"ไทยเอ็กซิมฯ"บุกตลาดรัสเซียMFCจีบตั้งฟันด์


ผู้จัดการรายวัน(26 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.เอ็มเอฟซี ร่วมลงทุน EXIM ตั้ง "ไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นนอล" ด้วยทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท รุกงานที่ปรึกษาด้านการเงินช่วยเหลือผู้ส่งออกนำเข้า "พิชิต" เผยใช้เป็นฐานส่งเอฟไอเอฟออกไปลงทุน และดึงเงินตั้งคันทรีฟันด์เข้าประเทศ ประเดิมตลาดรัสเซียเป็นที่แรก หลังประเมินมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยสูงมาก

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี ได้ร่วมลงทุนกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ ไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นนอล (Thai EXIM International) ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนดังกล่าว เป็นการลงทุนร่วมกันในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งบลจ.เอ็มเอฟซีและ EXIM ประมาณ 17.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นนอล ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจด้าน ที่ปรึกษาการลงทุน และเป็นตัวกลางในการประสานงานให้กับผู้ส่งออกและนำเข้า พร้อมกับเป็นตัวกลางในการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนและการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งการมีตัวช่วยดังกล่าวจะสามารถช่วยลดอุปสรรคทางด้านการส่งออกหรือนำเข้าระหว่างผู้ประกอบการของไทยกับประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบการเงินไม่สมบูลย์

นายพิชิตกล่าวว่า ลักษณะการดำเนินงานของไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นนอล จะออกไปในรูปแบบของการตั้งสาขาในประเทศที่ผู้ลงทุนไทยสนใจลงทุน โดยเป้าหมายแรกจะเป็นการส่งเสริมผู้ลงทุนไทยก่อนเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งเสริมการส่งออกและนักลงทุนไทยจะไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นเป้าหมายรอง ในการดึงผู้ประกอบการในประเทศนั้น เข้ามาลงทุนกับบลจ.เอ็มเอฟซี รวมถึงการนำกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ออกไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นด้วย

"ในแง่ของการลงทุนกับเรา เป็นไปได้ทั้งการตั้งเป็นกองทุนคันทรีฟันด์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในตลาดและนอกตลาดในลักษณะ Private Equity ขณะเดียวกันเราเองก็อาจจะจัดตั้งกองทุนเอฟไอเอฟออกไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นด้วย"นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศรัสเซีย จะเป็นประเทศแรกที่เราสนใจจะออกไปลงทุนหลังจากจัดตั้งบริษัทได้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัสเซียเองถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าสูงมากกับไทย และมีนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ รัสเซียเองยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่ม BRIC กลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง ขณะเดียวกันยังมีเงินทุนสำรองของประเทศที่สูงมาก ดังนั้นเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างประโยชน์ทางธุรกิจกับประเทศรัสเซียได้เป็นอย่างดี

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของเอ็มเอฟซี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ได้มีมติอนุมัติหลักการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจด้าน ที่ปรึกษาการลงทุน และเป็นตัวกลางในการประสานงานให้กับผู้ส่งออกและนำเข้า พร้อมกับเป็นตัวกลางในการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนและการลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ สัดส่วนการร่วมลงทุนของบลจ.เอ็มเอฟซี ในบริษัทดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยคิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 17.5 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าการเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ซึ่งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวข้างต้น ยังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

ก่อนหน้านี้ นายพิชิตกล่าวถึงแผนการจัดตั้งกองทุนคันทรีฟันด์ คาดว่าเร็วๆนี้ จะนำกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง หลังจากมาตรการกันเงินสำรอง 30% ถูกยกเลิกไป ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์สนใจที่จะเข้ามาลงทุนกับเราในโครงการไพรเวท อิควิตี้ โครงการหนึ่งแต่ก็ยกเลิกกันไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่มั่นใจต่อมาตรการด้านการเงินของประเทศ แต่หลังจากนี้คงต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง พร้อมกันนี้ต้องอธิบายความชัดเจนของสาเหตุการยกเลิก และมาตรการรองรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเห็นด้วย

ส่วนนักลงทุนจากจีนเข้ามาเจรจาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบลจ.เอ็มเอฟซีก่อนหน้านี้ ภายหลังจากหารือกันในเบื้องต้นไปแล้ว เขาก็ไม่ได้มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งมองว่าเขาอาจจะยังไม่แน่ใจอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองในช่วงนั้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราเองมีแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับมีความชัดเจนเกี่ยวเรื่องของนโยบายภาครัฐมากขึ้น คาดว่าจะมีการกลับไปเจรจากันใหม่อีกครั้ง

"เราเองมีแผนที่จะส่งเสริมเรื่องการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้นอยู่แล้ว ทั้งการออกไปลงทุนและดึงเงินลงทุนเข้ามาในกองทุนของเรา ซึ่งหลังจากนี้เราคงต้องมีการติดต่อกลับไปอีกครั้ง แต่รูปแบบอาจจะไม่ใช่การร่วมทุนอย่างเช่นก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเราเองมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ การจะร่วมทุนกับต่างชาติคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเจรจาการลงทุนในรูปแบบของกองทุนคันทรีฟันด์แทน"นายพิชิตกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.