การบินไทย ระบบบริหารคืออุปสรรค


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การติดอันดับ 1 ของ "ผู้จัดการ 100" ซึ่งหมายถึง การเป็นบริษัท ที่สามารถทำยอดรายได้รวมสูงที่สุด ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาจเป็นเรื่อง ที่ทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับธุรกิจการค้าหลายแห่ง โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจ ที่มีความผันผวนอย่างในปัจจุบัน

แต่สำหรับการบินไทย การที่มียอดรายได้รวม ปี 2542 สูงถึง 112,020 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่อง ที่ทำได้ยาก เพราะการบินไทยเป็นธุรกิจเฉพาะ ที่มีรายรับ เป็นเงิน ตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับผลดีโดยตรงจากการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ยอดรายได้รวม ที่สูงที่สุดของการบินไทยนั้น สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานของสายการบินแห่งชาติแห่งนี้หรือไม่ และจะสามารถใช้ยอดรายได้รวม ที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท มาเป็นดัชนีชี้ วัดความสำเร็จ ของกิจการแห่งนี้ได้เพียงใด

เป็นเรื่อง ที่ต้องวิเคราะห์ลงไปอย่างลึกซึ้ง...

การเป็น "International Company" น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังลงไปในจิตสำนึกของผู้บริหารการบินไทยทุกคนมาตั้งแต่สมัย ที่สายการบินสแกนดิเน เวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม (SAS) เข้ามาช่วยพัฒนาสายการบินแห่งนี้ ในยุคเริ่มต้น เมื่อ 40 ปีก่อน

International Company หมายถึง การมีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน ที่จะเกิดขึ้นในระดับโลก ซึ่งมีตัวผู้เล่น (player) ที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละระดับ

ปัจจัย ที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ จึงต้องมาจากตัวแปรหลายด้าน ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ

แต่ดูเหมือนการบินไทยในทุกวันนี้ ปัจจัยภายในประเทศ ได้กลายเป็นตัวแปร ที่มีน้ำหนักมากกว่าในการตัดสินใจขยับตัวแต่ละครั้ง

"การขยายตัวของการบินไทยในระดับภูมิภาคขณะ นี้เกือบถึงจุดอิ่มตัว แล้ว สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปคือ การขยายตัวออกไปในระดับโลก" ธรรมนูญ หวั่งหลี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางของการบินไทย ในช่วงหลังจากนี้

การก้าวออกไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก กดดันให้การบินไทยจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นภารกิจสำคัญ ที่ธรรมนูญ ได้พยายามผลักดันมาตลอดช่วงเวลากว่า 6 ปีที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในการบินไทย และกำลังเร่งวางรากฐานไว้อย่างรัดกุม ก่อน ที่เขาจะเกษียณอายุลงในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ที่จะถึงนี้

ธรรมนูญ นับเป็นลูกหม้อของการบินไทย ที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปถึง ตำแหน่งระดับผู้บริหารสูงสุด โดยเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต่อจากฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เมื่อปลายปี 2536

การที่เขาเติบโตขึ้นมาจากสายบัญชี และการเงิน ทำงานอยู่กับตัวเลขมาตลอด กว่า 30 ปี ทำให้เขาสามารถมองเข้าไปในลักษณะ และโครงสร้างธุรกิจของการบินไทยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโอกาสให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยมาจากสายพลเรือนนั้น การบริหารสูงสุดในการบินไทยตกอยู่ในมือของกองทัพอากาศ ที่ถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งสนามบินดอนเมืองในปัจจุบันมาเป็นระยะเวลานาน

คนในการบินไทยเล่าให้ฟังว่า ในยุคที่คนของกองทัพอากาศเป็นผู้คุมอำนาจบริหารสูงสุดในการบินไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วง ที่การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของการบินไทยน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความ เกรงใจในกองทัพ

นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับรองลงไป ที่เป็นคนของการบินไทยเอง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนมาจาก SAS สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีแรงกดดันจากทางการเมือง

ผู้บริหารเหล่านี้ มีความเข้าใจในธุรกิจการบินเป็นอย่างดี รู้ว่าบทบาทของการบินไทย ไม่ใช่ บริษัทท้องถิ่น ที่ต้องอาศัยเส้นสายบารมี จึงจะสามารถทำธุรกิจให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้ เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ในเมืองไทย

แต่บทบาท ที่การบินไทยควรจะเล่น คือ การเป็น Regional Player ที่ ต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ในต่างประเทศ

โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญ คือ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ (SIA) ซึ่งเป็นสายการบิน ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน และ ที่สำคัญคือ มีเป้าหมายในการขยายตัวไปในระดับโลก เช่นเดียวกับการบินไทย

ธรรมนูญเอง ก็มองเห็นถึงจุดนี้...

