กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบอาร์เอส โปรโมชั่น ส่อเค้าไม่โปร่งใส เล่นเน็ตหุ้นบริษัทฟันกำไรวันเดียว
1.5 แสนบาท แม้ซื้อในตลาดหุ้น แต่น่าตั้งคำถามบทบาทกรรมการอิสระ ส่วนผู้บริหารพาเหรดขายหุ้นฟันกำไรรวมกัน
1.6 ล้านบาท ด้าน ก.ล.ต. ระบุมีมาตรการ เปิดเผยข้อมูลคุมเข้ม 2 ชั้น แม้กรรมการอิสระ
ผู้บริหาร บจ. มีสิทธิขายหุ้นได้ แต่ถ้าตรวจพบซื้อขายช่วง ที่มีความเปลี่ยนแปลงภายในเข้าข่ายใช้ข้อมูลภายใน
(อินไซด์) มาตรา 241 พ.ร.บ. หลักทรัพย์เอาผิดได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงการได้มา
หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของผู้บริหารบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) (RS)
พบว่าตั้งแต่ซื้อขายในตลาดหลัก ทรัพย์ตั้งแต่ 22 พ.ค. เป็นต้นมา จนถึง 13 มิ.ย.
เป็นเวลา 3 สัปดาห์เศษเท่านั้น พบว่ามีรายการได้มา และจำหน่าย หลักทรัพย์ของผู้บริหาร
(59-2) ของ บมจ.อาร์เอส โปรโมชั่นถึง 22 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาย บางรายการซื้อเพื่อเทขายทำกำไรวันเดียวกัน
รวมกำไรที่ผู้บริหาร บมจ.อาร์เอส โปรโมชั่น ทำถามหาบทบาท กรรมการอิสระ
รายการที่น่าจับตาอย่างยิ่ง คือรายการที่นายเกรียงไกร เศรษฐไกรกุล กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบบริษัท
ซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค. จำนวน 50,000 หุ้น ที่ราคา 38 บาท และขายออกจำนวนเดียวกัน
วันเดียวกัน ราคา 41 บาท ซึ่งเป็นรายการที่เรียกว่าเน็ต เซ็ทเทิลเม็นท์ คือซื้อขายหุ้นวันเดียวกัน
ทำให้มีกำไรส่วนต่างทั้งสิ้น 150,000 บาท
แม้รายการดังกล่าว เป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าพฤติกรรมดังกล่าว
เหมาะสมหรือไม่ ในฐานะกรรมการอิสระ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเห็นอย่างมีอิสระ
ขณะที่ฐานะของกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่วางแนวทางให้บริษัทมีระบบควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน
ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสอบทานการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท ให้เป็นไปตาม
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ผู้บริหารพาเหรดขายหุ้น
นอกจากนั้น ยังพบว่าตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
พบรายชื่อผู้บริหารอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นที่จะต้องมีระยะเวลาห้ามขายหุ้น
1 ปี 6 เดือน แต่ได้รับการจัดสรรหุ้นในฐานะพนักงาน เทขายหุ้นที่ระดับราคาต่างๆ
มาตลอด อาทิ นางนภาพร ตรีพยัคฆ์ ตำแหน่งกรรมการบริหาร ขาย 20,000 หุ้น เมื่อวันที่
23 พ.ค.ราคา 38 บาท หากตั้งสมติฐานว่า ได้รับหุ้นที่ราคาจอง จะมีกำไร 200,000 บาท
วันที่ 26 พ.ค.ซื้อในตลาดฯ 5,000 หุ้น ที่ราคา 38.50 บาท และขายออกในจำนวนเดียวกัน
วันเดียว กัน ที่ราคา 41 บาท มีกำไร 12,500 บาท วันที่ 3 มิ.ย. ขาย 5,000 หุ้น
ที่ราคา 37.75 บาท หักต้นทุนที่ราคาจอง จะมีกำไร 48,750 บาท วันที่ 6 มิ.ย. ขาย
10,000 หุ้น ที่ราคา 37 บาท หากหักต้นทุนที่ราคจองจะมีกำไร 90,000 บาท วันที่ 9
มิ.ย. ขายออก 5,000 หุ้นที่ราคา 37.50 บาท หากหักต้นทุนที่ราคาจอง จะมีกำไร 47,500
บาท รวมกำไรที่นางนภาพรได้รับ 398,750 บาท
อย่างไรก็ดี นางนภาพรกลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้งวันที่ 10 มิ.ย. 5,000 หุ้น ที่ราคา
37 บาท ซึ่งใช้ต้นทุน 185,000 บาท หากหักรายการกำไรที่นางนภาพรได้กำไรจากการขายหุ้นก่อนหน้านี้ที่
398,750 บาท นางนภาพรจะมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 213,750 บาท
นางปัทมา โฆสิตอังกูร ตำแหน่งผู้อำนวยการสายพัฒนาธุรกิจ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ขายหุ้น
2 ครั้ง ที่ราคา 36 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจอง จะมีกำไร 40,000 บาท
และขายที่ราคา 38 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร 50,000 บาท วันที่
