ก่อนถึงจุดแตกหัก


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

2 กรกฎาคม 2540-หลังประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท TPI ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนโดยฉับพลัน จากหนี้สินรวมที่สูงถึง 3,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นหนี้สินต่างประเทศ

กันยายน 2540-ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประกาศหยุดชำระหนี้ก้อนดังกล่าว ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

15 มกราคม 2541-เริ่มมีกระแสข่าวว่ากลุ่มเจ้าหนี้บังคับให้ TPI ขายทรัพย์สิน และหุ้น ให้กับนักลงทุนต่างชาติ แต่ผู้บริหาร TPI ออกมาปฏิเสธข่าวนี้

20 สิงหาคม 2541-เจ้าหนี้ต่างประเทศ 15-20 ราย ประชุมหาแนวทางดำเนิน การเกี่ยวกับหนี้ก้อนนี้ ที่ครบชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ขณะที่ TPI เริ่มส่งแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเจ้าหนี้พิจารณา

9 กันยายน 2541-ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาประนอมหนี้ให้กับ TPI ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่กว่าครึ่งสนใจที่จะแปลงหนี้เป็นหุ้น

3 ธันวาคม 2541-การเจรจาระหว่าง TPI กับเจ้าหนี้จำนวน 148 ราย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่จะจัดทำแผนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีสาระคือจะมีการแปลงหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 300-400 ล้านดอลลาร์เป็นทุน ซึ่งคิดเป็น 30% ของทุนจดทะเบียนของ TPI และจะมีการยืดหนี้ระยะสั้นจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาว 5 ปี ส่วนหนี้อีก 7 หมื่นล้านบาท จะยืดอายุเป็น 8-10 ปี

กุมภาพันธ์ 2542-TPI และเจ้าหนี้ ได้เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ร่างขึ้นเป็นเอกสารสัญญา (Term Sheet) จำนวน 70 หน้า มีเนื้อหาใกล้เคียงกับข้อสรุปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541

พฤษภาคม 2542-เจ้าหนี้ ส่งมอบร่าง Term Sheet ที่ได้แปลงเป็นข้อตกลงแล้ว ให้กับบริษัท แต่ได้มีการร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง ระหว่างเจ้าหนี้ และ TPI ในเวลาต่อมา

ตุลาคม 2542-TPI รับมอบร่าง Term Sheet ที่ได้มีการแก้ไขครั้งหลังสุด ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบร่วมกันแล้วทั้ง 2 ฝ่าย

8 พฤศจิกายน 2542-แบงก์กรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่ของ TPI ออกมาแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถสรุปแผนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วๆ นี้ เพราะเจ้าหนี้ทั้งหมดยอมรับหลักการเบื้องต้น แต่ยังติดรายละเอียดบางประการ โดยเฉพาะประเด็นที่ TPI ต้องการจะเพิ่มทุน

9 พฤศจิกายน 2542-รัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของ TPI เพราะเห็นว่าหากการเจรจาไม่สำเร็จ จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นตัวประสานงาน

1 ธันวาคม 2542-ปมความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นเมื่อ TPI ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้เจ้าหนี้ โดยต้องการเพิ่มทุน 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้ง 148 ราย แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมเพราะผิดเงื่อนไขใน Term Sheet ที่ทำกันไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

3 ธันวาคม 2542-คณะกรรมการเจ้าหนี้ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรก ยืนยันดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน Term Sheet พร้อมทั้งกำหนดให้ TPI ต้องเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่ 17 มกราคม 2543 มิฉะนั้นฝ่ายเจ้าหนี้ จะแสวงหาแนวทางอื่น เพื่อให้ TPI ดำเนินตามแผนที่ตกลงกันไว้

7 ธันวาคม 2542-ประชัยแถลงข่าวโจมตีฝ่ายเจ้าหนี้ โดยเฉพาะบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา หาว่าเป็นแกนนำที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มทุน เพราะต้องการจะเข้ามาฮุบกิจการ ในขณะที่เจ้าหนี้รายอื่น โดยเฉพาะฝ่ายไทย ส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยให้มีการเพิ่มทุนแล้ว

22 ธันวาคม 2542- คณะกรรมการเจ้าหนี้ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ยืนยันไม่รับข้อเสนอใดๆ ของ TPI ในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุน ก่อนการเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้อย่างเป็นทางการ

24 ธันวาคม 2542-สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการบีโอไอ เจรจาเกลี้ยกล่อมให้ประชัยยอมเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งประชัยก็แสดงท่าทีอ่อนลง และรับปากว่าจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ว่าจะยอมเซ็นสัญญา

6 มกราคม 2543-คณะกรรมการเจ้าหนี้ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ยืนยันให้ TPI เซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ในวันที่ 17 มกราคม

10 มกราคม 2543-ประชัยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของ TPI จะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 17 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ขีดเส้นตายไว้ว่าให้เซ็นสัญญา โดยอ้างว่าสาเหตุที่การเจรจาล่าช้า เพราะมีรายละเอียดในสัญญาที่ต้องปรับปรุง

14 มกราคม 2543-มีกระแสข่าวว่าประเด็นที่ประชัยต้องการปรับปรุงในร่างสัญญา คือการขอลดหนี้ในส่วนที่จะแปลงเป็นทุนลง 200 ล้านดอลลาร์ เพราะเกรงว่าเมื่อมีการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของประชัยใน TPI จะลดลง

17 มกราคม 2543-วันขีดเส้นตายของเจ้าหนี้ ปรากฏว่ายังไม่มีการเซ็นสัญญา แต่ทั้ง TPI และเจ้าหนี้ ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา โดยในแผนฟื้นฟูได้ระบุให้ประชัยเป็นผู้ทำแผน และทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่าจะไม่มีการคัดค้านแผนฟื้นฟู

ส่วนประเด็นการเพิ่มทุน ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มเจรจากันทันทีที่ศาลรับพิจารณาแผนฟื้นฟู

ศาลกำหนดวันเริ่มไต่สวนนัดแรก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.