นตัวแทนสถานีโทรทัศน์แห่งสาระความรู้ รายการสาระคุณภาพ ที่สามารถสร้างเรตติ้งผู้ชมได้ไม่แพ้รายการบันเทิงอย่าง คนค้นคน กบนอกกะลา Mega Clever ตลอดจนรายการบันเทิงกึ่งสารคดี อย่าง ปังคุงกับเจมส์ ถูกกล่าวถึงเป็น Talk of the Town อยู่เสมอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือ รายการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากเอเยนซีโฆษณาที่จะนำไปเสนอให้ลูกค้าเทงบโฆษณาลงมาให้เหมือนกับรายการละคร เกมโชว์

เขมทัตต์ พลเดช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ อสมท กล่าวว่า แม้รายการของโมเดิร์นไนน์จะได้รับความนิยม แต่ก็ไม่ใช่เป็นรายการที่เข้าถึงตลาดแมสได้ สินค้าหลักที่ใช้งบโฆษณาสูงอย่างกลุ่มสินค้าสกินแคร์ ก็ยังไม่ให้ความสนใจลงโฆษณาในช่องโมเดิร์นไนน์ ความนิยมรายการของสถานีที่สูงขึ้นเป็นอันดับ 3 แต่ในส่วนของบิลลิ่งจากการโฆษณากลับตกลงไปอยู่อันดับ 4-5 ส่วนหนึ่งคือรายการของโมเดิร์นไนน์ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งเป็นเป้าหมายของสินค้าคอนซูเมอร์ได้

ปัญหาของโครงสร้างรายการของโมเดิร์นไนน์ คือ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ถูกวางให้มุ่งเสนอรายการที่เน้นสาระประโยชน์มานับตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรี มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งรายการที่ถูกนำเสนอต่อ ๆ มาล้วนได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์สูง เช่น คุณพระช่วย ปราชญ์เดินดิน หรือคนค้นคน แต่ในมุมของการสร้างรายได้จากการโฆษณา รายการเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแรงดึงดูดสปอนเซอร์มากเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อมาดูจากโครงสร้างองค์กร อสมท ที่เป็นบริษัทมหาชนกระจายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ก็ถือเป็นภาระสำคัญเช่นกัน ดังนั้น การวางผังรายการเพื่อให้บรรลุผลทั้งการมีรายการสาระคุณภาพ และสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาได้ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

เขมทัตต์ กล่าวยอมรับว่า แม้ภาพพจน์ของโมเดิร์นไนน์จะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งสร้างความรู้ มีรายการคุณภาพกระจายอยู่ในแต่ละช่วงเวลา แต่ในเชิงธุรกิจ ก็คงต้องมีการปรับสัดส่วนรายการเพื่อรองรับกับการแข่งขันชิงงบโฆษณาจากช่องคู่แข่งด้วย ประเด็นสำคัญที่โมเดิร์นไนน์จะมีการปรับสัดส่วนรายการในเดือนกรกฎาคมปีนี้ อยู่ที่การเพิ่มรายการบันเทิงเข้ามาในผังรายการ

"ในเชิงธุรกิจผมคงต้องปรับสัดส่วนรายการ แม้โมเดิร์นไนน์จะได้ได้มีการตีกรอบว่าทำรายการบันเทิงไม่ได้ แต่บันเทิงที่เราจะทำก็คงไม่ใช่รายการที่เน้นบันเทิงเป็นหลัก แต่อาจเป็นในรูปแบบละครให้ความรู้ เช่น ละครเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่ศาสนา ที่ใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยม การที่โมเดิร์นไนน์ไม่มีการผูกข่ายกับผู้ผลิตรายได้ ก็น่าจะเชื้อเชิญให้ผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาช่วยผลิตรายการได้ นอกจากนี้ในส่วนของรายการความรู้ ก็จะมีการปรับให้มีสีสันมากขึ้น เป็นรายการความรู้แปลกใหม่ ดังเช่น รายการที่ได้ออกอากาศไปแล้วอย่าง กิ๊ก ตะลุยโรงหมอ หรืออโรคยา เป็นการปรับรูปแบบรายการกับผู้ผลิตเดิมที่ร่วมงานกันอยู่ และหาผู้ผลิตรายใหม่ที่มีแนวคิดในการทำรายการสาระความรู้ที่ดูสนุกมาทำงานกัน"

