|
Nongkhai in the Mid of Changing Tide
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
คำกล่าวที่ว่า "Time and Tide Wait for No Man" ดูจะเป็นสิ่งที่หลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตระหนักดี ที่จะต้องเร่งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อกับ "รถไฟขบวน GMS" ให้ทันการณ์จนหลายประเทศก็ลืมคำนึงไปว่า "Time and Tide Never Return" ก็เป็นวลีเศร้าๆ ที่มาพร้อมกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากไม่มีการเตรียมพร้อม
เสียงหวูดรถไฟเคลื่อนตัวจากหัวลำโพง ดังแข่งกับเสียงเซ็งแซ่ของผู้โดยสารในตู้นอนปรับอากาศชั้น 2 ซึ่งถูกจองเต็มทุกที่นั่งรถไฟ ขบวนนี้เกือบครึ่งที่เป็นชาวต่างชาติ "ผู้จัดการ" จับรถไฟขบวนกรุงเทพฯ-หนองคาย เที่ยวสุดท้าย เพื่อเดินทางไปให้ทันร่วมพิธีการสำคัญอีกหน้าประวัติศาสตร์ระดับอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะถูกจัดในช่วงเย็นของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551
หากเป็นยามโพล้เพล้กลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวในวันปกติ ทั้งฝั่งหนองคาย และเวียงจันทน์จะดูเงียบสงบสวยงาม ผู้คนริมโขงยังคงชีวิตวิถีดั้งเดิม เช่น เลี้ยงปลากระชังและปลูกผักสวนครัวแปลงเล็กๆ ตามแนวแม่น้ำโขง ขัดกับภาพกลางสะพาน จุดที่ได้ชื่อว่าเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจและสื่อมวลชน ทั้งสองสัญชาตินับหลายชีวิตยืนแออัดอยู่กลางสะพาน ตัวแทนฝั่งลาวนำทีมโดยท่านสมมาตร พลเสนา รัฐมนตรีว่ากระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ท่านอ้วน พรหมจักร เอกอัครราชทูตวิสามัญแห่ง ส.ป.ป.ลาว และดร.สินละวง คุดไพทูน เจ้าครองนครเวียงจันทน์ ส่วนฝ่ายไทยประกอบด้วยชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม วิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียงจันทน์ และเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
"การเชื่อมทางรถไฟระหว่าง ส.ป.ป. ลาวและประเทศไทย ณ ที่นี้นับว่ามีความหมายสำคัญ เพราะเป็นนิมิตหมายประวัติศาสตร์เส้นทางรถไฟแห่งพันธมิตรระหว่างลาว-ไทยเส้นนี้จะส่งเสริมการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยวระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ และหนองคาย และจะเป็นเส้นทางหนึ่งของเส้นทางรถไฟอาเซียนที่จะมีความสำคัญยิ่งสำหรับภาคพื้นลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ จะอำนวยความสะดวกให้นานาประเทศในภาคพื้นแห่งนี้สามารถไปมาหาสู่และแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ดียิ่งขึ้น การเชื่อมต่อทางรถไฟ ลาว-ไทยครั้งนี้จะพัฒนาให้การคมนาคมขนส่งของนครหลวงเวียงจันทน์มีใบหน้าใหม่และจะส่งเสริมการพัฒนาความเชื่อมต่อของประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคนี้ให้ก้าว หน้าขึ้นหลายๆ" คำแถลงของ ดร.สมปอง พลเสนา รองหัวหน้า ห้องการ องค์การรถไฟลาว ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน
พิธีการไม่ใช่การตัดริบบิ้น ไม่ใช่การกดปุ่มเพื่อปล่อยลูกโป่ง แต่เป็นฉากเชื่อมต่อรางรถไฟเพื่อให้ได้ภาพประวัติศาสตร์ที่สื่อถึงความสำคัญของพิธีนี้ เจ้ากระทรวงโยธาธิการฯ ฝั่งลาวและปลัดกระทรวงคมนาคมฝั่งไทย มีหน้าที่แค่จุดไฟร่วมกันพอ เป็นพิธี จากนั้นก็ส่งต่อให้ช่างชาวจีนทำหน้าที่เชื่อมรางเหล็กเข้าด้วยกัน กว่าที่รางจะเชื่อมกันสนิท ผู้ร่วมงานก็ลงสะพานไปฉลองกันต่อเกือบหมดแล้ว
เบื้องต้นทางรถไฟสายนี้จะออกจากสถานีหนองคายไปสิ้นสุดยังสถานีท่านาแล้ง บ้านดงโพสี นครหลวงเวียงจันทน์ รวมระยะทางเพียง 5.3 กิโลเมตร ถึงแม้จะสั้นแต่ถือเป็นเส้นทาง รถไฟสายแรกของลาว (หากไม่นับรวมทางรถไฟสมัยสงครามอินโดจีนที่ฝรั่งเศสสร้างไว้)
หลังจากนี้ลาวจะสร้างทางรถไฟต่อไปอีก 9 กิโลเมตร เข้าไปถึงสถานีเวียงจันทน์ที่บ้านคำสะหว่าง ด้านหลังสนามกีฬาแห่งใหม่ที่ใช้จัดซีเกมส์ครั้งที่ 25 ซึ่งลาวเป็นเจ้าภาพครั้งแรก รัฐบาลลาวพยายามเร่งให้เสร็จทันก่อน "เวียงจันทน์เกมส์" จะเริ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ เหล่านักกีฬาและกองเชียร์ในการเดินทางสู่เมืองหลวง ทั้งทางเครื่องบิน ทางรถยนต์ ทางรถไฟ และทางเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง ต่อจากสถานีเวียงจันทน์ ลาวจะสร้างต่อไปถึงหลวงพระบางและบ่อเต็นเพื่อไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ในจีน เส้นทางสำคัญที่ครอบคลุมจีนและ 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งจีนสนับสนุนเต็มที่ ขณะที่อีกเส้นทางเลี้ยวขวาไปทางเมืองท่าแขกต่อไปถึงเมืองกิ่วบูยาติดกับชายแดนเวียดนาม แล้วเชื่อมกับทางรถไฟ ของเวียดนามไปออกทะเลที่ฮานอยและดานัง
