ศิริพงษ์ จำเริญวิทย์ ผู้ไม่สนใจประวัติศาสตร์พีเพิล พลาซ่า


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

การค้าย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิดูเหมือนจะคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ "เซ็นเตอร์ วัน ช็อปปิ้ง พลาซ่า" ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2538 แทนที่ "พีเพิล พลาซ่า" ซึ่งปิดฉากลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปลายปี 2537 หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะกระทั่งกลายเป็นบทเรียนทางธุรกิจบทหนึ่งที่น่าสนใจของวงการค้าปลีกไทย

ปัญหาของพีเพิล พลาซ่า เริ่มตั้งแต่การไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในฐานะห้างสรรพรสินค้า จนประสบปัญหาขาดทุนสะสมถึง 85 ล้านบาท ในปี 2532 และแม้ว่าจะปรับตัวตลอดเวลาแต่พีเพิล พลาซ่าก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้ จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน 2535 ศูนย์แห่งนี้ต้องหยุดดำเนินการเพื่อปรับปรุงโครงการ โดยมีความพยายามที่จะดึงบริษัท ชีวาเลียร์ ออฟฟิศ ออโตเมชั่น และห้างคาเธ่ย์มาช่วยแต่ไม่สำเร็จ

เมื่อไม่สามารถหาหุ้นส่วนใหม่มาช่วยได้ ผู้บริหารพีเพิลจึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบโครงการจากห้างสรรพสินค้ามาเป็นศูนย์ค้าส่ง พร้อมกับจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาบริหาร แต่แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้น กลับกลายเป็นว่าปัญหายิ่งทวีคูณขึ้น เมื่อผู้บริหารของศูนย์กับผู้บริหารมืออาชีพมีปัญหากันเอง

นี่ยังไม่นับปัญหากับธนาคารทหารไทย ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ขีดเส้นตายให้ชำระเงินกู้จำนวน 325 ล้านบาท

ปัญหานานัปการดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของพีเพิล พลาซ่า อันประกอบไปด้วยคนในตระกูลสงวนดีกุล แก้วไพฑูรย์ สูตะบุตรและพิสิฐวานิช ตัดสินใจขายโครงการให้บริษัท เซ็นเตอร์วัน จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท เรียล วัน กรุ๊ป 30% บริษัท เจ เอส แอล จำกัด 30% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 40% ของทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท ในราคาประมาณ 400 ล้านบาท เมื่อตุลาคม 2537

จากคำบอกเล่าของศิริพงษ์ จำเริญวิทย์ กรรมการผู้จัดการ เซ็นเตอร์วัน จุดพลิกผันที่ทำให้พีเพิล พลาซ่า เปลี่ยนมือจากเจ้าของเก่ามาเป็นของกลุ่มเซ็นเตอร์วัน นับเป็นเรื่องบุพเพสันนิวาสโดยแท้ เขาเล่าว่า ไม่เคยรู้จักกับเจษฎา สงวนดีกุล ซึ่งปลุกปล้ำอยู่กับพีเพิล พลาซ่ามานาน 10 ปีเลย แต่ภรรยาของเขาไปเจอกับเจษฎาในงานสังคมและมีผู้ใหญ่แนะนำให้รู้จักกัน อันนำไปสู่การเจรจาซื้อขายพีเพิล พลาซ่าในระยะเวลารวดเร็ว

นอกจากจะเป็นจุดพลิกผันของพีเพิล พลาซ่าแล้ว การซื้อโครงการนี้ก็ทำให้ชีวิตของศิริพงษ์พลิกผันไปด้วยเช่นกัน เพราะเขาต้องยุติชีวิตนักการธนาคารที่ดำเนินมานาน 17 ปี กลายมาเป็นผู้บริหารพลาซ่าเต็มรูปแบบอย่างไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากผู้ถือหุ้นเห็นว่าเขาพอมีประสบการณ์ทางนี้อยู่บ้าง จึงสมควรที่จะต้องเข้ามาบริหารด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ศิริพงษ์ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์และพลาซ่าเลย เพราะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เขาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปกับการทำงาน โดยทำในนามบริษัท เรียล วัน กรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว

ธุรกิจของเรียล วัน กรุ๊ป เริ่มจากการเป็นตัวแทนซื้อขายที่ดิน และเริ่มมีการก่อสร้างอาคารขายบ้างแต่เป็นโครงการเล็กๆ ส่วนโครงการใหญ่ที่ทำให้ชื่อ เรียล วัน เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน

"ตอนนั้นมีคนมาเสนอที่ตรงที่เป็นเซียร์สตรีทในปัจจุบันให้ผม ผมก็มองว่าน่าจะทำเป็นพลาซ่าได้ แต่ไม่มีกำลังจะทำคนเดียว เพราะที่มันใหญ่ บังเอิญคุณพ่อคุณแม่ของผมรู้จักสนิทสนมกับคุณสุรพล เตชะหรูวิจิตร เจ้าของโรงแรมเอเชีย ผมจึงไปปรึกษาท่าน ซึ่งในที่สุดก็ตกลงร่วมทุนกันทำโครงการเซียร์สตรีท ซึ่งเป็นศูนย์ครบวงจรที่มีทั้งพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าและโรงแรม โดยโรงแรมเอเชียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51%"

โครงการเซียร์สตรีทนี่เองที่ทำให้ศิริพงษ์ได้ประสบการณ์ในการทำพลาซ่า ไม่ว่าจะเป็นการขายพื้นที่ การทำสัญญา และการบริหารโครงการ เพราะเขานั่งเป็นกรรมการบริหารที่มีหน้าที่เข้าประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา

"เซียร์สตรีทประสบความสำเร็จในแง่โครงการ คือมีการก่อสร้างเสร็จสามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ยังไม่สบความสำเร็จในแง่ความคึกคักของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเราหวังว่าจะคึกคักกว่านี้ หลังจากที่ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และโรงแรมเปิดดำเนินการ" ศิริพงษ์เล่าถึงผลงานในการทำพลาซ่าครั้งแรกให้ฟัง

สำหรับสาเหตุที่ เรียล วัน มาร่วมทุนกับ เจเอสแอล ทำเซ็นเตอร์วันได้นั้น ศิริพงษ์เล่าถึงสายสัมพันธ์ตรงนี้ว่า เขารู้จักสนิทสนมกับจำนรรค์ ศิริตัน หุ้นส่วนคนสำคัญของเจเอสแอล เพราะเป็นเพื่อนนักเรียนสมัยเด็ก และคบค้าสมาคมกันมาตลอด ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งสองร่วมมือกันทำธุรกิจ เพราะเมื่อเจเอสแอลต้องการจะขยายไปสู่ธุรกิจเพลงช่วง 10 ปีก่อน ศิริพงษ์ก็เป็น 1 ใน 5 หุ้นส่วนของบริษัท คีตา เรคคอร์ด ที่ถือหุ้นฝ่ายละ 20% เท่ากัน แต่หลังจากนั้น 5 ปีก็ขายหุ้นให้กับนายทุนใหม่ที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการไป

ดังนั้นเมื่อศิริพงษ์ตกลงใจเทคโอเวอร์โครงการพีเพิล พลาซ่า เพราะชอบตึก ชอบทำเล เขาจึงชักชวนเพื่อนเก่าให้มาร่วมลงทุนด้วยกัน

หลังจากซื้อพีเพิล พลาซ่ามา ศิริพงษ์ได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ให้กลายเป็นพลาซ่าขนาดเล็ก เพราะเขาไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการบริหารสินค้าคงคลัง การหาสินค้ามาขาย และการฝึกพนักงานส่วนต่างๆ ขณะที่เมื่อเปิดเป็นพลาซ่า ในฐานะเจ้าของศูนย์เขามีหน้าที่เพียงหาผู้ประกอบการมาเช่าหรือเซ้งพื้นที่ เขาทำหน้าที่เพียงดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้ได้เท่านั้น

ขณะนี้เซ็นเตอร์ วัน ช็อปปิ้ง พลาซ่า ซึ่งสามารถขายพื้นที่ไปได้แล้ว 75% ของพื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร จึงกลายสภาพเป็น "มาบุญครอง" ขนาดย่อมที่มีฟาสต์ฟูดอินเตอร์อย่าง แมคโดนัลด์ พิซซ่า ฮัท สเวนเซ่นส์ และฟาสต์ฟูดไทยอย่างแบล็กแคนย่อน และโอลดี้ โกลดี้เป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดลูกค้าวัยรุ่นให้เข้ามาใช้บริการ โดยมีร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ร้านขายเครื่องประดับเป็นตัวดึงเงินที่ลูกค้าอาจจะเพิ่งเบิกสดๆ จากสาขาย่อยธนาคารกสิกรไทยที่ตั้งอยู่ชั้นล่างอย่างครบวงจร

อีกเหตุผลหนึ่งที่ศิริพงษ์เปลี่ยนรูปแบบเซ็นเตอร์วันให้กลายเป็นพลาซ่า ก็คือ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับโรบินสัน ซึ่งประจันหน้าอยู่ฝั่งตรงกันข้าม

"โรบินสันเป็นห้างสรรพสินค้า เซ็นเตอร์วันเป็นพลาซ่า จะช่วยเสริมให้กันให้ผู้คนที่ผ่านไปมาแถวนี้มีทางเลือกมากขึ้น และทำให้การค้าย่านนี้มีความครบวงจร อย่างผมเวลาไปเดินเซ็นทรัลเดินในห้างเบื่อก็ออกมาเดินพลาซ่า" ศิริพงษ์ยกตัวอย่างให้ฟัง

นอกจากนี้ ศิริพงษ์ยังวางแผนที่จะลงทุนสร้างเซ็นเตอร์ วัน ช็อปปิ้ง พลาซ่าเฟสที่ 2 บนพื้นที่ 2 ไร่ที่ยังเหลืออยู่ด้านหลังอาคารพลาซ่าเดิม เป็นตึก 6 ชั้นด้วยมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2539 และแล้วเสร็จในปี 2540 เพื่อทำเป็นศูนย์บันเทิง อันประกอบไปด้วยโรงภาพยนตร์ขนาด 150-200 ที่นั่ง จำนวน 3 โรง และโต๊ะสนุกเกอร์สำหรับผู้ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ด้วย

ศิริพงษ์คาดว่า ถ้า 1-3% ของผู้คนนับแสนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เข้ามาใช้บริการก็เพียงพอที่จะทำให้เซ็นเตอร์วันอยู่ได้แล้ว

"ผมไม่สนใจประวัติศาสตร์ของที่นี่" นี่เป็นคำตอบของศิริพงษ์ที่ถูกถามถึงความล้มเหลวที่ผ่านมาของพีเพิล พลาซ่า

กระนั้นก็ดี เมื่อผู้บริหารคนอื่นๆ ที่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย มีความคิดจะสร้าง "น้ำพุ" ขึ้นบริเวณด้านหน้าศูนย์ นัยว่าเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เขาก็ไม่คัดค้าน แม้เขาจะย้ำเต็มเสียงว่า "ผมไม่เชื่อฮวงจุ้ย แต่ผมเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์" ก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.