"พิเชษฐ" หาช่องบีบถอนสิทธิเอนเจิล ดัน "บางกอกแอร์เวย์"
สวมสาย 2 แทน ชี้เหตุหยุดบิน ปัญหาธุรกิจการบินกระทบภาพลักษณ์ประเทศ เผยบางกอกแอร์ศักยภาพพร้อมแต่ติดพ.ร.บ.ร่วมทุน
ด้าน "สมชาย" ผู้บริหารเอนเจิลยันเตรียมเปิดบินใหม่แน่นอนในส.ค.นี้ เส้นทางกรุงเทพ-เกาหลี
ติงนโยบายรัฐไม่แน่นอนคุ้มครองสาย 2 แต่กลับเปิดเสรี
ความคืบหน้าในการดำเนินการสายการบินที่รัฐกำหนดสายที่ 2 ของ สายการบิน เอนเจิล
แอร์ไลน์ ซึ่งหยุดบินไปเนื่องจากได้รับผลกระทบ จากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีกระแสข่าวว่านายพิเชษฐ
สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อาจมีการพิจารณาขอยกเลิกสิทธิการบินของ
สายการบินเอนเจิลแอร์ไลน์ และจะมีการผลักดันให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ของนายแพทย์ปราเสริญ
ปราสาททองโอสถ ซึ่งมีศักยภาพทางการบินมากกว่าและมีเครื่องบินและเที่ยวบินประจำ
นายพิเชษฐ เปิดเผยว่า สายการบินที่รัฐกำหนดสายที่ 2 ถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศ
แต่ที่ผ่านมาสายการบินเอนเจิลประสบปัญหามาโดยตลอด มีการหยุดทำการบินเป็นระยะ จึง
เห็นว่าน่าจะมีการพิจารณายกระดับให้สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ซึ่งมีศักยภาพมีความพร้อมได้สิทธิเป็นสายการบินที่รัฐกำหนดด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารของสายการบินเอนเจิลแอร์ไลน์
นำโดยนายสมชาย เบญจรงคกุล ประธานบริหาร ได้ชี้แจงและยืนยันความพร้อมที่จะทำธุรกิจ
การบินต่อไป โดยให้เหตุผลที่หยุดทำการบินว่า ประสบปัญหาจากวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลกและจากเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา
และต่อเนื่องมาถึงการระบาดของโรคซารส์ ทำให้แผนการบินต่างๆ ได้หยุดชะงักลง แต่ทางเอนเจิลยังคงทำการบินในลักษณะของเที่ยวบินขนส่งสินค้า
และเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำอยู่
นายพิเชษฐ กล่าวว่า เอนเจิลยืนยันว่า จะเปิดทำการบินได้ภายในเดือน ส.ค. 2546
นี้ ในเส้นทางกรุงเทพ-เกาหลี และมีแผนในการจัดซื้อเครื่องบิน ซึ่งคงจะต้องให้โอกาสทางเอนเจินในการทำการบินอีกครั้ง
ส่วนบางกอกแอร์เวย์จะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นสายการบินที่รัฐกำหนดต่อไป
ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิพิเศษในการเจรจาหรือทำความตกลงทางด้านการบิน เนื่องจากบางกอก
แอร์เวย์ มีประสบการณ์ในธุรกิจมานานกว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างมาก
"จากการหารือกับทางผู้บริหารเอนเจิล ไม่ขัดข้องที่จะมีการจัดตั้งสายการบินที่รัฐกำหนด
เนื่องจากสิทธิการบินในปัจจุบันมีการเปิดกว้างสำหรับทุกสายการบินที่มีความพร้อมที่จะทำการบินได้อยู่แล้ว
ส่วนการจะยกเลิกสิทธิการบินของเอนเจิลซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่ 2 จะต้องตรวจสอบในรายละเอียดหลักปฏิบัติว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร
ซึ่งทาง ผู้บริหารบางกอกแอร์เวย์ก็มีความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นสายการบินที่รัฐกำหนดสายที่
2 ได้" นายพิเชษฐกล่าว
ตั้งสาย 2 เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน
แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า การจัดตั้งสายการบินที่รัฐกำหนดจำนวน