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศลาว ในการเปลี่ยน Landlock ให้เป็น Landlink เชื่อมกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลาดที่มีประชากรรวมกันร่วม 320 ล้านคน มี GDP รวมกันมากถึง 401 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีราว 1,255 เหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตรการเติบโตของ GDP เฉลี่ยสูงถึง 8.3%
โดยปริยายเส้นทางรถไฟสายสั้นๆ จากสถานีหนองคายจึงหมายถึงการต่อยอดทางรถไฟไปเชื่อมกับจีนและเวียดนามในวันหน้า โดยมีสถานีท่านาแล้งและสถานีเวียงจันทน์เป็น "สปริงบอร์ด"
สำหรับพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายพันธมิตรไทย-ลาว ขบวนปฐมฤกษ์ ทางการไทยและลาวตั้งใจกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาเป็นประธาน โดยหวังจะจัดพิธีให้ทันในเดือนเมษายน เพื่อเป็นการต่อยอดจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 14 ปีก่อน
ย้อนไปวันที่ 8 เมษายน 2537 พิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่เชื่อมระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ หาดจอมมณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นประธานร่วมกับประธานแห่ง ส.ป.ป. ลาว ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน และของ ฯพณฯ พอล คีตติง นายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลีย ในฐานะผู้สนับ สนุนเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างสะพานแห่งนี้
ในครั้งนั้น พอล คีตติง เป็นผู้อ่านคำกราบบังคมทูลที่มีใจความดังนี้... "สะพานมิตรภาพนับเป็นเส้นทางคมนาคมสายแรกในประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อพรมแดนระหว่าง ไทยกับลาว สะพานฯ จะช่วยให้ลาวมีเส้นทาง ออกทะเลโดยผ่านทางท่าเรือกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ไทยมีเส้นทางขนส่งทางบกติดต่อกับเวียดนาม สะพานฯ ยังเป็นการ ประสานเส้นทางขนส่งทางบกสายสำคัญที่เชื่อมต่อตั้งแต่สิงคโปร์ถึงปักกิ่ง ซึ่งจะมีส่วนเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจที่กำลังเจริญรุดหน้าของกลุ่มประเทศในเอเชียอาคเนย์ และตอนใต้ ของประเทศจีน อาจกล่าวได้ว่าคงไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะแสดงถึงการประสานประโยชน์ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ดีเท่ากับการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงในครั้งนี้"
ผลของสะพานมิตรภาพอาจยังไม่ได้ทำให้หนองคายกลายเป็น "ประตูสู่อินโดจีน" หรือ "ประตูสู่ GMS" แต่วันนี้ทางรถไฟบนสะพานตามมาก็นำมาซึ่งเส้นทางรถไฟที่เป็นเหมือน "ก๊อกสอง" ที่จะช่วยทำให้ความหวังในการเป็น "ประตู" เชื่อมกับระดับภูมิภาคแห่งนี้ของหนองคายเป็นจริง
"เดิมมีการคาดหวังเรื่องสะพานมิตรภาพจะเป็นประตูสู่อินโดจีนและจีน แต่ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพัฒนาเส้นทางของลาวยังมีข้อจำกัด แต่ ณ เวลานี้เส้นทางต่างๆ ในลาวดีขึ้นเยอะ การเดินทางก็สะดวก ขึ้นเยอะ แนวโน้มการเป็นประตูสู่อินโดจีนก็เป็นไปได้" ผู้ว่าฯ หนองคายกล่าว
ตลอด 14 ปี สะพานมิตรภาพแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็น "ประตูฯ" แต่สะพานฯ ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีในการเชื่อมเศรษฐกิจของหนองคายและเวียงจันทน์ให้ผูกติดกันราวกับเป็น "เมืองแฝด" ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งและจุดเปลี่ยนของหนองคายทุกวันนี้
"ศักยภาพของหนองคายอยู่ที่อยู่ใกล้เมืองหลวงของประเทศอื่นมากที่สุด แค่ 22 กิโลเมตร" อรัญญา สุจนิล กล่าวในฐานะประธาน หอการค้า จังหวัดหนองคาย เธอคลุกคลีอยู่กับธุรกิจและเศรษฐกิจในหนองคายมาหลายสิบปี
ในโลกนี้คงมีไม่กี่ประเทศที่มีเมืองชายแดน อยู่ตรงข้ามเมืองหลวงของอีกประเทศแค่แม่น้ำกั้น หนองคายเป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ทางตอนบนของภาคอีสานติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในประเทศ ยาวถึง 320 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามและห่างจากเวียงจันทน์ไม่ถึง 25 กิโลเมตร และประกบด้วยเมืองใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในภาคอีสานตอนบนอย่างอุดรธานี ซึ่งมีขนาด เศรษฐกิจท้องถิ่นใหญ่เป็นสองเท่าของหนองคาย
ชัยภูมิตรงนี้ถือเป็นจุดขายของหนองคายที่จังหวัดชายแดนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้
