ปูนใหญ่รับเสียส่วนแบ่งตลาด หลังใช้เยื่อกระดาษผลิตหลังคา


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

“บิ๊กปูนใหญ่” รับเสียส่วนแบ่งตลาด หลังใช้เยื้อกระดาษผลิตหลังคาแทนใยหินส่งผลขายราคาสูงขึ้น เชื่อแนวโน้มดีขึ้น ผู้บริโภคยอมรับ พร้อมทุ่มงบ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรับกระแสโลกร้อน

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยว่า จากแผนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของเครือซิเมนต์ไทย กระแสโลกร้อน ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เครือซิเมนต์ไทยจึงมีแนวคิดในการปรับ ภายใต้การดำเนิน การตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยแบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม สินค้า บริการ กระบวนการทำงาน และรูปแบบธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ สามารถ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเน้นการนำพลังงานทางเลือกมาทดแทนพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีแผนการลงทุนโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานในระยะเวลา 5 ปี (2550-2555) ใช้งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินส่วนใหญ่ได้ใช้ในปรับปรุงสายการผลิต โดยเฉพาะโรงปูนซิเมนต์ โรงกระดาษ รวมถึงวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เช่น หลังคา ไม้ฝา เป็นต้น ปัจจุบันมีการใช้งบไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท ปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องหลังคา ที่เดิมจะใช้ใยหินเป็นส่วนผสม มาใช้เยื้อกระดาษที่ไม่เป็นพิษต่อคนและสิ่งแวดล้อม แต่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ต้องปรับราคาขายตาม

“การเปลี่ยนมาใช้เยื้อกระดาษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จริงแต่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ราคาขายก็ต้องสูงขึ้น ส่งผลให้เราเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งที่ยังคงใช้ใยหินในการผลิต ทำให้ราคาถูกกว่า แต่ปัจจุบันก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะประชาชนเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น”

สำหรับสถานการณ์วัสดุก่อสร้างในช่วงไตรมานแรกปีนี้ ในส่วนตนมองว่าดีขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลนั้นได้ผล และสถานการณ์คงจะดียิ่งขึ้นไปอีก แต่จะมากขึ้นแค่ไหนคงไม่สามารถระบุได้ เพราะจะผิดระเบียบตลาดหลักทรัพย์

สำหรับการนำพลังงานทางเลือกมาทดแทนพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ได้เริ่มจากเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากไบโอแมส รวมถึงการนำความร้อนที่เกิดจากการผลิตปูนซีเมนต์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า แทนที่จะปล่อยไปในอากาศทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้วางเครื่องจักรไว้ในโรงงานผลิตปูนทุกแห่ง

“จากการปรับกระบวนการผลิตใหม่นั้นส่งผลให้บริษัทลดการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ประมาณ 18-20% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี แต่หากถามถึงความคุ้มทุนนั้นก็คงจะต้องใช้เวลานานกว่าการลงทุนทั่วๆไปมากกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน”

อย่างไรก็ตาม SCG สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3 แสนตันต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 90 เมกะวัตต์ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 600 ล้าน หน่วย/ปี คิดเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ลดการใช้พลังงานความ ร้อนและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกกว่า 2 แสนตันต่อปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.