ใครๆ ก็ว่า "ข้อมูลคืออำนาจ" ใครมีข้อมูลมากและเร็วเป็นผู้ชนะ
แต่กลับกลายเป็นว่าคนป้อนข้อมูลต่างอยู่ในอาการ "ข้อมูลจุกคอหอย"
หรือ "สายโทรศัพท์รัดคอ" กันเป็นแถวๆ เพราะหลังจากที่ลองผิดลองถูกกันมาหลายปี
ผู้ที่เข้ามาก่อนหลายรายต้องโบกมือลา บางรายยังอยู่ในภาวะขาดทุน และหลายรายหายไปแบบเงียบๆ
เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจอินฟอร์เมชั่นออนไลน์เซอร์วิส ที่ทุกคนต่างทุ่มกันมาสุดตัว?
"คุณต้องอึดจริงๆ ต้องยอมขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เพราะมันเป็นธุรกิจอนาคตที่ต้องมาแน่
แต่จะมาเมื่อไหร่ไม่มีใครตอบได้" เสียงจากเหล่าบรรดาผู้ให้บริการข้อมูล
สะท้อนถึงธุรกิจนี้
"ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าจริงๆ ยังไม่มีเลยหรือมีก็มีลึก
ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้" เสียงสะท้อนถึง "แฟชั่น" สุดฮิตกำลังเป็นอดีตไปเสียแล้ว
3-4 ปีที่แล้ว หากมีการจัดอันดับธุรกิจยอดนิยมแล้ว ธุรกิจให้บริการข้อมูลต้องอยู่ในอันดับต้นๆ
ทั้งผู้ที่มีข้อมูลอยู่ในมืออย่างธุรกิจสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีข้อมูลก็ตาม
เวลาผ่านไป พร้อมกับการลองผิดลองถูกของผู้ประกอบการ หลายรายเริ่มออกอาการ
แต่สิ่งที่น่าแปลกคือ ความสำคัญของ "ข้อมูล" ไม่ได้ลดลงเลยและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วเหตุใดผู้ประกอบการจึงล้มเหลวกันเป็นแถว!
หน้าจอคอมพิวเตอร์กำลังแสดงผลราคาหุ้น ตัวเลขที่กำลังวิ่งขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง
มีทั้งตัวเลข ราคาหุ้น กราฟแท่ง กราฟนอน วิเคราะห์หุ้นแต่ละตัว รวมทั้งข่าวสารที่ทยอยมาเป็นระลอก
หลังการเปิดตลาดซื้อขายหุ้น
ทุกเช้าบรรดาโบรกเกอร์ นักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย ต้องเปิดหน้าจอไว้เพื่อรับข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ
บริการข้อมูลราคาซื้อขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ นับได้ว่าเป็นยุคแรกเริ่มของธุรกิจบริการข้อมูล
มูลค่าตลาดของธุรกิจบริการข้อมูลซื้อขายหลักทรัพย์ ได้รับการยืนยันว่า มีอยู่
500 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะเติบโตไปถึง 1,000 ล้านบาท
นับเป็นตัวเลขไม่น้อย
สาเหตุที่เติบโต หลายฝ่ายยืนยันว่า เพราะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (NICHE MARKET)
ที่ลูกค้ามีกำลังซื้ออยู่แล้ว และจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น
โดยเฉพาะตลาดหุ้นของไทยที่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์รอบด้าน
ธุรกิจบริการข้อมูลซื้อขายหลักทรัพย์แรกเริ่มเดิมที เป็นการส่งในรูปแบบของแฟกซ์
แต่มาตื่นตัวจริงๆ ในช่วงปี 2533 เมื่อตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนระบบการซื้อขาย
จากที่เคย "เคาะกระดาน" มาเป็นระบบ "คอมพิวเตอร์" ทำให้ข้อมูลถูกเผยแพร่มากขึ้น
ผู้ให้บริการทั้งจากในและต่างประเทศมองเห็นลู่ทาง โดยเฉพาะนักลงทุนจากไต้หวัน
ที่หลั่นไหลเข้ามาเปิดบริษัทเป็นจำนวนมาก นับรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง อาทิ
