Yukichi Fukuzawa

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพ Portrait โทนสีน้ำตาลของชายในชุดกิโมโนที่ปรากฏอยู่บนธนบัตรฉบับ 10,000 เยนนั้น หาใช่พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นองค์ใดไม่ หากเมื่อเพ่งมองด้านล่างทางขวาของธนบัตรจะพบชื่อบุคคลเจ้าของภาพที่เขียนกำกับไว้ด้วยอักษรคันจิขนาดเล็ก 4 ตัว ซึ่งอ่านได้ว่า "Fukuzawa Yukichi"

เมื่อปลายปี 2004 รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศใช้ธนบัตรใหม่เพื่อลดปัญหาธนบัตรปลอม ที่พิมพ์ด้วยเทคนิคขั้นสูงในระดับใกล้เคียงกับที่โรงพิมพ์ธนบัตรของรัฐ ซึ่งเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติรุ่นเก่าไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างจากธนบัตรฉบับจริงได้* การเปลี่ยนแปลงบนธนบัตรใหม่นั้น ไม่เพียงแต่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ล้ำสมัยที่ออกแบบอย่างประณีตเพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง หากยังเปลี่ยนรูปบุคคลบนธนบัตรฉบับ 1,000 และ 5,000 เยน แต่คงภาพของ Yukichi Fukuzawa บนธนบัตร 10,000 เยนเอาไว้**

เป็นตรรกะที่บ่งแสดงสำนึกในคุณูปการอเนกอนันต์ที่ Fukuzawa อุทิศตนปลูกฝังรากฐานสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วหนึ่งเดียวในเอเชีย

Yukichi Fukuzawa เกิดเมื่อ 10 มกราคม 1835 ที่ Osaka เมืองศูนย์กลางการค้าทางตะวันตกของญี่ปุ่น ในช่วงปลายของสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) แม้จะถือกำเนิดมาในชาติตระกูลของซามูไรแต่บิดาเป็นซามูไรในอันดับที่ไม่สูงนัก

หลังจากบิดาซึ่งเดินทางมาทำงานตามคำสั่งของไดเมียวและพักอาศัยใน Osaka เสียชีวิตลงเมื่อเขามีอายุเพียงหนึ่งปีครึ่ง มารดาจึงพาครอบครัวกลับไปยังต้นสังกัดเดิมของไดเมียวที่เมือง Nakatsu ทางเหนือของเกาะ Kyushu (ปัจจุบันคือจังหวัด Oita)

ชีวิตในวัยเด็กของ Fukuzawa ไม่ค่อยราบรื่นนักทั้งที่ควรจะได้รับการศึกษาอย่างสมเกียรติเยี่ยงบุตรของซามูไรซึ่งเริ่มชั้นต้นเมื่ออายุ 5-7 ปีแต่ด้วยฐานะอันฝืดเคืองที่มารดารับภาระเลี้ยงดูบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 3 คนนั้นกว่าจะได้เข้าเรียนชั้นต้นเวลาก็ล่วงเลยไปจนอายุ 14 ปี

แม้ว่าอัจฉริยภาพทางการศึกษาของ Fukuzawa จะเป็นที่เลื่องลือแต่การศึกษาต่อขั้นสูงในโรงเรียนสำหรับซามูไรของสังคมชนชั้นศักดินาในห้วงเวลานั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่บิดาผู้เป็นซามูไรอันดับไม่สูงและเสียชีวิตไปนานแล้ว

ตามคำแนะนำของพี่ชายซึ่งรับใช้ไดเมียวแห่ง Nakatsu แทนบิดานั้น Fukuzawa ออกเดินทางไปศึกษาการผลิตปืนกลที่หมู่บ้านฮอลันดาบนเกาะ Dejima ซึ่งเป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นในเขต Nagasaki หนึ่งเดือนก่อนการลงนามในอนุสัญญา Kanagawa กับสหรัฐอเมริกาซึ่งบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1854

ความสามารถในการเรียนภาษาดัตช์ที่ Dejima ได้ฉายแววขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกลายเป็นที่อิจฉาและถูกกลั่นแกล้งถึงขนาดได้รับจดหมายปลอมที่ระบุให้เดินทางกลับ Nakatsu ไปเยี่ยมมารดาซึ่งกำลังป่วยหนัก

ทั้งที่รู้ถึงอุบายในจดหมายดังกล่าว Fukuzawa ได้เดินทางออกจากหมู่บ้านฮอลันดาแต่มิได้มีจุดหมายที่ Nakatsu กลับมุ่งหน้าสู่เอโดะ (ปัจจุบันคือ Tokyo) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตรเพื่อศึกษาต่อ

