ศรีวิโรจน์ จันทรวงศ์ "มือทุบห้าง" ที่เริ่มต้นด้วยงานสุดหิน


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีศาลฎีกาได้ตัดสินให้ทุบชั้นที่ 5-11 ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ให้เหลือเพียง 4 ชั้น เนื่องจากก่อสร้างอาคารผิดแบบ หลังจากที่ทอดระยะในการต่อสู้ชั้นศาลมานับ 10 ปี กระบวนการสลายความสูงของห้างจึงได้เริ่มขึ้น พร้อมไปกับการไขว่คว้าหามือฉมังทางด้านทุบอาคาร ที่ต้องมารับงานสุดหินชิ้นนี้

"ศรีวิโรจน์ จันทรวงศ์" ก็เป็นวิศวกรธรรมดาผู้หนึ่ง เขาคงไม่ได้คิดมาล่วงหน้าก่อนว่า ณ วันนี้เขาต้องมาจับงานยากที่สุดในชีวิต

ที่ว่ายากก็เพราะจะมีใครสักกี่คนทราบว่า ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ที่สร้างมานับสิบปีนี้ จะสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กที่เพิ่งจะมานิยมใช้กันอย่างมากในปัจจุบัน จากที่อาคารส่วนใหญ่ที่เคยทุบมา จะเป็นอาคารโครงสร้างปูน อันเป็นที่ทราบกันดีในวงการว่า หากจะต้องรื้อโครงสร้างเหล็กแบบนี้แล้ว

เข็นครกขึ้นภูเขาน่าจะง่ายกว่า

"ผมได้รับการติดต่อจากเจ้าของห้างนิวเวิลด์เมื่อต้นปีนี้ ให้เข้ามาช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาการทุบอาคารแห่งนี้ ซึ่งผมก็ไม่ได้ตัดสินใจตอบรับแต่อย่างใด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะอาสาเข้ามารับหน้าที่ในจุดนี้ เพราะนอกจากงานนี้จะยากแล้ว ยังไม่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับใครได้อีกด้วย และข้อสำคัญคือ เมื่อเจ้าของนิวเวิลด์เขากินไม่ได้นอนไม่หลับ เอาแต่ร้องห่มร้องไห้ และขอให้ผมเข้ามารับหน้าที่ทุบด้วยนั้น ผมจึงปฏิเสธไม่ได้"

ศรีวิโรจน์เปิดเผยความในใจในช่วงที่มารับงานโครงการนี้ว่า ต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่กว่า 1 เดือน สอบถามความคิดเห็นคนรอบข้าง แม้จะมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการเข้ามารับงานนี้ แต่ศรีวิโรจน์คิดว่างานนี้เป็นงานท้าทาย ที่จะได้ทดสอบวิทยายุทธ์ครั้งที่ไปทำงานอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีโอกาสไปเรียนรู้เทคนิคการรื้อถอนในต่างประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง

โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ศรีวิโรจน์หลังจบจากวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2506 ก็ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และเริ่มทำงานที่บริษัททีอีซี ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา หลังจากนั้นได้ไปเป็นลูกจ้างประจำของความร่วมมือกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองทัพสหรัฐซึ่งช่วงนี้ ทำให้ศรีวิโรจน์ได้มีความรู้ด้านการก่อสร้างสนามบิน จึงได้มาทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แล้วจึงไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่บริษัทซีคอน จำกัด ปัจจุบันได้เปิดบริษัทอิสระเพื่อรับเป็นที่ปรึกษาทั่วไป

สำหรับความยากลำบากของการทุบอาคารห้างนิวเวิลด์นั้น นอกจากความเป็นโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทุบอาคารประเภทนี้ในไทย การออกแบบอาคารก็ได้มีการเผื่อความมั่นคงไว้อย่างเต็มที่ เพื่อให้อาคารสามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้อีกด้วย ซึ่งส่งผลให้การรื้อในแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ

เริ่มตั้งแต่คาน ซึ่งมีความยาว 12 เมตร น้ำหนัก 8 ตัน จะต้องรื้อถอนโดยการใช้เครน 2 ตัว ทั้งหัวและท้าย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คานทะลุลงมาข้างล่าง ในแต่ละจุดของการรื้อถอนต้องมีช่างตัดและเชื่อม 2 คน เมื่อตัดและโรยคานลงบนพื้นแล้ว ช่างก็จะช่วยกันเจียรหัวท้าย ให้คานมีน้ำหนักเพียงพอในการขนย้ายลงมาข้างล่างด้วยลิฟต์โดยสาร

เนื่องด้วยชั้น 11 ของนิวเวิลด์ เป็นชั้นที่ยุ่งยาและซับซ้อนมากที่สุด คานเหล็กที่ใช้ในชั้นนี้จึงมีมากถึง 267 ท่อน ซึ่งมีการคำนวณว่า หากต้องเวลา 2-3 วันในการเจียรคานแต่ละท่อนแล้ว จะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีแน่นอนในการรื้อถอนแต่ละชั้น ซึ่งหากจะให้เสร็จภายใน 1 ปีตามที่กำหนดไว้เดิมแล้ว จะต้องเพิ่มทีมรื้อถอนอีกอย่างน้อย 2-3 ทีมแน่นอน