จิหลง, เคแอลเอ็ม, ซิโนเทค, ยูนิเทค รวมทั้งบริษัทซิสเท็กส์ อินโฟโปร ฯลฯ
รูปแบบของการให้บริการก็ไม่มีอะไรมาก ผู้ให้บริการเหล่านี้ จะลงทุนซื้อ
"ข้อมูลดิบ" มาจากตลาดหลักทรัพย์ และจะนำมาปรุงแต่งใหม่ ด้วยการพัฒนา
หรือซื้อซอฟต์แวร์ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านของลูกค้า
เรียกว่า ไม่ต้องลงทุนสร้างฐานข้อมูลเอง แต่ใช้วิธีไปซื้อข้อมูลดิบมาจากตลาด
จึงมีผู้ที่เข้ามาสู่ตลาดนี้กันอย่างมากมาย เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก
ไม่เพียงบรรดานักธุรกิจรายย่อยจากไต้หวันเท่านั้นที่มองตลาดนี้ แต่บรรดายักษ์ใหญ่อย่าง
รอยเตอร์, ดาวโจนส์ เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดไทย
รอยเตอร์ประเดิมเปิดตลาด ด้วยการตั้งสำนักข่าวขึ้นในไทย และได้เริ่มขยายตลาด
ด้วยการหันไปจับมือกับสหศีนีมาเปิดเป็นบริษัท สยามเรียลไทม์ เพื่อให้บริการข้อมูลธุรกิจแบบออนไลน์
ส่วนดาวโจนส์ ได้มาร่วมมือกับบริษัทแปซิฟิก ดาต้าซิสเต็มส์ ของล้วนชาย ว่องวานิช
เปิดให้บริการข้อมูลข่าวสารของดาวโจนส์ และตลาดหลักทรัพย์ของไทยออนไลน์ผ่านดาวเทียม
สำนักข่าวต่างประเทศจะเน้นตลาดบนเป็นส่วนใหญ่ คือ ในขณะที่นักลงทุนจากไต้หวันจะเน้นตลาดระดับล่าง
แน่นอนว่า การเข้ามาในธุรกิจนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดนั้นเป็นเรื่องยาก
แม้ตลาดจะไปได้ดี แต่เมื่อมีการแข่งขันเริ่มเข้มข้น ประกอบกับภาวะของตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ค่อนข้างผันผวน
หลายรายเริ่มปิดฉากจากไป
"ตลาดของรายย่อยจะขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดหุ้น ดูได้จากดัชนีหุ้น หากขึ้นสูงๆ
ตลาดให้บริการข้อมูลก็จะสูงตามไปด้วย แต่เมื่อตลาดฟุบ นักลงทุนรายย่อยเริ่มหายไปจากตลาด
ก็เช่นเดียวกับผู้ให้บริการ" ผู้ให้บริการรายหนึ่งให้ข้อสังเกต
ในจำนวนผู้ให้บริการทั้งหมด รายที่ยึดครองตลาดได้มากที่สุด คือ "บิสนิวส์"
บริษัทขายข้อมูลเก่าแก่ที่สุด ที่ชาลทอง ปัทมพงศ์ ได้อาศัยช่องทางมาจากประสบการณ์การทำงานอยู่ในคอนติเนตัล
เกรน บริษัทค้าพืชไร่อันดับ 2 ของโลก จากบริษัทค้าข้อมูลที่เริ่มต้นจากราคาพืชไร่
น้ำมัน เมื่อ 12 ปีที่แล้ว กลายมาเป็นบริษัทค้าข้อมูลเรียลไทม์ ทางด้านตลาดหุ้นและเงิน
ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด
แต่กว่าจะมาเป็นบิสนิวส์เช่นทุกวันนี้ ชาลทองยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอดทนจริงๆ
เพราะต้องประสบภาวะขาดทุนมาเป็นเวลาถึง 8 ปี
"คิดดู ธนาคารไม่มีใครให้กู้เงินเลย เพิ่งปล่อยเงินกู้เมื่อ 2 ปีมานี้เอง
ใครที่อยู่ในธุรกิจนี้ได้จะต้องอึดจริงๆ" ชาลทองกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แม้จะประสบความสำเร็จในธุรกิจบริการข้อมูลแบบออนไลน์ แต่ชาลทองเชื่อว่า
ธุรกิจข้อมูลเป็นตลาดแคบ เป็นธุรกิจที่เหมาะกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (NICHE MARKET)
เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ที่สำคัญตลาดบริการ ข้อมูลยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มตลาดหุ้น
และตลาดการเงินเท่านั้น