จุดเปลี่ยนสำคัญของการบินไทย เกิดขึ้นหลังจากกองทัพอากาศปล่อยมือจากบริหารงานการบินไทยเมื่อปี 2535 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบินไทยมากขึ้น

การเข้ามายุ่งเกี่ยวของนักการเมือง ซึ่งบางคนยังมีความไม่เข้าใจในบทบาทของการบินไทยอย่างลึกซึ้ง เห็นเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่ง ที่สามารถเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองได้

ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของการบินไทยลดประสิทธิภาพลงไป นอกเหนือจากระเบียบราชการที่กดดันให้ขั้นตอนการทำงานเป็นไปอย่างล่าช้ามากกว่าสายการบินอื่นๆ อยู่แล ้ว

เป็นภาระหนักสำหรับธรรมนูญ ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ในช่วงจังหวะนั้น พอดี

แต่ด้วยความ ที่เป็นคนมีบุคลิกประนีประนอม ทำให้ 6 ปีกว่า ที่ผ่านมา การบินไทยภายใต้การนำของธรรมนูญจึง สามารถเดินหน้ามาได้อย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจก็ตาม

และการปรับตัวในบางเรื่องอาจจะล่าช้าเกินไป ในภาวะ ที่การแข่งขันกัน ระหว่างสายการบินมีค่อนข้างสูง

"เราค่อนข้างโชคดี เพราะเราเป็นเหมือน Exporter และการท่องเที่ยวก็ยังไม่ซบเซา เมื่อค่าเงินบาทอ่อน คนมาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น Exporter ในการค้าแขนงอื่นเขาจะมีปัญหาในเรื่องราคา แต่ของการบินไทย ราคาก็ไม่ ได้ลดลงไป รายได้ต่อหน่วยก็ไม่ตก เมื่อค่าเงินอ่อนลง เงิน ที่ได้มาก็มากขึ้น สามารถหักลบกับหนี้ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ การบินไทยถึงได้รอดตัวมาได้" ธรรมนูญกล่าว

วิกฤติค่าเงินบาท ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่า นมา สำหรับธรรมนูญแล้วดู จะไม่ใช่ ปัญหาใหญ่เกินไป เพราะการบินไทยได้เปรียบตรง ที่มีรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่แล้ว จึงสามารถหาเงินตราต่างประเทศไปใช้หนี้สิน ที่กู้มา เพื่อการลงทุนในสกุลเดียวกันได้

ที่สำคัญคือ ฐานะการเงินของการบินไทยในปัจจุบัน ก็ถือว่าแข็งแกร่งพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถไประดมทุน ด้วยการขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ให้การ บินไทย เป็นบริษัทนำร่องในช่วงปลายปีนี้ได้เป็นผลสำเร็จ

สิ่งที่ธรรมนูญพยายามผลักดันมาตลอดคือ แผนการลดต้นทุนการดำเนินงานลงมาให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อก้าวขึ้นสู่การแข่งขันในระดับโลก ซึ่งธรรมนูญเห็นว่าน่าจะเป็น สิ่งที่สำคัญมากกว่า

"สายการบิน ถ้าเราไม่หาวิธีการที่จะลดต้นทุน ผมว่าอยู่ลำบาก การที่เราจะเพิ่มเส้นทางบินในจุดเดิมมันก็เกือบจะเต็มแล้ว หรือจะไปเริ่มเส้นทางใหม่ๆ เช่น แอฟริกา เริ่มแรกก็ต้องขาดทุนแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สายการบินจะอยู่ได้คือ การลดต้นทุน เพราะสิ่งหนึ่ง ที่เราทำไม่ได้คือ การลดคน ในขณะที่ สายการบินอื่นเขาลด" ธรรมนูญกล่าวถึงแนวคิดของเขากับ "ผู้จัดการ"

แต่ความพยายามของธรรมนูญ ก็มีอุปสรรคจากปัจจัยภายในการบินไทย เอง ที่ยังยึดติดกับระบบราชการ ทำให้การตัดสินใจในแต่ละเรื่อง เป็นไปโดยล่าช้า

ตัวอย่างแนวการลดต้นทุนของธรรมนูญ เขามีแผนที่จะลดแบบของเครื่องบินลงมาจาก 12 แบบให้เหลือเพียง 6 แบบ และลดแบบของเครื่องยนต์ลงมาให้เหลือเพียง 7 แบบ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ซึ่งขณะนี้อยู่ ระหว่างการเสนอเข้าสู่ ที่ประชุมคณะกรรมการ

ตลอดจนกำลังพิจารณาว่าจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานสำหรับสายการบินภายในประเทศ ซึ่ง ที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด

"การเพิ่มราคาค่าตั๋วไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว มันอาจเป็นวิธี ที่ถูกต้อง เพราะ ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ราคาตั๋วเครื่องบินไม่เคยปรับมาเลย 5 ปีแล้ว แต่พอปรับแล้วก็ต้องจบแค่นี้ ไม่ใช่ปรับต่อ เราต้องดูว่าทำ อย่างไรจะลดการขาดทุนลงได้อีก"

ส่วนแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ ธรรมนูญค่อนข้างให้น้ำหนักกับเรื่องของบุคลากร โดยเฉพาะแผนการพัฒนาบุคลากรระดับสูง เพื่อตัดระบบการฝาก ซึ่งเป็นปัญหา ที่หมักหมมมานานมากในองค์กรแห่งนี้