ความปลอดภัยในการรื้อถอนเป็นสิ่งที่ศรีวิโรจน์คำนึงถึงเป็นอย่างมาก การติดตั้งที่ป้องกันการร่วงหล่นของเศษคอนกรีต จึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ การสกัดคอนกรีตเสริมเหล็กออกจากคานแต่ละท่อนด้วยการใช้แก๊สนั้น จะต้องระมัดระวัง ไม่ใช่เศษไฟร่วงหล่นไปข้างล่างหรือกระเด็นไปถึงเชื้อไฟข้างๆ ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้

การขนคานเหล็กที่ตัดออกมาได้ลงสูงข้างล่าง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องด้วยลิฟต์ขนส่งมีสมรรถนะในการขนส่งในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องใช้การโรยตัวทางด้านข้างตึกลงมาที่ชั้น 5 ด้วย ซึ่งหากจะต้องทำเช่นนั้น จะต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นที่สุดด้วย ซึ่งยังไม่ได้พูดถึงการนำรถบรรทุกเข้ามาขนคานเหล็กเหล่านี้ ซึ่งจะต้องใช้รถจำนวนมากพอสมควรต่อวัน ซึ่งถนนจักรพงษ์ ในเขตใจกลางเมือง คงจะสับหลีกเวลาให้รถบรรทุกเข้ามารับคานเหล็กได้ยากพอสมควรเช่นกัน

จุดที่ยากลำบากอีกหนึ่งจุดนั้นก็คือ การรื้อถอนระบบบนชั้น 11 ซึ่งประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศแบบ Central Unit ซึ่งมีอยู่ 4 ตัว หนักประมาณตัวละ 12.8 ตัน ซึ่งจะต้องหาหนทางยกแต่ละตัวลงมา โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของแต่ละจุดที่ขนย้ายลงมา นอกจากระบบปรับอากาศแล้ว ระบบประปา สุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารทั้งหมด การรื้อถอนในแต่ละจุดนี้ จำเป็นต้องพึ่งดาวิศวกรงานระบบผู้เคยซัพพลายระบบนี้ให้กับนิวเวิลด์เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการรื้อถอน

ความยากลำบากของการรื้อถอนยังไม่หมดเพียงแค่นี้ การคัดเลือกลูกทีมมาทุบอาคารหลังนี้ ก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน เพราะต้องเลือกหาลูกทีมที่กำยำล่ำสัน ทำงานหนักได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน ซึ่งกรรมกรก่อสร้างส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจงานรื้อถอน ซึ่งไม่สร้างเครดิตในการรับงานของตนเหมือนกับงานก่อสร้างทั่วไป ค่าแรงที่จะให้กับบรรดากรรมการเหล่านี้ จะให้ต่ำกว่าการก่อสร้างอื่นๆ ก็คงจะทำไม่ได้ เพราะจะขาดแรงจูงใจคนเข้ามาทำงาน

ดังนั้นจนถึงขณะนี้ ได้มีการตั้งงบประมาณทุบอาคารนิวเวลด์ไว้คร่าวๆ แล้ว ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งศรีวิโรจน์เชื่อมั่นว่าจะต้องบานปลายออกไปอย่างแน่นอน เพราะความจำเป็นที่ต้องทุบตึก 7 ชั้นให้ได้ภายใน 7 ปีโดยประมาณ แม้ว่าจะสามารถเร่งรัดงานรื้อถอนในชั้น 5-10 ถัดมาได้เร็วขึ้น เพราะความยุ่งยากลดน้อยลงมากว่าเท่าตัวแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกันนอกจากเขาจะต้องรับผิดชอบการทุบตึกนิวเวิลด์แล้ว เขาก็จำใจต้องเข้าไปรับงานทุบห้างแก้วฟ้า ซึ่งอยู่ในเครือนิวเวิลด์ตามคำร้องขอของเจ้าของรายเดิมอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของห้างแก้วฟ้านี้จะต้องใช้เวลาทุบอีกอย่างน้อย 42 เดือนหรือประมาณ 3 ปีครึ่ง

ไม่ว่าศรีวิโรจน์จะภูมิใจหรือไม่กับงานที่เขาทำครั้งนี้ก็ตาม หากเขาประสบความสำเร็จในงานนี้ รับรองได้ว่าอาจจะมีห้างหรืออาคารสูงอีกหลายแห่งที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลรอให้เขาทุบอีกหลายหลังแน่

วันนี้ศรีวิโรจน์อาจเป็น "มือทุบห้าง" ด้วยความจำเป็น แต่ในอนาคตอาจจะมี "มืออาชีพ" หน้าใหม่มาทุบแข่งกับเขาอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.