"ทุกคนอยากได้ข้อมูล แต่ไม่มีใครยอมจ่ายเงินเป็นหมื่นๆ แสนๆ บาท เพื่อดูข้อมูลที่ยังไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจหรอก
คุณไม่มีวันขายข้อมูลให้กับลูกค้าได้ทุกตลาดหรอก"
แต่เมื่อลงมือขายแล้ว หลักสำคัญของธุรกิจให้บริการข้อมูลแบบออนไลน์ คือ
ต้องเร็ว ต้องละเอียดและลึก ที่หาดูจากที่อื่นไม่ได้
ชาลทองมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ให้บริการข้อมูลธุรกิจหลายราย ที่ยังไม่สบความสำเร็จ
เพราะบางรายอาจให้บริการไม่ตรงกับความต้องการลูกค้า หรือในบางรายหันไปเจาะตลาดในกลุ่มที่ลูกค้ายังไม่มีกำลังซื้อข้อมูล
ในขณะที่บางรายตั้งราคาแพงไป
รวมทั้ง ในเรื่องของความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่จำกัด และสื่อที่มีราคาแพง
ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดของตลาดข้อมูลทั้งสิ้น
"ตลาดข้อมูลเหมือนกับแฟชั่น ที่แห่กันเข้ามาแล้วก็เลิกไปในที่สุด และรายใหม่ก็เข้ามาหมุนเวียนกันไป"
ชาลทองกล่าว
คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของตลาดข้อมูล ที่มีรายใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา
และที่สำคัญไม่จำกัดอยู่เฉพาะหุ้นอีกต่อไป แต่ยังขยายไปยังแวดวงธุรกิจอื่น
แต่ในที่สุดก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอีกเช่นเคย
บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเทรดอินฟอร์เมชั่นไทยแลนด์ จำกัด หรือ "ไอทีไอซี"
บริษัทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ น่าจะเป็นกรณีศึกษาถึงความล้มเหลวในธุรกิจให้บริการได้เป็นอย่างดี
ไอทีไอซี เกิดขึ้นมาจากแนวคิดในยุคสมัยของอมเรศ ศิลาอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม
โดยมีภาครัฐบาลถืออยู่ 49% เอกชน 51%
เป้าหมายของไอทีไอซี คือ การให้บริการข้อมูลทางด้านการค้าระหว่างประเทศ
โดยออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้า เช่น สถิติการค้า การนำเข้าส่งออก
กฎระเบียบการค้า และมาตรฐานสินค้า ข้อมูลจดทะเบียน ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ
ราคาสินค้าส่งออก
ดูจากนโยบายแล้วก็น่าจะไปได้ดี ทั้งในเรื่องลูกค้าเป้าหมาย และยังได้แรงหนุนจากหน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่จะเป็นแหล่งข้อมูล
อีกทั้งมีภาคเอกชนที่ประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ตลอดจนบริษัทชั้นนำมากว่า
20 บริษัท
2 ปีที่ผ่านไป พร้อมกับการคว้าน้ำเหลว ไอทีไอซีต้องขาดทุนไปแล้วถึง 10 ล้านบาท
ต้องเปลี่ยนกรรมการผู้จัดการไปแล้ว 2 คน
ผู้เกี่ยวข้องสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอทีไอซีว่า มาจากการที่ไอทีไอซี
ให้บริการเป็นข้อมูลพื้นฐานจากทางราชการเช่น กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร
ที่ใครๆ ก็สามารถไปเอาข้อมูลนั้นมาได้ โดยไม่ต้องเสียเงิน
ส่วนข้อมูลที่ลูกค้าอยากจะได้ ก็ไม่สามารถหาให้ได้ เพราะเป็นข้อมูลลับของทางราชการ
ข้อมูลที่ให้บริการจากต่างประเทศ ก็เป็นข้อมูลเก่าล้าสมัย ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
