ธปท.เดินหน้าลด "เอ็นพีแอล" เร่งเจรจาปรับหนี้อีก1แสนราย


ผู้จัดการรายวัน(18 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเดินหน้า ลดเอ็นพีแอล หลังทำเวิร์กช็อป เม.ย. ปีที่ผ่านมา โชว์ผลงานเป็นคนกลางเจรจาหนี้อยู่ระหว่างบังคับคดี สำเร็จ กว่า 30% พร้อมเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติ อีก 1 แสนราย

นายทำนอง ดาศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยหลังจากที่ธปท. ได้ปรับกลยุทธ์เชิงรุกในการแก้ปัญหาเอ็นพีแอล โดยแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หนี้ที่ปรับปรุง โครงสร้างหนี้เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กลุ่มที่ 2 หนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจา กลุ่มที่ 3 หนี้ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และกลุ่ม ที่ 4 คือ หนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับดคี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 นั้น

แม้ว่าขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาหนี้เอ็นพีแอลที่ใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในระหว่างบังคับคดี ซึ่งมีอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และบริษัทเงินทุน (บง.) ถึง 111,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 2 แสน 6 หมื่นล้าน บาท

ดังนั้น คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) ซึ่งมีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2546 ให้ ธปท. เป็นคนกลางเจรจาลูกหนี้ที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีเพิ่มเติมจากที่เคยอนุมัติให้เร่งส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่อยู่ในระหว่างดำเนินคดีมาแล้วเมื่อต้นปี 2546

"ในการที่ธปท. จะเป็นคนกลาง ในการเจรจากรณีหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการ คือเจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องสมัครใจ โดยผู้เข้าร่วมเจรจาทุกครั้งจะต้องเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเท่านั้น และใช้เวลาในการเจรจาให้แล้วเสร็จ ภายใน 45 วัน ส่วนการเจรจาหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีใช้เวลาเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 63 วัน"

ทั้งนี้ลูกหนี้สมัครใจเข้าโครงการ เจรจาหนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดีนี้ เป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับคดี และลูกหนี้ที่ศาลได้พิพากษาแล้ว ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทบริหารสินทรัพย์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ส่วนลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ในระหว่าง การดำเนินคดี ที่เริ่มเจรจามาตั้งแต่เมษายน 2546 เป็นต้นมานั้น ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหนี้ได้ทยอยแจ้ง ลูกหนี้ที่จะเจาจรด้วยแล้ว 2,208 ราย มูลหนี้ 16,175 ล้านบาท และขณะนี้ลูกหนี้ได้แจ้งเข้าเจรจา 276 ราย มูลหนี้ 3,892 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำเร็จแล้ว 46 ราย มูลหนี้ 172 ล้าน บาท หรือคิดเป็น 30% ของลูกหนี้ที่ได้เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว

"ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากที่ ธปท. ได้ดำเนินการในเชิงรุก ทั้งในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ และภาคกลาง และส่วนภูมิภาค ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ โดยในส่วนภูมิภาคดำเนินการโดยสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง ของ ธปท."

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเร่งรัดการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างดำเนินคดี และ บังคับคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว คปน. ยังคงส่งเสริมลูกหนี้ในกลุ่มอื่นที่มีปัญหาเอ็นพีแอล ตามเกณฑ์ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว โดยประสานงานการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายและลูกหนี้ที่แจ้งความประสงค์จะให้ธปท.เป็นคนกลาง ในการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวนั้น ปัจจุบัน คปน. ติดตามทั้งที่เจ้าหนี้เจรจาเองและคปน. เป็นคนกลาง ในการเจรจา

โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อยู่ในปัจจุบันนั้น มีประมาณ 119,000 ราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าหนี้เคยตกลงกันไว้เมื่อปลายปี 2545 ว่าจะให้มีข้อยุติภายใน 1 ปี นั้น ธปท. จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินผลการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอล ของสถาบันการเงิน โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงของ ธพ. และ บง. เพื่อรับทราบผลการประเมินการดำเนินงานของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเอ็น พีแอลที่เหลืออยู่ในระบบสถาบันการเงินให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งได้กำหนด วันประชุมไว้เป็นวันที่26 พฤศจิกายน 2546

ส่วนกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอลที่มีการเจรจาตกลงกันได้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการผ่อนชำระ ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 มียอดหนี้ถึง 166,109 ล้านบาท มูลหนี้ประมาณ แสนล้านบาท โดยตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.46 เอ็นพีแอลของกลุ่ม นี้ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เหลือลูกหนี้ 14,449 ราย มูลหนี้ประมาณ 80,000 ล้านบาท ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง คปน. ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ให้สถาบันการเงินเร่งรัดให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2546 เพื่อ ประเมินผลอีกครั้งในการประชุมเชิง ปฏิบัติการวันที่ 26 พ.ย. 46 นี้

นายทำนอง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้สัดส่วนเอ็นพีแอลใหม่มีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับเอ็นพีแอลที่ได้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว สำหรับผลกระทบจากโรคซาร์ส ทำให้หนี้กลุ่มแรกที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้และอยู่ระหว่างการผ่อนชำระหนี้มีปัญหาถูกเลื่อนชั้นกลายเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากลูกหนี้ไม่มีกระแสเงินสดไปจ่ายหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบจากโรคซาร์สหมดไป คงจะทำให้สถานการณ์การปรับหนี้ดีขึ้นโดยตัวเลขเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือนพ.ย.45 มีประมาณ 840,000 ล้านบาท แต่ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.46 อยู่ที่ประมาณ 774,000 ล้านบาท ซึ่งถือ ว่ายอดเอ็นพีแอลยังลดลงไม่มากนัก

นอกจากนี้ หลังจากที่ธปท.ได้ปรับกลยุทธ์เร่งลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ให้มีข้อยุติโดยเร็ว หากสามารถเจรจาได้ ตรงนี้ก็จะเป็น อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดเอ็นพีแอลได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.