กี่สายนั้น สามารถที่จะดำเนินการได้ภายใต้กรอบ ของกฎหมาย ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า
สิทธิการบินเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้น การขออนุมัติจัดตั้งเป็นสายการบินที่ รัฐกำหนดจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติร่วมทุน
พ.ศ.2535 ด้วย ดังนั้น หากนโยบายจะผลักดันให้บางกอกแอร์เวย์เป็นสายการบินที่รัฐกำหนดจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
เอนเจิลนโยบายรัฐไม่แน่นอน
ด้านนายสมชาย เบญจรงคกุล ประธานบริหาร สายการบิน เอนเจิล แอร์ไลน์ กล่าวว่า การที่เอนเจิลเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่
2 ก็มิได้รับสิทธิพิเศษกว่าสายการบินอื่น เนื่อง จากนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี แต่เดิมมีความคุ้มครองว่าสายการบินอื่น
ๆ จะทับเส้นทางบินของสายการบินแห่งชาติ และสายการบินแห่งชาติ สายที่ 2 ไม่ได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลสามารถที่จะอนุมัติให้มีการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติอีกกี่สาย
ก็ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องยกเลิกสิทธิการบิน ของเอนเจิล เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์
ของนักลงทุนต่างชาติที่มองว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงจังในการพัฒนาธุรกิจการบิน
"เอนเจิลจะเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่ 2 หรือ 3 นั้น ไม่ต่างกัน แต่ถ้าจะให้เอนเจิลถอนออก
ไป ผมไม่เห็นด้วย เพราะเราทำธุรกรรมต่าง ๆ ไป มากแล้ว ในฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่
2 แต่หากรัฐจะเปิดสายการบินแห่งชาติสายที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด
เราต้องเลิกมองว่าหน่วยงานรัฐ ประเทศได้อะไร มันได้อยู่แล้วทุกอย่าง"
นายสมชายกล่าวว่า ระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจการบินในปัจจุบัน
มีการปรับปรุงดีขึ้น คือ อำนายความสะดวกให้กับ ผู้ประกอบการภาคเอกชนมากขึ้น โดยจะเน้นการบริการต่าง
ๆ และเปิดกว้างรับฟังความเห็นเอกชน หากเปรียบเทียบการทำงานในอดีตจะเป็นระบบการทุบโต๊ะ
หรือต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เห็นว่ายังมีบางขั้นตอนที่อาจต้องปรับเปลี่ยน เช่นการเจรจาทางด้านสิทธิการบินต่างๆ
รัฐบาลควรจะพิจารณาถึงสิทธิการบินสำหรับสายการบินของเอกชนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย มิใช่พิจารณาเฉพาะสิทธิการบินของสายการบินไทยเท่านั้น
"การขอสิทธิทางการบินไว้นั้น ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ไม่ใช่ปัญหา หากว่าจะขอสิทธิทางการบินไว้ก่อน
เพราะแม้ว่าสายการบินไทยจะไม่มีเที่ยวบินออกไปบริการ แต่การที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาได้มากขึ้น
คน ไทยก็ได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องมากขึ้น อีกทั้งสายการบินเอกชนก็ยังจะใช้สิทธินั้นทำการบินไทย
แต่ปัจจุบันนี้ รัฐบาลขอสิทธิทางการบินไว้ให้แต่สายการบินไทยเท่านั้น ดังนั้นจึงน่าจะสอบถามความเห็นภาคเอกชนบ้างว่าต้องการสิทธิทางการบินนั้น
ๆ บ้างหรือไม่ และขอเผื่อเอกชนบ้าง จะนำมาเป็นสิทธิกองกลางก็ได้ หากใครต้องการบิน
ก็นำไปบินได้ หรือไม่ต้องการบินแล้วก็คืนสิทธินั้นแก่กองกลางไป หากไทยสามารถทำได้แบบนี้
เชื่อว่าเอกชนก็จะอยู่ได้" นายสมชายกล่าว