แม้เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนที่สุด แต่ศักดิ์ศรี นครหลวงอย่างเวียงจันทน์ ก็คือการเป็นศูนย์การทางการค้าและการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ และเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจของลาวด้วย
ลาวอาจเป็นเพียงประเทศเล็กๆ มีประชากร ทั้งประเทศไม่ถึง 6 ล้านคน เฉพาะเวียงจันทน์มีกว่า 7 แสนคน ลาวได้ชื่อว่าเป็น "แบตเตอรี่แห่งอุษาคเนย์" เพราะมีแร่ธาตุ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีส่วนของแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพ สูงในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และลาวก็มีฐานะเป็น "land-bridge" ที่ขนาบด้วย "ดาวรุ่ง" มาแรงบนเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างจีนและเวียดนาม
หลังจากรัฐบาลลาวใช้ "นโยบายจินตนาการใหม่" ปฏิรูปเศรษฐกิจ มาสู่ระบบการตลาดเสรีเมื่อปี 2529 ประกอบกับมีการลงนามในกรอบความร่วมมือ GMS ประตูเมืองเวียงจันทน์ที่เป็นประตูสู่ลาวก็ถูกเปิดกว้าง เพื่อต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
นอกจากทรัพยากร ค่าแรงและค่าไฟที่ถูก บวกกับสิทธิประโยชน์ ทางภาษี เหล่านี้ดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกกระโจนข้ามพรมแดนแม่น้ำโขงเข้าไปในลาว นัยสำคัญจากทำเลที่ตั้งของหนองคายจึงหมายถึง การเป็น "ประตูสู่เวียงจันทน์" โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนจากไทยที่หลั่งไหลไปสู่ลาวได้ง่ายขึ้นตามเส้นทางสะพานมิตรภาพ
"การลงทุนที่เข้ามาในเวียงจันทน์ อย่างน้อยมันก็ทำให้มีผู้คนไปมา บางคนก็มาเช่าบ้านที่นี่แล้วข้ามไปทำงานมันก็สะดวก กลุ่มคนงานระดับ keyman บางคนก็เข้ามาตีกอล์ฟในหนองคาย หรือมาเที่ยวพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศที่ฝั่งนี้ มาซื้อของมาทานอาหาร ทำให้เศรษฐกิจ ของเราหมุนเวียนได้" อรัญญาอธิบายประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจหนองคาย
ระยะแรก สะพานมิตรภาพเป็นเหมือนเส้นทางไหลความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจากฝั่งไทยไปฝั่งลาวเพียงทางเดียว ไทยเคยเป็นประเทศที่ลงทุนในลาวมากเป็นอันดับหนึ่งมาร่วมสิบปี แต่ช่วง 1-2 ปีหลัง ไทยหล่นมาอยู่อันดับ 3 เสียแชมป์ให้กับจีนและเวียดนามตามลำดับ มูลค่า การลงทุนของไทยจนถึงปี 2550 สูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
เงินลงทุนมหาศาลจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้าไปในลาวทำให้ฐานะของคนลาว โดยเฉพาะเวียงจันทน์ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อหัวของคนลาวในปี 2549 ขยับมาอยู่ที่ 599 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ชาวเวียงจันทน์มีรายได้ฯ สูงกว่า 1,400 เหรียญสหรัฐ อัตราการเพิ่มของ GDP มากกว่า 7% โดยรัฐบาลลาวตั้งเป้าจะทำให้รายได้ต่อปีของคนลาวเพิ่มมาเป็น 800 เหรียญสหรัฐ ในปี 2553 และหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศยากจนให้ได้ภายในปี 2563
กระแสเงินบาทที่เข้าไปในเวียงจันทน์เปลี่ยนให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินยอดนิยม ในตลาดลาว จนรัฐบาลลาวต้องมีมาตรการขึ้นป้าย "อยู่เมืองลาวใช้เงินกีบ" และรณรงค์ให้ติดราคา สินค้าเป็นเงินกีบ เพื่อพยุงค่าเงินกีบที่อ่อนตัวมากเมื่อเทียบกับเงินบาท
แต่ทั้งนี้สะพานมิตรภาพไม่ได้พัดหอบ แค่เงินบาทไปสะพัดในฝั่งลาวเท่านั้น เมื่อชาวเวียงจันทน์เริ่มมีฐานะดีขึ้น ชนชั้นกลางจากเวียงจันทน์ก็เริ่มถ่ายเทความมั่งคั่งย้อนกลับมาทางเดิม
ทิวแถวเลกซัส บีเอ็มฯ แลนด์ครูเซอร์-พราโด สลับด้วยเบนซ์ และซังยองล้วนติดป้าย ทะเบียนรถลาว กำลังรอข้ามด่านหนองคายเพื่อเข้ามาจับจ่ายซื้อของใช้และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ "บิ๊กเจียง" ห้างใหญ่ที่สุดในหนองคาย ลานจอดรถหน้าห้างเต็มไปด้วยรถราจำนวนมาก ยิ่งในวันหยุดต้องใช้เวลาวนอยู่นานกว่าจะได้ที่จอด จำนวนครึ่งต่อครึ่งเป็นรถป้ายทะเบียนลาว ที่เหลือเป็นทะเบียนหนองคาย อุดรธานี และกรุงเทพฯ รวมกัน
"ดูจากสัดส่วนหยาบๆ ครึ่งๆ เป็นคนไทยกับคนลาว เพราะคนลาวเข้ามาซื้อทีละมากๆ ยิ่งพอมีเทสโก้ฯ มีพลาซ่า ทุกอย่างครบ คนลาวก็มาจับจ่ายที่นี่ เม็ดเงินทาง ลาวค่อนข้างสะพัด ยอดขายของห้างก็เลยไม่ตก ถึงกำลังซื้อในประเทศจะชะลอตัวไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา" กิตติพงษ์ สกุลคู กล่าวในฐานะกรรมการบริหารเครือเจียงกรุ๊ป เจ้าของ ห้างบิ๊กเจียง (รายละเอียดในเรื่อง "อาณาจักรเจียงแห่งลุ่มน้ำโขง")
