LEE Cafe ร้านอาหาร SMEs บริหารด้วยทุนของครอบครัว

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ร้านอาหารลี คาเฟ่ เป็นร้านอาหารจีนที่บริหารงานโดยลูกหลานรุ่น 4 มีมุมมองการขยายธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงเงินทุนจากธนาคารเข้ามาช่วยเหลือ นับว่าแตกต่างจากการทำธุรกิจรุ่นพ่ออย่างชัดเจนที่ต้องใช้เงินเก็บหอมรอมริบมาเป็นทุน

LEE Cafe ที่มีสัญลักษณ์เป็นภาพวาดตัวการ์ตูนผู้ชายสวมแว่นตาที่ใส่ผ้ากันเปื้อนสีแดง มีตัวอักษรภาษาจีนติดอยู่ตรงหน้าอก ที่อ่านว่า ลี เป็นนามสกุลของครอบครัว และภาพวาดการ์ตูน เป็นภาพวาด ที่ลอกเลียนแบบมาจากเจ้าของร้าน หรือ Mr. Lee

ร้านอาหารลี คาเฟ่ ก่อตั้งเมื่อปี 2548 หรือกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามีอายุยังไม่มากนัก แต่ครอบครัว มร.ลีมีประสบการณ์ในการบริหารและทำร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 30 ปี เริ่มจากบริหารร้านอาหารให้กับตึกธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม จนกระทั่งมาเปิด ภัตตาคารลี คิทเช่น (LEE KITCHEN) เมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงเริ่มต้นการทำธุรกิจร้านอาหารได้ใช้เงินเก็บของครอบครัวเป็นหลัก เริ่มจากใช้เงินลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาทเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการนำเงินทุนของครอบครัวมาใช้ในการลงทุนและบริหารงานเป็นแนวคิด เกือบทุกธุรกิจของคนจีนในอดีตที่เริ่มต้นเฉก เช่นเดียวกัน

แต่หลังจากที่ธุรกิจเริ่มตกไปอยู่ในมือของลูกหลาน และเริ่มขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เหมือนเช่น ลี คาเฟ่ ที่ไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเพียงอย่างเดียวแต่มีธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์เพิ่มเติม

ธันวา ภัทรพรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป วัย 27 ปี บุตรชายของ มร.ลี บริษัททีแอลเอฟ ฟูดส์ ซัพพลาย จำกัด ในฐานะผู้บริหารลีคาเฟ่ รุ่นที่ 4 บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเมื่อปี 2538 บริษัทเริ่มกู้เงินธนาคารเป็นครั้งแรกจำนวน 35 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์จากเงินทุนทั้งหมดที่ต้องใช้เพื่อ ก่อสร้าง 80 ล้านบาท โดยเงินอีกครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 45 ล้านบาทเป็นเงินทุนของครอบครัว

"ปรัชญาของเราคือการใช้เงินตัวเอง แต่เรามองว่าไม่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เราเริ่มมองว่าถ้าเราใช้เงินแบงก์และเงินตัวเอง แต่เงินสดและสินทรัพย์ที่มีอยู่สามารถชำระแบงก์ได้ทันที เพราะเรา conservative มาก คือใช้เงินตัวเองและธนาคารอย่างละครึ่ง"

บริษัทเลือกกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยรุ่นพ่อได้เป็นผู้บริหาร ศูนย์อาหารให้กับธนาคารกรุงเทพ จึงรู้จักและ คุ้นเคยกับผู้บริหารของธนาคารเป็นอย่างดี ทำให้มีการไว้เนื้อเชื่อใจสูง ประกอบกับ ประวัติการชำระเงินคืนให้กับธนาคารอยู่ในระดับที่ธนาคารพึงพอใจเป็นอย่างมาก

ในช่วงระยะที่กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ เป็นช่วงที่ไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งบริษัทเองก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แต่ บริษัทได้เข้าไปเจรจากับธนาคารกรุงเทพเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อยืดเวลาชำระหนี้ออกไปและสามารถชำระหนี้จนครบ โดยไม่มี การปรับลดดอกเบี้ยแต่อย่างใด

ธันวาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีมุมมองในการบริหารด้านการเงินแตกต่างจากรุ่นพ่อ ทั้งนี้เป็นเพราะประวัติการศึกษาที่เขาเรียนทาง ด้านบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีประสบการณ์ ทำงานกับบริษัทเดินเรือของสิงคโปร์กว่า 2 ปี ประกอบกับตัวเขามีความสนใจการบริหารการเงิน จนได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจการเงินให้กับครอบครัว จึงทำให้เขารู้จักวิธีการกู้เงินจากธนาคาร

"เหตุผลที่หันมากู้เงินแบงก์ เพราะเรา ต้องการเครดิต ถ้าขยายเร็วต้องใช้เงินแบงก์ และลดความเสี่ยงตัวเอง เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ เป็นหลักประกันให้กับตัวเองว่ามีเงินใช้ต่อไปได้ ถ้าธุรกิจไม่สำเร็จ มันก็จะเชื่อมโยงไปเรื่องการจัดกระแสเงินสด ถ้าเรามีกระแสเงินสด มากก็นำไปลงทุนด้านอื่นๆ"

