|

"สงครามชิงเงินออม" ทำประชานิยมสะดุด พันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ ไทย-เทศเมินหนีลงทุนเมืองนอก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 เมษายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐบาลโดดร่วมวง"แบงก์-ประกัน-กองทุนรวม" ชิงเงินออมในประเทศ พลาดท่าผลตอบแทนไม่จูงใจ-พันธบัตรขายอืด แถมเจอส่วนต่างดอกเบี้ยต่างประเทศสูง การเมืองเริ่มระอุ คนไทยโยกเงินออก ต่างชาติเมิน คนวงการเงินหวั่นปีหน้ารัฐบาลเจองานหนัก ถูกบีบให้เพิ่มต้นทุนดอกเบี้ย โครงการประชานิยมอาจชะงัก หากเลี่ยงไม่ได้ผู้ว่าแบงก์ชาติอาจถูกเปลี่ยนตัว
สงครามชิงเงินออมจากภาคประชาชนของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างดุเดือด ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปกติของเหล่าธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษ 4 เดือนหรือ 8 เดือนบ้างตามแต่โปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร
การล่าเงินออมของธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ฝ่ายธนาคารขนาดเล็กต้องช่วงชิงลูกค้าหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ต้องรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ให้อยู่กับธนาคาร การเสนอดอกเบี้ยฝากอัตราพิเศษนี้มีมาตั้งแต่ปี 2550 แต่มีการแข่งขันกันมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางที่ธนาคารพาณิชย์ช่วงชิงเงินฝากระหว่างกัน ในส่วนของธุรกิจประกันชีวิตก็มีการแข่งกันหาลูกค้าเงินฝากเช่นกันด้วยกรมธรรม์ประกันแบบออมทรัพย์ที่มีแบบให้เลือกมากมาย ทั้งรูปแบบการตั้งเคาท์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้า ดิสเคาท์สโตร์ หรือผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันนั้น
ตามมาด้วยการออกมาแข่งดูดเงินออมของพันธบัตรออมทรัพย์งบประมาณปี 2551 และล่าสุดคือพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ เพื่อเสนอขายกับประชาชนรายย่อย มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เสนอขายผ่านธนาคารกรุงเทพและกรุงศรีอยุธยาระหว่าง 2-11 เมษายนนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ 3.6% อายุพันธบัตร 2 ปี และยังมีพันธบัตร 30 ปีมูลค่า 5 พันล้านบาทที่เตรียมเสนอขายอีก
ขณะเดียวกันคู่แข่งสำคัญที่แย่งชิงเงินออมอีกรายที่มาแรง คงหนีไม่พ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่มีพระเอกตัวที่ดูดเงินออมของคนไทยได้ไม่น้อยในเวลานี้คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุน FIF ที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีขายกันเกลี้ยง เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างสูงคือระดับ 3.6% ขึ้นไป และที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นคือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ชูอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 7%
นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เตรียมออกสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดดอกไม้ไทยเสนอขายตั้งแต่ 29 เมษายน 2551 อายุ 3 ปี เสนอขายกันอีกครั้งมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อตามนโยบายในปี 2551
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหลายหน่วยงานที่ต่างเร่งระดมเงินจากภาคประชาชน เพื่อนำมาใช้ตามแผนงานของแต่ละแห่ง
ฝากแบงก์ดอกเบี้ยพิเศษ
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเงินออมมีการแย่งชิงของหลายหน่วยงานมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แม้ว่ากว่าจะเหลือวงเงินที่ให้ความคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาทในอีก 5 ปี แต่ผลทางจิตวิทยาเกิดขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับผู้ที่มีเงินฝากมากรวมถึงนักลงทุนสถาบัน เพราะในปีหน้าจะลดวงเงินคุ้มครอง 100% เพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายบัญชีของลูกค้าเงินฝาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กที่ถูกมองในเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องหาวิธีที่จะดึงให้เงินฝากเหล่านั้นอยู่กับธนาคารให้มากและนานที่สุด จึงต้องมีการเสนออัตราดอกเบี้ยจูงใจ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ถูกดึงลูกค้าเงินฝากไปไม่น้อย จึงต้องงัดกลยุทธ์ด้านดอกเบี้ยเข้ามาสู้
ประกันออมทรัพย์ฮิต
อีกด้านหนึ่งที่โหมดูดลูกค้าเงินฝากคือบริษัทประกันชีวิต ที่ออกกรมธรรม์ประเภทออมทรัพย์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แม้เมื่อคำนวณผลตอบแทนแล้วจะให้ผลตอบแทนต่อปีราว 2% แต่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้มีเงินออมปัจจุบัน เนื่องจากต้องส่งเบี้ยประกันต่อเนื่องเหมือนกับบังคับให้เกิดการออมเงินไปในตัว นอกจากนี้ยังมีเงินคืนมาระหว่างทางจำนวนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ และยังมีการคุ้มครองกรณีเสียชีวิตให้อีกจำนวนหนึ่ง แถมยังสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีก
