คุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ในวันนี้อายุ 85 ปี จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย
ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดจนเกษียณในปี 2514 ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการ หลังจากนั้นไปดำรงตำแหน่งการเมือง
เป็นผู้ว่าการทางพิเศษและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แต่ภารกิจสำคัญยิ่งของคุณประสิทธิ์หลังเกษียณกลับเป็นการสร้างโรงพยาบาลพญาไท
โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงยอมรับแห่งหนึ่งของประเทศไทย
"โรงพยาบาลพญาไท" เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เล็กๆ ก่อเกี่ยวกันมาตั้งแต่ปี
2514 เสมือนกองเพลิงมหึมาที่ลามเลียไปอย่างไม่หยุดยั้ง ….เหตุการณ์ที่เกิดกับลูกของเพื่อนรักคุณประสิทธิ์คนหนึ่ง
ดื่มกรดน้ำส้มเข้าไปแล้วไม่มีโรงพยาบาลใดรับรักษา ….ไม่เป็นไร เรามาสร้างกันเอง
!
พ.ศ. 2519 เขาใช้ชีวิตบำนาญหลังเกษียณ 5 ปีก่อร่างสร้างโรงพยาบาลพญาไท 1
ร่วมกับพรรคพวก ด้วยทุนทรัพย์ประมาณ 10 ล้านบาท
"เหนื่อยมาก เพราะไม่ค่อยมีเงินต้องใช้แรงงานของตัวเอง ต้องเขียนโปรเจกต์เอง
ลงทุนเอง คุมงานเองทุกอย่างเพื่อเซฟเงินแทบจะทุกบาท ทุกสตางค์ เพราะสมัยนั้นกู้เงินธนาคารนั้นแสนยาก"
คุณประสิทธิ์ย้อนความหลัง
ปีแรกของการลงทุนทุ่มแรงกาย-ใจให้กับกิจการงานด้านการบริการทางการแพทย์ที่ไม่เคยจับต้องมาก่อนในชีวิตนั้น
ทำให้โรงพยาบาลพญาไท 1 ประสบภาวะ "ขาดทุน" ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด
แต่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี โรงพยาบาลแห่งนี้ก็มีกำไรและปัจจุบันเติบโตมั่นคงแข็งแกร่งด้วยทรัพย์สินส่วนรวมกว่า
3,000 ล้านบาท
กราฟชีวิตของคุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์เบนเส้นออกไปสู่แนวคิดที่จะสรรค์สร้างบุคลากรทางการแพทย์พยาบาลเพื่อการสาธารณสุขและอื่นๆ
ทุกสาขาอาชีพ และนั่นคือที่มาของ "มหาวิทยาบัยรังสิต"
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ถัดจากการสร้างโรงพยาบาลแห่งแรก
10 ปี และที่นี่เองได้อธิการบดีหนุ่มลูกชายโทน "อาทิตย์ อุไรรัตน์"
ซึ่งหันเหไปชื่นชอบกิจการด้านการเมืองการศึกษา แทนการแพทย์
"ในชีวิตผมไม่มีอะไรที่เรียกว่าลำบากยากเย็น คุณแม่เลี้ยงผมเยี่ยงเลี้ยงลูกผู้หญิง
สอนเย็บผ้าต้องซ่อนตะเข็บให้ดีให้สวย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมจัดว่าเป็นคนอาภัพกว่าคนอื่นๆ
เพราะคุณแม่เป็นลูกสาวคนเดียว ผมก็เป็นลูกชายคนเดียวและก็มีลูกคนเดียวในโลกนี้เหมือนกันอีก"
สายตาแก่กล้าคู่นั้น ดูเศร้าหมองเมื่อพูดถึงบุพการีที่มีกันอยู่แค่ 3 ชีวิต
คุณประสิทธิ์เล่าว่า เคยนอนกอดกันร้องไห้เมื่อกลับจากบ้านที่สงขลาหลังเข้ากรุงเทพฯมาเรียนหนังสือ
16 ปีต่อมากับชีวิตบำนาญ คุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์ก้าวไปสู่ความรุ่งโรจน์ของโรงพยาบาลพญาไทแห่งที่
2 ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2530 ด้วยงบลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท
การบริหารโรงพยาบาลพญาไทนั้น เป็นภารกิจของคุณประสิทธิ์โดยแท้ เพราะอาทิตย์ผู้ลูกนั้น
พิศมัยการเมืองและสนใจการศึกษามากกว่า
ด้วยความเป็นคนที่เข้าลึกถึงจิตใจคน คุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์จ้างมือดีทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายการแพทย์พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า
50 คนแบ่งเป็น 3 รอบทำงาน ขานรับกันอย่างสอดคล้องกับพนักงานอีก 1,500 คนเศษ
ไม่นับรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เรียกว่า CONSULTANT