จากธุรกิจเดิมของกลุ่มเจียงฯ ที่เป็นตัวแทนขายรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์มิตซูบิชิ รถเพื่อ การเกษตร และต่อยอดมาทำปั๊มน้ำมัน การกระโดดเข้ามาทำค้าปลีกดูเหมือนไม่ตรงสายความ ชำนาญนัก แต่ด้วยความเป็นนายทุนใหญ่ชาวเมืองพญานาค ประกอบกับสังเกตเห็นว่าคนลาว เป็นกลไกผลักดันเศรษฐกิจที่ท่าเสด็จ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน กิตติพงษ์จึงเปิดบิ๊กเจียง หลังจากสะพานเปิดไม่ถึง 1 ปี เพื่อรองรับความต้องการของคนลาวกลุ่มนี้
ไม่ใช่เพียงนายทุนท้องถิ่น เชนรีเทลยักษ์ใหญ่จากเมืองผู้ดีก็สนใจพื้นที่ในหนองคายเช่นกัน ในยุคที่เทสโก้ฯ เริ่มออกต่างจังหวัดเมื่อ 6 ปีก่อน เทสโกเข้ามาปักธงเตรียมเปิดอาณาจักรค้าปลีกที่เมืองบั้งไฟนี้ แต่กิตติพงษ์ใช้วาทศิลป์เปลี่ยนคู่แข่งรายใหญ่อย่างเทสโก้ฯ มาเป็นคู่ค้า บนเนื้อที่ห้าง 1.5 หมื่นตารางเมตร เป็นพื้นที่ของเทสโก้ฯ ราว 6 พันตารางเมตร
ด้วยยอดรายได้ของเทสโก้สาขาบิ๊กเจียงติดท็อปเท็นสาขาที่ทำรายได้ดีที่สุด เทสโก้ ลงทุนเปิดอีกสาขาในหนองคายที่อำเภอท่าบ่อ อำเภอที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองและมีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับสองรองจากเทศบาลเมือง เศรษฐกิจของท่าบ่อส่วนใหญ่มาจากการทำไร่ยาสูบ การค้าขายชายแดน และรายได้จากชาวท่าบ่อจำนวนมากที่ไปทำงานเมืองนอก
ไม่เพียงรีเทลใหญ่สัญชาติอังกฤษแบรนด์ใหญ่จากอเมริกาก็มีพื้นที่อยู่ที่หนองคาย ในห้างบิ๊กเจียงแห่งนี้ด้วย ดูเหมือนว่า สตาร์บัคส์จะยังเป็นเชนเดียวจากกรุงเทพฯ ที่ลงทุนมาเปิดร้านที่เมืองชายแดนแห่งนี้ ภายในร้านสตาร์บัคส์ นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างชาวหนองคาย ชาวอุดรฯ และชาวเวียงจันทน์ ดูผิวเผินก็แทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร
"วิธีสังเกตลูกค้าอุดรฯ มักจะพูดภาษา ภาคกลาง ถ้าเป็นคนเวียงจันทน์ เราก็จะเว่าอีสานกับเขา เพราะเขาจะพูดภาษาลาวกับเรา ส่วนคนหนองคายไม่ค่อยมาทาน ลูกค้าประจำ ส่วนใหญ่เป็นคนอุดรฯ และชาวเวียงจันทน์มากกว่า แต่ฝรั่งก็เยอะ" บาริสต้าสาวชาวหนองคายอธิบาย
ก่อนจะสร้างร้านที่สาขาบิ๊กเจียง เวลานั้นผู้บริหารสตาร์บัคส์มีจังหวัดทางอีสานตอนบนอยู่ 3 ตัวเลือก ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และหนองคาย แม้ว่าขนาดพื้นที่ จำนวนประชากรและเศรษฐกิจของหนองคาย จะสู้อีก 2 จังหวัดไม่ได้ แต่ด้วยศักยภาพทำเล บวกกับความพร้อมของห้างบิ๊กเจียง ผู้บริหาร สตาร์บัคส์จึงตัดสินใจเปิดสาขาที่นี่ หลังจากลองตลาดมากว่าครึ่งปี รายได้จากสาขาหนองคายก็เชิญชวนให้สตาร์บัคส์เตรียมเปิดสาขาที่ อุดรฯ ในปลายปีนี้
เบนซ์สปอร์ตคูเป้ C-204 และ BMW ซีรีส์ 8 ทะเบียนลาวทั้ง 2 คัน ขับประชันกันบนเส้นทางที่มุ่งสู่เมืองอุดรฯ ห่างจากหนองคายเพียง 51 กิโลเมตร ขับรถไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
คนเวียงจันทน์นิยมเข้าไปจับจ่ายที่ห้างโรบินสันเจริญศรี ในอุดรฯ ที่มีสินค้าและความบันเทิงให้เลือกมากกว่า ส่วนตัวเมืองอุดรฯ เองก็มีแสงสี "ศิวิไลซ์" มากกว่า บ้างก็ไปใช้บริการ โรงพยาบาลเอกอุดร โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของผู้มีอันจะกินใน 2 จังหวัดกับอีก 1 นคร หลวง บ้างก็เข้าไปใช้บริการหรือไปรอรับญาติมิตรที่มาลงเครื่องที่สนามบินนานาชาติอุดรฯ
นอกจากแรงซื้อจากเวียงจันทน์ที่เข้ามาจับจ่ายในหนองคาย อีกปัจจัยที่หนุนนำเศรษฐกิจ ของหนองคาย ก็คือการค้าชายแดน จากสถิติการค้าชายแดนที่ผ่านมา ไทยยังคงเป็นตลาดหลัก ในการส่งออกและนำเข้าของลาว นับตั้งแต่เปิดสะพานปีแรก การค้าชายแดนก้าวกระโดดจาก 2,713 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2537 เพิ่มขึ้นมาเป็น 5,534 ล้านบาท ในปีถัดมา หรือเพิ่ม 104% และตลอดเวลาร่วม 14 ปีของสะพานนี้ การค้าชายแดนของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 320% กระโดดมาอยู่ที่ราว 23,402 ล้านบาทในปี 2550
ตลอดแนวการค้าชายแดนระหว่างไทยและลาว มีสถิติการค้าขายในปี 2550 อยู่ที่ 63,367 ล้านบาท มากเป็นอันดับสองรองจากชายแดนทางภาคใต้ที่มีมูลค่ามากถึง 3.52 แสนล้านบาท เฉพาะในจังหวัดหนองคายคิดเป็น 37% ของการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาวทั้งหมด
สินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้า เกษตรและสินค้าพื้นฐาน ขณะที่สินค้าที่ลาวนำเข้าไป นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้า ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่อง จักรกลขุดเจาะ เพื่อไปพัฒนาสร้างเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งกำลังจะมีงานใหญ่ถึง 2 วาระ ใน 2 ปีนี้ ในปีหน้า เวียงจันทน์จะเป็นเจ้าภาพ จัดงาน "เวียงจันทน์เกมส์" ส่วนปีถัดไปที่นี่จะมีงานเฉลิมฉลองใหญ่ครบรอบ 450 ปีนครหลวงเวียงจันทน์