เขามองว่า ที่ผ่านมา การบินไทยมีการใช้บุคลากร ที่ไม่ตรงกับความสามารถในสายงาน ขณะเดียวกัน ยังมีภาพของระบบราชการเข้ามาครอบงำ โดยมีการย้ายคนบางคนมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้ง ที่ไม่มีความสามารถแต่ เพื่อ อาศัยขั้นในการกระโดดไปในตำแหน่งอื่น ที่สูงขึ้น

เขาเคยเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อให้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้า มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาบุคลากรของการบินไทย แต่คณะกรรมการบางส่วนเห็นว่าน่าจะใช้คนภายในดำเนินการเองจะดีกว่า

"การเอามืออาชีพ ซึ่งเป็นอิสระเข้ามา จะตัดปัญหาเรื่องความมีอคติต่อกันไปได้ ถ้าเอาคนใน จะเป็นผม หรือใครก็ตาม จะมีลักษณะของการเลือก ที่รัก มัก ที่ชัง เป็นธรรมเนียมแบบไทยๆ ซึ่งมันก็หนีไม่พ้นระบบฝาก" ธรรมนูญให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากเรื่องบุคลากร ธรรมนูญยังเห็นว่าแผนการเจาะตลาดลูกค้าระดับสูง ให้เข้ามาใช้บริการในชั้นธุรกิจ และชั้นวีไอพี เป็นสิ่งที่การบินไทยต้องเร่งดำเนินการ เพราะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ กับการ บินไทยได้เป็นจำนวนมาก และจากการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดการบินไทยยังเสียเปรียบคู่แข่งในจุดดังกล่าว

"การบินไทยได้รับการยอมรับในตลาดของนักท่องเที่ยว จะเห็นว่ายอดการขายตั๋วในชั้น Economy ของเรานำหน้าคู่แข่ง แม้กระทั่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ แต่ในด้านลูกค้าชั้น Premium เรายังเดินตามหลังเขาอยู่"

เขาได้เสนอแผนปรับปรุง ที่นั่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกในชั้นธุรกิจ และวีไอพี ไว้รองรับการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ แต่ปรากฏว่าแผนดังกล่าว เข้าสู่ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทไปแล้วเป็นเวลาถึง 8 เดือน ยังไม่ได้รับการ พิจารณาอนุมัติ

"เราใช้เวลานานเกินไป การจะเปลี่ยน ที่นั่งไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วเปลี่ยนได้ เลยต้องใช้เวลาในการสั่งของถึง 12 เดือน เมื่อของมาแล้ว ก็ต้องทยอยดูว่า เครื่องบินลำไหนจะครบกำหนดต้องเข้าซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ถึงจะเปลี่ยนได้"

หรือแม้กระทั่งการจัดหาเครื่องบิน ที่สามารถบินในระยะทางไกล 16-19 ชั่วโมงได้ โดยไม่ต้องหยุดพัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการบินไทยอีกเช่นกัน แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ยังไม่เริ่มเดินหน้า ในขณะที่คู่แข่งสำคัญได้ก้าวไปก่อนแล้ว

"ตอนนี้สิงคโปร์ แอร์ไลน์เขาสั่งซื้อเครื่องแอร์บัส 340-500 ซึ่งสามารถบินระยะทางไกลได้ไปแล้วถึง 20 กว่าลำ มาเลเซีย เขาก็เริ่มพิจารณาแล้ว แต่ของเรายังไม่ได้ศึกษา" ธรรมนูญกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ตัวอย่างอุปสรรคสำคัญๆ หลายประการ ล้วนมีผลให้การบินไทยขาดความคล่องตัว ในการก้าวขึ้นไปแข่งขันกับสาย การบินอื่นๆ ในอนาคต

ณ วันนี้เป็นวันที่การบินไทย มีอายุครบ 40 ปี และกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการแปรรูปเป็นครั้ง ที่ 2 แต่สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐจะลดลงเพียง 10% เท่านั้น ทำให้การบินไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ยังยึดติดอยู่กับระบบดั้งเดิมอยู่

หลายคนเคยเปรียบเปรยว่า ยุทธศาสตร์การแข่งขันของการบินไทย เทียบได้กับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะการบินไทยเป็นตัวแทนของธุรกิจไทย ที่ต้องกระโจนลงไปแข่งขันกับธุรกิจหลายแห่งในระดับโลก

และเป็น International Company ที่ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นพิเศษ

หลายสิ่งที่ธรรมนูญพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วง 6 ปีกว่า ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ แสดงให้เห็นถึงเป้าหมาย ที่ชัดเจนว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับการบินไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็น International Company ได้โดยมั่นคง

แต่ภาระหน้าที่อันนี้ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เพียงคนเดียว

เพราะหากในระดับนโยบาย ยังไม่เห็นถึงเป้าหมายดังกล่าว และฝ่ายการเมืองยังคงมองการบินไทย เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ที่ตนเอง สามารถเข้าไปสร้างผลประโยชน์ได้แล้ว

การบินไทย คงจะเป็น เพียง Local Company แห่งหนึ่ง ที่ยังไม่สามารถ กระโจนเข้าสู่เวทีการแข่งขันในระดับโลกได้เท่าเทียมกับสายการบินคู่แข่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.