ที่จุดแวะพักระหว่างการเดินทางในเมือง Osaka เขาพบกับพี่ชายอีกครั้งแต่คราวนี้ได้รับการชักชวนให้เข้าเรียนที่ Tekijuku โรงเรียนเอกชนใน Osaka ที่เปิดกว้างสำหรับสามัญชนซึ่งเจ้าของ เป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น ในระยะเวลา 3 ปีนั้นนอกจากเรียนภาษาดัตช์แล้วยังได้เรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยา และยังมีผลงานแปลตำราภาษาดัตช์เรื่องศิลปะในการสร้างป้อมปราการ

จากนั้น Fukuzawa เข้าทำงานให้ไดเมียวแห่ง Nakatsu ในฐานะอาจารย์สอน Dutch Studies ซึ่งไปประจำอยู่ที่เอโดะในปี 1858 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Keio Gijuku สถาบันการศึกษาขั้นสูงแห่งแรกของญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาพัฒนาเป็น Keio University มหาวิทยาลัยเอกชนที่มี ชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งที่ผลิตบุคลากรคุณภาพระดับประเทศหลายสาขา*** ด้วยเกียรติประวัติอันต่อเนื่องยาวนานคู่ขนานไปกับการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในวาระปีการศึกษา 2008 นี้เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 150 ปีของการสถาปนา Keio University

ท่ามกลางกระแสวิทยาการสมัยใหม่จากอเมริกาและยุโรปที่ไหลบ่าสู่ญี่ปุ่นในช่วงเวลาการเปิดประเทศใหม่ๆ นั้นเมืองท่า Kanagawa (ปัจจุบันคือ Yokohama) เป็นแหล่งที่ใกล้เอโดะมากที่สุดที่สามารถสัมผัสอารยธรรมตะวันตกได้

ที่เมืองท่า Kanagawa นี้เองที่ Fukuzawa ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าภาษาดัตช์ที่ร่ำเรียนมานั้นไม่อาจใช้สื่อสารกับฝรั่งชาติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้แต่การอ่านป้ายตามถนนหนทางในเมืองท่าซึ่งได้กลายเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญในการเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง

โอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแบบก้าวกระโดดเกิดขึ้นในปี 1860 เมื่อเขาอาสาสมัครเข้าเป็นสมาชิกในคณะผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นเดินทางไปเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาที่ San Francisco เป็นเวลาเดือนเศษ ซึ่งภายหลังกลับถึงญี่ปุ่นแล้วได้รับหน้าที่แปลเอกสารทางการทูตใน Foreign Affair ให้กับโชกุน 6 วันต่อเดือนและทุ่มเทเวลาที่เหลือในงานสอนและการเขียนหนังสือ จนในที่สุดเขาตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการศึกษาที่ Keio University เป็นภาษาอังกฤษแทนภาษาดัตช์

อีก 2 ปีถัดมา Fukuzawa มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งในฐานะล่ามเพื่อเจรจาขอเลื่อนการเปิดท่าเรือและต่อรองอัตราแลกเปลี่ยนกับประเทศอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และโปรตุเกส

แม้ผลการเจรจาจะล้มเหลวแต่ประสบการณ์หลายเดือนในยุโรปที่ได้สังเกตความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ล้วนเขียนรวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ Seiyo Jijo (The Condition of the West)

นอกจากนี้ ในปี 1867 เขาได้ขยายความเกี่ยวกับทัศนคติในแบบตะวันตกที่อธิบายโครงสร้างสถาบัน สังคมที่เจริญแล้วไว้ในหนังสือ Corner-Stones and Pillars ซึ่งแปลจาก Political Economy ของ J.H.Barton หลังเดินทางกลับจาก วอชิงตันและนิวยอร์ก

ในบรรดาหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนไว้ภายหลังเข้าสู่สมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) แล้วนั้นหนังสือชุดชื่อ "Gakumon no Susume (The Encouragement of Learning)" ซึ่งเขียนและตีพิมพ์ต่อเนื่องระหว่างปี 1872-1876 มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องการศึกษาของคนญี่ปุ่นทั้งระดับรัฐบาลและระดับรากหญ้า โดยเฉพาะประโยคเริ่มต้นที่เขียนไว้อย่างน่าติดตามว่า "มีการกล่าวไว้ว่าสวรรค์ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ใครก็ตามยืนอยู่สูงหรือต่ำกว่าคนอื่น ความแตกต่างใดๆ ระหว่างความฉลาดและความเขลา ระหว่างความจนและความรวยที่มีอยู่นั้นไม่สำคัญเท่ากับการศึกษา"

