ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ กล่อม "แบงก์กรุงเทพ" เจ้าหนี้รายใหญ่ฝ่ายไทย ยอมรับให้
คลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู กิจการ "ทีพีไอ" ตามคำสั่งของศาล ล้มละลายกลาง
เชื่อว่าจะสะสางปัญหาต่างๆ ได้ ด้านกระทรวงการคลังเตรียมเสนอรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
เร็วๆ นี้
วานนี้ (23 มิ.ย.) ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยนายโฆสิต
ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่
ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด
(มหาชน) หรือทีพีไอ ได้เข้าพบร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ
โดยการเข้าพบครั้งนี้ นับเป็น การหารือร่วมกันเป็นครั้งแรก หลัง จากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่ง
ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ โดยไม่แต่งตั้งบริษัท
ผู้บริหารแผนไทย จำกัด ตามที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนเกินกว่า 99%
ทั้งนี้การหารือร่วมกันครั้งนี้ได้ใช้เวลาหารือร่วมกันเพียง 20 นาที
นายโฆสิต กล่าวภายหลังเข้าพบร.อ.สุชาติ ว่า ทางรมว.คลังได้ชี้แจงให้ทราบว่ากระทรวงการคลังต้องให้คำตอบต่อศาลล้มละลายกลาง
เกี่ยวกับความคืบหน้าของการ ดำเนินการตามคำสั่งศาลฯ ดังนั้นจึงเชิญเจ้าหนี้มาเพื่อแจ้งให้ทราบ
ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเป็นอย่างไรนั้นกระทรวงการคลังไม่ได้แจ้ง ทั้งในส่วนของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อร่วมบริหารแผนฟื้นฟูฯ
หรือแผนการฟื้นฟูกิจการ
"โดยส่วนตัวเห็นว่า การเข้ามาดำเนินการของกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว
เพราะกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศและเป็นผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งหมด ส่วนธนาคารเจ้าหนี้รายอื่น จะมีความเห็นอย่างไรเป็นเรื่องของ แต่ละธนาคาร
ไม่สามารถตอบแทน ธนาคารเจ้าหนี้รายอื่นได้"
นายโฆสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว
จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีฝ่าย ลูกหนี้หรือฝ่ายเจ้าหนี้อีก แต่เป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการในรายละเอียด
โดยทุกฝ่ายต้องไม่ยึดติดกับเรื่องเก่าๆ อีกต่อไป ส่วนรายละเอียดทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า การตัดสินใจของแบงก์กรุงเทพที่ยอมรับกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯทีพีไอนั้น
นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหนี้รายใหญ่ออกมายอมรับ โดยรายชื่อผู้บริหารแผน ร่วมฯนั้น
ทางกระทรวงการคลังจะใช้รายชื่อเดิมจากที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ เพื่อเสนอให้พ.ต.ท.
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาในรายละเอียดต่อไป โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปพิจารณาแผนฟื้นฟูทีพีไอภายในเวลาไม่เกิน
90 วัน จากนั้นจะพิจารณาจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูอย่างเป็นทางการต่อไป
เพราะต้องการหลีกเลี่ยงคำครหา
ด้านร.อ.สุชาติ กล่าวว่าขณะนี้เจ้าหนี้ได้เสนอ รายชื่อคณะบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการให้กระทรวงการคลังพิจารณาในรายละเอียดแล้ว
โดยเป็นรายชื่อชุดใหม่ แต่ในส่วนของลูกหนี้นั้นเป็นรายชื่อเดิมที่เคยเสนอมาแล้ว
ซึ่งภายใน 1-2 วันนี้ จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยกระบวนการทั้งหมดยังเดินหน้าอยู่ต่อไป
ไม่มีการสะดุดหรือหยุดลงแต่อย่างใด
โดยกระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอรายชื่อในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพื่อบริหารแผนฟื้นฟูฯ
ที่มีความเหมาะสมให้นายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้จนกว่าถึงเวลาที่เหมาะสม
ร.อ.สุชาติ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้แทรก แซงกิจการบริษัท เพียงแต่เป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยให้สำเร็จเท่านั้น
เพราะเมื่อศาลฯ มีคำสั่งแต่งตั้งมาอย่างนี้ ก็มีหน้าที่ไกลเกลี่ย โดยกระทรวงการคลังก็ทำหน้าที่หนักขึ้น
เพื่อที่จะให้งานสัมฤทธิผล และที่ผ่านมาได้เรียกตัวแทน เจ้าหนี้ และลูกหนี้มาหารือบ้างแล้ว
ซึ่งท่าทีเจ้าหนี้ ถือว่าดี
คลังส่งชื่อคนร่วมฟื้นฟูฯ ทีพีไอแล้ว
นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งรายชื่อส่วนตัวแทนคนกลางจากภาครัฐในส่วนกระทรวง
การคลังให้ร.อ.สุชาติ พิจารณาแล้ว หลังจากนี้จะขึ้นกับดุลยพินิจของ ร.อ.สุชาติ
ตัดสินใจเลือกก่อนส่งรายชื่อให้ศาลล้มละลายลงมติ 7 ก.ค.นี้
"ตัวแทนที่เสนอเข้าไป จะเป็นคนกลางทั้งหมด โดยในส่วนของตัวแทนเจ้าหนี้และลูกหนี้นั้น
เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย จะขอดูอยู่ห่างๆ เท่านั้น"
สำหรับขั้นตอนดำเนินการช่วงที่ผ่านมา หลังจากได้รับจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
จากศาลล้มละลายกลางแล้ว กระทรวงการคลังได้ตอบจดหมายยอมรับเป็นผู้บริหารแผน ฟื้นฟูกิจการทีพีไอให้ศาลล้มละลายกลางเพื่อยืนยันการดำเนินการของรัฐบาลในการเข้าไปไกล่เกลี่ย