หลังจากมีสะพานอาจจะทำให้การขนส่งเปลี่ยนไปใช้เส้นทางบกมากขึ้น แต่ทุกวันนี้ท่าเรือขนถ่ายสินค้าหน้าวัดหายโศกก็ยังคงคึกคักและโกลาหลบ้างเป็นบางเวลา เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าถึงอย่างไรการขนส่งเหนือกระแสน้ำโขงก็ยังไม่หมดความสำคัญไปจากเมืองหนองคาย และทุกวันนี้ภาพเรือขนส่งสินค้าที่ข้ามไปมาวันละหลายรอบก็ยังคงเป็นสีสันของชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงของหนองคาย
ไม่เพียงพ่อค้านักลงทุน ลาวยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาสัมผัสกับ "ความบริสุทธิ์" ในวิถีชีวิตของคนลาวเพิ่มมากขึ้นทุกปี
"นักท่องเที่ยวที่ข้ามด่านหนองคาย ในปีที่ผ่านมามีมากกว่า 2 ล้านคน จาก 8 แสนคนเมื่อปีก่อนเพิ่มมาถึง 2.5 เท่า เป็นคนลาวเข้ามากว่าครึ่งที่เหลือเป็นคนไทยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากเพราะการเข้าไปต่อวีซ่าที่เวียงจันทน์ง่าย เดินทางสะดวกเข้าไปแค่ 20 กว่ากิโลเมตร เทียบกับด่านอื่นที่นี่ถือว่าสะดวก มากๆ" วิศวะ ปิติสุขสมบัติ นายด่านศุลกากรหนองคายกล่าว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบสะพานมิตรภาพทางฝั่งลาวระบุว่า เฉพาะ 5-6 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาออกวีซ่ากับด่านที่เวียงจันทน์เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ละ 1.2 พันคน เพิ่มเป็น 2 พันกว่าคนเลยทีเดียว
ด้วยเห็นศักยภาพและขนาดของตลาดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจตรงนี้ ไทยแอร์เอเชียทำตลาดเชิงรุกด้วยการใส่ "เวิร์ดดิ้ง" โปรโมตไฟลท์ที่บินตรงอุดรฯ ว่า "กรุงเทพฯ-หนองคาย" เข้าไปด้วย ทั้งที่หนองคายไม่มีสนามบิน หลังจากลงที่สนามบินอุดรฯ ไทยแอร์เอเชียก็ให้บริการเสริมด้วยการนำรถมาส่งผู้โดยสารในตัวเมืองหนองคาย ถือเป็นความตั้งใจที่จะเจาะตลาดนักเดินทางกลุ่มนี้อย่างชัดเจน
ความนิยมข้ามไปเวียงจันทน์ที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทขนส่งไทยและรถเมล์ลาวเปิดให้บริการ รถประจำทางข้ามพรมแดนไทย-ลาว (international bus) ซึ่งมีให้บริการถึง 3 เส้นทาง ทั้งหนองคาย-เวียงจันทน์ วิ่งวันละ 6 เที่ยว อุดรธานี-เวียงจันทน์ วิ่ง 4 เที่ยว และขอนแก่น-เวียงจันทน์ ที่เพิ่งเปิดรอบปฐมฤกษ์วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้การเดินทางเข้าไปลงทุน ไปเที่ยว หรือไปทำงานที่เวียงจันทน์ง่ายขึ้นมาก
วันนี้ลาวกำลังกลายเป็น "ดาวรุ่ง" ด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว หนองคายในฐานะที่เป็นเหมือนเมืองคู่ขนานจึงหันมาปรับตัว หลบความร้อนแรงของลาวและเงินลงทุนที่สะพัดทั่วลาวด้วยการเสนอตัวเป็นเพียง "The Land Second Home" หรือแปลได้ว่า หากเวียงจันทน์หรืออุดรฯ เป็นกรุงเทพฯ หนองคายก็ขอเป็นฝั่งธนฯ
"เราควรทำธุรกิจที่รองรับเวียงจันทน์ มากกว่า พูดตรงๆ ถ้าเราเกาะเวียงจันทน์ได้เราก็สบายแล้ว ผมชอบพูดติด ตลกว่า OTOP ของหนองคายคือเวียงจันทน์ เหมือนเราเป็นประตูสู่เวียงจันทน์ พอไปเวียงจันทน์แล้วคุณจะไปไหนในลาวก็ได้" ผู้ว่าฯ หนองคายกล่าว สรุปทิศทางของหนองคาย
ยกตัวอย่าง "เวียงจันทน์เกมส์" ผู้ว่าฯ เจด็จเชื่อว่าหนองคายจะได้เม็ดเงินจากตรงนี้ไม่น้อย จากคนที่จะมาพักในหนองคาย จากกองเชียร์ที่ไปกลับ พร้อมแนะนำให้โรงแรมทำแพ็กเกจห้องพักบวกการพาไปดูกีฬาและชมเมืองเวียงจันทน์ อีกธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ ก็คือ ธุรกิจขนส่งโดยเฉพาะอาหาร และธุรกิจ นำเที่ยว
คล้ายกับจูเลี่ยน ไรท์ เจ้าของบูติกเกสต์เฮาส์ ในหนองคายซึ่งเปิดมานานกว่า 16 ปี เขาเห็นว่า "หนองคายวันนี้มีโอกาสมากมายและเป็นโอกาสที่มาจากการมีพาร์ตเนอร์ที่ใกล้ชิดอย่างเวียงจันทน์"
นอกจากอยู่ตรงข้ามเวียงจันทน์ ทำเลที่มีแม่น้ำโขงพาดผ่านเป็นระยะทางที่ยาวที่สุด ในฝั่งไทย แม่น้ำโขงได้ชื่อว่าเป็น "ดานูบแห่งบูรพา" ถือเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และติดอันดับ 10 ของโลก ความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร แม่น้ำโขงมีความ หลากหลายของสิ่งมีชีวิตทางน้ำมากที่สุดในโลกรองจากแม่น้ำอะเมซอน
แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงผู้คนริมสองฝั่งโขงร่วม 100 ล้านคน และหล่อหลอมให้เกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมาย จนต่างชาติยกย่องให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวทั้งทางมิตินิเวศวิทยาและมิติทางวัฒนธรรม... แต่น่าเสียดายที่คนไทย "รู้จัก" แต่เพียงแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงเช่นนี้ ยิ่งบวกกับเสน่ห์แห่งความลึกลับและความศรัทธาต่อ "พญานาค" ที่ชาวหนองคายเชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำโขง "เมืองบั้งไฟพญานาค" แห่งนี้ก็น่าจะถูกพัฒนาเป็นเมืองพักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ไม่ยาก หากมีระบบจัดการอย่างดี