คุณค่าของ Gakumon no Susume อยู่ที่การกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์สำหรับพัฒนาประเทศและยิ่งไปกว่านั้น Fukuzawa ยังเน้นย้ำแนวคิด "Jitsugaku" หรือการนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัติ ที่เปรียบเสมือนรากแก้วหยั่งลงลึกหล่อเลี้ยงต้นกล้าแห่งการศึกษาให้งอกงาม บริบทดังกล่าวได้สื่อถึงวิสัยทัศน์ที่ตกผลึกออกมาเป็นแนวคิดการปฏิรูปยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพและระเบียบวินัยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายในการนำญี่ปุ่นไปสู่ความทันสมัยอย่างเป็นรูปธรรมและมีความสำคัญเร่งด่วนมากกว่าการสั่งซื้อเครื่องมือและ/หรือยุทโธปกรณ์ใดๆ จากยุโรป

ภายใต้ลัทธิจักรวรรดินิยมในห้วงเวลานั้นหนทางที่จะรอดพ้นการตกเป็นอาณานิคมเหมือนอย่างประเทศอื่นในเอเชียคือการเร่งศึกษาและพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบอารยธรรมตะวันตกซึ่งมีความจำเป็นมากกว่าการเรียนแต่งโคลงกลอนแบบจีนด้วยอักษรคันจิอันงดงามในโรงเรียนของซามูไร ที่จำกัดสำหรับกลุ่มคนในวรรณะสูงของสังคมในสมัยเอโดะ

การกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ชุมชนรวมถึงการส่งเสริมการใช้ตัวอักษรคานะซึ่งเป็นชุดอักษรสำหรับสตรีที่ถูกแบ่งแยกจากอักษรคันจิที่ใช้เขียนสำหรับผู้ชายในยุคซามูไรนั้น ช่วยเร่งให้การเรียนรู้ในระดับรากหญ้าสัมฤทธิผลได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสะท้อนแนวคิดที่ริเริ่มเรียกร้องสิทธิสตรีในสังคม Male Dominant ของญี่ปุ่น แม้จะยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบันก็ตาม

อันที่จริงแนวคิดดังกล่าวไม่เป็นผลดีกับความปลอดภัยของตัวเขาเองในช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการหมดยุคซามูไรเนื่องเพราะแรงต่อต้านจากกลุ่มซามูไรอนุรักษนิยมที่สูญเสียอำนาจไป กระนั้นก็ตาม Fukuzawa ยังคงเดินหน้าชี้นำให้เห็นความสำคัญของอารยธรรมตะวันตก ในหนังสือ Bunmeiron no Gairyoku (An outline of Civilization Theory)

ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงพื้นฐานแนวคิดค่านิยมแบบญี่ปุ่นเอาไว้ควบคู่ไปกับวิทยาการความรู้จากตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนตลอดจนความซื่อสัตย์ที่เป็นรากฐานสำคัญของคนญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่จวบจนทุกวันนี้

แม้ว่าบทบาทอันโดดเด่นของ Fukuzawa ที่อุทิศตนบนแรงเสียดทานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะมีส่วนผลักดันนำญี่ปุ่นรอดพ้นการล่าอาณานิคมในเอเชีย เช่นเดียวกับประเทศไทยก็ตามที หากแต่ความทันสมัยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวศตวรรษครึ่งที่ผ่านมานั้นได้รับการสานต่อจนญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ไม่ได้มีมาตรวัดจากระดับความเจริญของเทคโนโลยี ตึกอาคารใหญ่โตหรือขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกเพียงเท่านั้นแต่มีทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวคือ "ประชาชน" ในระดับรากหญ้าที่ตอบรับและปฏิบัติให้เกิดผลตามแนวคิดของ Yukichi Fukuzawa

อ่านเพิ่มเติม

- นิตยสารผู้จัดการ ฉบับมกราคม 2548 "การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น"
- นิตยสารผู้จัดการ ฉบับมกราคม 2548 "ธนบัตรเก่า VS ธนบัตรใหม่"
- ตัวอย่างศิษย์เก่าที่จบจาก Keio University

ญี่ปุ่น - Ryutaro Hashimoto อดีตนายกรัฐมนตรี
- Junichiro Koizumi อดีตนายกรัฐมนตรี

ไทย - เริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.