การเซ็นสัญญาระห่างบริษัท ยอร์ค แอร์ คอนดิชั่นนิ่ง แอนด์ รีฟริจเจอเรชั่น
องค์ กับบริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อร่วมทุนในบริษัท
แอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 นับเป็นก้าวรุกสำคัญก้าวที่
2 ในไทยของยอร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ของโลก
ก้าวรุกแรกของยอร์ค อินเตอร์เนชั่นแนลในไทย เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนด้วยการตัดสินใจเข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในชื่อ
บริษัท ยอร์ค แอร์ คอนดิชั่นนิ่ง แอนด์ รีฟริจเจอเรชั่น องค์ เดือนพฤษภาคม
2533 พร้อมทั้งดึงสินค้าคือ เครื่องปรับอากาศยอร์ค จากบริษัท จาร์ดีน แมทธีสัน
(ประเทศไทย) จำกัด มาทำตลาดเอง หลังจากปล่อยให้จาร์ดีนฯเป็นผู้ทำตลาดมานานกว่า
30 ปี
ไม่เพียงเท่านั้นยอร์คได้ดึงชุมพล ธีระโกเมน อดีตผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดและการขาย
แผนกวิศวกรรม ของบริษัท จาร์ดีน แมทธีสัน มารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เพราะยอร์ครู้ดีว่าถ้าต้องการใช้คนที่รู้เรื่องแอร์ยอร์คดีที่สุดในประเทศไทยแล้ว
ก็ต้องชุมพลนี่แหละ
ชุมพลสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุกิจจากสถาบันศศิรนทร์
เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในตำแหน่งวิศวกรรมฝ่ายขายแผนกขายแอรยอร์ค ที่บริษัท
จาร์ดีน แมทธีสัน ผู้แทนจำหน่ายแอร์ยอร์คเมื่อปี 2515 และนับจากนั้นชีวิตของเขาก็ผูกพันกับยอร์คต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จะห่างหายไปบ้างก็ช่วงสั้นๆ จนชุมพลพูดล้อตัวเองให้ฟังว่า เขาทำอะไรไม่เป็นนอกจากแอร์
"ผมไม่รู้เหมือนกันว่ายอร์คเป็นสิ่งเสพติดหรือเปล่า"
นอกจากชุมพลจะเป็นคีย์แมนคนสำคัญให้ยอร์คเริ่มต้นก้าวแรกในไทยอย่างไม่ติดขัด
เพราะเขาสามารถนำประสบการณ์ที่ทำงานให้แอร์ยอร์คในจาร์ดีนฯมาใช้ในการตั้งบริษัทใหม่แล้ว
ชุมพลยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ก้าวรุกที่สอง คือ การตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยของยอร์คเป็นจริง
ชุมพลเล่าว่า ยอร์คคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยตั้งแต่เข้ามาตั้งสาขาใหม่ๆ
เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองในช่วงนั้น ยอร์คจึงลังเล และเบนเข็มการลงทุนจากประเทศไทยไปยังเม็กซิโก
โคลัมเบีย อาร์เจนตินา อุรุกวัย
"แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปประชุมกับยอร์คในต่างประเทศ มีผู้บริหารของยอร์คมาบอกกับผมว่า
เขาพบแหล่งผลิตแอร์ที่ดี ซึ่งสามารถซัปพลายของให้เขาได้มาก ซึ่งเมื่อผมไปเห็นแอร์ตัวที่เขาอ้างว่ามาจากแหล่งผลิตที่ดี
ผมรู้ทันทีเลยว่าเป็นแอร์เมด อิน ไทยแลนด์ แต่เมื่อบอกเขาก็ไม่เชื่อ"
ชุมพลเล่าให้ฟัง
แม้จะยังไม่เชื่อในสิ่งที่ชุมพลบอก แต่ยอร์คอินเตอร์ฯ ก็ส่งคณะกรรมการสำรวจหาแหล่งผลิต
เดินทางเข้ามาดูโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของผู้ประกอบการท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย
ไล่ตั้งแต่เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย
ซึ่งชุมพลพาไปตระเวนดูโรงงานผลิตแอร์หลายแห่ง และพบว่ามีโรงงานผลิตแอร์ของคนไทย
3-4 รายน่าสนใจ
ความคิดเรื่องการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศไทยของยอร์คเริ่มขึ้นตรงนี้เอง
เพราะถ้าได้หุ้นส่วนที่มีโรงงานอยู่แล้ว ก็จะช่วยยอร์คชดเชยเวลาที่สูญเสียไปกับความลังเลได้
สาเหตุที่ยอร์คตัดสินใจเลือกร่วมลงทุนกับแอร์โร่มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของสิทธิศักดิ์ จงอุดมฤกษ์ มีหลายปัจจัยด้วยกัน
เริ่มจากประสบการณ์การผลิตแอร์ที่ยาวนานของแอร์โร่มาสเตอร์ตั้งแต่ปี 2511
คุณภาพของสินค้าเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ เพราะสามารถส่งออกไปทำตลาดได้ตั้งแต่ปี
2525 ปัจจุบันแอร์โร่มาสเตอร์ส่งออกไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งตะวันออกกลาง