27 พ.ค. ขายหุ้นที่ราคา 40 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจอง มีกำไร 60,000
บาท วันที่ 2 มิ.ย. ขายหุ้นที่ราคา 37.50 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร
47,500 บาท รวมกำไรที่นางปัทมาได้รับไปทั้งสิ้น 197,500 บาท
นายชัยรัตน์ ลิขิตเจริญพงษ์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจเพลง ได้ขายหุ้นเมื่อวันที่
23 พ.ค. 63,000 หุ้น ที่ราคา 37.15 หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร 576,450 บาท
วันที่ 3 มิ.ย. ขาย 10,000 หุ้นที่ราคา 36.25 บาท หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร
82,500 บาท วันที่ 4 มิ.ย ขายที่ราคา 37.50 บาท 10,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร
95,000 บาท วันที่ 6 มิ.ย. ขายที่ราคา 37.50 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร
47,500 บาท รวมกำไรที่นายชัยรัตน์ได้รับทั้งสิ้น 801,450 บาท
นายสถาพร พานิชรักษาพงศ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสายการตลาดและส่งเสริมการขาย เมื่อวันที่
23 พ.ค. ขาย 5,000 หุ้นที่ราคา 39 บาท หากหักต้นทุนที่ราคาจองจะมีกำไร 55,000 บาท
วันที่ 26 พ.ค.ขาย 5,000 หุ้น ที่ราคา 41 บาท หากหักต้นทุนที่ราคจองจะมีกำไร 65,000
บาท วันที่ 29 พ.ค. ขายที่ราคา 38 บาท 5,000 หุ้น หากหักต้นทุนที่ราคาจองมีกำไร
50,000 บาท รวมกำไรที่นายสถาพรได้รับทั้งสิ้น 170,000 บาท
นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ขาย 10,000
หุ้น ที่ราคา 36.85 หากหักต้นทุนที่ราคาจองมีกำไรทั้งสิ้น 88,500 บาท ดังนั้น เมื่อรวมกำไรที่กรรมการอิสระ
และผู้บริหารของบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น ทำกำไรจากการขายหุ้นรวม 1,621,200 บาท
ก.ล.ต.คุมกลัวเข้าข่ายอินไซเดอร์
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่าการซื้อขายหุ้นของกรรมการอิสระหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต. มีเกณฑ์ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหาร หรือ 59-2 ควบคุมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว
เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรับทราบ อย่างไรก็ดี การซื้อขายไม่ควรกระทำในช่วง
ที่มีความอ่อนไหว ช่วงเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสาร เช่น ช่วง ม.ค. ที่ใกล้จะรายงานงบการเงิน
ซึ่งแม้ข้อมูลยังไม่เปิดเผย แต่ก็มีการรู้เป็นการภายในในบริษัทแล้ว
ดังนั้น หากซื้อขายหุ้นช่วงที่มีความอ่อนไหวอย่างที่กล่าวข้างต้น เจ้าหน้าที่
ก.ล.ต. ก็สามารถตรวจ สอบได้ว่า ช่วงก่อนจะมีการรายงานตามแบบ 59-2 มีเหตุการณ์อะไรที่มีผลกระทบให้ต้องเกิดธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
หากพบว่า ธุรกรรมที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับบริษัท ก็จะสามารถเอาผิดได้ตามมาตรา
241 พ.ร.บ. หลักทรัพย์ คือการที่ใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์
นางศรัณยา จินดาวนิค ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่าตามกฎ ก.ล.ต. ไม่ได้ห้าม
กรรมการอิสระถือหุ้นบริษัทใดๆ เลย การที่กรรมการ อิสระเห็นว่า บริษัทที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่
มีศักยภาพดำเนินงาน ก็สามารถซื้อหุ้นได้ การซื้อขายหุ้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะตามกฎ
ก.ล.ต. ระบุชัดเจนแล้วว่า กรรมการอิสระต้องมีหุ้นไม่ถึง 5% ของทุนชำระแล้วของ บจ.
กรณีนี้ ไม่ได้มีหุ้นจนเกินกว่าความเป็นอิสระ จึงไม่ได้ผิดกฎหมายหรือแนวทาง ปฏิบัติที่ดี
ส่วนจะเข้าข่ายใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น หรือไม่ ก.ล.ต. มีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้กรรมการอิสระจะซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ แต่ต้องระมัดระวังให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม
เพราะผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ จะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสาธารณชน