ยุทธนา ธนวิกสิตปิดให้สวยเปิดให้งาม


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

"ตกเวทีประวัติศาสตร์"

ไม่ว่าจะเป็นใคร ? ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสาขาวิชาชีพใด ? แต่ถ้าต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น มันก็เป็นเรื่องเจ็บปวดยิ่งนัก ซึ่งถ้าไม่มีทางเลี่ยงไหน ? ที่จะดีเท่าไปกับ "ยอมทนก้มหน้ารับกับชะตากรรมอันน่าชิงชังนั้นแล้ว ยอมเดินลงจากเวทีอย่างสง่าผ่าเผย…"

คนบางคนอาจพ่ายแพ้บนเวทีผืนนั้น ทว่ายังมีสิทธิที่จะชนะบนเวทีแห่งอื่น หากว่ายังมีใจเป็นนักสู้อยู่อย่างไม่ท้อถอย เพราะสันดานพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เป็นนักสู้นั้นก็คือ "มนุษย์เรานั้นยอมที่จะถูกทำลาย แต่จะไม่ยอมอยู่อย่างผู้แพ้ตลอดไปเป็นอันขาด"

ยุทธนา ธนวิกสิต…วัย 43 ปี สำหรับเขา "ความหวัง" ยังทอดรองรับอยู่ยาวไกล แม้ว่าความเป็นจริงในวันนี้เขาจะต้องยอมรับกับความเป็น "ผู้แพ้" อย่างไม่ใยดีกับสิ่งรบกวนใด ๆ สักครั้งหนึ่ง !!!???

"ผมคิดว่า มันถึงที่สุดแล้ว จริงอยู่ว่าผมอาจรับงานหนึ่ง ๆ ที่มีกำไรถึง 10 ล้านบาท แต่อย่าลืมนะว่า ในอีก 11 เดือนที่เหลือ ผมต้องมีค่าใช้จ่ายอีกบานตะไท รวมแล้วมันก็ขาดทุน ซึ่งสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันมันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ปีหนึ่ง ๆ ไม่ว่าผมหรือบริษัทอื่นเราอาจรับงานได้เพียงงานเดียว" ยุทธนากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงสาเหตุที่เขาต้องปิดฉากตัวเอง และบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่คนรุ่นพ่อได้สั่งสมชื่อเสียงมานานถึง 27 ปี

แน่นอน…สำหรับเขามันย่อมมีความปวดร้าวซึมแทรกทุกอณูชีวิต !!!

ยุทธนา ธนวิกสิต ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาโยธา จากมหาวิทยาลัยเวสต์ เวอร์จิเนีย และอดีตนายช่างโท กรมชลประทาน อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เป็นลูกชายของเสรี ธนวิกสิต เจ้าของ "เสรีธนะ" ผู้รับเหมาชื่อดังรายหนึ่งของเมืองไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งในแวดวงกรมชลประทานแล้วนั้น ชื่อ "เสรีธนะ" เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น 1 ในผู้กำงานก่อสร้างใหญ่ ๆ ของกรมชลฯ มาโดยตลอด ระยะเวลาของการก่อตั้งบริษัท

"เสรีธนะ" ย่ำรอยความสำเร็จในกรมชลฯ มากเพียงไร ? คงเป็นที่ประจักษ์กันดีเมื่อบริษัทคนไทยเล็ก ๆ แห่งนี้กล้าที่จะทุ่มราคาไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทหาญสู้กับบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง "นิชิมัตสึ" คราวประมูลก่อสร้างเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าไม่มีแรงบีบจากรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องเงินกู้ OECF แล้วเชื่อกันว่า เรื่องที่ "นิชิมัตสึ" จะคว้าพุงปลาไปกินได้ง่าย ๆ นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แน่นอน…

แต่ "เสรีธนะ" ก็มีวันที่รู้จักกับ "ความพ่ายแพ้" อย่างสมบูรณ์แบบเมื่อระยะปีสองหีที่ผ่านมาที่งานประมูลของกรมชลประทานค่อนข้างจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดราคา ราคาเข้าสู้กันโดยยอมขาดทุน รวมไปถึงการแบกรับภาระใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เกินกำลังในแต่ละโครงการ โดยไม่จำเป็น ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ผู้รับเหมาที่เคยร่ำรวยมากับงานของกรมชลฯ หลายราย ไม่ว่าจะเป็น ประมวล พัฒนาการ ราชวัตร ฯลฯ มีอันต้องลาเลิกไปทีละรายสองราย บางรายถึงขั้นล้มละลายเลยก็มี

"เสรีธนะ" เป็นรายล่าสุดที่ต้องยอมรับกับสภาพนั้นโดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ!!