ในปีนี้บริษัทจะกู้เงินเพิ่มอีก 8 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างครัวกลางเป็นศูนย์กลางเก็บวัตถุดิบและอาหาร เพื่อส่งต่อไปยังร้านอาหารในเครือ ส่วนปี 2550 ที่ผ่านมาร้านอาหารลี คาเฟ่ ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพอีก 2 ครั้ง ในครั้งแรกกู้เงินจำนวน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 10 ปี เพื่อนำไปเช่า-ซื้อร้าน เปิดสาขาเอสพลานาด บนถนนรัชดา ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันและครั้งที่ 2 กู้เงิน 2 ล้านบาท เพื่อนำไปตกแต่งร้านที่เซ็นทรัลเวิลด์

เงินกู้จำนวน 15 ล้านบาท บริษัทจ่าย ดอกเบี้ย MLR-0.5 ซึ่งถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคาร

นอกจากหนี้ที่กู้ 2 ครั้งในปี 2550 แล้ว บริษัทยังมีหนี้อีกกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นของบริษัทรีเพลส จำกัด บริษัทในเครือของทีแอลเอฟ เป็นหนี้ค้างตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงบริษัทสามารถจ่ายเงินกู้ทั้งหมด แต่หลังจากที่ได้นำแผนการเงิน มาพิจารณา ได้ตัดสินใจยืดหนี้ให้เต็มเวลา และนำเงินสดที่มีไปขยายกิจการอย่างอื่นแทน

แผนธุรกิจในการกู้เงินกับแบงก์ ธันวา จะเป็นผู้เขียนแผนทั้งหมด มีธนาคารกรุงเทพ ร่วมเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน และการเขียนแผนธุรกิจของเขาจะคำนึงว่า ธนาคารต้องการอะไร

การเขียนแผนธุรกิจในมุมมองของ ธันวา เขาบอกว่าเขียนไม่ยากแต่แผนธุรกิจต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ขอกู้มีศักยภาพในการจ่ายจริงและการกู้เงินจากแบงก์ แบงก์จะไม่ปล่อยเงินกู้ทั้งหมดหรือตามที่ต้องการ แต่จะให้กู้เพียง 70-80 เปอร์เซ็นต์

แต่ในบางครั้งก็สามารถกู้เงินได้เต็มจำนวนขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ของธนาคาร เหมือนกับร้านลี คาเฟ่ สามารถกู้เงินได้เต็มจำนวน 15 ล้านบาทที่นำไปเช่าซื้อร้านที่เอสพลานาดเพียงอย่างเดียว โดยไม่รวมค่าตกแต่งร้าน จึงทำให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ตามจำนวนที่เสนอไป

"ถ้าจะทำธุรกิจ หากมีเงินทุนเองสักครึ่งหนึ่ง เพื่อให้แบงก์มั่นใจ หลังจากนั้นจึงค่อยเขียนตัวเลขที่ต้องการแต่ในความเป็นจริง ตัวเลขไม่สำคัญขนาดนั้น ขยำทิ้งได้เลย อะไรที่สำคัญกว่าตัวเลข เขาเรียกว่า intrin-sic value มูลค่าที่อยู่ข้างในของบริษัท ไม่ใช่ ตัวเลข เพราะตัวเลข make ได้"

การขยายธุรกิจของร้านอาหารลี คาเฟ่ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องของครอบครัว อาจจะโชคดีกว่าธุรกิจ SME รายอื่นๆ เพราะมีต้นทุน ธุรกิจที่มีเงินทุนของครอบครัวที่พร้อมจะลงทุน และมีประวัติการกู้เงินที่ดี ส่วนธุรกิจที่เริ่มจาก ศูนย์ ไม่มีประวัติในการทำธุรกรรมกับธนาคาร อาจจะเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อจากธนาคาร

"แต่กรณีไม่มีฐานเงินทุนมาจากครอบ ครัว แนวทางการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน เริ่มจากผลิตภัณฑ์ดีหรือไม่ พิสูจน์ให้แบงก์เห็นว่าขายได้ ทำอาหารให้เขากิน เชิญไปที่ร้าน ถ้ายังไม่มีร้าน เชิญไปทานที่บ้าน หรือเชิญไปซักที่ ให้ได้กิน ถ้าเรามั่นใจจริงๆ ขายได้"

ก่อนเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอกู้เงินเปิดร้านลี คาเฟ่ ที่เปิดสาขาเอสพลานาด ธันวา เริ่มจากสำรวจกลุ่มเป้าหมายด้วยตัวเอง เลือกวันและเวลาที่แตกต่างกันไป นับจำนวน คนที่เดินผ่านร้านกี่ราย และความเป็นไปได้ ที่ลูกค้าจะเลือกเข้าร้านมีกี่ราย เชิญเจ้าหน้าที่ ธนาคารเข้ามาร่วมสังเกตหรือทดลองชิมอาหาร

แผนธุรกิจของ SME ที่ยื่นเสนอต่อ ธนาคารบางรายที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น ธันวาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าอาจเป็นเพราะแผนธุรกิจไม่มีความชัดเจน ไม่ สามารถชี้แจงต้นทุน เงินทุนหมุนเวียนและ ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการชำระเงินกู้ให้กับธนาคารได้

แม้ว่าร้านลี คาเฟ่ จะเริ่มหันมากู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อขยายฐานธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น แต่จำนวนเงินกู้ยังเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักในภาวะช่วงนี้ แต่จากมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่สืบทอดธุรกิจ ย่อมมีวิสัยทัศน์ในการบริหารการเงินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง การกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.