สัดส่วนรายการของโมเดิร์นไนน์ในปัจจุบัน เป็นรายการข่าว และสาระความรู้ราว 70% บันเทิง 20% แบ่งส่วนที่เหลือเป็นรายการสาธารณะ ที่ผ่านมา รายการสาระความรู้ที่มีอยู่ราว 70% นั้นผู้ผลิตไม่สามารถตอบโจทย์ในการนำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่าง น่าสนใจกว่ารายการสาระความรู้ทั่วไปได้ และอาจจะมีการปรับสัดส่วนรายการให้อยู่ในระดับ 50/50

"รายการความรู้ของเราจะไม่เป็นความรู้แบน ๆ เหมือนช่อง 11 หรือเป็นทีวีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แต่ต้องทำได้ให้เหมือน Mega Clever ดูแล้วสนุก กบนอกกะลา ต้องทำให้เคี่ยวให้ข้น ออกไปสร้างเครือข่ายผู้ชม ซึ่งตอนนี้คนค้นคน เริ่มขยายออกหาคนแปลก ๆ ไปถึงอินโดจีน เรื่องที่ครีม ๆ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ต้องลงมาทำเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ต้องใช้ประสาร อิงคนันท์ หรือภัทรพร สังข์พวงทอง ลงไปทำ สถานีจะเป็นคนกำหนดในเชิงธุรกิจกับผู้ผลิตรายการให้ผังรายการทั้งสถานีเข้ากันได้ มีการตลาดหุ้มไว้ ทำการต่อยอดสร้างเครือข่ายคนดู นำมาทดแทนเรื่องเรตติ้งของเอเยนซี แต่เราสามารถวัดเรตติ้งจากผู้ชมตัวจริง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผังใหม่ของโมเดิร์นไนน์" เขมทัตต์กล่าว

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อสมท กล่าวต่อว่า ผังรายการใหม่ของโมเดิร์นไนน์ จะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่สัญญากับผู้ผลิตส่วนใหญ่หมดลง ก็จะทยอยปรับผัง โดยรายการเดิมที่มีคุณภาพจะยังคงอยู่ แต่มีบันเทิง และรายการความรู้แปลกใหม่เข้าไปเสริมให้ผังรายการมีความแข็งแรงและหลากหลาย ให้เป็นรายการในเชิง Edutainment ที่ดูสนุก สร้างเป็นช่องความรู้ ดูสนุก ซึ่งเชื่อว่าหากรายการมีความสนุก ได้รับความนิยม รายได้ก็จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน

"โมเดิร์นไนน์เปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้าหรู เจาะกลุ่มคนชั้นกลาง เป็นนิชเล็ก ๆ เรามีหน้าที่วางสินค้าหรือจัดผังรายการอย่างไร ให้คนสนใจเข้ามาซื้อ แต่ราคาที่ขายก็ไม่ได้ขายแพงเหมือนสินค้าในห้างหรู กลับถูกเหมือนร้านดิสเคานต์สโตร์ ขณะที่ช่อง 3 ช่อง 7 เขาวางสินค้าเหมือนดิสเคานต์สโตร์ แต่ตั้งราคาเท่าห้างหรู ขายแพงกว่าเรา โมเดิร์นไนน์มีรายการเป็นประโยชน์ แต่ตั้งราคาถูกว่า ก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเจ้าของสินค้า เอเยนซียังไม่มาลงโฆษณา"

เทพชัย ไม่หวั่นNBT จัดผังใหม่สู้เต็มสูบ

ภายหลังการปรับเปลี่ยนจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส และทำการออกอากาศมาราว 2 เดือนครึ่ง ก็ได้มีการปรับผังใหม่ของรายการ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อและโลโก้ของทีวีสาธารณะช่องนี้ โดยเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า หลังจากทำการออกอากาศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ล่าสุดจึงได้ทำการปรับผังรายการใหม่โดยเริ่มออกอากาศไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และจะพร้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคมนี้

การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้มาพร้อมกับชื่อใหม่ของสถานี โดยได้ทำการคัดเลือกจากหลากหลายชื่อที่มีผู้สนใจส่งเข้าประกวด และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่ชื่อ "ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ" ขณะที่ผังรายการใหม่ที่ถูกประกาศออกมาจะประกอบไปด้วย รายการที่ผลิตโดยสถานี 54.73 % รายการจัดซื้อลิขสิทธิ์ เช่นค่าสารคดี 17.64 % รายการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 24.37 % และรายการจ้างผลิต 3.26 % ขณะที่รายการข่าวซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของสถานี ได้ทำการจัดสรรเวลาให้มากกว่ารายการอื่นๆกว่า 8 ชั่วโมง เมื่อแบ่งสัดส่วนของผังรายการใหม่ตามประเภทรายการต่างๆพบว่า รายการข่าว 39.85 % รายการสารคดีข่าวและวิเคราะห์ข่าว 6.63 % รายการสารคดี 22.63 % รายการสาระประโยชน์ 14.37 % รายการเด็กและเยาวชน 6.74 % และรายการสาระบันเทิง 11.94 %

เทพชัย กล่าวว่า การปรับผังในครั้งนี้มีรายการใหม่อีกกว่า 10 รายการ ซึ่งรวมไปถึงรายการที่ร่วมกับศูนย์ข่าวอิสรา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จะผลิตรายการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นแล้วรายการต่างๆจากกลุ่มผู้ผลิตกว่า 300 -400 รายก็ได้รับมาพิจารณา ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการจำนวน 6 คนที่ช่วยพิจารณาและคัดสรรผู้ผลิตเจ้าต่างๆ

ส่วนรายการที่กำลังเตรียมลงจอในเดือนพ.ค.นี้ ได้แก่ รายการเรียลลิตี้โชว์ เกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรี โดยมีบัณฑิต อึ้งรังสี เป็นหัวเรือใหญ่ในการคัดเลือกเยาวชนที่มีความเชี่ยวชายในสาขาดนตรีประเภทต่างๆมาเป็นตัวแทนในวงออร์เคสตรา และมีการนำเอาผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยอย่าง ขุนอิน หรือ ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า มาร่วมรายการ "ประชันมโหรี" ไม่เพียงเท่านั้นยังมีแนวคิดที่จะมีรายการที่นำเสนอแนวคิดของกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพื่อมาดีเบทกัน

นอกจากนั้นแล้วยังมีละครฟอร์มใหญ่เรื่อง"รายากุหนิง"ที่จับมือกับกันตนา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการทุ่มทุนสร้างกว่า 40 ล้านบาท สำหรับเนื้อหาของละครเรื่องนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปัตตานีกับประเทศไทยในสมัยก่อน คาดว่าผู้ชมจะได้เห็นละครเรื่องนี้ในวันจันทร์-ศุกร์ เดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตามในส่วนของความพร้อมด้านรายการต่างๆของสถานีไทยพีบีเอส คาดว่าจะสมบูรณ์แบบในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ที่น่าหนักใจในการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส น่าจะอยู่ที่งบประมาณในการบริหารสถานีที่มาจากช่องทางเดียวคือ ภาษีสรรพสามิต เหล้า บุหรี่ ปีละราว 2,000 ล้านบาท ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือการบริหารงบประมาณที่มีอยู่นี้ เพื่อการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ให้มีรายการคุณภาพที่ดึงดูดผู้ชม ในภาวะที่การแข่งขันในธุรกิจทีวีมีความรุนแรงได้อย่างไร

ปัจจุบันทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ใช้งบประมาณจากภาษีสรรพสามิตไปแล้ว 230 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 122 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนของบุคลากร 40 ล้านบาท ค่าเช่าสถานที่ อุปกรณ์ สัญญาณต่างๆ41ล้านบาท ค่าผลิตรายการละครสารคดี 41 ล้านบาท

"เจ๊เพ็ญ" ดึงอดีตคนไอทีวีเปิดแนวรบทีวีสาธารณะ

นอกเหนือจากเคลื่อนไหวของฟากไทยพีบีเอส หรือ ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ที่ออกมาเปิดเกมเดินหน้าอย่างเต็มสูบ ความเคลื่อนไหวอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งตั้งตนเป็นคู่ต่อสู้โดยตรงของทีวีไทย ทีวีสาธารณะก็คือ "NBT"(National Broadcasting Television) หรือ โมเดิร์นอีเลฟเว่น ที่บัญชาการโดย จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายก

การท้ารบในเริ่มแรกของจักรภพ ผู้กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ คือการวางนโยบายหลัก 9 ข้อ คือ1.การพัฒนาช่อง 11 สู่ความเป็นโทรทัศน์สาธารณะ โดยเร่งแก้เชิงระบบการทำงานก่อน 2.ต้องมีอิทธิพลทางบวก แก่ผู้รับสารทั่วประเทศ 3.การประเมินสถานีย่อยพัฒนาสู่สถานีหลัก 4.การสร้างรูปแบบสร้างสรรค์ของการถ่ายทอดสดให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น 5.การพัฒนาสู่ความเป็นดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ 6.เตรียมตัวนำสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ สู่ระบบ ไว-แมกซ์ 7.พัฒนาดูแลบุคลากรต่างๆสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น 8.พัฒนารูปแบบสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับหน่วยงานอื่นๆ และ9.การฟื้นฟูฝ่ายข่าว และสนับสนุนสถานี

นอกจากการวางนโยบายหลักให้กับ "NBT"แล้ว การวางผังรายการที่ทำการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ยังคงเป็นการท้าชนทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ด้วยการเลือกทีมงานข่าวที่มาจากกลุ่มไอทีวีเดิม ภายใต้ชื่อบริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาดำเนินการปรับโฉมรายการข่าว ด้วยการเสนอผลตอบแทนเป็นวงเงินสูงถึง 45 ล้านบาท ต่อปี มีทีมงานประกอบด้วย อดีตผู้ดำเนินรายการ และผู้ประกาศข่าว อย่าง จอม เพ็ชรประดับ สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ปนัดดา วงศ์ผู้ดี วรวีร์ วูวนิช ฯลฯ

แผนการในการนำเสนอนำเสนอรายการข่าวที่ ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง เสนอได้มีการเพิ่มช่วงเวลาข่าวจากเดิมที่มีเพียง 7 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นมาเป็น 9 ชั่วโมง จัดรูปแบบรายการข่าวแต่ละช่วงไม่ต่างจากผังรายการข่าวในยุคไอทีวี ทั้งข่าวเช้า ข่าวภาคเที่ยง ข่าวภาคค่ำ ภาคดึก และฮอตนิวส์ ขณะที่บางรายการที่เกิดขึ้น เป็นการยกมาจากสถานีทีไอทีวีเดิม เช่น รายการร่วมมือร่วมใจ ของทนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ในส่วนของรายได้ที่จะเข้าสู่สถานี เดิมช่อง 11 เคยมีรายได้จากงบประมาณภาครัฐที่ผ่านมาทางกรมประชาสัมพันธ์ และรายได้จากการถ่ายทอดสดรายการของรัฐ เป็นหลัก เพราะไม่สามารถหาโฆษณาจากสินค้าเป็นเรื่องเป็นราวได้ แม้ในระยะหลังจะเริ่มมีโฆษณาเข้ามาบ้างก็ตาม แต่เมื่อครั้งมีแนวคิดการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ให้เป็นโมเดิร์นอีเลฟเว่น เคยมีการวางแนวทางการหารายได้ว่า จะเปิดให้โมเดิร์นอีเลฟเว่นมีโฆษณาได้แต่เฉพาะการโฆษณาในเชิงคอร์ปอเรตของหน่วยงานภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ

จนกระทั่งล่าสุด เริ่มมีการกล่าวถึงแนวคิดในการเปิดให้โมเดิร์นอีเลฟเว่น หรือเอ็นบีที สามารถรับโฆษณาสนับสนุนรายการได้โดยอิสระ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดกันว่า บริษัทที่จะเข้ามาสนับสนุนด้านการโฆษณาให้กับเอ็นบีทีรายหลักก็คงหนีไม่พ้น สินค้าและบริการจากกลุ่มชินวัตร เอไอเอส รวมไปถึงสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผ่านมาทางนันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ เพื่อนสนิทของพานทองแท้ ชินวัตร เหมือนเมื่อครั้งเคยเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ไอทีวี จนถึงการโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เมื่อรวมกับรายได้ที่จะเข้ามาจากผู้ผลิตรายการที่เสนอรายการเข้าสู่เอ็นบีที ก็น่าจะทำให้เส้นทางการบริหารสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ปลอดโปร่งโล่งสบายกว่าการบริหารสถานีไทยพีบีเอสมาก