แม้ว่าเมื่อดูผลตอบแทนที่ 2% จะดูน้อยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แต่ต้องไม่ลืมว่าเบี้ยประกันที่ส่งไปนั้นสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 1 แสนบาท อย่างน้อยเงินที่ได้คืนขั้นต่ำที่ 10% ของเบี้ยที่ส่งไปตามฐานภาษีของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าส่งเบี้ยประกัน 1 หมื่นบาทต่อปีก็จะได้เงินคืน 1,000 บาทเมื่อขอคืนภาษี เท่ากับได้ผลตอบแทนต่อปีราว 12%
ประกันประเภทนี้ตลาดตอบรับค่อนข้างดี บริษัทประกันหลายแห่งเปิดขายทั้งผ่านระบบตัวแทนและขายผ่านธนาคารพาณิชย์ เพราะประโยชน์ที่ได้ค่อนข้างลงตัว ทำให้มีเงินออมจำนวนหนึ่งไหลเข้าไปลงทุนในกรมธรรม์ประเภทนี้ไม่น้อย
พันธบัตรขายอืด
ขณะเดียวกันการเข้ามาบริหารประเทศของพรรคพลังประชาชน ที่ต้องการฟื้นเศรษฐกิจด้วยหลากหลายมาตรการ ได้ปูทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ตอบรับต่อพันธบัตรของรัฐบาลที่จะออกมาเสนอขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เฉพาะพันธบัตรที่เสนอขายให้กับประชาชนในประเทศสำหรับรัฐบาลชุดนี้ได้ออกมาล่าสุด 1.2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.6% อายุ 2 ปี และยังมีพันธบัตรออมทรัพย์ปกติที่ทยอยขายครั้งละ 500 ล้านบาทผ่านธนาคารกรุงเทพในแต่ละเดือน
"จริง ๆ แล้วอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรชุดใหม่ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.06% แต่รัฐบาลเพิ่มให้อีก 15% เท่ากับเป็นค่าภาษีที่ผู้ซื้อพันธบัตรต้องถูกหักเมื่อได้รับดอกเบี้ย"แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้กล่าว
เขากล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือระยะที่ผ่านมาพันธบัตรรัฐบาลได้รับการตอบรับจากตลาดไม่คึกคักเหมือนอดีต ตอนนี้บางรุ่นขายไม่หมด ส่วนหนึ่งเกิดจากมีพันธบัตรทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง หากผลตอบแทนไม่จูงใจพอบวกกับระยะเวลาที่ต้องถือพันธบัตรนาน 3 ปีเป็นต้นไปนั้น ผู้มีเงินออมจึงเลือกที่จะรอพันธบัตรรุ่นต่อไป จึงทำให้พันธบัตร 2 ปีที่เพิ่งออกจำหน่ายต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเป็น 3.6%
กองทุน FIF แรง
ตัวเลือกน่าสนใจในเวลานี้คือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงคือพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ 3.6-3.9% อัตราผลตอบแทนดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตร และระยะเวลาในการลงทุนราว 1 ปี 3 เดือน หรือ 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ผู้บริหารกองทุนจะทำการคุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว ส่วนบลจ.ใดจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเข้าไปถือในพันธบัตรรุ่นใดและช่วงเวลาใด
ที่มาแรงในเวลานี้คือพันธบัตรรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่สร้างผลตอบแทนราว 7% แต่การลงทุนในพันธบัตรนิวซีแลนด์จะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรเกาหลี เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้บริหาร บลจ.มักจะทำการคุ้มครองความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเฉพาะเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองความเสี่ยงดอลลาร์นิวซีแลนด์กับดอลลาร์สหรัฐ
เพราะว่าทิศทางของค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงจากปัญหาวิกฤติซับไพร์ม ดังนั้นจึงทำให้เงินสกุลนิวซีแลนด์แข็งขึ้น ผลตอบแทนในพันธบัตรย่อมสูงขึ้นตาม แต่ก็มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้นั่นหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนอาจได้ต่ำกว่า 7% แต่มีความเป็นไปได้น้อย
จุดเด่นของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์คือเป็นพันธบัตรของรัฐบาลจึงมีความมั่นคงค่อนข้างสูง ระยะเวลาลงทุนค่อนข้างสั้น ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องนำมาหักภาษีอีก 15% เหมือนการลงทุนในพันธบัตรในประเทศ
หลายค่ายออกไปแล้ว 4-5 รุ่นก็ยังได้ผลตอบรับที่ดี บางค่ายก็หันไปลงทุนในพันธบัตรออสเตรเลียที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศค่อนข้างห่างกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุน FIF ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศกันค่อนข้างมาก