คอมพิวเตอร์ที่ใช้ เป็นระบบเมนเฟรมทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งาน ลูกค้าไม่สามาถพิมพ์ข้อมูลออกมาได้
แน่นอนว่า ผู้บริหารของไอทีไอซีกำลังขบอย่างหนัก เกี่ยวกับปัญหาในการหาทางออกให้กับไอทีไอซี
ซึ่งคงต้องอาศัยเวลา
กรณีที่เกิดขึ้นกับไอทีไอซี นับเป็นการตอกย้ำถึงความไม่ "หมู"
ของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จะมีข้อมูลดิบและลูกค้าเป้าหมายอยู่ในมือแล้วก็ตาม
แต่หากขาดความลึก ความสด ความชัดเจนของข้อมูลเมื่อใด ก็ต้องเจอปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน
หรือ แม้แต่สไตรเกอร์ บริษัทให้บริการสื่อสารข้อมูลทั่วโลก มีบริการออนไลน์ข้อมูล
ผ่านเครือข่ายของสไตรเกอร์มีชื่อว่า "เอเชียเน็ต" ซึ่งเป็นข้อมูลทางการค้า
สนธิสัญญาต่างๆ และโครงการสำคัญๆ ของ 24 ประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิก ก็สนใจจะเข้ามาขยายธุรกิจทางด้านนี้ในไทย
ในช่วงแรกได้แต่งตั้งให้บริษัทพีคแมเนจเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ เซอร์วิส
บริษัทในเครือเจวีเค ที่มีเครือข่ายในย่านเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้เปิดตลาดให้
แต่ต่อมาได้ยกเลิกไป สไตรเกอร์จึงหันไปหาตัวแทนใหม่ คือบริษัทสยามเทคโนโลยีเซอร์วิส
ในเครือสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นให้เป็นผู้ทำตลาดให้แทน แต่ต่อมาสยามเทคโนโลยี
ได้ขอยกเลิกเป็นตัวแทนไปในที่สุด
แม้ว่า การปิดฉากของสไตรเกอร์จะเป็นปัญหาภายใน แต่ก็เป็นกรณีศึกษาอีกส่วนหนึ่ง
ที่ยังไม่เริ่มลงมือก็ต้องจบลงเสียแล้ว
ธุรกิจสิ่งพิมพ์ น่าจะเป็นผลสะท้อนที่ดีที่สุดอีกกรณีหนึ่ง เพราะเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการให้บริการข้อมูลมากที่สุด
แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ จำกัด (MANAGER INFORMATION SERVICE) หรือ
"เอ็มไอเอส" เปิดตัวสู่ธุรกิจบริการข้อมูล เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว
การดำเนินงานของเอ็มไอเอส จะมุ่งไปที่การสร้าง "ฐานข้อมูล" เป็นหลัก
แม้จะมีข้อมูลในมือเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่เอ็มไอเอสยังสร้างทีมงานลงพื้นที่ไปจัดหา
วิเคราะห์ รวบรวม และวิจัยข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก
แน่นอนว่าการ "ทุ่ม" สร้างฐานข้อมูลเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่ยังขายสินค้าได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเอ็มไอเอสทำข้อมูลที่กว้างมาก
5 ปีที่ผ่านมา เอ็มไอเอสถมเงินไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท
ต้นปีนี้เอง วิรัตน์ แสงทองคำ อดีตบรรณาธิการบริหาร "ผู้จัดการรายวัน"
มารับหน้าที่กรรมการผู้จัดการเอ็มไอเอส ภารกิจแรกของเขาคือ การวางทิศทางธุรกิจให้ชัดเจน
ทิศทางธุรกิจที่วิรัตน์มอง คือ การนำข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย นำมาปรุงแต่งใหม่
ให้เป็นสินค้าพร้อมที่จะวางขายได้ทันที จากที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงของการลงทุนเพื่อสะสมข้อมูล
ซึ่งนับได้ว่าเป็นโชคดีของเอ็มไอเอสที่มีข้อมูลอย่างมหาศาล เวลานี้คือการนำออกมาใช้ให้เป็นจริงเท่านั้น