ศูนย์กลางย่านธุรกิจการค้าและบริการของจังหวัดหนองคายอยู่บนเส้นถนนริมโขง ถนน มีชัย และถนนประจักษ์ ซึ่งเป็นถนน 3 สายในเทศบาลเมืองที่ขนานไปกับแนวแม่น้ำโขง และมีแนวโน้มที่ตัวเมืองจะขยายไปยังสถานีรถไฟในเร็ววันนี้
บรรยากาศธุรกิจ การจราจรที่ติดขัดในช่วงกลางวันจะอยู่บนถนนประจักษ์ ขณะที่บรรยากาศแห่งการพักผ่อนจะมีอยู่มากกว่าบนถนนริมโขง และที่ริมตลิ่งบนเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ทางจังหวัดหนองคายลงทุนสูงถึง 130 ล้านบาท เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางการพักผ่อนและ แลนด์มาร์คของเทศบาลเมือง
ฝรั่งสาวนั่งเอกเขนกอ่านหนังสืออย่างสบายใจอยู่ที่ศาลาริมเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ศาลาถัดไปเป็นคู่ฮันนีมูนเกาหลีนั่งชี้ชมทิวทัศน์ฝั่งลาว อีกศาลาเป็นหนุ่มสาวญี่ปุ่นนอนเล่นรับลมถัดไปพ่อแม่ลูกกำลังมีความสุขกับการมานั่งปิกนิกริมโขง ลานตรงกลางมีนักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับ "พญานาค" อย่างสนุกสนาน นักปั่นผมทองขี่จักรยานตามแนวทางเดิน ส่วนฝรั่งสูงอายุกับไม้เท้ากำลังย่างก้าวช้าๆ
ฉากชีวิตบนริมแม่น้ำโขงที่แสนจะเรียบง่ายและเงียบสงบเหล่านี้ ทำให้นึกถึงนิยามเมืองหนองคายที่ฝรั่งหลายคนชื่นชมว่าเป็น "slow-moving town" ที่เหมาะแก่การพักผ่อน
หนองคายไม่ใช่เมืองพักผ่อน "หน้าใหม่" สำหรับฝรั่งสูงวัยที่เคยเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันที่ประจำการฐานทัพอุดรธานี มีหนองคายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุสรณ์การท่องเที่ยวจากครั้งนั้นที่ยังเหลือ มาจนวันนี้ก็เช่น โรงแรมขนาดหลายสิบห้อง 3 แห่ง ได้แก่ พงษ์วิจิตร บันเทิงจิตต์ และพูนทรัพย์ และซากโรงหนังเก่าที่เคยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2512 แต่ปิดร้าง ใช้พื้นที่บางส่วนเป็น net cafe เล็กๆ แทน
อานิสงส์จากสงครามเวียดนามทำให้เมืองอุดรธานีถูกพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจจนตัวเมืองอุดรฯ ขยายตัวมาจนวันนี้ หนองคายจึงเหมือนถูกขนาบด้วยเมืองใหญ่ถึงสองทาง แต่นี่ดูจะเป็นจุดแข็งของหนองคายที่ช่วยให้หนองคายมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือการเป็นเมืองพักผ่อน หรือที่ผู้ว่าฯ เจด็จตั้งเป็นสโลแกน "หนองคายเมืองนอน อุดรเมือง เที่ยว"
มีเด็กอุดรฯ จำนวนไม่น้อยที่ย้ายมาอาศัยหนองคายเป็นถิ่นฐาน "น้องเตย" เด็กเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่หนองคาย เป็นหนึ่งในนั้น น้องเตยหนีความแออัดและวุ่นวายในตัวเมืองอุดรฯ เข้ามาเรียนทำงานและใช้ชีวิต ริมแม่น้ำโขงอย่างสงบเรียบง่ายและสมถะ
หลายปีก่อนการเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีวิถีชีวิตสมถะเรียบง่ายและเงียบ สงบบวกกับค่าครองชีพถูก และผู้คนมีอัธยาศัยดี ถือเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้สูงวัยให้เข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นทีละน้อย กระทั่ง The US. Modern Maturity ของ American Association Retired Persons ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ประกาศว่าหนองคายได้รับเลือกเป็น "เมืองน่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย" ลำดับที่ 7 จาก 15 ลำดับ จากการสำรวจสถานที่ 40 แห่งทั่วโลก โดยมีเกณฑ์ชี้วัด 12 ตัว ได้แก่ ภูมิอากาศ ค่าครองชีพ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ระบบบริการสาธารณสุข สถานที่พักอาศัย การคมนาคม การบริการทางการแพทย์ สภาพแวดล้อม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ความปลอดภัย ความมั่นคงทางการเมือง และความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี ...ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหนองคายชัดขึ้น
หลังได้รับเลือกให้เป็นเมืองน่าอยู่ฯ ครั้งนั้น ภาครัฐก็เลือกหนองคายเป็น1 ใน 5 จังหวัดนำร่องเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวแบบ Long Stay
ฝรั่งชราหลายคนตั้งใจเข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายกับเงินบำนาญหลักหมื่นหลักแสน และแต่งงานใหม่กับสาวอีสาน จนภาพฝรั่งแก่กับ "เมียฝรั่ง" เป็นสิ่งคุ้นตาในหมู่บ้านทางอีสาน ผลวิจัยของอาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เพิ่งเผยแพร่ไม่นาน ระบุว่า "สามีฝรั่งมีส่วนทำให้ GRP ของภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งสิ้นกว่า 8,666 ล้านบาท สร้างและจ้างงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 747,094 คน...