นักวิชาการระบุจุดดี-จุดด้อยทีวีสาธารณะ

รศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันทร์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินจุดแข็ง - จุดอ่อน ของทีวีสาธารณะหรือทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ว่า ภายหลังจากที่มีการอนุมัติให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้น และทำการแพร่ภาพมาในระยะเวลาหนึ่ง พบว่า ทีวีช่องนี้มีจุดแข็งคือการมีรายได้โดยตรงจากภาครัฐ รวมไปถึงความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากรที่มีการถ่ายโอนมาจากทีไอทีวีเดิม ซึ่งคนที่ยังอยู่และคนใหม่ๆที่เข้ามาจะทำการสร้างสรรค์แนวคิดของทีวีสาธารณะให้เดินหน้าต่อไป ถือเป็นการทำตามวิชาชีพที่ถูกต้องที่สื่อมวลชนควรจะมีนอกจากนั้นแล้วจุดแข็งที่ถือว่าสำคัญที่สุดของทีวีสาธารณะ คือ การร่างกฏหมายทีวีสาธารณะค่อนข้างมีความรัดกุมมาก ส่งผลให้มีการบริหารงานอย่างอิสระและยากต่อการแทรกแซง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีจุดแข็งหลายด้าน แต่จุดอ่อนของทีวีสาธารณะที่เห็นเด่นชัดคือ การเป็นทีวีสาธารณะที่เกิดขึ้นในยุคที่มีรัฐบาลเผด็จการ ส่งผลให้หลายคนมองว่าทีวีที่เป็นสื่อกลางของประชาชนช่องนี้มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และแม้ว่าจะเป็นทีวีสาธารณะแต่คลื่นความถี่ยังคงเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐที่เป็นเจ้าของ ทำให้มีความกังวลว่าจะถูกแทรกแซงได้

นอกจากนั้นแล้วการผลิตรายการที่ต้องมีการประเมินผลทุก 3 เดือนอาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงได้เช่นเดียวกัน ในแง่ของฝ่ายผลิตรายการยังไม่มีความพร้อมเมื่อเปรียบเทียบกับทีวีสาธารณะอื่นๆอาทิ บีบีซี

โดยเหตุผลเรื่องความไม่พร้อมเมื่อเปรียบเทียบกับบีบีซี. เนื่องจากบีบีซี.เกิดมานาน และมีความพร้อมด้านโปรดักชั่นมากมาย ทำให้สามารถผลิตงานได้อย่างมีคุณภาพและหลากหลาย อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าผู้ผลิตคนไทยที่มีความสามารถและสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพยังมีมากมาย และคาดว่าน่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในอนาคต

นอกจากจุดแข็งจุดอ่อนของทีวีสาธารณะแล้ว รศ.ดร.พิรงรอง ยังพูดถึงข้อท้าทายโดยมองว่าทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ต้องลบจุดอ่อนคือการเกิดในช่วงของรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งหากลบที่มาตรงนี้ได้ ก็จะเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับทีวีสาธารณะช่องนี้ และจะเป็นการสร้างการยอมรับของทีวีช่องนี้ไปในตัว

ขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้กล่าวถึงจุดท้าทายของทีวีสาธารณะของไทยโดยเปรียบเทียบกับทีวีสาธารณะของต่างประเทศว่า ในสหรัฐอเมริกา มีจุดที่ท้าทายคือ เรื่องแหล่งทุน ,การดึงคนรุ่นใหม่ให้สนใจทีวีสาธารณะ ,การแข่งขันกันอย่างรุนแรงของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ความสนใจของผู้ชมถูกแย่งไป ขณะที่เรื่องการฟ้องร้องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทายทีวีสาธารณะในต่างประเทศ

ด้านอังกฤษ ซึ่งมีสถานีบีบีซี.ซึ่งมีอายุมาอย่างยาวนาน ยังคงถูกท้าทายด้วยปัจจัยกระแสทุนนิยมที่เข้ามาบีบ ทำให้มีการโฆษณาแฝง บางเรื่องไม่มีการตรวจสอบทำให้เกิดข้อขัดแย้ง การใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดข้อกังขาว่าไม่โปร่งใส ส่วนทีวีสาธารณะของเอเชียนั้นถูกมองว่า ผู้ชมขาดความสนใจ เนื่องจากพื้นบนหน้าจอที่ไม่มีความหลากและมีการแข่งขันกันสูง และเมื่อย้อนกลับมามองทีวีสาธารณะที่เพิ่งก่อตัวของประเทศไทยเอง พบว่า ต้องเผชิญกับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน ,เทคโนโลยี และต้องทำการซื้อใจของผู้ชมให้เกิดการยอมรับ ขณะที่การแข่งขันและความเป็นอิสระทางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.