"เรื่องแรก คือ การวางแนวทางของธุรกิจให้ชัดเจน เราเริ่มกำหนดว่า ตลาดจะเป็นอย่างไร
เราจะเอาข้อมูลของเรามาแปรรูปเป็นสินค้า เราจะไม่รับทำสินค้าเฉพาะรายหรือข้อมูลตามสั่ง
แต่ลูกค้าจะต้องมาดูข้อมูลที่เรามีว่าเหมาะสมกับเขาหรือไม่ และเลือกนำไปใช้"
วิรัตน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"สินค้า" หรือข้อมูลที่วิรัตน์นำมาจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน และเพิ่มความลึกเหมาะสมกับผู้ใช้
และมีประโยชน์กับผู้ใช้แน่นอน จะเริ่มออกวางตลาด 3-4 ประเภทภายในปีนี้
"ข้อมูลธุรกิจเหล่าจะเป็นลักษณะแพ็กเกจ เช่น จะทำเป็นในลักษณะของข้อมูลข่าวย้อนหลัง
ข้อมูลประวัติบริษัทและข้อมูลอุตสาหกรรม ซึ่งสืบค้นได้อย่างลึกและต่อเนื่อง"
เป้าหมายของเอ็มไอเอส คือ การเป็นผู้ผลิตข้อมูล ซึ่งข้อมูลจะขายให้เครือข่ายที่สนใจทุกราย
วิรัตน์ยืนยันว่า เอ็มไอเอส จะไม่สร้างเครือข่ายของตนเอง เอ็มไอเอสจะเป็นเพียงผู้ขายข้อมูลเท่านั้น
และจะเป็นพันธมิตรกับทุกราย ทุกเครือข่าย
เครือข่ายที่ว่านี้ ที่เริ่มต้นกันไปแล้ว มีทั้งการขายผ่านคอมไลน์ และการร่วมมือกับบิสนิวส์
ซึ่งจะเป็นก้าวแรก ที่เอ็มไอเอส ก้าวเข้าสู่ระบบออนไลน์อย่างแท้จริง
"ที่ผ่านมาเอ็มไอเอสก็อาจมัวแต่สร้างข้อมูลอยู่ แต่ข้อมูลที่มีอาจจะยังไม่เหมาะกับเส้นทางที่เขาใช้กัน"
บทสรุปสำหรับเอ็มไอเอสในสายตาวิรัตน์
วิรัตน์ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ยังไม่มีรายใดประสบความสำเร็จ
เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ไปมุ่งในเรื่องของการสร้าง "เครือข่าย" ซึ่งจริงๆ
แล้วควรจะแยกบทบาทออกจากกัน
วิรัตน์กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ ทุกคนอยากมีเครือข่ายเป็นของตนเองทั้งนั้น
แล้วมาคิดว่าจะพัฒนาข้อมูลทีหลัง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะ "ข้อมูล"
ต่างหากที่ลูกค้าต้องการ ส่วนเครือข่ายนั้นกลับกลายเป็นเรื่องรอง เพราะในอนาคต
เครือข่ายจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เน็ตก็เป็นเครือข่ายหนึ่ง
หรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เช่น วินโดส์ 95 ก็มีอินเตอร์เน็ตอยู่ในตัวเสร็จ ก็เหมือนสร้างเครือข่ายสำเร็จรูปอยู่แล้ว
ความแคบของตลาดข้อมูลในเมืองไทย เป็นอีกประเด็นที่วิรัตน์หยิบยกมา
"ผมไม่เชื่อว่าใครจะอยู่ได้ หากยังขายข้อมูลเฉพาะในไทย เพราะตลาดมันแคบ
แค่ 200-300 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ให้บริการจากต่างชาติเข้ามา เขามีระบบข้อมูลของตลาดหุ้นทั่วโลก
มาใส่ข้อมูลตลาดหุ้นในไทยเพิ่ม ผู้ให้บริการของไทยก็แย่แล้ว"
ดังนั้นเป้าหมายของเอ็มไอเอสที่วิรัตน์มอง จะไม่ใช่เฉพาะตลาดเมืองไทยเท่านั้น
แต่จะครอบคลุมถึงเอเชียแปซิฟิกไปขายบนเครือข่ายทั่วโลก
วิรัตน์เชื่อว่า เอ็มไอเอสเดินมาถูกทางแล้ว ที่สำคัญธุรกิจบริการข้อมูลจะสามารถทดแทนธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้ในอนาคต
"คุณเคยเห็นไหม ราคากระดาษจาก 400 เหรียญ เพิ่มเป็น 1,000 เหรียญในเวลาอันรวดเร็ว
ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ทั้งการจัดส่ง ค่าแรงคน แต่หากเป็นบริการข้อมูลแบบเรียลไทม์
มูลค่าของข่าวจะถูกใช้ 24 ชั่วโมงและทดแทนสิ่งพิมพ์ในพื้นที่ที่ไม่คุ้มกับการลงทุนในด้านสิ่งพิมพ์"
วิรัตน์เล่า
อย่างไรก็ตามเอ็มไอเอสก็ยังต้องเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ปัจจุบันเอ็มไอเอสมี
"หุ้นไทยรายสัปดาห์" และ "ไฟแนนเชียล เดย์" ที่กำลังวางแผงอยู่ในเครือ
วิรัตน์อธิบายว่า หนังสือพิมพ์ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเอ็มไอเอส แต่จะเป็น "จิ๊กซอร์"
หนึ่งในธุรกิจข้อมูล หนังสือพิ มพ์ที่ออกมาจะแตกต่างจากสิ่งพิมพ์ทั่วไป ซึ่งจะมีทั้งข่าวและข้อมูล
และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเก็บและกระจายข้อมูลของเอ็มไอเอส
เอ็มไอเอสเดินทางและแสวงหาช่องทางมาแล้ว ท่ามกลางข้อมูลอันมหาศาล วันนี้เอ็มไอเอสกำลังเริ่มต้นบทใหม่อีกครั้ง
ซึ่งจะใช้เวลามากหรือน้อยกับอนาคตคงได้บทสรุปในไม่ช้า
กลุ่มเนชั่น เป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เข้าสู่ธุรกิจบริการข้อมูลแบบออนไลน์อย่างเต็มตัว
มาตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2537
1 ปีผ่านไป เนชั่นออนไลน์ไม่ได้รับการตอบสนองจากลูกค้าเท่าที่ควร ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้ามาทดลองใช้เท่านั้น
จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2538 เนชั่นต้องใช้กลยุทธ์ "ราคา" มาเป็นตัวทำตลาด
เพื่อดึงยอดสมาชิก จึงทำให้มีลูกค้าเข้ามาประมาณ 200-300 ราย
ปลายเดือนพฤศจิกายน นรินทร์ จิวังกูร ผู้ถือหุ้นขอถอนตัวออกไป พร้อมทั้งการยุบบริษัทในเครือเอ็นพีจี
ซึ่งเป็นบริษัทที่เนชั่นตั้งขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจบริการข้อมูล เพื่อลดต้นทุนในเรื่องค่าใช้จ่ายลง
"สิ่งที่เกิดขึ้นกับเนชั่นออนไลน์ ไม่ถึงกับว่าไม่ประสบความสำเร็จ
มันเร็วเกินไปที่จะตัดสิน ผมว่ามันเป็นการลองผิดลองถูกมากกว่า เพราะมันเป็นธุรกิจใหม่ที่ทุกคนต้องอาศัยการคาดการณ์ของตลาด"
สมพงษ์ กิตตินราดร บรรณาธิการข่าวและพงษ์เดช คงปัญญากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของเนชั่นออนไลน์
ร่วมให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ"
สมพงษ์กล่าวด้วยว่า หากให้เปรียบเทียบกับการลงทุนของผู้ให้บริการข้อมูลด้วยกันแล้ว
เช่น คอมไลน์ ซึ่งทุ่มเงินไปกับการสร้างเครือข่าย ในขณะที่เอ็มไอเอสต้องทุ่มเงินไปกับการสร้างข้อมูลเป็นจำนวนมากแล้ว
กับการลงทุนของเนชั่นที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีลูกค้าเข้ามาจำนวนหนึ่ง
ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของเนชั่นในระดับหนึ่ง
การลองผิดลองถูกของเนชั่น เริ่มมาจากการที่เนชั่น ออนไลน์วางนโยบายในการเป็นทั้งผู้ให้บริการข้อมูล
ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่าย โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เนชั่นวางก็เป็น
"คอนซูเมอร์" ทั่วไป
การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ ทำให้เนชั่นต้องประสบความยากลำบากในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีของเครือข่าย