นั่นเป็นเศรษฐกิจอีกส่วนที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนสะพัดในหนองคาย ไม่น้อยเช่นกัน
ภรรยาของฝรั่งวัยเกษียณ นอกจากจะหมายถึงพยาบาลชั้นดียามเจ็บป่วย ยังหมายถึงผู้แทนในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน่วยราชการ แทนสามีฝรั่ง ส่วนเรื่องธุรกิจโดยมากก็จะเป็นธุระของฝ่ายชาย
"แก้ว" สาวขอนแก่นย้ายมาอยู่หนองคายกับ "โทนี่" สามีวัยเกษียณ ชาวอังกฤษ เช่าตึกทำธุรกิจเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร รถเช่า และทัวร์ ลูกค้าฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นญาติมิตร หรือเพื่อนของมิตร หรือมิตรของญาติ โทนี่ยังมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือบางครั้งก็เป็นนายหน้าเรื่องการทำวีซ่า ข้อมูลการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิในการทำธุรกิจ ซึ่งก็หมายถึง กระบวนการสรรหาภรรยาคนไทย ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ "เมียฝรั่ง" เพิ่มจำนวน
"ผมชอบธรรมชาติที่นี่ ชอบที่นี่ ตอนแรกคิดว่าจะอยู่ไม่กี่ปี พอครบ กำหนดก็อยู่ต่ออีกนิด นี่ก็นิดหน่อยมาหลายปีแล้ว สำหรับฝรั่ง ที่อีสานผมคิดว่าหนองคายมีชื่อเสียงมากที่สุด"
จูเลี่ยน ไรท์ อดีตนักโฆษณาในบริษัทที่ลอนดอน เป็นหนึ่งในฝรั่งที่มาแต่งงานกับชาวหนองคายเมื่อ 18 ปีก่อน และเปิดบูติกเกสต์เฮาส์ที่ชื่อ "มัดหมี่" อยู่ริมแม่น้ำโขง เกสต์เฮาส์ของเขาอยู่ในหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่ม ชาวต่างชาติเกือบทุกคนที่มาหนองคายครั้งแรกมักจะมาใช้บริการของเขา อย่างน้อยเข้าไปขอข้อมูลการท่องเที่ยวในหนองคายและเวียงจันทน์ จนหลายคนแนะนำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาขอข้อมูลจากที่นี่แทน ททท.
แขกของมัดหมี่มีทั้งชาวยุโรป อเมริกัน สิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีการศึกษาดี มีอาชีพที่ดี และมีแนวโน้มสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งจูเลี่ยนและแขกเห็นตรงกันว่า สะพานมิตรภาพเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เดินทางง่ายขึ้น แต่สิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ใช่การเดินทางที่ง่าย แต่เป็นประเพณีและวิถีชีวิต
"เราต้องระวังที่จะไม่โยน "คอนกรีต" ใส่เข้ามาในการท่องเที่ยวของหนองคายให้มากกว่านี้ เราไม่จำเป็นต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยความเป็นเมืองโมเดิร์น เพราะเขามาจากเมืองที่โมเดิร์นกว่าเรา สิ่งที่หนองคายมีคือฝั่งแม่น้ำโขงที่ต้องรักษาความเป็นธรรมชาติตรงนี้ไว้ และวิถีชีวิตกับวัฒนธรรมที่ดีงาม สองอย่างนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ" ความเปลี่ยนแปลงของเมืองหนองคายทำให้จูเลี่ยน เป็นห่วงเรื่องนี้มาก
จูเลี่ยนเล่าเพิ่มเติมถึงศักยภาพที่หนองคายเป็นที่นิยมของเหล่าฝรั่งสูงวัย ทำให้ ชาวต่างชาติหลายคนสนใจอยากลงทุนเปิด "Retirement Village" ที่นี่ รวมทั้งตัวเขา แต่ที่ยังไม่ลงทุนเพราะความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของรัฐต่อเรื่องนี้ บวกกับ "ฝ่าเท้าที่เร่งรีบขึ้น" ของเมืองหนองคาย
กิจกรรมการลงทุนที่ฝรั่งนิยม นอกจาก เกสต์เฮาส์ ยังมีร้านอาหารและผับบาร์ จากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวและตั้งรกรากในหนองคายกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เมือง หนองคายจึงมีร้านอาหารและบาร์หลายสัญชาติ ทั้งอิตาเลียน ออสเตรเลียน เยอรมัน สแกนดิเนเวียน อังกฤษ สเปนิช และเวียดนาม หลายคนไม่ได้เปิดร้านเพื่อรายได้ แต่เพื่อเป็น แหล่งสมาคมกับเพื่อนฝูงที่มักจะบินมาหาทุกๆ ปีมากกว่า บางร้านจึงถูกเปลี่ยนมือไปมา ระหว่างฝรั่งตาน้ำข้าวที่ย้ายเข้าย้ายออก
ระยะหลังยังมีนักลงทุนรายย่อยที่เป็นชาวหนองคายกลับมาลงทุน บ้างก็เป็นคนไทยต่างถิ่นที่เห็นโอกาสเข้าทำธุรกิจกันมากขึ้น โดยเฉพาะเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ผับบาร์ และร้านกาแฟ
เทศบาลเมืองหนองคายขึ้นชื่อว่าเป็นเทศบาลที่มีจำนวนวัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทยถึง 40 วัด ขณะที่จำนวนผับบาร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จำนวนผับบาร์ในเมืองนี้หนาแน่นกว่าวัดก็เป็นได้