ยุทธนา ในฐานะผู้ดูแลกิจการสู่สภาพดังกล่าวยิ้มรับกับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งว่า "ผมยอมที่จะเจ็บปวดตอนนี้ดีกว่าที่จะเลวร้ายมากขึ้น หลักการทำงานของพ่อและผมมีอยู่ว่า เก่งต้องเก่งทางเดียว เป็นผู้รับเหมาก็รับงานกรมชลฯ ที่เดียว เมื่ออะไร ๆ มันไม่ดีก็ถอยฉากออกมา และดูทางอื่ที่เราพอจะสู้กับมันได้"

จากจุดนี้เอง ยุทธนาจึงเริ่มงานใหม่ในฐานะ LAND DEVELOPER รายใหม่ของวงการอย่างจริงจัง เมื่อปลายปี 25314 ทั้งนี้ด้วยการนำเอาที่ดินจำนวน 500 ไร่ ที่ อ.บางไทร จ.อยุธยา ซึ่งซื้อไว้ในสมัยที่งานรับเหมายังรุ่งเรืองมาจัดสรรขาย

คราวนี้เขาร่วมกับ ศจ.ระพี สาคริก "ปรมาจารย์กล้วยไม้" พัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวให้กลายเป็น "อุทยานกล้วยไม้" ซึ่งนับเป็น "สวนเกษตร" ที่แปลกไปจากที่อื่น ๆ ซึ่งนิยมปลูกผลไม้ในที่ดินแล้วแบ่งขายให้กับผู้ที่สใจ

ยุทธนา บอกถึงการตัดสินใจเลือกเอา "กล้วยไม้" มาเป็นจุดขายว่า เป็นเพราะ 1. ความมีใจรักส่วนตัวที่ผูกพันกับกล้วยไม้มาแต่เล็ก โดยซึมซาบมาจาก ประพินทร์ เอื้อประยูรวงศ์ เจ้าของเจ้าพระยาออร์คิด ผู้เพาะพันธุ์รายใหญ่ที่เป็นอา และ 2. ความที่มองเห็นว่า ตลาดกล้วยไม้ไทยในตลาดโลกนั้นยังมีลู่ทางไปได้สวยอย่างตลาดญี่ปุ่น 1,400 ล้านดอลลาร์กว่า 40 ล้านดอลลาร์เป็นกล้วยไม้จากไทย ซึ่งยังมีตลาดยุโรปอีก 40% ที่กล้วยไม้ไทยครองตลาดอยู่

ยุทธนา และ ศจ.ระพี เชื่อมั่นว่า หากมีการพัฒนาคุณภาพกล้วยไม้อย่างจริงจังแล้ว หนทางที่กล้วยไม้ไทยจะบานชูช่อเป็น "หนึ่ง" ในตลาดโลกย่อมอยู่ไม่ไกลเกินฝัน !! และคนทั้งสองก็เริ่มกันที่นั่น "อุทยานกล้วยไม้" ณ สวนบางไทร อยุธยา

"ที่เราเลือกอยุธยาเป็นเพราะอยู่ใกล้กับแอร์พอร์ตพอตัดดอกหรือเพาะต้นก็ส่งมาที่แอร์พอร์ตเลยสะดวกกว่าแถบบางแค หรือหนองแขมที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ในขณะนี้ ซึ่งแนวโน้มแหล่งผลิตกล้วยไม้จะขยายออกมาทางอยุธยาและปทุมธานีมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว" ยุทธยาบอกกับ "ผู้จัดการ" และเผยต่อว่า

กล้วยไม้ในอุทยานแห่งนี้จะเน้นที่กล้วยไม้ธุรกิจ ซึ่งมีทั้งตัดดอกและขายต้นเป็นหลัก นอกจากนี้ยังจะได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ในเขตร้อนทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ มาไว้ยังอุทยานแห่งนี้ เพื่อจัดเป็นอุทยานกล้วยไม้ไว้ทัศนศึกษาอีกด้วย

อุทยานกล้วยไม้แห่งนี้ อาจไม่ใช่สวนกล้วยไม้ธุรกิจใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นสวนกล้วยไม้เพื่อการพักผ่อนที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ที่มากที่สุด !!!

"สำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินจัดสรรของเรา ใครสนใจจะปลูกกล้วยไม้ เรายินดีที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องตลาดเราได้เจ้าพระยาออร์คิดที่มีข่ายงานตลาดกว้างขวางมาให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ ริมรั้วบ้านเราก็จะปลูกต้นโกสนให้ เพราะใบโกสนสามารถตัดขายได้ ซึ่งตลาดกำลังมีคนสนใจกันมาก ที่ดินเราแบ่งขายเพียง 100 ไร่ที่เหลือจะทำเป็นสวนกล้วยไม้ และที่พักผ่อน" ยุทธนากล่าว

และหากความใฝ่ฝันของเขาไม่สะดุด ยุทธนาหวังว่า สักวันหนึ่งเขาอาจได้สร้างคอนโดเทลขึ้นในอุทยานกล้วยไม้แห่งนี้ และนั่นเขาอาจกลับมาเป็น "เสือคืนถิ่น" ทีป่ระสบชัยชนะในวงการก่อสร้างในบั้นปลายที่สามารถยิ้มรับความเป็น "ผู้ชนะ" ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ !!!???



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.