"ผมใช้ BASIC ของมนุษย์คือความเมตตากรุณาเป็นฐานในการเรียกเก็บค่าบริการอะไรไม่ให้แรงจนเกินไป
ผมบอกพนักงาน-พยาบาลว่าท่านเหล่านั้นที่เข้ามา เพื่อหวังพึ่งเราและท่านเหล่านั้นก็คือคนจ่ายเงินเดือนให้พวกหนู"
คุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์ เดือนตุลาคมนี้จะครบ 85 ปี ชอบปลาช่อนตากแห้งกับน้ำพริกคลุกข้าวเป็นชีวิตจิตใจ
สิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบก็คือปลาตัวใหญ่ๆ และที่สำคัญไม่ทานอาหารมาก แต่ต้อง 3
มื้อตางเวลา อาหารสำหรับประธานประสิทธิ์นั้นแม้ดู PRIMITIVE อยู่ แต่กีฬากอล์ฟที่ชื่นชอบเล่นเป็นประจำถึง
2 ครั้งต่อสัปดาห์คือวันจันทร์และวันพฤหัส
"ก็ทุนสำรองในกายไขมันยังอยู่เยอะ เป็นการเดินออกกำลังทางหนึ่ง ส่วนอยู่บ้านก็ชอบฟังเพลงที่มันเศร้าๆ
ยิ่งเสียงแคนแล้ว ชอบมาก ผมได้กำไรชีวิตกว่าคนในวัยเดียวกันอยู่ 3 อย่างคือ
ผมบนศรีษะที่ไม่อยากขาวเสียเท่าไร ฟันรึ ก็ยังใช้ฟันจริงแต่กำเนิด ส่วนตา
มันก็ไม่ต้องการแว่น"
อะไรๆ ก็ดูจะยังคงทนทานถาวรดีไปหมดสำหรับคุณประสิทธิ์ ผู้ซึ่งทำให้เข็มนาฬิกาชีวิตเดินต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง
และเมื่อปีที่ 22 แห่งชีวิตบำนาญของคุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์มาถึง ก็พอดีได้ฉลองโรงพยาบาลหลังที่
3 ที่กำลังก่อสร้างมาได้ 2 ปีแล้วอย่างมโหฬาร ตระการตาบนถนนเพชรเกษม เนื้อที่
37 ไร่ ด้วยทุนทรัพย์กว่า 1,000 ล้านบาท ไม่นับรวมกิจการโรงเรียนนานาชาติ
โรงแรมที่ภูเก็ตและอื่นๆ
คุณประสิทธิ์ อุไรรัตน์ที่ทุกคนในเครือโรงพยาบาลพญาไทเรียกกันติดปากว่า
"คุณพ่อ" นั้น ยังมีโครงการ "เพื่อเพื่อนผู้แก่เฒ่า"
ที่อยากจะทำอยู่ตะหงิดๆ
สืบเนื่องจากแรงบันดาลใจที่รุนแรงแก่กล้ามากกว่าครั้งใดในชีวิต สร้างกระแสโน้มน้าวความคิดอ่านที่จะถอนตัวเองไปจากการบริหารงานโรงพยาบาลทั้งหลายทั้งปวงภายในอีก
1 ปีข้างหน้านี้ แล้วไปคลุกฝุ่นคลุกดินกับแผ่นดินผืนหนึ่งที่คะเนไว้ว่าประมาณ
800 ไร่แถวๆ รังสิต เพื่อสร้างสถานพักผ่อนบำรุงสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุ (HEALTHCARE
FOR OLD AGE) ที่มีความสามารถเฉพาะทางในเชิงธุรกิจการงานตามถนัดมาอยู่รวมกัน
มีพยาบาลให้ความสะดวก ส่วนความรู้ความสามารถของผู้เฒ่าเหล่านั้นก็จะถูกถ่ายทอดให้แก่นักเรียนนักศึกษา
คล้ายๆ โรงเรียนสารพัดช่าง ส่งเสริมให้ได้รับความรู้ที่ไปจากผู้มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพต่างๆ
ถ้าพอมีอันจะกินก็ช่วยค่าใช้จ่ายค่าอยู่ค่ากิน และอีกส่วนหนึ่ง สำหรับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งไม่มีใครดูแลก็สามารถเข้าร่วมมูลนิธินี้
ปลูกผัก ปลูกหญ้า คุณประสิทธิ์บอกว่าทุกคนย่อมมีดีอยู่ในตัว และแม้ไม่ใช่มูลนิธิเพื่อการกุศลแต่ก็พอจะมองเห็นความสำคัญของความชราภาพที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
แรงดลใจที่พูดถึงนี้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่คุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ หนึ่งเดียวในดวงใจ
ที่เคยขอร้องคุณประสิทธิ์ด้วยถ้อยคำกินใจก่อนจากกันเมื่อวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึง
"คุณหญิงพัฒนากับผม เราอยู่กันมานาน ไม่คิดเลยว่าจะจากกัน ป่วยเพียงเดือนเดียว
ก่อนเสียเขาจับมือผม บอกให้ผมสัญญาว่าจะพักผ่อน อาจเพราะห่วง มองว่าเหนื่อย
มันก็เหนื่อยล่ะนะตั้งหลายแห่ง สัญญาไปอย่างนั้นจะทำอย่างไรได้ แต่ไม่แน่ผมหาที่ดินได้
ผมจะลาออกแล้วไปอยู่ที่นั่นที่เดียว ไปฟังเสียงน้ำไหลเซาะลงจากห้วย อาจช่วยละลายกัดกร่อนความทุกข์ของหัวใจ
เหลือแต่ความบริสุทธิ์ ให้กับมูลนิธิคุณหญิงพัฒนาของผม"
ประโยคสุดท้ายบาดใจจริง สังเกตเห็นความรู้สึกของคุณพ่อประสิทธิ์ผู้แกร่งกล้ามีน้ำตาคลอดเบ้า