ที่ต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในเวลาเดียวกัน เนชั่นยังต้องหันมาลงทุนในเรื่องข้อมูล ซึ่งหากจะให้ได้ข้อมูลที่ลึกเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ
จะต้องใช้เวลาและเงินลงทุนสูงมาก เนชั่นออนไลน์ จึงหันไปเน้นลูกค้าทั่วไป
โดยข้อมูลที่นำเสนอขึงเน้นความหลายหลาย เพื่อรองรับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ อาทิข้อมูลข่าวสารตลาดหลักทรัพย์
ข่าวสารทั่วไป ทั้งธุรกิจ กีฬา บันเทิง ต่างประเทศ บริการหมอดู บริการสอบถามข้อมูล
หรือ บูเลทินบอร์ด
ข้อมูลที่เนชั่นนำมา จึงมีทั้งการซื้อข้อมูลดิบมาจากตลาดหลักทรัพย์ มาจากสิ่งพิมพ์ในสังกัด
แต่ยังไม่มีการลงทุนจัดเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง
"เราเริ่มให้เด็กเก็บข้อมูลไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำถึงขั้นลงพื้นที่
เพื่อไปหาข้อมูลที่เป็นการวิเคราะห์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก" สมพงษ์กล่าว
ทว่าการมุ่งไปยังกลุ่มลูกค้าประเภมคอนซูเมอร์ แม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก
ทั้งในเรื่องของการใช้พีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการข้อมูล
บทเรียนในครั้งนั้น ทำให้เนชั่นต้องหันมาปรับนโยบายใหม่ โดยหันมาเริ่มทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้ว
เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน ควบคู่ไปกับกลุ่มลูกค้าทั่วไป
ที่เนชั่นยังไม่ยอมทิ้ง เพราะเชื่อว่าตลาดทางด้านนี้จะมาแน่
"NICHE MARKET จะเป็นอีกตลาดที่เนชั่นออนไลน์ จะมองควบคู่ไปกับ MASS
MARKET" สองผู้บริหารกล่าว
ในราวเดือนกันยายน เนชั่นออนไลน์จะมีสินค้าใหม่ เป็นบริการข้อมูลข่าวสารย้อนหลัง
เพื่อเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะกลุ่ม ชิ้นแรกที่ออกมา ควบคู่ไปกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
สมพงษ์เชื่อว่า ตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทางด้านตลาดหลักทรัพย์
แม้จะมีผู้ให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ตลาดยังไม่ได้ถูกขยายตัวอย่างเต็มที่
ผู้ให้บริการที่มีอยู่เดิมจะนำเสนอข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน
"เรายังเน้นความหลากหลายของข้อมูลเช่นเคย แต่เราจะพัฒนาให้เหมาะสมกับทั้งลูกค้าทั่วไป
และลูกค้าเฉพาะกลุ่ม" สมพงษ์กล่าว
ทางด้านเครือข่าย ที่เนชั่นลงทุนสร้างมาตลอด 1 ปี ก็ยังเป็นสิ่งที่เนชั่นออนไลน์ยังคงภาคภูมิใจ
และยืนยันที่จะพัฒนาเครือข่ายนี้ต่อไป
"ระบบของเราเป็นอินเตอร์แอคทีฟ ที่สามารถให้ข้อมูลแบบสองทาง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเครือข่ายประเภทอื่นที่เป็นทางเดียวแล้ว
เราเชื่อว่าเรามาถูกทาง"
การแผ้วทางไปสู่ธุรกิจออนไลน์ข้อมูลของกลุ่มเนชั่นในวันนี้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกมาแล้ว
1 ปี แต่เนชั่นยังเชื่อว่า สถานการณ์ของธุรกิจข้อมูลจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ
และคาดการณ์-ไว้ว่าภายใน 2 ปีนี้ ธุรกิจข้อมูลจะเกิดขึ้นแน่
