|
แบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ย-เน้นเสถียรภาพฟื้นศก.
ผู้จัดการรายวัน(25 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รองผู้ว่าฯ ธปท.ส่งสัญญาณชัด 9 เม.ย.นี้ กนง.ไม่ปรับลดดอกเบี้ยตามเฟด ลั่นดอกเบี้ยจะต้องตอบสนองภาวะในประเทศมากกว่าปัจจัยภายนอก ขณะนี้ดอกเบี้ยเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อและการลงทุน ยกประเด็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ ธปท.ต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจหนุนมูลค่าเงินสร้างกำลังซื้อในมือประชาชน
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “โรดแมพฟื้นเศรษฐกิจชาติ” หัวข้อ ”ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ : ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยปี 51” ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นให้เกิดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะหากมีเสถียรภาพ กำลังซื้อของประชาชนจะไม่ลดลง และส่งผลดีต่อการฟื้นของเศรษฐกิจในประเทศ
ส่วนความท้าทายของ ธปท. และธนาคารกลางทั่วโลกในขณะนี้คือ อัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องดูแล ขณะที่มีความเสี่ยงมากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการส่งออก และการขยายตัวของประเทศ ตนมองว่า ปัจจัยลบจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่รุนแรงที่สุดในปีนี้
นายบัณฑิตระบุว่า แม้การพิจารณาดอกเบี้ยจะดูจากปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการอ่อนค่าของดอลลาร์และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่การปรับลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนั้น ธนาคารกลางแต่ละประเทศ จะเน้นปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศตนเองเป็นหลัก เห็นได้จากที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน และออสเตรเลีย ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อในประเทศตนเองที่สูงขึ้นมาก ขณะที่แคนาดา ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามสหรัฐ ด้านธนาคารกลางอังกฤษ และสหภาพยุโรป ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ย แล้วแต่ปัจจัยภายใน
“ธปท.ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายแนวโน้มเงินเฟ้อที่ 0-3.5% ขณะเดียวกัน ธปท.ดูแลค่าเงินบาทอย่างเต็มที่ โดยตลาดเงินจะต้องมีเสถียรภาพ และไม่ผันผวน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ กนง.จะตัดสินใจนโยบายดอกเบี้ยตามแนวทางนี้” นายบัณฑิตกล่าวและว่า ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีมากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากสภาพคล่องในระบบ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้เหมาะสม และเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนแล้ว แต่นักลงทุนต่างประเทศอาจจะยังรอดูการฟื้นตัวในประเทศของไทยว่าจะเหมาะสมต่อการเข้ามาลงทุนในระยะยาวหรือไม่ หลังจากที่ประเด็นทางการเมือง และแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐมีความชัดเจนแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้น หากรัฐบาลควรที่จะเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีมาตรการลดภาษีเพื่อจูงใจให้การลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น
ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเพื่อที่จะคงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปนั้น ในระยะสั้นจะต้องหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางให้ดีขึ้น และจะต้องหาแนวทางในการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก
เกาะติดเงินไปนอกไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ
รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า สายตลาดการเงินของ ธปท.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจของนักลงทุนประเภทสถาบันของไทยในการขาย แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเปิดไว้กับนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตหรือสถาบันการเงินต่างประเทศให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.ได้กำหนดให้นักลงทุนประเภทสถาบันที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในต่างประเทศจาก ธปท.ต้องแจ้งเอกสารแสดงตัวให้กับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่ให้รับแลกเปลี่ยนและเมื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วให้ธนาคารพาณิชย์ขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือถอนเงินจากบัญชี เพื่อชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศตามวงเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. แต่ต้องไม่เกิน 50 ล้านเหรียญหรือเทียบเท่า รวมทั้งทุกครั้งในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ผู้ลงทุนสถาบันจะแสดงยอดคงเหลือในการลงทุนที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยอดค้างในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่เปิดไว้
สำหรับกรณีบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน หากจะซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและหลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนของ ธปท.เป็นกรณีๆ ไป ในประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้การชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศหลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศของผู้ลงทุนสามารถชำระเป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศก็ได้ แต่หากผู้ลงทุนจะชำระค่าหลักทรัพย์ดังกล่าวให้กับบุคคลผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศจะต้องนำเงินบาทฝากเข้าบัญชีเงินบาทของมีผู้ถิ่นที่ยู่นอกประเทศ (NRBA) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.ก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|