"ตอนนี้ยังมีตลาดพันธบัตรที่น่าสนใจอย่างจีนและอินเดียที่มีผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก แต่คงต้องรอให้ทั้ง 2 ประเทศนี้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปซื้อพันธบัตรได้ ส่วนในย่านอาเซียนด้วยกันก็มีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความมั่นคงถือว่าเป็นรองจีนและอินเดีย" แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าว
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเตรียมออกสลากออมทรัพย์ชุดใหม่ออกมา แม้ว่าผลตอบแทนกรณีไม่ถูกรางวัลราว 1% แต่สลากออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส.ก็ยังมีแฟนประจำที่รอซื้ออยู่ ทั้งจากรายเก่าที่ถือจนครบกำหนดหรือรายใหม่ที่เพิ่มช่องทางในการลงทุนให้กับตัวเอง ที่มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ 20 ล้านบาทต่องวด และยังมีรางวัลอื่นรองลงมาอีก
ประชานิยมรัฐสะดุด
นี่เป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของการช่วงชิงเงินฝาก เงินออมของแต่ละหน่วยงาน ผลที่จะตามมานั่นคือเงินฝากหรือเงินออมที่มีจำหน่วยหนึ่งจะโยกจากผลตอบแทนต่ำไปหาผลตอบแทนที่สูง
เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดของการออมแต่ละประเภทจะพบว่า ที่ต้องช่วงชิงกันเป็นพิเศษคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉพาะอัตราดอกเบี้ย ไม่มีสิทธิประโยชน์อื่นเช่น หักลดหย่อนภาษี มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการแข่งขันกันระหว่างการหาเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ พันธบัตรรัฐบาลไทยและกองทุนรวม FIF
กองทุน FIF ได้เปรียบในเรื่องของการที่ไม่ต้องเสียภาษี 15% เหมือนพันธบัตรรัฐบาลไทยและเงินฝากของธนาคาร ที่น่าจะเสียเปรียบคือผู้ออมเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ ที่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับต่ำกว่าดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลไทย
แม้ลูกค้าเงินฝากส่วนหนึ่งจะไหลไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย แต่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ผันตัวเองเป็นผู้จำหน่ายพันธบัตรโดยได้รับค่าธรรมเนียมในการขายเป็นรายได้แทน เช่น รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ
อย่างไรก็ตามความได้เปรียบของกองทุนรวม FIF ก็อาจหมดไปได้หากหน่วยงานภาครัฐไม่เพิ่มวงเงินที่นำออกไปลงทุน จากเดิมที่ให้วงเงินไว้ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์เหลือวงเงินอยู่เพียง 2.55 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
การแย่งชิงเงินฝากที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ส่งผลให้เงินจำนวนไม่น้อยถูกล็อกไว้กับแหล่งลงทุนนั้น ดังนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นผู้ที่ต้องการจะระดมเงินรายใหม่ และที่น่าจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากคือพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่เตรียมจะออกพันธบัตรอีกหลายรุ่น โดยเฉพาะความต้องการที่จะเสนอขายต่อนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ที่กำลังเงินในการซื้อพันธบัตรจะมีน้อยลง
แม้ว่ารัฐบาลจะมีทางเลือกในการเปลี่ยนไปขายให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศแทนที่มีทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคมหรือพอร์ตลงทุนของบริษัทประกัน แต่ผลตอบแทนที่จะจูงใจพอหรือไม่ เช่นเดียวกับการเสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ แต่จากความแตกต่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศยังมีอยู่มาก ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองของไทยที่เริ่มระอุขึ้น อาจทำให้การขายพันธบัตรของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นนัก
พันธบัตรรัฐบาลชุดต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจนักลงทุน แต่นั่นหมายถึงต้นทุนในการออกพันธบัตรย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วย การจัดเก็บรายได้จะมากพอสำหรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือไม่
"เรามองว่าในปีหน้าพันธบัตรรัฐบาลที่เสนอขายนั้นอาจจะประสบความสำเร็จน้อยลง สิ่งที่จะตามมานั่นคือ หากการขายพันธบัตรทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ย่อมส่งผลต่อการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เน้นโครงการประชานิยม" แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์กล่าว
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้นั่นคือการกดอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้ต่ำ นั่นหมายความว่าต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรลง ท่ามกลางที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายแบงก์ชาติได้ส่งสัญญาณว่าจะเน้นที่การคุมอัตราเงินเฟ้อ และถ้ารัฐบาลไม่สามารถกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|