สยามเรียลไทม์ บริษัทค้าข้อมูลแบบออนไลน์อีกรายที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา
ทั้งๆ ที่สยามเรียลไทม์นั้นเกิดขึ้นมาจากสำนักข่าวอันลือลั่น ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก
อย่างรอยเตอร์ และสหศีนิมา โฮลดิ้ง ในเครือทรัพย์สิน ซึ่งมีสื่ออยู่ในมือเป็นจำนวนมาก
ทั้งรอยเตอร์ และสหศีนีมา ซึ่งมีสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นอยู่ในมือ หวังจะใช้
"จุดเด่น" ในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ในมือ ขยายตลาดธุรกิจให้บริการข้อมูลแบบเรียลไทม์ออกสู่ตลาด
แต่ 1ปีผ่านมา สยามเรียลไทม์ ที่เคยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสหศีนีมา ถูกโอนย้ายไปขึ้นตรงกับสำนักข่าวรอยเตอร์แทน
พร้อมกับการลกออกของพนักงานบางส่วน
ผลที่ตามมา สหศีนีมากลายสภาพจากผู้ทำหน้าที่บริหารเป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ในขณะที่การบริหารงานทั้งหมดไปขึ้นตรงกับรอยเตอร์
สิ่งที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายมองว่า มอจากความขัดแย้งของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย
ในขณะที่แหล่งข่าวในวงการกล่าวว่า เป็นเพราะสยามเรียลไทม์ขายข้อมูลไม่มีคุณภาพในราคาแพง
"รอยเตอร์มีสำนักข่าวอยู่แล้ว จึงต้องรักษาฐานตรงนี้ไว้ ดังนั้นข่าวที่เลือกมาให้สยามเรียลไทม์
บางทีจะเป็นข่าวที่ไม่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันไอเอ็นเอ็น ไม่สามารถป้อนข่าวได้เต็มที่
เพราะอ้างว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้ลูกค้าของสยามเรียลไทม์ลดลงไปเรื่อยๆ"
แหล่งข่าวกล่าว
กรณีของสยามเรียลไทม์ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีแหล่งข้อมูลที่ดีเป็นจำนวนมาก
แต่หากใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่หรือสนองตอบลูกค้าไม่ได้ ก็มีสิทธิ์ล้มเหลวได้ง่ายๆ
เช่นกัน
ถึงแม้ว่า การล้มเหลวของผู้ให้บริการข้อมูลทำให้หลายรายต้องหายหน้าไปจากตลาด
กระนั้นก็ยังมีรายใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา
แม้จะได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดจากสยามเรียลไทม์ แต่การขยับลงทุนในครั้งนี้
เนื่องจากสยามทีวีมองถึงความจำเป็นของธุรกิจให้บริการข้อมูบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ล่าสุด สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เครือเดียวกับสหศีนีมา ได้จัดตั้งบริษัทสยามอินโฟร์
ดาต้าเบสขึ้น เพื่อทำธุรกิจให้บริการข้อมูล โดยจะนำข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์
บริษัทแม่ของสยามทีวี มาเป็นฐานข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะให้บริการกับลูกค้า ควบคู่ไปกับการซื้อข้อมูลดิบมาจากแหล่งอื่นๆ
นำมากลั่นกรองก่อนทำเป็นสินค้าวางจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง
5 ปีผ่านไป ธุรกิจบริการข้อมูลจะต้องผ่านช่วงของ "ลองผิดลองถูก"
ด้วยบทเรียนที่ว่าธุรกิจนี้ไม่ "ง่าย" อย่างที่คาด ทำให้หลายรายต้องปิดฉากไป
แต่คงมีรายใหม่เข้ามาด้วยความเชื่อว่า อนาคตของข้อมูลยังทรงพลังอย่างแน่นอน