วิถีชีวิตของคนเมืองใหญ่ที่ชาวหนองคายได้รับถ่ายทอดมาจากนักท่องเที่ยวและผู้คนที่เข้ามาลงทุน บวกกับรายได้สะพัดที่หนุนให้ตัวเลข GDP ของหนองคายสูงถึง 13,948 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 5.4% กลายเป็นความเย้ายวนให้ "อิออน" เข้ามากรุยตลาดสินเชื่อในจังหวัดนี้
เมื่อ "ดีมานด์" ที่ดินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทำเลริมน้ำกลางเมือง ราคาที่ดินริมน้ำ บางแห่ง ถูกปั่นสูงจนแทบจะไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในหนองคาย ที่ดินติดริมแม่น้ำโขงบางแปลงไม่ถึงครึ่งไร่มูลค่าสูงถึง 10-20 ล้านบาท ว่ากันว่า เจ้าของตั้งราคาแบบไม่ต้องการให้ซื้อแต่ก็ยังมีคนขอซื้อ
แม้ในเมืองหนองคายจะมีทั้งเกสต์เฮาส์เพิ่มมากขึ้น มีห้องพักในโรงแรมหลายห้อง และมีโฮมสเตย์เยอะแยะ แต่ดูเหมือนไม่เคยพอรองรับคลื่นมหาชนที่มารอชม "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษา ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะน่านน้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคาย เพียงไม่กี่วันตลอดงานประเพณีนี้ก็สร้างรายได้ให้หนองคายมากถึง 750 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่นอกจากประเพณีชมบั้งไฟฯ หนองคายยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่มีมนต์ขลังสะกดนักท่องเที่ยวให้อยากมาชมได้เหมือนกัน เช่น ประเพณีสรงน้ำพระใสในวันสงกรานต์ ว่ากันว่าคนหนองคายจากทั่วเมืองไทยจะดิ้นรนกลับมาร่วมฉลองศรัทธาครั้งนี้ให้ได้
ทุกวันนี้ "เมืองน่าอยู่ฯ อันดับ 7" ยังถูกโปรโมตเป็นจุดขายของหนองคายอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 7 ปี และแม้ช่วง 3-4 ปีหลัง หนองคายจะเปลี่ยนแปลง ไปอย่างมาก ทั้งการจราจรที่ติดขัด ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การเป็นแหล่งพักรถที่ถูกขโมยมาเพื่อเตรียมส่งไปขายต่อชาวเวียงจันทน์ ด่านหนองคายมีสถิติจับยาเสพติดได้ถึง 57 กรณี 4.3 หมื่นเม็ดในปีที่แล้ว กรณีสาวไทยหลอกแต่งงานกับฝรั่งและหนุ่มฝรั่งหลอกสาวไทย หรือข่าววัยรุ่นทุบตีพนักงานร้านสะดวกซื้อเพื่อปล้นเงินและบุหรี่ ฯลฯ
ภาพเหล่านี้เหมือนจะฟ้องว่า "ชีพจรเมืองหนองคาย" กำลังเต้นผิดจังหวะ...(หรือไม่?)
ขึ้นสู่ปีที่ 15 "หน้าตา" ของสะพานมิตรภาพกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยทางรถไฟที่พาดผ่าน ขบวนรถไฟที่กำลังจะวิ่งออกจากสถานีหนองคายข้ามไปสถานีท่านาแล้งในเร็ววันนี้ บรรทุกความฝันที่จะเป็น "ประตูสู่ GMS" ของใครหลายคน แต่ก็ขนเอาความกลัวของอีกหลายคนไว้ด้วยเหมือนกัน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ต่อไปทางรถไฟนี้จะทำให้ผู้โดยสารและสินค้าจากกรุงเทพฯ ข้ามหนองคายเข้าไปในเวียงจันทน์โดยตรง เมื่อนั้นก็น่ากลัวว่าหนองคายจะถูกลืม"
ความเป็นห่วงของอรัญญามีสาเหตุเพราะที่ฝั่งท่านาแล้งตอนนี้ทางการลาวกำลังเตรียม การสร้างตลาดชายแดนแห่งใหม่เป็น "free zone" เนื้อที่กว่า 300 ไร่ ที่มีทั้งธุรกิจลอจิสติก ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักแรม และบริการความบันเทิงครบวงจร ขณะที่ทางไทยยังไม่มีความตื่นตัวราวกับจะยอมปล่อยขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ ที่มาพร้อมโอกาสและรายได้วิ่งผ่านไปเฉยๆ
ไม่ว่าอย่างไร เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตความหวังของนายกรัฐนตรีคนใหม่ของไทยที่จะพัฒนาระบบรางทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการขนส่งและแก้ปัญหาวิกฤติน้ำมัน
และที่สำคัญก็คือ เส้นทางรถไฟนี้เปรียบเหมือน "รถไฟขบวน GMS" ที่คงไม่มีใครอยาก ให้หนองคายต้อง "ตกรถไฟ" ทั้งที่ถือตั๋วอยู่
สิ่งที่น่าจะทำก่อนและหลังขึ้น "รถไฟสาย GMS" นี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะถาโถมมาแรงกว่าเมื่อ 14 ปีก่อน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงครั้งนี้หมายถึงอิทธิพลจากจีนที่จะล่องตามแม่น้ำโขงและเส้นทางรถไฟเข้ามาสู่หนองคายและประเทศไทย
คงถึงเวลาแล้วที่หนองคายจะต้องกลับมาหาจุดยืนที่มาจาก "จุดขาย" ที่แท้จริงของจังหวัด พร้อมกับวางแผนจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงให้พร้อม ก่อนที่ "คุณค่าและความงาม" ของหนองคายจะไหลไปตามแม่น้ำโขงอย่างไม่หวนกลับ
...เช่นเดียวกับเมืองหน้าด่านอื่นๆ ที่กำลังจะถูกเชิญขึ้นมาบน "รถไฟสาย GMS" ในเร็ววันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|