ออสเตรเลีย เอเชีย และยุโรป ซึ่งแอร์ตัวที่ชุมพลบอกกับผู้บริหารยอร์คว่าเมด
อิน ไทยแลนด์ ก็คือ แอร์ที่แอร์โร่มาสเตอร์ผลิตให้กับคนกลางไปขายต่อให้ยอร์คนั่นเอง
จุดเด่นอีกประการของแอร์โร่มาสเตอร์ คือ ไม่ทำแอร์ผี หรือแอร์ครึ่งผีครึ่งคน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอร์ครับไม่ได้
การร่วมลงทุนระหว่างยอร์คและแอร์โร่มาสเตอร์ในครั้งนี้ นับเป็นการประสานผลประโยชน์ที่ลงตัวของทั้งสองฝ่าย
เริ่มจากยอร์คจะมีโรงงานทันทีโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ลูกค้าของแอร์โร่มาสเตอร์ติดมาด้วย
ขณะที่แอร์โร่มาสเตอร์จะได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหาร
การจัดการที่ได้มาตรฐานจากยอร์ค รวมทั้งได้ยอร์คเป็นลูกค้าเพิ่มขึ้นมาด้วย
ขณะที่ทางแอร์โร่มาสเตอร์เองก็เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมทุน
"เรามองเห็นอันตรายที่ว่าอนาคตบริษัทแอร์ไทยจะอยู่ตามลำพังลำบาก ถ้าไม่มีพาร์ทเนอร์ต่างชาติที่แข็งแกร่งคอยช่วยเหลือ
เพราะเมื่อแกตต์และอาฟต้ามีผลบังคับใช้ ภาษีนำเข้าแอร์ต้องลดลง เท่ากับเป็นการเปิดตลาดให้คู่แข่งจากญี่ปุ่น
อเมริกา ยุโปร เข้ามาแข่งได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งแอร์ไทยจะเสียเปรียบมาก ทั้งในแง่ความแข็งแกร่งของแบรนด์
และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เพราะกำลังการผลิตน้อยกว่า" สิทธิศักดิ์เล่าถึงสาเหตุที่เขายอมร่วมทุนกับยอร์ค
โดยเป็นฝ่ายถือหุ้นในบริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำนวน 1 ใน 3 ของทุนจดทะเบียน
180 ล้านบาท โดยให้ยอร์คถือหุ้น 2 ใน 3 ที่เหลือ
"งานนี้ถ้ายอร์คให้ผมถือหุ้นมากกว่าผมคงไม่ตกลง เพราะถ้าเขาถือหุ้นน้อยกว่าเขาอาจจะไม่ให้ความสนใจกับธุรกิจร่วมทุนมากเท่าที่ควร
ขณะที่ถ้าเขาถือมากกว่า เขาต้องรับผิดชอบเต็มที่ อีกอย่างถ้าเราถือหุ้นมากกว่าเขาอาจะจะกลัวเราโตก็ได้"
สิทธิศักดิ์ให้เหตุผล
แผนการแรกของแอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ หลังจากการร่วมทุนก็คือ การขยายกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก
(1-5 ตัน) ซึ่งเดิมมีกำลังการผลิต 60,000 เครื่องต่อปี เป็น 120,000 เครื่องต่อปี
ใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นจะผลิตให้กับแอร์ยอร์ค
เพื่อส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมด
"บริษํทจะดูแลยอร์คประหนึ่งลูกค้าโออีเอ็ม (รับจ้างผลิต) อีกราย และพยายามรักษาลูกค้าโออีเอ็มรายอื่นเอาไว้เช่นเดิม
เรามั่นใจว่าการที่แอร์โร่มาสเตอร์ร่วมทุนกับยอร์คครั้งนี้จะไม่กระทบกับลูกค้าโออีเอ็มเดิม
ตรงกันข้ามเขาน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น จากเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ยอร์คจะเข้ามาช่วยเหลือ"
ชุมพลกล่าว
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทยนั้นทั้งยอร์คและแอร์โร่มาสเตอร์จะยังเป็นคู่แข่งกันต่อไป
โดยบริษัทที่จะรับผิดชอบและทำตลาดแอร์โร่มาสเตอร์คือ บริษัท แอร์โร่มาสเตอร์
กรุ๊ป อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคนในตระกูล "จงอุดมกฤกษ์" คนอื่นที่ไม่ใช่สิทธิศักดิ์
ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 เครื่องต่อปี
ปัจจุบันยอร์คมีส่วนแบ่งตลาดแอร์เล็ก 7-8% ของตลาดรวม 7,000 ล้านเครื่อง
และมีส่วนแบ่งตลาดแอร์ขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดรวม 2,000 ล้านเครื่อง
โดยในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายจาก 1,200 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็น 2,000
ล้านบาท
"เป้าหมายทางการตลาดของแอร์ยอร์คในประเทศไทย ใครจะเป็นอันดับหนึ่งก็แล้วแต่
เราจะขอเป็นผู้ตามที่ดีที่สุด เราเองยังมีหลายสิ่งหลายอย่างต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์
การพัฒนาตลาด บุคลากร" ชุมพลพูดถึงเป้าหมายของยอร์คซึ่งไม่ค่อยหวือหวานัก
พ่อนที่จะย้ำทิ้งท้ายทีเล่นทีจริงให้คู่แข่งสะดุ้งเล่นว่า
"เราโลว์โปร์ไฟล์ แต่อย่างเผลอ"